ธรรม(ชาติ)...ชีวิต...สัจธรรม...เส้นทางการพัฒนาศิลปะ



(ภาพประกอบจาก การประชุมปฏิบัติการพัฒนาการสอนศิลปะ สพป.ชัยภูมิ เขต ๓ เมื่อวันที่ ๒๓-๒๕ สิงหาคม ๒๕๔๘ )


(ภาพประกอบ จากการประชุมปฏิบัติการสอนศิลป์ สพป.ชัยภูมิ เขต ๓ วันที่ ๑๕-๑๖ กันยายน ๒๕๕๕ ที่หอศิลป์คลังจัตุรัส อ.เมืองชัยภูมิ)

ธรรม(ชาติ)...ชีวิต...สัจธรรม... : เส้นทางการพัฒนาศิลปะ

  ในแต่ละปีมีผลงานศิลปะของเด็กระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา เกิดขึ้นจากการประกวด การแข่งขันผลงานในโอกาสต่างๆ  ตั้งแต่ระดับเขตพื้นที่การศึกษา ระดับภูมิภาค และระดับชาติ เป็นจำนวนมาก ผลงานเด็กเหล่านี้ แม้จะมีกลิ่นไอแห่งการเลียนแบบ หรือการทำตามแบบที่ครูสอน ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการเรียนรู้  หากพินิจพิเคราะห์ผลงานให้ดี ก็จะสะท้อนได้ว่า เด็กจำนวนมากสามารถเรียนรู้เทคนิควิธีการวาดเส้นเล่นสีได้อย่างรวดเร็ว น่าทึ่ง อย่างน้อยก็แสดงถึงทักษะการใช้สี การใช้เครื่องมือในการวาดภาพที่ผ่านการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี อาจจะอ่อนด้อยในเรื่องทิศทางของแสงเงา และความกล้าที่จะเล่นนอกกรอบบ้าง แต่นั่นก็เป็นสิ่งเขาจะต้องเรียนรู้ต่อไปหากไม่ถูกตัดวงจรเสียก่อน

เส้นทางการเรียนรู้ทางศิลปะในระบบโรงเรียนของเด็กในชนบทมีทางเลือกไม่มากนัก ขึ้นอยู่กับโอกาสที่โรงเรียนหรือสังคมหยิบยื่นให้ หากเด็กมีโอกาสได้เรียนกับครูที่เข้าถึงศิลปะ และสอนศิลปะเป็น ก็นับว่าโชคดีที่เด็กมีโอกาสเรียนรู้ ต่อยอด เติมต่อพลังทางสร้างสรรค์ที่นำไปสู่การค้นพบตัวตนทางศิลปะของตัวเอง เป็นบันไดสู่การสร้างสรรค์งานศิลปะในแบบฉบับของตนเอง สู่การเป็นศิลปินในอนาคตได้ แต่ถ้าอยู่ในโรงเรียนที่มีบริบทเน้นวิชาการในกลุ่มสาระหลัก เห็นวิชาศิลปะเป็นวิชา “ไม้ประดับ” จัดโครงสร้างหลักสูตรให้เรียนศิลปะในคาบเวลาน้อยนิด และเรียนศิลปะตามใจชอบ ตามอัจฉริยภาพส่วนบุคคล ก็นับว่า น่าเสียดายโอกาสสำหรับเด็กที่มีศักยภาพทางศิลปะอยู่ในตัว แต่ขาดโอกาสการเรียนรู้ที่เต็มศักยภาพ

ปัจจัยแวดล้อมและปัจจัยสนับสนุน นับว่ามีอิทธิพลต่อการจัดการเรียนรู้ทางศิลปะในโรงเรียน เริ่มตั้งแต่ภูมิทัศน์ที่ร่มรื่น สวยงาม มีสถานที่กว้างขวาง สะอาด เรียบง่าย ผู้บริหารโรงเรียนเห็นความสำคัญช่วยจัดหาวัสดุอุปกรณ์สนับสนุนการเรียนการสอนอย่างเพียงพอ ข้อสำคัญที่สุดก็คือครูผู้สอนที่รักงานศิลปะ รักเด็ก อดทนใจเย็น ยืดหยุ่น  มีต้นทุนความสามารถทางศิลปะเป็นที่ยอมรับของเด็ก 

แม้ว่าคุณลักษณะครูผู้สอนดังกล่าว จะเป็นปัจจัยสำคัญต่อผลสำเร็จของการจัดการเรียนรู้ศิลปะในโรงเรียน แต่โดยสภาพจริง ครูที่สอนศิลปะในโรงเรียนประถมศึกษาหรือโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษานั้น ส่วนใหญ่ไม่ได้เรียนจบมาทางสาขาศิลปะโดยตรง อาศัยการศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเอง ความมั่นใจในการจัดกิจกรรมจึงเหลือเพียง “สอนตามที่มีความถนัด” จำเป็นที่ครูผู้สอนจะต้องปรับแนวการสอนศิลปะแนวใหม่ที่เน้นกระบวน การ สื่อความคิด มากกว่าผลงาน พร้อมกับพัฒนาตนเองให้มีคุณลักษณะตามธรรมชาติวิชา หรือปรับแนวคิดให้สอดคล้องตามกระบวนการทางศิลปะ ตามวิถีของครูศิลปินที่ประสบความสำเร็จ

ครูสังคม ทองมี ครูแห่งชาติ สาขาการสอนศิลปะ เคยกล่าวไว้ว่า ครูสอนศิลปะที่ดีวัดกันที่การสอนศิลปะเป็น สอนศิลปะได้ถึงแก่น มากกว่าอัจฉริยภาพทางศิลปะของครู

คุณสมาน  คลังจัตุรัส  ครูศิลปิน ประธานกลุ่มศิลปินอิสระ’96 กล่าวว่า การสร้างสรรค์งานศิลปะได้จากการเรียนรู้ที่ตกผลึกแล้วจนเข้าใจธรรม(ชาติ) ชีวิต ความเป็นจริง ซึ่งในชีวิตประจำวันเราตั้งแต่ตื่นนอนถึงเข้านอนก็ล้วนเกี่ยวข้องกับศิลปะทั้งสิ้น ดังนั้น การทำงานศิลปะก็คือ การฝึกตนให้เกิดปัญญา นั่นเอง 

อัลเบิร์ต  ไอน์สไตน์ กล่าวว่า จินตนาการสำคัญกว่าความรู้ (Imagination is more important than knowledge)ดังนั้น กิจกรรมศิลปะจะเป็นเครื่องมือที่จะช่วยก่อรูปวงจรของจินตนาการให้เกิดขึ้นในสมองของเด็กได้

มอนโร (Monroe) นักการศึกษาผู้หนึ่ง ได้ยืนยันบทบาทของวิชาศิลปะในด้านเป็นความรู้สามัญที่สำคัญไว้กล่าวคือ ศิลปะช่วยให้มองสิ่งต่างๆตามที่ศิลปินสื่อออกมาได้ชัดเจนขึ้นยิ่งขึ้น ศิลปะช่วยสื่อความคิด ความรู้สึกได้ลึกซึ้ง เกินกว่าภาษาพูดภาษาเขียนใดๆ ศิลปะช่วยพัฒนาสุขภาพจิตที่ดี ศิลปะช่วยพัฒนาทักษะการวาดภาพ ระบายสี เล่นดนตรี เป็นต้น

ถ้าเป็นไปตามแนวคิดที่กล่าวมา ...การเรียนศิลปะ ไม่ใช่เรื่องธรรมดา ...แท้ที่จริง “ศิลปะ เป็นวิชาขั้นสูง ไม่ใช่มีฐานะเป็นเพียง “วิชาวาดรูป” อย่างที่หลายคนเข้าใจ คนที่จะวาดภาพได้ดี ต้องเข้าใจธรรม(ชาติ) ความเป็นจริงของชีวิตและสังคม สิ่งแวดล้อมอย่างลุ่มลึก ถูกต้อง แล้วสื่อความคิดที่มีต่อสิ่งรอบข้างลงไปในงานด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ งดงาม เบิกบาน ปราศจากการชี้นำ การครอบงำจากสิ่งใดๆ ก่อนที่จะแทนค่าความคิดที่แยบยลนั้น ออกมาสู่งานศิลปะที่เต็มไปด้วยกลิ่นไอของแรงบันดาลใจที่มีชีวิตชีวาด้วยมิติแห่งเส้น สี แสง เงา อย่างมีอิสระในความคิด ความมั่นคงในสมาธิจิต  ดังนั้นกระบวนการทำงานของศิลปิน จึงเป็นกระบวนการทางภูมิปัญญา ต้องเรียนรู้ด้วยตนเองจากการสังเกตอย่างพินิจพิเคราะห์ การหยั่งรู้อย่างมีวิจารณญาณตามธรรมชาติ ความเป็นจริง การคิดอย่างสร้างสรรค์  แม่นยำในมิติสัมพันธ์ รวมทั้งทักษะการใช้เครื่องมือวาดภาพ สี วัสดุ  จึงเรียกได้ว่า งานของศิลปินก็คือ ผลผลิตแห่งปัญญานั่นเอง นั่นหมายถึง การทำงานศิลปะ ก็คือการฝึกตนให้เกิดปัญญา... ศิลปะจึงมีคุณค่ามากกว่าที่หลายคนคิด

ถึงเวลาแล้ว ที่โรงเรียนต้องให้ความสำคัญกับการเรียนรู้กลุ่มสาระศิลปะเท่ากับกลุ่มสาระอื่นๆ ครูต้องปรับวิธีการสอนแบบเดิมเพื่อจัดกิจกรรมศิลปะอย่างถูกต้องแก่ผู้เรียน 


หมายเลขบันทึก: 531191เขียนเมื่อ 24 มีนาคม 2013 16:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มีนาคม 2013 17:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท