ผลการสอบระดับชาติ : ความข้องใจใน "ความจริง" กับ "ค่าคะแนน"




ผลการสอบระดับชาติ : ความข้องใจใน “ความจริง” กับ “ค่าคะแนน”

ผลการสอบระดับชาติขั้นพื้นฐาน (Ordinary  National  Educational  Testing : O NET) ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ ที่สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สทศ.)  ซึ่งได้ประกาศภายหลังการจัดสอบทั่วประเทศ ได้สร้างกระแสตื่นตัวในระดับคะแนนเฉลี่ยรายบุคคล รายกลุ่มสาระ รายโรงเรียน รวมทั้งคะแนนเฉลี่ยระดับศูนย์สอบ ระดับเขตพื้นที่การศึกษา และระดับประเทศ เพื่อเทียบเคียงมาตรฐานการเรียนรู้ของเด็กด้วยข้อสอบกลาง และมีมาตรฐานการจัดสอบเป็นที่ยอมรับในทางวิชาการ  และคะแนนสอบรายบุคคล ครูผู้สอนก็สามารถใช้เป็นข้อมูลไปจัดการสอนพิเศษเพื่อเติมเต็มความรู้ ในสาระการเรียนรู้หรือมาตรฐานการเรียนรู้ที่บกพร่อง แต่สิ่งที่ครู ผู้บริหารโรงเรียนจำนวนไม่น้อยพากันลุ้นจนตัวโก่ง ก็คือ คะแนนเฉลี่ยใน ๘ สาระการเรียนรู้ของโรงเรียนนั้น ต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยระดับประเทศหรือไม่? หากเป็นเช่นนั้น สิทธิประโยชน์บางประการก็จะถูกตัด ฐานที่ “ทำงานไม่เข้าเป้า

คะแนนเฉลี่ยที่ลดลง เป็นแรงกดดันลึกๆของผู้สอนและผู้บริหารในโรงเรียน เนื่องจากได้มีการนำคะแนน O NET ไปใช้ในเชิงบริหาร มากกว่าเชิงวิชาการ ตัวอย่างเช่น  คะแนนสอบ O NET ที่ลดลง มีผลต่อการประเมินคุณภาพภายนอกของโรงเรียนในมาตรฐานที่ ๕ (การยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นสูงสุด ) โรงเรียนส่วนมากไม่ผ่านการรับรองคุณภาพและมาตรฐาน เพราะประเมินไม่ผ่านมาตรฐานข้อนี้  การประเมินครู และบุคลากรทางการศึกษาต้นแบบ (OBEC Awards) ก็เช่นเดียวกัน หากคะแนนเฉลี่ยในสาขาที่สอนหรือสาขาที่รับผิดชอบต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยระดับประเทศ ก็ประเมินคุณสมบัติเบื้องต้นไม่ผ่านเกณฑ์  อีกตัวอย่างหนึ่งคือ การประเมินวิทยฐานะของครูในส่วนของผลการปฏิบัติงานจะไม่ผ่านเกณฑ์ในข้อ ๑.๓ ที่ระบุว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระดับชาติของนักเรียนต่ำกว่าปีการศึกษาที่ผ่านมา นอกจากจากนี้ การเพิ่มขึ้นหรือลดลงของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่วัดจากคะแนนเฉลี่ย O NET ในระดับโรงเรียนหรือระดับเขตพื้นที่การศึกษา ยังมีผลต่อเงินโบนัสปลายปีของครู  มีผลต่อการพิจารณาความดีความชอบ มีผลการพิจารณาจัดสรรงบประมาณ ต่อกันไปเป็นลูกโซ่

 ในระดับชั้นเรียนคะแนน O NET ยังถูกนำไปผูกกับคะแนนปลายปีเพื่อตัดสินผลการเรียนของนักเรียนที่จบการศึกษาตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑ ในสัดส่วนคะแนน ๒๐: ๘๐ โดยให้มีผลตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๕๕ เป็นต้นไป เพื่อจูงใจให้นักเรียนเห็นความสำคัญของผลการสอบ O NET ทั้งนี้ตามประกาศของกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ ๒๑  มิถุนายน ๒๕๕๕ เป็นผลให้โรงเรียนต้องปรับเปลี่ยนแบบฟอร์มแสดงผลการเรียนของนักเรียนใหม่ (แบบ ป.พ. ๑)  หรือหาวิธีการกรอกข้อมูลผลการเรียนของนักเรียนให้สะดวกรวดเร็ว เพื่อลดภาระงานธุรการประจำชั้นของครู

เมื่อทุกฝ่ายให้ความสำคัญกับผลการสอบ O NET ถึงเพียงนี้ จึงไม่เป็นเรื่องแปลกที่จะเกิดยุทธการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน (ทำให้ได้ตัวเลขค่าเฉลี่ยที่สูงขึ้น)  เกิดปรากฏการณ์ใหม่ในการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียน  กล่าวคือ การนำข้อสอบเก่า หรือข้อสอบใหม่จากสำนักกวดวิชาที่มีชื่อ มาฝึกเด็กทำข้อสอบอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ใกล้จะถึงวันสอบก็ยิ่งเร่ง บางโรงเรียนถึงกับจ้างครูในโรงเรียนกวดวิชามาสอนพิเศษถึงโรงเรียนเลยทีเดียว ปานประหนึ่งว่า หากให้ครูสอนตามกระบวนการใช้หลักสูตรปกติแล้วจะไม่สามารถทำให้เด็กทำข้อสอบได้ ทั้งที่รู้กันดีว่า ข้อสอบของ สทศ.นั้น ไม่ได้เน้นความรู้ความจำ แต่เน้นที่การคิด การวิเคราะห์ การประยุกต์ใช้องค์ความรู้ที่เกิดจากการเรียนรู้ตามมาตรฐานการเรียนรู้ในหลักสูตร เด็กจะทำข้อสอบได้ ต้องมีองค์ความรู้เดิม ประสบการณ์เดิมเป็นต้นทุนอย่างแตกฉาน เพียงพอ สามารถเรียนรู้ได้โดยใช้ทักษะการอ่าน การเขียน การคิดคำนวณ เป็นพื้นฐาน เพื่อขบคิด วิเคราะห์ สรุป ตีความ ตัดสินใจ แก้ปัญหา ได้ด้วยตนเองหรือโดยกระบวนการกลุ่ม เมื่อเป็นเช่นนี้ การสอนกับการสอบจึงไปคนละทาง ก็นึกภาพเอาเองว่า เด็กที่ถูกข้อสอบอัดอยู่ทุกวัน จะมีความสุขกับการเรียนรู้หรือไม่? และข้อสำคัญเขาไม่ได้ใช้ทักษะสำคัญในการเรียนรู้ตามธรรมชาติ ตามลำดับพัฒนาการ แล้วเขาจะเกิดปัญญาได้อย่างไร?

ผลการสอบที่ได้คะแนนเฉลี่ยลดลงบ้าง อาจเกิดจากสาเหตุปัจจัยที่ควบคุมได้ยาก เช่น ระดับสติปัญญาของเด็กส่วนใหญ่ในชั้นเรียน การขาดโอกาสในการเรียนรู้จากครูดีๆ สื่อดีๆ นวัตกรรมดีๆ แหล่งเรียนรู้ดีๆ สื่อเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูง เป็นเรื่องปกติที่ยอมรับได้หากมีการเพียรพยายามปรับปรุงแก้ไข ส่วนผลการสอบที่ได้คะแนนเฉลี่ยสูงขึ้น อาจเป็นผลมาจากการอุทิศทุ่มเท ใส่ใจ ของครูผู้สอน ผู้บริหาร และมีกระบวนการพัฒนาที่ต่อเนื่อง  แต่ผลการสอบที่ได้คะแนนเฉลี่ยสูงขึ้นแบบก้าวกระโดดจากต่ำสุดเป็นสูงโด่งและโด่งแบบไม่กระจายคะแนน ก็เป็นข้อสังเกตเช่นเดียวกันว่า เกิดอะไรขึ้นในสนามสอบ... ไม่อยากคิดด้วยจิตอกุศล...อาจไม่เป็นธรรมกับ “คนดี”ที่ปะปน แต่มีข้อมูลลับหนาหูว่า เด็กสอบได้คะแนนดีมากแต่อ่านไม่คล่องเขียนไม่คล่องอยู่ครึ่งห้อง... ความข้องใจจึงเกิดขึ้น ...อะไรก็เป็นไปได้ในวงการศึกษายุคที่คนขาดหิริ โอตตัปปะ...กระบวนการโปร่งใสแบบ “ตาขยิบ” ....แม้แต่การสอบครูยังเกิดการทุจริตฉาวโฉ่ระดับชาติ...นับประสาอะไรกับการสอบเด็ก... แล้วเด็กที่ถูกผู้ใหญ่ป้ายสีดำให้ตั้งแต่วันนี้  วันข้างหน้าเขาจะเป็นผู้ใหญ่แบบไหน?...น่าเศร้าจริงๆ  

สุดท้าย... คะแนนเฉลี่ยที่ลดลง หรือเพิ่มขึ้น  จึงไม่ใช่เรื่องของ “ความเสียใจ” หรือ “ความดีใจ” ในสิทธิประโยชน์ที่ควรจะได้รับ แต่เป็นเรื่องคุณค่าของการยอมรับว่า มาตรฐานคุณภาพกลางที่แท้จริงอยู่จุดไหนกันแน่? มั่นใจได้แค่ไหนที่จะนำข้อมูลผลการสอบไปใช้ประโยชน์? รับประกันได้ไหมว่า คะแนนเฉลี่ยผลการสอบ เป็นตัวเลขที่บ่งบอกถึงคุณภาพ ที่แทนค่าด้วยความรู้ความสามารถของเด็กอย่างแท้จริง ตามมาตรฐานการเรียนรู้...


หมายเลขบันทึก: 530813เขียนเมื่อ 20 มีนาคม 2013 23:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มีนาคม 2013 14:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สำหรับผมข้องใจว่า O-NET A-NET GAT PAT นี่เขาออกแบบมาให้เป็นอะไร

Educational Measurement and Evaluation หรือ Educational Contest

แล้วตกลงเราจะได้อะไรจากเจ้าสิ่งเหล่านี้เพื่อที่จะเอาไปพัฒนาเด็กๆของเรากันแน่ ?

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท