ธรรมรัต
พระมหา ธรรมรัต อริยธมฺโม ยศขุน

แนวทางการพัฒนาวัดให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ และศูนย์รวมจิตใจของประชาชน


วัดเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชน ส่วนพระสงฆ์เป็นตัวแทน ของวัด ในการแสดงบทบาทต่าง ๆ เป็นผู้นำทางจิตใจของประชาชน

แนวทางการพัฒนาวัดให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ และศูนย์รวมจิตใจของประชาชน

โดย พระอนุรักษ์ อนุีรกฺขิโต

ชั้นปีที่ ๒ สาขาพุทธศาสตร์ คณะศาสนาและปรัชญา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตศรีธรรมาโศกราช

  วัดในปัจจุบันมีมากกว่าสามหมื่นวัดทั่วประเทศ  วัดบางวัดก็เป็นวัดหลวง บางวัดก็เป็นวัดราษฎร์  ขนาดแตกต่างกันไป  บางวัดอยู่ในชนบท  แต่บางวัด ตั้งอยู่ในเมือง มีความเจริญทางวัตถุสูง  บางวัดมีรายได้มาก  แต่บางวัด มีรายได้น้อย บางครั้งถึงขั้นขาดแคลน  บางวัดมีมานานแล้ว บางวัดเพิ่งสร้างใหม่  บางวัดดูยิ่งใหญ่อลังการ  บางวัดก็ดูเก่าขาดการดูแล  บางวัดจัดให้ดูคล้ายสวนป่าธรรมชาติ  แต่บางวัดเต็มไปด้วยสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ บางวัดประชาชนอยากเข้าไปบวช ปฏิบัติ ศึกษาธรรม แต่บางวัดคนไม่อยากเข้าไปเพราะวุ่นวายสับสน  บางวัดดูสะอาด สงบ ร่มรื่น ให้ความสว่างทางจิตใจและปัญญา  วัดบางวัดก็เป็นที่พึ่งของประชาชน เป็นศูนย์กลางของชุมชนวัดจะดำรงไว้ซึ่งความเป็นวัด (วัด-วัตร-วัฒน)  ได้อย่างถูกต้องจะต้องอาศัยหลักการของพระพุทธศาสนา  ที่ประกอบด้วยองค์ ๓  ของไตรสิกขา คือ

 

  ๑.  สะอาด   ด้วยหลักการของพระพุทธศาสนา คือ ศีล

  ๒.  สงบ   ด้วยหลักการของพระพุทธศาสนา คือ สมาธิ

   ๓.  สว่าง   ด้วยหลักการของพระพุทธศาสนา คือ ปัญญา

  ในอดีตวัดถือได้ว่า เป็นศูนย์กลางและเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชน รวมทั้งคนในชุมชนรอบๆ วัดยังใช้วัดเป็นสถานที่พบปะสังสรรค์ และทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน เช่น การประชุมหมู่บ้าน การประชุมราชการ หรือให้วัดเป็นศูนย์การเรียนรู้ แต่ในปัจจุบันท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคม วัฒนธรรมตะวันตกที่ไหลบ่าเข้ามาสู่สังคมไทย ทำให้เด็ก เยาวชน และประชาชน หันไปยึดติดในวัตถุนิยมมากเกินไป เป็นผลให้คนห่างไกลจากวัดโดยไม่รู้ตัว วัดจึงได้ลดบทบาทจากในอดีต สังคมไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนี้ หมู่บ้านแต่ละหมู่บ้านต่าง มี วัดประจำหมู่บ้านของตนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งถือว่าเป็นสมบัติรวมของคนทั้งหมู่บ้าน วัดจึงเป็นศูนย์รวมประชาชนและมีบทบาทดังต่อไปนี้

  ๑) เป็นสถานศึกษา  สำหรับชาวบ้านจะส่งบุตรมารับการ ฝึกอบรม ทางศีลธรรมและเล่าเรียนวิชาการต่าง ๆ

  ๒)  เป็นสถานสงเคราะห์ บุตรหลานของชาวบ้านที่ยากจน ได้มา อยู่ อาศัยเลี้ยงชีวิตและศึกษาเล่าเรียน ตลอดจนผู้ใหญ่ที่ยากจนมาอาศัยเลี้ยงชีพ

   ๓)  เป็นสถานพยาบาล รักษาคนเจ็บป่วยตามแผนโบราณ

  ๔)  เป็นที่พักคนเดินทาง

  ๕)  เป็นสโมสรที่ชาวบ้านพบปะสังสรรค์ และพักผ่อนหย่อนใจ

  ๖)  เป็นสถานที่บันเทิง ที่จัดงานเทศกาลและมหรสพต่าง ๆ สำหรับ ชาวบ้าน

  ๗)  เป็นที่ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท คือ พระสงฆ์เป็นที่ปรึกษา แก้ปัญหา ชีวิตครอบครัวและความทุกข์ต่าง ๆ

  ๘)  เป็นศูนย์กลางศิลปะและวัฒนธรรม วัดเป็นที่รวมศิลปกรรมต่าง ๆ ของชาติ ซึ่งเป็นเสมือนพิพิธภัณฑ์

   ๙)  เป็นคลังพัสดุ สำหรับเก็บของใช้ต่าง ๆ ที่ชาวบ้านได้ใช้ร่วมกัน เมื่อมีงานวัดหรือยืมไปใช้เมื่อตนมีงานบ้าน

  ๑๐)  เป็นศูนย์กลางการบริหารหรือการปกครอง ที่กำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน  จะเรียกลูกบ้านมาประชุม เพื่อบอกแจ้งกิจกรรมต่าง ๆ

   ๑๑)  เป็นที่ประกอบพิธีกรรมหรือให้บริการด้านพิธีกรรม อันเป็นเรื่อง ผูกพันกับชีวิตของทุกคนในระยะต่าง ๆ ของชีวิต

  วัดเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชน ส่วนพระสงฆ์เป็นตัวแทน ของวัด ในการแสดงบทบาทต่าง ๆ เป็นผู้นำทางจิตใจของประชาชน เป็นศูนย์รวมแห่งความเคารพ เชื่อถือ และการร่วมมือกันให้เกิดความสามัคคีความเป็นระเบียบเรียบร้อย นอกจากนี้พระสงฆ์ยังมีบทบาท สำคัญในการควบคุมทางสังคมในระดับประเทศ ด้วยเพราะ พระสงฆ์เป็นที่เคารพนับถือ ของบุคคล ทุกชั้นในสังคมตั้งแต่พระมหากษัตริย์ลงมาจนถึงประชาชนทั่วไป ปัจจัยที่เชิดชูฐานะ ของ พระสงฆ์ ใน สังคมคือ

  ๑)   ความบริสุทธิ์

   ๒)  ความเสียสละบำเพ็ญประโยชน์

   ๓)  ความเป็นผู้นำทางสติปัญญา

   วัดอื่น ๆ ทั้งในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน ภาคใต้ และในกรุงเทพมหานคร  วัดต่าง ๆเหล่านี้สามารถนำบทบาทหน้าที่ของวัดให้เป็นศูนย์กลางของชุมชน เป็นที่พึ่งของประชาชน เป็นแหล่งศึกษาสำหรับการเรียนรู้ทางพระพุทธศาสนา  เป็นศูนย์ รวมจิตใจของคนในชุมชนเปรียบประดุจคนไทยมีศูนย์รวมใจคือในหลวง ก็ด้วยเหตุผลที่ว่า

   ๑. ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับวัด มีความแนบแน่นต่อกัน

  ๒. กิจกรรมของวัดกับชุมชนเป็นกิจกรรมที่เอื้อประโยชน์ต่อกัน

  ๓. บรรยากาศของวัดทั้งพระเณร สถานที่ พิธีกรรม เป็นที่ศรัทธาของประชาชน

  ๔. กิจกรรมที่ทางวัดจัดขึ้นนั้นส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนในชุมชน

  ๕.วัดทำบทบาทหน้าที่ถูกต้อง  ในด้านการบริหาร  การจัดการวัด การปรับปรุงวัด และการพัฒนาวัดให้เป็นที่พึ่งเป็นศูนย์กลางชุมชนได้

แนวทางพัฒนาวัดให้เป็นศูนย์กลางของชุมชน  พอจะสรุปได้ดังนี้

  ๑.พัฒนาวัดให้เกิดความรู้สึกแก่ชุมชนในท้องถิ่นว่า วัดเป็นของตน  มีความรู้สึกหวงแหน  รัก  และช่วยกันดูแลรักษา

  ๒.สร้างสภาพวัดให้เป็น ที่พักอาศัยของพระภิกษุสามเณร  เป็นที่บวชเรียนศึกษาปฏิบัติธรรม  เป็นที่ทำบุญบำเพ็ญกุศล  เป็นที่ที่ชาวบ้านได้เข้ามาหาความสงบทางกายและทางใจ  เป็นศูนย์กลางสำหรับทำกิจกรรมทางสังคมร่วมกันของชาวบ้าน

  ๓.สร้างความสัมพันธ์ระหว่างวัดกับประชาชนในท้องถิ่นวัดจะต้องสะอาดร่มรื่นมีกิจกรรมเพื่อประชาชน  มีความพร้อมที่จะให้บริการแก่ประชาชนในท้องถิ่นที่มีความต้องการจะเข้าวัด  เพื่อบำเพ็ญกุศล  ศึกษาพระธรรมวินัยและหลักพระพุทธศาสนา  ประชาชนจะได้เห็นคุณค่าและเข้าวัดมากขึ้น

  ๔.สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างวัดกับประชาชนในท้องถิ่น  วัดควรเป็นแกนนำประชาชนในท้องถิ่น ในการติดต่อกับหน่วยงานอื่นๆ การจัดกิจกรรมเพื่อการสาธารณูปโภค สาธารณูปการ  ตลอดจนการส่งเสริมอาชีพ  ซึ่งควรใช้วัดเป็นศูนย์กลาง

  ๕.ให้เกิดการยอมรับตลอดไปว่า  วัดกับชุมชนนั้น ๆ  เป็นหน่วยเดียวกัน  ให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน

ความต้องการของประชาชนประชาชนต้องการประเทศที่มั่นคงปลอดภัยและเจริญก้าวหน้า คือ

  ๑.   มีปัจจัยเพียงพอ  สำหรับดำรงชีวิต  สำหรับตนเองและครอบครัว

  ๒.  มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

  ๓.  ประชาชนต้องการบ้านเมืองที่สงบ -  สันติ  และสังคมที่เป็นธรรม

  ๔.  ประชาชนต้องการมีความสุขทางใจ

ประชาชนหวังความช่วยเหลืออะไรจากภิกษุสงฆ์

  ๑. ประชาชนต้องการตัวอย่างของความดี  และผู้นำทางคุณธรรม  โดยเฉพาะความเคร่งครัดทางวินัย  และความเป็นผู้สันโดษมักน้อย

  ๒. ประชาชนต้องการวัดเป็นที่พักพิงทางจิตใจของผู้ที่มีทุกข์  ต้องการเห็นวัดเป็นที่สงบ  เยือกเย็น  สะอาดร่มรื่นมีระเบียบ

  ๓.  ประชาชนต้องการเห็นพระภิกษุ  ปลอบขวัญให้กำลังใจแนะแนวทางแก้ไขปัญหาชีวิตให้

  ๔. ประชาชนต้องการให้วัดเป็นศูนย์กลางการพัฒนาชนบท  ให้ความร่วมมือสนับสนุนให้เกิดการรวมพลัง  แก้ปัญหาต่าง  ๆ

  ๕. ประชาชนต้องการให้วัดเป็นศูนย์กลางการศึกษาด้านต่าง   ๆ  ทั้งด้านหลักธรรมของพระศาสนา  และการอาชีพ การปฏิรูปจิตใจของประชาชน ควรเริ่มที่วัด แล้วค่อยไปต่อที่ประชาชน

ชุมชนชาวพุทธที่พัฒนาแล้ว

  ๑.  การปกครอง  ผู้ปกครองกับผู้ถูกปกครองสบายใจอยู่ร่วมกันได้  ต่างก็มีศีลาจารวัตร รู้กติกา  เมื่อใครมาเยี่ยมเยียน  รู้จักต้อนรับ  มีสัมมาคารวะ  อยู่อย่างสบายใจกลับไปก็คิดถึง น่าอยู่น่าอาศัย  มีการแบ่งปันทางเศรษฐกิจอย่างเหมาะสม  ผู้นำและพระสงฆ์เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรอย่างแท้จริง

  ๒.  การศึกษา  ต้องให้คนในชุมชนและพระสงฆ์ได้รับการศึกษาดี  มีมารยาทดี  ประชาชนมีโอกาสเข้าวัดใช้บริการสถานที่วัด  ร่วมศึกษาธรรมปฏิบัติทั้งทางโลกและธรรม  มีหลักประกันในการศึกษาสูง ๆ ขึ้นไป  เป้าหมายคือสอนคนให้เป็นคนดี

  ๓. การเผยแผ่  เราต้องสำนึกอยู่เสมอว่าพระพุทธศาสนาเข้ามาสู่ประเทศไทยเพราะการเผยแผ่ของพระเจ้าอโศกมหาราช  โดยส่งพระมหาเถระ คือ พระโสณะ และพระอุตตระเข้ามา  เราจะรักษาหรือดำรงอยู่ด้วยการช่วยกันเผยแผ่ให้ปรากฏออกไป  วัดและชุมชนที่มีการพัฒนาจึงต้องมุ่งในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาด้วยการจัดกิจกรรมให้มีองค์กรต่าง ๆ เช่น ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ที่วัดในชุมชน

    ๔. การสาธารณูปการ  คือสิ่งก่อสร้าง  ที่ไม่ใหญ่โต โอ่อ่า แต่เพียงพอแก่การใช้ประโยชน์ทั้งบ้านและวัดในชุมชน  ข้อสำคัญคือ  สะอาด  ร่มรื่น  มีระเบียบ 

   วัดและชุมชนที่พัฒนา ตามเป้าหมายจะเป็นศูนย์กลางแห่งความรักความสามัคคีธรรม  เป็นแกนกลางของสังคม ประชาชนในท้องถิ่นจะได้พึ่งพิงอาศัย  เป็นแรงจูงใจให้คนประพฤติดีสมควรกับคำที่ว่า  "วัดที่ดี   เพราะเป็นที่   สโมสร

   ประชากร    ร่วมกัน   สร้างสรรค์ผล

  หาความดี   ไว้ประดับ     สำหรับตน

   หากขาดวัด   ก็ขัดสน     ขาดศีลธรรม "

อ้างอิง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

www.onab.go.th/e-Books/WadStandard.pdf

www.palipage.com/watam/piyapan4/K00061.htm

www.aksorn.com/lib/detail_print.php?topicid=232

www.kanlayanee.ac.th/Sara/social/PrabhuM2/Prabud11.doc

 


หมายเลขบันทึก: 530701เขียนเมื่อ 19 มีนาคม 2013 21:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2013 21:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท