ปกิณกะคดีควาย :นายฮ้อยยุคสุดท้าย - การเดินทางของนายฮ้อยสังข์


วิถีชีวิตของคนอีสานที่น่าศึกษา

ในปัจจุบัน แม้ไม่มีการไล่ต้อนวัว ควายไปขายมานานแล้ว นายฮ้อยส่วนหนึ่งก็ล้มหายตายจากไปนานแล้ว แต่ก็ยังมีนายฮ้อยเดิมอยู่หลายคน รวมทั้งยังมีอดีตนายฮ้อยเดินทุ่งบางส่วนที่ปรับเปลี่ยนวิธีค้าขายไปตามยุค สมัยแล้วก็ยังมี จึงได้ขอบันทึกเรื่องราวจากบุคคลเหล่านี้เอาไว้เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา ต่อไป

นายสังข์ โรมพันธ์ (นายฮ้อยสังข์) ปัจจุบันอยู่บ้านเลขที่ ๑๒๑ บ้านหนองตุ หมู่ที่ ๖ ต.หัวเมือง อ.มหาชนชัยะ จ.ยโสธร เกิด พ..๒๔๕๐ อายุ ๙๕ ปี (บันทึก ปากคำเมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๔๕  นายฮ้อยเล่าว่า  เริ่มเป็นนายฮ้อยไล่ควายไปขายตั้งแต่อายุได้ ๒๓ ปี ซึ่งมีนายฮ้อยร่วมไล่ต้อนควายไปขายในช่วงนั้นหลายคน เช่น นายฮ้อยโหล่น นายฮ้อยไข่ (อยู่บ้านคุ้ม ต.คูเมือง อ.มหาชนะชัย) นายฮ้อยคำ  (อยู่บ้านสำโรง อ.มหาชนะชัย)นายฮ้อยเพ็ง นายฮ้อยพรหมมา โรมพันธ์ (ญาติของนายฮ้อยสังข์ ซึ่งตอนหลังถูกโจรยิงตายระหว่างการไล่ต้อนควายไปขาย)และจารย์อ้วน หรือ นายฮ้อยอ้วน แห่งบ้านหัวเมือง อ .มหาชนะชัย เป็นนายฮ้อยใหญ่ หรือหัวหน้าคณะ

 

อำเภอมหาชนะชัย เดิมเรียกว่าเมืองฟ้าหยาด อยู่ในเขตจังหวัดอุบลราชธานี ต่อมาเมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๑๕ ได้ยกฐานะเป็นจังหวัดยโสธร   อำเภอมหาชนะชัย จึงขึ้นกับจังหวัดยโสธร

 

นายฮ้อยสังข์เล่าว่า การเตรียมหาซื้อและรวบรวมควายจะเริ่มขึ้นหลังจากทำนาเสร็จ นำข้าวขึ้นเล้า (ยุ้งฉาง) เรียบร้อยแล้ว คือในราวเดือนอ้าย ถึงเดือนยี่ (ธันวาคมถึงมกราคม) ราคาควายที่ซื้อกันในสมัยก่อนตัวใหญ่ๆงามๆ ราคาตัวละ ๗๐ - ๘๐ บาท นายฮ้อยแต่ละคนจะหามาสมทบกันคนละ ๑๐ ตัวขึ้นไป เมื่อรวบรวมได้ประมาณ ๑๐๐ ตัว ก็จะนำสัตว์มารวมกันที่โนนนกเอี้ยง ใกล้บ้านหัวเมือง ตำบลหัวเมือง อ.มหาชนะชัย ซึ่งนายฮ้อยทุกคนก็จะเตรียมของใช้ส่วนตัวและสิ่งของจำเป็นต่างๆออกมาพร้อม จะไม่มีใครกลับเข้าไปนอนในหมู่บ้านอีก แต่ก็จะมีคนในครอบครัวนำอาหารมาส่งหรือมีญาติพี่น้องออกมาเยี่ยมให้กำลังใจ อยู่เสมอจนกว่าจะถึงวันเดินทาง ซึ่งพวกนายฮ้อยก็ได้หาฤกษ์หายามไว้แล้ว

การเดินทางไปขายควายจะมีเกวียนตามขบวนไปด้วย จำนวน สอง สามเล่ม หรือมากกว่านี้ ตามความจำเป็น เช่นถ้ามีจำนวนควายมาก นายฮ้อยติดตามจะมาก สัมภาระก็มากตามตัว จะต้องใช้เกวียนบรรทุกมากเล่ม ส่วนใหญ่แล้วเกวียนจะบรรทุกสิ่งของ และมีคนนั่งบังคับเพียงหนึ่งคน ส่วนคนอื่นจะเดินตามฝูงควายเพื่อบังคับฝูงควายไม่ให้แตกฝูง จะมีบ้างที่เหน็ดเหนื่อยมาอาศัยนั่งห้อยขาด้านท้ายเกวียน หรือเป็นผู้อาวุโสก็จะให้นั่งเกวียนสลับไปสลับกับการลงเดินเป็นระยะๆ

 

ก่อนออกเดินทางนายฮ้อยร่วมคณะก็ จะทำพิธีร่วมกินน้ำสาบานกันว่าจะรัก สามัคคี และซื่อสัตว์ต่อกัน มีการบายศรีสู่ขวัญ พร้อมทั้งจัดหาวัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องดนตรี เครื่องรางของขลัง พร้อมทั้งนัดหมอ (สัตว์แพทย์อำเภอ) มี ฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้ ซึ่งสมัยก่อนมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรครินเดอร์เปสต์ หรือ โรคลงแดง เพียงอย่างเดียว เนื่องจากมีการระบาดของโรคดังกล่าวอยู่ (ขณะนี้ได้หมดไปจากประเทศไทยแล้ว)

สำหรับเส้นทางการไล่ต้อนควายไปขายของนายฮ้อยคณะนี้มี ๒ เส้นทาง คือ

 

เส้นทางที่ ๑ คือ ปลายทางที่จังหวัดสระบุรี ออกเดินทางจาก อ.มหาชนะชัย จังหวัดยโสธร ผ่านทุ่งกุลาร้องไห้ ผ่านเขต อ.ราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ ผ่าน อ.สุวรรณภูมิ อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด ผ่านทุ่งป่าหลาน อ.พยัฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม ผ่าน อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์ ผ่าน อ.ปะทาย  เข้าตลาดแค เข้าจอหอ อ.เมืองนครราชสีมา ผ่าน อ.สีคิ้ว อ.สูงเนิน อ.ปากช่อง  จ.นครราชสีมา ในเส้นทางนี้จะผ่านด่านกักสัตว์บันไดม้าในท้องที่ อ.ปาก ช่องไปถึงด่านจะมีที่กักสัตว์ แล้วหมอจะมาตรวจอาการ ถ้ามีสัตว์ป่วยจะถูกกัก สอง ถึง สามสัปดาห์  หรืออาจจะต้องได้รับการฉีดยาหรือวัคซีนกันอีกทีก็ได้ แล้วผ่านเขตดงพญาไฟ (ปัจจุบันเรียกดงพญาเย็น) แล้วผ่านเขตอำเภอมวกเหล็ก อ.แก่งคอย  อ.เมืองสระบุรี และจุดหมายสุดท้ายคือ อ.หนองแค จ.สระบุรี

 

เส้นทางที่ ๒ จะผ่านเข้าทางคูสระ อ ราษีไศล อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ อ.ศรีขรภูมิ จ.สุรินทร์ อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์  ซึ่งจะผ่านด่านกักสัตว์ปะคำ (จะมีการกักตรวจโรคเช่นเดียวกับด่านกักสัตว์บันไดม้า) แล้วผ่าน อ.ตาพระยา อ.อรัญประเทศ จ.ปราจีนบุรี บางทีก็เริ่มขายที่อรัญประเทศ แต่บางทีไปตั้งต้นขายที่ อ.พนมสารคาม  จ.ฉะเชิงเทรา บางครั้งอาจจะเลยไปถึงเขตจังหวัดชลบุรี ซึ่งมีพวกทำไร่อ้อยมาก จะซื้อควายไว้ไถปลูกอ้อยหรือพรวนดินไร่อ้อย

การเดินทางในแต่ละเส้นทางนายฮ้อยที่เป็นหัวหน้าจะชำนาญ มาก ซึ่งนายฮ้อยรุ่นใหม่ๆก็จะเรียนรู้ตาม เขาจะรู้ว่าจะต้องพักที่จุดไหนบ้างจึงจะปลอดภัย  มีแหล่งอาหารสำหรับคน และสัตว์ รู้ว่าแหล่งน้ำตรงไหนมีปลาประเภทใดชุกชุม ตรงไหนมีต้นไม้ที่สามารถนำใบหรือดอกมากินเป็นผักได้ แม้มืดค่ำก็เดินไปเก็บได้ถูกต้น เวลาทำลาบก้อย หรือต้มยำปลาจะใส่มดแดงเพื่อให้ออกรสเปรี้ยว ก็รู้ว่าต้นไม้ตรงไหนมีรังมดแดงมาก หรือรู้กระทั่งว่าที่ย่านไหนมีโจรชุกชุม บางท้องที่อาจจะมีความสนิทคุ้นเคยกับพวกที่มีอิทธิพลไปถึงจะมีของฝากของ รางวัลให้พิเศษ ก็จะได้รับการคุ้มครองอีกต่างหาก จากจุดหนึ่งถึงจุดหนึ่งจะใช้เวลาเดินทางเท่าไร จุดที่อยู่ห่างไกลกันก็จะสั่งให้ออกเดินทางแต่เช้ามืดหน่อย ส่วนบางจุดไม่ห่างกันมากนักก็ออกเดินทางสบายๆ และไม่ได้เร่งฝีเท้ากันมากนัก กะกันว่าวันหนึ่งๆ ฝูงควายและเกวียนที่เดินตามจะเดินทางได้วันละ ๒๐ กิโลเมตรเป็นอย่างมาก ถ้าผ่านสภาพภูมิประเทศที่เป็นป่าเขาจะเคลื่อนที่ได้วันละไม่ไกลมากนัก ก็ถือเอาดวงอาทิตย์เป็นเกณฑ์ ถ้าค่ำจะไม่เคลื่อนขบวนต่อ เพราะเสี่ยงกับการที่ควายจะแตกฝูง และเสี่ยงกับการถูกปล้นจี้ด้วย

นายฮ้อยสังข์ โรมพันธ์ ได้เล่าถึงเหตุการณ์สำคัญที่นายฮ้อยพรหมมา โรมพันธุ์ ซึ่งเป็นญาติกันถูกโจรยิงตายเมื่อราวปี ๒๕๐๕ เหตุเกิดขึ้นในบริเวณหนองสองห้องในท้องที่ อ.อรัญประเทศ จ.ปราจีนบุรี (ปัจจุบันเป็นจังหวัดสระแก้ว) ขณะ นั้นเป็นเวลาบ่ายคล้อยเกือบเย็น คณะคาราวานเกือบจะถึงที่พักแรมซึ่งเป็นที่ดอนใกล้ๆแหล่งน้ำ กองคาราวานได้ไล่ต้อนฝูงควายลงอาบน้ำและกินน้ำที่ในหนองน้ำ ควายเพิ่งจะลงไปถึงน้ำไม่กี่ตัว ก็มีโจรประมาณ ๗-๘ คน มีอาวุธทั้งปืนแก๊ป และปืนลูกซอง เกือบทุกคน เห็นมีเพียง ๓ คนเท่านั้นที่ถือดาบ โผล่ออกมาจากปาละเมาะใกล้หนองน้ำ คล้ายกับว่าโจรพวกนี้ได้ดักรออยู่แล้ว เมื่อมาประจันหน้ากัน ฝ่ายโจรก็ร้องถามว่าควายทั้งฝูงจะขายไหม จารย์อ้วน หรือ นายฮ้อยอ้วนเห็นมีอาวุธครบมือก็รู้แล้วว่าไม่ใช่พวกมาซื้อควายธรรมดาแล้ว จึงพยักหน้าให้ทุกคนรู้และระวังตัว พร้อมชะงักการไล่ควายลงน้ำไว้ก่อน แล้วตอบกลับไปอย่างไม่สะทกสะท้านว่ายังไม่ขายหรอกจะเอาไปส่งพ่อค้าที่พนม สารคาม เมื่อตอบไปอย่างนั้น บรรดาโจรก็มีปฏิกิริยาตอบโต้ทันที พร้อมยกปืนขึ้นขู่ว่า  ถ้าอย่างนั้นขอเอาเฉยๆ ทั้งหมดนี้แหละ ขณะนั้นบรรดาพวกนายฮ้อยก็เตรียมอาวุธพร้อมเหมือนกัน จารย์อ้วนหัวหน้ากองคาราวานเห็นท่าไม่ดีก็ต่อรองว่าจะให้ ๔ ตัว ขอให้หลีกทางให้ไปแต่โดยดีเถิด  พร้อมบอกว่าทางบ้านปีนี้แล้งจัดถ้าไม่ได้ขายควายชุดนี้ พวกที่รออยู่ที่บ้านอดตายแน่ พอพูดขาดคำพวกโจรระดมยิงหลายนัด พวกนายฮ้อยยิงไปเพียงนัดเดียวเท่านั้น จากนั้นก็วิ่งหลบกันชุนมุน เหลืออยู่ส่วนหน้าคือนายฮ้อยสังข์ และนายฮ้อยพรหมมา กำบังอยู่ข้างเกวียน ห่งาจากพวกโจรประมาณ ๓๐ เมตร พวกโจรยิงมาอีก ๑ ชุด ปรากฏว่ายิงไม่ออก (ลูก หลานของนายฮ้อยสังข์ที่ร่วมฟังการจดบันทึกถ้อยคำอยู่นั้นต่างก็พูดเสริมว่า นายฮ้อยสังข์มีเครื่องรางคงกระพัน เป็นที่ลือชาในแถบนั้นว่าแกฟันไม่เข้า ยิงไม่ออก หรือหนังเหนียว) นายฮ้อยสังข์เรียกพรรค พวกให้เข้ามาเพื่อร่วมสู้กับพวกโจร เพราะปืนที่อัดดินปืนและยังไม่ได้ยิงยังมีหลายกระบอก พอจะสู้กันได้ ขณะเดียวกันโจรก็ยิงใส่นายฮ้อยพรหมมาล้มลง พวกนายฮ้อยคนอื่นเห็นดังนั้นก็แตกกระเจิงเข้าป่าไป นายฮ้อยสังข์รีบอุ้มเอาศพนายฮ้อยพรหมมาซึ่งเป็นญาติกันออกไป

ในคราวนั้นโจรไล่ต้อนฝูงควายเกือบร้อยตัวไปเกือบหมด เหลือไว้เพียง ๙ ตัวเท่านั้น หลังจากเหตุการณ์สงบลงก็ได้พากันไปแจ้งความกับนายอำเภออรัญประเทศออกมาสอบ สวน  ซึ่งนายอำเภอก็สั่งให้เจ้าหน้าที่ออกติดตามโจรพวกนี้ ก็ยังไม่ทราบผลว่าเป็นอย่างไร ต่อมาได้นิมนต์พระที่ตำบลใกล้ๆกันนั้นมาประกอบพิธีฝังศพนายฮ้อยพรหมมาที่ บริเวณใกล้กับหนองสองห้องนั้น ส่วนควายที่เหลือก็ขายราคาถูกๆให้แก่ชาวบ้านละแวกนั้นแล้วพากันเดินทางกลับ บ้านที่ ต.หัวเมือง อ.มหา ชนะชัย จังหวัดอุยลราชธานี พอล่วงไปอีกหนึ่งปีได้พาญาติพี่น้องไปยังบริเวณหนองสองห้องเพื่อขุดเอา กระดูกของนายฮ้อยพรหมมากลับไปทำพิธีเผาและทำบุญอุทิศส่วนกุศลตามประเพณี ปรากฏว่ามีการขัดขวางจากพวกโจรโดยมีการยิงปืนข่มขู่ แต่ก็ไม่มีเหตุร้ายใดๆเกิดขึ้น สามารถนำกระดูกกลับบ้านเกิดได้ ส่วนผลการสืบสวนสอบสวนดำเนินการกับพวกโจรได้ผลอย่างไรนั้น ไม่มีใครติดใจไปสอบถามนายอำเภออีกเลย

นายฮ้อยสังข์ บอกว่าก่อนออกเดินทางจากโนนนกเอี้ยง  บ้านหัวเมือง อ.มหา ชนะชัย มีลางสังหรณ์อยู่อย่างหนึ่ง คือ ฝูงควายแตกตื่นโกลาหลมากกว่าจะต้อนเข้ารวมฝูงเสียเวลาไปมากเหมือนกัน แต่ก็ไม่มีใครคิดว่าจะเป็นอะไร มีการทำพิธีต่างๆ ครบถ้วนเหมือนเดิม ในเคราะห์กรรมคราวนั้น ทำให้นายฮ้อยหลายคนเข็ดขยาดเลิกร่วมเดินทางไปค้าควายก็มี แต่ก็ยังเป็นนายฮ้อยค้าขายอยู่ในละแวกหมู่บ้านและตำบลใกล้เคียง บางคนถึงกับเลิกเป็นนายฮ้อยไปเลยก็มี และผลจากการถูกปล้นควายครั้งนั้นก็ทำให้ฐานะของพวกนายฮ้อยย่ำแย่ไปตามๆกัน กว่าจะฟื้นได้เหมือนเดิมก็ต้องทำนาและค้าขายใช้หนี้ค่าควายที่ยังค้างอยู่ หลายปี แต่ก็ยังดีที่ได้น้ำใจจากพี่น้องทางบ้านและเจ้าของควายที่ไม่คิดราคาควาย เต็มที่ตามที่ตกลงกันไว้ ลดหย่อนให้ตั้งมาก นี่แหละคือวัฒนธรรมอันหนึ่งของคนอีสาน ซึ่งในปัจจุบันไม่แน่ใจว่าจะยังมีหลงเหลืออยู่บ้างหรือไม่

 

 

จากส่วนหนึ่งในผลงาน ควายกับฅน ของ เรืองศักดิ์ ละทัยนิล ที่ตั้งใจทำขึ้นด้วยความสำนึกในคุณค่า และแรงศรัทธาที่มีต่อ ควายไทย

 


หมายเลขบันทึก: 53088เขียนเมื่อ 3 ตุลาคม 2006 11:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 14:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

........เคยไปเที่ยว บ้านหนองตุบุญบั้งไฟ บ้านเกิด คุณ ตา พ่อใหญ่ พั้ว โรมพันธ์ ครับ ........

ผมอยู่บ้านหนองตุ นามสกุลโรมพันธ์เป็นตระกูลใหญ่ในหมู่บ้าน ปู่สังข์ ผมไม่แน่ใจท่านยังมีชีวิตอยู่ไหม แต่ทราบว่าชื่อสังข์

โรมพันธ์ มีสองคน บ้านอยู่ทางตะวันออกวัด พ่อผมเคยเป็นนายฮ้อยไปขายควายเช่นกันครับ

พ่อแม่เคยบอกว่าปู่เป็นนายฮ้อย สมัยเด็กๆไม่ได้คิดจะสืบสาวราวเรื่อง มาตอนนี้พ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ที่พอทราบเรื่องราวก็จากโลกนี้ไปหมดแล้ว ทราบว่าปู่ชื่อสอน เป็นคนร้อยเอ็ด ปู่สอนแต่งงานกับย่าแพงศรี ปู่เสียตอนไหนไม่รู้ รู้แค่ว่าย่าแพงศรีพาลูกๆอพยพมาตามลำชี ที่สุดท้ายย่ามาค้าขายอยู่ที่ท่าบ่อแบง อุบลราชธานี

ปัจจุบันหนองสองห้องคือที่ตรงไหนของอรัญคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท