เตรียมพร้อมรับมือกับสัญญาณเตือนทางเศรษฐกิจรอบใหม่กันหรือยัง


ช่วงนี้นักวิชาการทางเศรษฐกิจหรือนักเศรษฐศาสตร์หลายคนเริ่มส่งสัญญาณเตือนเรื่องแนวโน้มเศรษฐกิจที่ไม่มั่นคงในประเทศไทยกันอีกแล้ว ในฐานะผู้ประกอบการคนหนึ่งที่อยู่ในธุรกิจการค้าระหว่างประเทศหรือนำเข้าและส่งออกก็เริ่มกังวลกับความผันผวนของค่าเงินบาทที่อาจเกิดขึ้นถ้ามีปัญหาเศรษฐกิจในประเทศขึ้นมาจริงๆ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนในแต่ละวันก็กระทบกับการคำนวณกำไรในแต่ละงวดอยู่แล้ว ถ้าบาทอ่อนขึ้นมาเหมือนสมัย “ต้มยำกุ้ง” แล้ว ไม่อยากจะคิดเลยว่าจะต้องทำอย่างไรให้ดำเนินกิจการต่อไปได้แบบไม่ห่วงหน้าพะวงหลัง ถึงกิจการที่ทำอยู่ไม่ได้เป็นกิจการใหญ่มากนัก แต่ความเสี่ยงในธุรกิจก็ไม่ได้น้อยไปกว่าธุรกิจไหนๆ เลย เมื่อสัญญาณเตือนมาแล้ว เกิดจริงไม่เกิดจริงก็เตรียมพร้อมไว้ไม่เสียหลายค่ะ ส่วนตัวเองคิดแผนไว้หลายอย่าง ใครมีไอเดียอะไรน่าสนใจ แบ่งปันกันบ้างนะคะ

  • สร้างรูปแบบของธุรกิจในบริษัทไว้หลายๆ อย่าง เพื่อป้องกันผลกระทบเมื่อมีปัญหาเศรษฐกิจเกิดขึ้นจริง เช่น ขายปลีก ขายส่ง ทั้งในและต่างประเทศ มีรูปแบบการบริการหลายแบบไว้ทั้งนำเข้าและส่งออกโดยเน้นสินค้าที่จำเป็นต่อการอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน ฯลฯ
  • เก็บเงินสดหมุนเวียนในมือเพียงพอจ่ายเงินพนักงานไปได้หลายๆ เดือนโดยไม่กระทบเงินลงทุนด้านอื่นๆ

  • เก็บเงินในสกุลเงินต่างๆ ของประเทศที่ร่วมธุรกิจไว้บ้าง กรณีเกิดค่าเงินผันผวนก็พอจะชดเชยผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ไม่มากก็น้อย

  • หาพันธมิตรทางธุรกิจไว้มากๆ รักษาความสัมพันธ์ ช่วยเหลือและดูแลกันสม่ำเสมอ เมื่อตอนเกิดปัญหาขึ้นจริงก็จะสามารถพยุงกันไปได้ตลอดรอดฝั่ง

  • ควบคุมสต็อก กรณีจำเป็นต้องสต็อกสินค้าให้ดูแลสินค้าหมุนเวียนอย่างใกล้ชิด ให้มีสต็อกสินค้าคงค้างในมือน้อยที่สุด ใช้ระบบ Just In Time ถ้าเป็นไปได้

  • ขยันให้มากกว่าเดิมหลายเท่าในการเก็บเงินเตรียมความพร้อมรับมือ ประเมินความเสียหายในด้านต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น วิเคราะห์ความเสี่ยงในการลงทุนเรื่องใหม่ๆ กรณีมีความจำเป็นต้องลงทุนเพิ่มเติม

  • ศึกษาธุรกิจที่เกิดขึ้นและยังประสบความสำเร็จได้เมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วง “ต้มยำกุ้ง” ดูแนวคิด วิธีการดำเนินธุรกิจ มาปรับใช้และเตรียมความพร้อม

  • คำนึงถึงความเสี่ยงระยะยาวในการเพิ่มกำลังคนเป็นพนักงานประจำ พิจารณาการประกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับพนักงานในด้านต่างๆ เพื่อรักษาความมั่นคงของบริษัทกรณีเกิดภาวะวิกฤต

  • ให้พนักงานรับรู้ข่าวสาร ความเป็นไปของเศรษฐกิจและสัญญาณเตือนเป็นระยะ ส่งเสริมและกระตุ้นการออมเงินของพนักงานไว้ใช้จ่ายยามฉุกเฉิน

  • มีการสลับสับเปลี่ยนและสอนงานเพิ่มเติมให้พนักงานสามารถทำงานแทนกันได้หรือทำงานได้หลายอย่างขึ้น กรณีที่วันข้างหน้าต้องใช้คนมากขึ้นในบางงานหรือลดจำนวนคนลงในบางงาน

หมายเลขบันทึก: 531117เขียนเมื่อ 23 มีนาคม 2013 22:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มีนาคม 2013 23:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท