Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

มาช่วยกันแนะนำคุณเหมยและคุณสายลม ซึ่งถือบัตรเลข ๐ (บัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน) กันไหมคะ ??


หมายเหตุ : โดยข้อ ๓ แห่ง ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการสำรวจและจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน พ.ศ. ๒๕๔๘ “บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน” หมายถึง บุคคลที่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรแต่ไม่มีรายการในทะเบียนบ้าน (ท.ร. ๑๓ และ ท.ร. ๑๔) เนื่องจากไม่ปรากฏหลักฐานยืนยันถิ่นกำเนิดหรือประวัติของบุคคลหรือมีหลักฐานไม่เพียงพอที่นายทะเบียนจะพิจารณาเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน ทั้งนี้ไม่รวมถึงคนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยมิชอบด้วยกฎหมายที่ไม่อยู่ในความควบคุมของทางราชการ หรือรัฐไม่มีนโยบายผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ

ตอบคุณเหมยและคุณสายลมซึ่งถือบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่สถานะทางทะเบียน

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

บันทึกความเห็นทางกฎหมายเพื่อตอบคำถามของประชาชนเรื่องการจัดการประชากร

เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๖

https://www.facebook.com/note.php?saved&&note_id=10151559715458834

------------------------------------

คุณเหมยมาตั้งคำถามใน http://www.gotoknow.org/posts/360755  เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๖ เพื่อตั้งคำถามของ อ.แหววว่า “หนูมีบัตร 10 ปียุอ่ค่ะ มันจะหมดอายุในปี 60 ถ้ามันหมดแร้วหนูจะมีโอกาสได้ต่อบัตรหรือได้บัตรประชาชนมั้ยคะ?? ในเมื่อพ่อแม่หนูก็มีบัตรแบบนี้ ครอบครัวหนูมีกันทั้งบ้านเลยค่ะ แต่ว่าของหนูกับพี่หนูจะเป็นคนละจังหวัดกับพ่อแม่นะคะ เพราะว่าบัตรที่หนูกับพี่หนูมีได้เมื่อตอนเรียนประถมอ่ค่ะ ส่วนพ่อกับแม่หนูพึ่งจะได้ทำอ่ค่ะ ช่วยหนูตอบหนูหน่อยนะคะ ขอบคุณค่ะ

บันทึกของ อ.แหววใน http://www.gotoknow.org/posts/360755  เป็นเรื่องของคนถือบัตรเลข ๐ หรือที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “บัตรประจำตัวบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน” ดังนั้น จึงเข้าใจได้ว่า พ่อแม่ของคุณเหมย รวมเธอเองและพี่สาว ก็น่าจะถือบัตรในลักษณะนี้ อันหมายความว่า พวกเธอเป็นมนุษย์ที่แสดงตนว่าเป็น “คนไร้รัฐ” กล่าวคือ “เป็นคนที่ไม่ได้รับการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรของรัฐใดเลยบนโลก” ต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐไทยที่ทำหน้าที่ “นายทะเบียน” ตาม พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งทำทำงานภายใต้ ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการสำรวจและจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน พ.ศ. ๒๕๔๘[1] ซึ่งออกมาโดยผลของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่  ๑๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๘ ว่าด้วยยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิ ซึ่งกำหนดให้มีการสำรวจและจัดทำทะเบียนบุคคลที่ไม่มีชื่ออยู่ในระบบทะเบียนราษฎรให้แก่บุคคลไร้สถานะที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยทุกกลุ่ม  และอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๑) วรรคสอง  และมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร  พ.ศ. ๒๕๓๔

มนุษย์ที่ได้รับการสำรวจภายใต้กฎหมายและนโยบายของรัฐไทยชุดนี้จะได้รับการกำหนดเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลักขึ้นต้นด้วยเลข ๐[2] และมนุษย์ดังกล่าวจะได้รับการบันทึกในทะเบียนประวัติตามมาตรา ๓๘ วรรค ๒ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑ ที่มีชื่อว่า “ท.ร.๓๘ ก”[3] นอกจากนั้น นายทะเบียนยังมีหน้าที่ออกบัตรประจำตัวตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรให้บุคคลที่ได้รับการสำรวจถือในระหว่างที่กระบวนการพิสูจน์และพัฒนาสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายของบุคคลดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จ[4] บัตรดังกล่าวมีชื่อว่า “บัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน”  ดังนั้น จึงมีคำเรียกมนุษย์ที่ได้รับการสำรวจภายใต้ระเบียบนี้ว่า “คนถือบัตรเลข ๐” หรือ “คนใน ท.ร.๓๘ ก” หรือ “คนที่มีสถานะบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน” ซึ่งคำเรียกแบบหลังนี้ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า คนที่ได้รับการสำรวจแล้วนั้นได้รับการรับรองสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรของรัฐไทยแล้วหรือยัง ? ซึ่งคำตอบที่ไม่ต้องสงสัยก็คือ บุคคลในสถานการณ์ดังกล่าวได้รับการรับรองสิทธิแล้ว เพียงแต่กระบวนการรับรองสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติยังไม่แล้วเสร็จ บุคคลในสถานการณ์นี้ย่อมมีสถานะเป็น “คนมีรัฐ” หรือ “คนที่มีรัฐเจ้าของตัวบุคคล (Personal Srate)” แต่ยังประสบปัญหาความไร้สัญชาติ กล่าวคือ ยังไม่มีรัฐที่ยอมรับเป็นรัฐเจ้าของสัญชาติ รัฐไทยซึ่งยอมรับบันทึกของครอบครัวของคุณเหมยใน ท.ร.๓๘ ก แล้วนั้น ย่อมมีสถานะเป็นรัฐเจ้าของภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชนของคนในครอบครัวนี้เท่านั้น และเมื่อรัฐให้สิทธิอาศัยแก่คนในครอบครัวดังกล่าวนี้แล้วเท่านั้นที่รัฐไทยจะสถานะเป็นรัฐเจ้าของภูมิลำเนาตามกฎหมายมหาชนของคนในครอบครัวนี้

บัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนถูกกำหนดให้มีผล ๑๐ ปี เมื่อคุณเหมยเล่าว่า บัตรของเธอจะหมดอายุใน พ.ศ.๒๕๖๐ ก็หมายความว่า เธอได้รับการสำรวจในราว พ.ศ.๒๕๕๐  ดังนั้น สิ่งที่ผู้ให้คำแนะนำทางกฎหมายอย่างเราต้องทำ ก็คือ จะต้องได้ข้อเท็จจริงว่า ครอบครัวของคุณเหมยได้ดำเนินการพิสูจน์และพัฒนาสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายของเธอและครอบครัวไปถึงไหนแล้ว และอะไรคืออุปสรรคที่ทำให้กระบวนการดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จ อ.แหววจึงตอบคุณเหมยกลับไปในวันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๖ ว่า

“บัตรดังกล่าวนี้ เป็นเพียงการรับรองว่า พวกคุณมีปัญหาสถานะบุคคลตามกฎหมาย กล่าวคือ ไม่มีรัฐใดรัฐหนึ่งบนโลกรับรองให้สิทธิในสัญชาติ ดังนั้น พวกคุณจะมีสถานะบุคคลเป็นอย่างไร จึงเป็นไปตามข้อเท็จจริงที่แต่ละคนมีค่ะ จึงต้องย้อนถามว่า คุณเหมยเป็นใครมาจากไหน ? เกิดที่ไหน ? พ่อแม่เป็นใครเกิดที่ไหน ? ค่ะ โปรดบอกมาก่อน แล้วจะตอบคำถามของคุณค่ะ

สาเหตุที่คุณมีบัตรในขณะเรียนนั้น เป็นเพราะในปี พ.ศ.๒๕๔๘ รัฐบาลไทยมีนโยบายสำรวจปัญหาเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติในโรงเรียน จึงออกบัตรให้ เมื่อพบว่า คุณไม่มีชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐใดเลยบนโลกค่ะ

และคุณเหมยก็ตอบกลับมาในวันถัดมาว่า “หนูเกิดที่ฉะเชิงเทราค่ะ ตอนนั้นพ่อแม่หนูทำงานยุที่นั่นค่ แม่กับพ่อและพี่หนูเกิดที่เชียงรายอ่ค่ะ เป็นชาวเขาเผ่าอาข่าอ่ค่ะ พ่อกับแม่หนูออกมาหางานทำต่างจังหวัดไปเรื่อยๆอ่ เลยไม่ได้ทราบเรื่องที่เขามีการสำรวจ คนในแต่ก่อนอ่ค่ะ

โดยข้อเท็จจริงที่คุณเหมยตอบว่า  หากเป็นข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ได้จริง ครอบครัวของคุณเหมยก็ย่อมมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนเป็นอย่างน้อย แต่จะเป็นสัญชาติไทยโดยการร้องขอหรือสัญชาติไทยโดยคำสั่งของรัฐมนตรีว่าด้วยกระทรวงมหาดไทย ก็สุดแต่คุณภาพของจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศไทยที่คุณเหมยและครอบครัวมี ดังนั้น อ.แหววจึงตอบคุณเหมยอีกครั้งดังต่อไปนี้

“ถามคุณเหมยต่อดังนี้นะคะ

๑. หากคุณตอบว่า คุณหนูเกิดที่ฉะเชิงเทรา ขอถามต่อว่า คุณเกิดเมื่อไหร่ ? ที่ไหนแน่ในฉะเชิงเทรา โรงพยาบาลอะไร ? มีเอกสารรับรองการเกิดหรือไม่ ?

๒. พ่อและแม่เกิดเมื่อไหร่ ? ที่ไหนแน่ในเชียงราย โรงพยาบาลอะไร ? มีเอกสารรับรองการเกิดหรือไม่ ?

๓.พ่อแม่เป็นคนชาติพันธุ์อะไร ? ปู่ย่าตายายเป็นใครมาจากไหน ?

๔.ตอนนี้ พ่อแม่ทำงานอะไร ? อยู่ที่ไหน ?

โปรดช่วยตอบคำถามด้วยค่ะ”

ในระหว่างที่ให้คำปรึกษาแก่คุณเหมย ก็มีคำถามมาจากคนที่ถือบัตรเลข ๐ อีกท่านหนึ่งซึ่งใช้ชื่อว่า “สายลม จางคำ” ส่งคำถามมาในวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๖ ว่า “ผม ชื่อ สายลม จางคำนะครับ พ่อแม่ เป็น คนไทยใหญ่ เกิดที่พม่า แต่พ่อกับแม่มาอยู่ เมืองไทย นาน แล้ว และ เกิดผมออกมา เมื่อ 12/11/2535 ตอนนีี้ ผม อายุ 20 แล้ว ผม มี แค่ บัตร ท.ร 38 ข  ผมอยาก จะ ทราบว่า ผมพอจะ ทำใบขับขี่ กับ บัตร ประชาชนคนไทย ได้ ป่าว ครับ (ตอนนี้ ผมเรียนอยู่ ชั้น ม.5 อ๊ ครับ  ผมบวชเรียน เอา อ๊ ครับ)  (ขอบคูณนะครับ)”

เมื่อคุณสายลมเล่าว่า เขาถือบัตรเลข ๐ ก็หมายความว่า เขาเป็นมนุษย์อีกคนหนึ่งที่ได้รับการสำรวจโดยระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการสำรวจและจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน พ.ศ.๒๕๔๘ ในสถานะ “บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน”

สิ่งที่คุณสายลมเรียกว่า “บัตร ท.ร.๓๘ ข.” นั้น น่าจะให้ข้อเท็จจริงผิด เพราะ “ท.ร.๓๘ ข” ก็คือ “แบบรับรองรายการทะเบียนประวัติของบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน  ซึ่งคัดจากฐานข้อมูลทะเบียนประวัติด้วยระบบคอมพิวเตอร์”[5] ซึ่งมีลักษณะเป็นกระดาษ ซึ่งมีขนาดประมาณ A 4 มิใช่บัตร ซึ่งคุณเหมยยก็อาจไปร้องขอต่อเขต/อำเภอ/เทศบาล แต่ อ.แหวว ยังไม่ได้ถามเลยว่า คุณเหมยและครอบครัวมีชื่อใน “ท.ร.๓๘ ก (ทะเบียนประวัติสำหรับลงรายการบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน)”  ที่ออกโดยเขตของอำเภอ/เขต/เทศบาลใด คงเป็นคำถามต่อไปที่จะถามกัน

เลยเกิดแนวคิดที่จะให้คำปรึกษากฎหมายแก่คุณเหมยและคุณสายลมไปพร้อมกัน จึงตั้งคำถามกลับไปยังคุณสายลมเพื่อที่จะสามารถกำหนดสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายของเขาผู้นี้เสียก่อนดังนี้

“ขอถามข้อเท็จจริงของคุณสายลมต่อดังนี้นะคะ

๑. พ่อแม่ของคุณเกิดในประเทศพม่าใช่ไหมคะ ? และเกิดในส่วนใดของประเทศพม่า มีเอกสารรับรองการเกิดหรือไม่ ?

๒. แล้วคุณเกิดในประเทศพม่าหรือประเทศไทยคะ ? เมื่อไหร่ ? เกิดในโรงพยาบาลหรือเปล่า ? มีเอกสารรับรองการเกิดหรือไม่ ?

๓.พ่อแม่ทำงานอะไร ? อยู่ที่ไหน ? ขึ้นทะเบียนแรงงานกับกรมการจัดหางานไหมคะ ? เมื่อไหร่คะ ? หากขึ้น พิสูจน์สัญชาติแล้วยัง ?

๔.คุณสายลมเรียนหนังสือที่ไหน ?

๕.บัตรเลข ๐ ของคุณสายลมออกโดยอำเภอ/เขต/เทศบาลไหนคะ ?

โปรดช่วยตอบคำถามด้วยค่ะ”

“ในส่วนที่เกี่ยวกับปัญหาการทำใบขับขี่ โปรดอ่านบันทึกดังต่อไปนี้ค่ะ

ตอบคุณกานต์เรื่องสิทธิในใบขับขี่ตามกฎหมายไทย,

บันทึกความเห็นทางกฎหมายเพื่อตอบคำถามของประชาชนเรื่องการจัดการประชากร,

เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๖

http://www.gotoknow.org/posts/526856

https://www.facebook.com/note.php?saved&&note_id=10151549998913834

  เรามาติดตามความคืบหน้าของห้องเรียนที่ อ.แหววตั้งใจจะสอนเจ้าของปัญหา ดังคุณเหมยและคุณสายลม ตลอดจนลูกศิษย์ที่อยากฝึกฝนวิชาชีพเพื่อพิสจน์และพัฒนาสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมาย คงจะดี หากมีใครสักคนมาช่วยตอบปัญหาเหล่านี้ค่ะ



[1] http://gotoknow.org/blog/people-management/308024

http://learners.in.th/file/archanwell/2548-Regulation4Stateless-Survey

[2] ทั้งนี้ เป็นไปตาม ข้อ ๖ แห่ง ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการสำรวจและจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน พ.ศ. ๒๕๔๘ ซึ่งบัญญัติว่า

“เพื่อความสะดวกในการจัดทำทะเบียนประวัติหรือปรับปรุงฐานข้อมูลการทะเบียนราษฎรของบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน  ให้นายทะเบียนอำเภอและนายทะเบียนท้องถิ่นกำหนดเลขประจำตัวประชาชนให้บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนคนละหนึ่งเลขไม่ซ้ำกัน

  เลขประจำตัวของบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ประกอบด้วยเลข ๑๓ หลักตามที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนดไว้ท้ายระเบียบนี้”

[3] ทั้งนี้ เป็นไปตาม ข้อ ๘ แห่ง ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการสำรวจและจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน พ.ศ. ๒๕๔๘ ซึ่งบัญญัติว่า

“ให้สำนักทะเบียนกลางจัดเก็บข้อมูลทะเบียนประวัติของบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนไว้ในระบบคอมพิวเตอร์  โดยแยกต่างหากจากฐานข้อมูลการทะเบียนราษฎรของคนที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน  (ท.ร. ๑๓  และ  ท.ร. ๑๔)

  รายการทะเบียนประวัติที่จัดเก็บในฐานข้อมูลอย่างน้อยต้องมีรายการตามทะเบียนประวัติ  (ท.ร. ๓๘ ก) ลายพิมพ์นิ้วมือ  และภาพใบหน้า และจะมีข้อมูลที่จำเป็นอื่น ๆ อีกก็ได้

  กรณีหน่วยงานของรัฐมีความจำเป็นต้องการขอใช้ข้อมูลทะเบียนประวัติของบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติงาน  สามารถร้องขอเชื่อมโยงข้อมูลได้ ทั้งนี้ตามวิธีการที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด”

[4] ข้อ ๗ แห่ง ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการสำรวจและจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน พ.ศ. ๒๕๔๘ ซึ่งบัญญัติว่า “เมื่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นได้จัดทำทะเบียนประวัติตาม ข้อ ๔ แล้ว ให้จัดทำบัตรประจำตัวตามแบบท้ายระเบียบนี้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด  มอบให้บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนเก็บไว้เป็นหลักฐานแสดงตัว”

[5] ทั้งนี้ เป็นไปตาม ข้อ ๖ แห่ง ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการสำรวจและจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน พ.ศ. ๒๕๔๘ ซึ่งบัญญัติว่า

“บัตรประจำตัวของบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนและแบบพิมพ์การทะเบียนราษฎรสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน  ให้เป็นไปตามแบบท้ายระเบียบนี้  ดังนี้

(๑) 

ท.ร. ๐๓๑  เป็นสูติบัตร  ใช้สำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน

(๒) 

ท.ร. ๐๕๑  เป็นมรณบัตร  ใช้สำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน

(๓) 

ท.ร. ๐๗๑  เป็นใบแจ้งการย้ายที่อยู่  ใช้สำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน

(๔) 

ท.ร. ๓๘ ก  เป็นทะเบียนประวัติสำหรับลงรายการบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน

(๕)

ท.ร. ๓๘ ข  เป็นแบบรับรองรายการทะเบียนประวัติของบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน  ซึ่งคัดจากฐานข้อมูลทะเบียนประวัติด้วยระบบคอมพิวเตอร์


บัตรซึ่งออกมาโดยอำนาจตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการสำรวจและจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน พ.ศ. ๒๕๔๘ ซึ่งออกมาโดยผลของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๘ ว่าด้วยยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิ ซึ่งกำหนดให้มีการสำรวจและจัดทำทะเบียนบุคคลที่ไม่มีชื่ออยู่ในระบบทะเบียนราษฎรให้แก่บุคคลไร้สถานะที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยทุกกลุ่ม และอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๑) วรรคสอง และมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๔

หมายเลขบันทึก: 531079เขียนเมื่อ 23 มีนาคม 2013 15:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มีนาคม 2013 15:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท