ธรรมรัต
พระมหา ธรรมรัต อริยธมฺโม ยศขุน

ใบงานวิชาวิสุทธิมรรคประจำสัปดาห์ที่ ๔


ใบงานวิชาวิุสุทธิมรรค

โดย พระมหาเอกกวิน  ปิยวณฺโณ เลขที่ ๒

สาขาพุทธศาสตร์ คณะศาสนาและปรัชญา



๑. อะไรชื่อว่าสมาธิ ?

  ความตั้งมั่น คือ การดำรงอยู่ การตั้งอยู่อย่างสม่ำเสมอโดยถูกทางแห่งจิตและเจตสิกทั้งหลายในอารมณ์เดียว

๒. ลักษณะ รส อาการปรากฏ ปทัฏฐานของสมาธิ คือ ?

  ความไม่ซัดส่ายในอารมณ์ต่างๆของจิตเป็นลักษณะของสมาธิ ความไม่หวั่นไหวในอารมณ์เป็นอาการปรากฏของสมาธิ ความสุขเป็นปทัฏฐานของสมาธิตามพระพุทธพจน์ว่า จิตของผู้มีความสุข ย่อมตั้งมั่น

๓. ทุกขาปฏิปทาทันทาภิญญาสมาธิ คืออะไร ?

  คือสมาธิที่ปฏิบัติลำบากและรู้ได้ช้า คือยากต่อการบรรลุ

๔. ความเศร้าหมองและความผ่องแผ้วของสมาธิ คืออะไร ?

  หานภาคิยธรรม คือสัญญาและมนสิการอันสหรคตด้วยกามที่ครอบงำผู้ได้ปฐมฌาน เป็นความเศร้าหมอง วิเสสภาคิยธรรรม คือ สัญญาและมนสิการที่ไม่มีความวิตกเกิดขึ้นเป็นความผ่องแผ้ว

๕. ปลิโพธิ คืออะไร ?

  ปลิโพธิ คือ กิเลสเครื่องร้อยรัดเครื่องกังวลอันเป็นอุปสรรคต่อการเจริญกรรมฐาน มี ๑๐ ประการ

๖. สัพพัตถกรรมฐาน คืออะไร ?

  สัพพัตถกรรมฐานคือกรรมฐานที่จำปรารถนาในที่ทั้งปวง กรรมฐานที่ใช้ประโยชน์ได้หรือควรต้องใช้ทุกที่ทุกกรณี  คือ  ทุกคนควรเจริญอยู่เสมอ  ได้แก่ เมตตา และมรณสติ

๗. ปาริหาริยกรรมฐาน คือ ?

  กรรมฐานที่ต้องบริหาร  หมายถึงกรรมฐานที่เหมาะกับจริยาของแต่ละบุคคล  ซึ่งเมื่อลงมือปฏิบัติแล้วจะต้องคอยเอาใจใส่รักษาอยู่ตลอดเวลาให้เป็นพื้นฐานของการปฏิบัติที่สูงยิ่งขึ้นไป

๘. อาจารย์ผู้ให้กรรมฐาน ผู้เป็นกัลยาณมิตร มีคุณลักษณะอย่างไร ?

  ครูบาอาจารย์ผู้ที่สามารถสอนกรรมฐาน และคอยเป็นกัลยาณมิตรให้แก่ผู้อื่นได้ ต้องประกอบด้วยกัลป์ยาณมิตตธรรม ๗ ประการ คือ

  ๑.) ปิโย เป็นที่รัก หมายถึงบุคคลผู้มีความน่ารักน่าเลื่อมใส เพราะเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ เป็นผู้มีปกติยิ้มแย้มแจ่มใสและอารมณ์ดีอยู่เสมอ มีมารยาทงาม ดุจพระจันทร์วันเพ็ญ มีความชุ่มเย็นชวนมอง

  ๒.) ครุ หมายถึงบุคคลที่น่าเคารพน่าเกรงใจ เพราะบริบูรณ์ด้วยศีลและสมาธิ มีความอ่อนน้อมถ่อมตน วางตัวได้เหมาะสม เป็นที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจได้ทุกเมื่อ ประดุจขุนเขาตระหง่านมั่นคง

  ๓.) ภาวนีโย หมายถึงบุคคลผู้น่าสรรเสริญเทิดทูน เพราะมีใจเที่ยงธรรม ปราศจากอคติ ๔ ไม่มีความลำเอียงในสหธรรมิกและลูกศิษย์ เหมือนดวงอาทิตย์เป็นใหญ่ในท้องฟ้า

  ๔.) วตฺตา หมายถึง บุคคลผู้ฉลาดพร่ำสอนรู้จักพูดให้ได้ผล รู้จักชี้แจงให้เข้าใจ รู้ว่าเมื่อไรควรพูดอะไรอย่างไร คอยให้คำแนะนำว่ากล่าวตักเตือน เป็นที่ปรึกษาที่ดี

  ๕.) วจนกฺขโม อดทนต่อถ้อยคำ คือ พร้อมที่จะรับฟังคำปรึกษาซักถามคำเสนอแนะวิพากษ์วิจารณ์ อดทน ฟังได้ไม่เบื่อ ไม่ฉุนเฉียว

  ๖.) คมฺภีรญฺจ กถํ กตฺตา แถลงเรื่องล้ำลึกได้ สามารถอธิบายเรื่องยุ่งยากซับซ้อน ให้เข้าใจ และให้เรียนรู้เรื่องราวที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไป

  ๗.) โน จฏฐาเน นิโยชเย ไม่ชักนำในอฐาน คือ ไม่แนะนำในเรื่องเหลวไหล หรือชักจูงไปในทางเสื่อมเสีย

๙. ระเบียบในการเข้าหาอาจารย์ผู้เป็นกัลยาณมิตร เป็นอย่างไร ?

    ภิกษุผู้เรียนกรรมฐาน พึงเข้าไปหาท่านผู้ให้กรรมฐาน ผู้เป็นกัลยาณมิตร ทำวัตรปฏิบัติต่อท่านแล้ว ถือเอากรรมฐาน ในสำนักของท่าน  ถ้าภิกษุผู้เรียนกรรมฐาน ได้ท่านผู้ให้กรรมฐาน ทีอยู่ในวัดเดียวกัน การได้อย่างนี้ นั่นเป็นการดี  ถ้าไม่ได้ไซร้ ท่านอยู่ที่ใด ก็พึงไปที่นั่น ก็แลเมื่อจะไป ไม่พึงสวมรองเท้า แล้ว กั้นร่ม ใช้คนถือเครื่องใช้และเภสัช มีกระโหลกน้ำมันและน้ำผึ้งน้ำอ้อยเป็นต้น มีอันเตวาสิกห้อมล้อมไป แต่พึงบำเพ็ญคมิกวัตรแล้วถือบาตรจีวรของตน ไป   เข้าไปสู่วัดใดๆ ในระหว่างทาง ก็ทำวัตรปฏิบัติทุกแห่ง เป็นผู้มีบริขารเบา มีความประพฤติทางขัดเกลาอย่างยิ่งไป เมื่อจะเข้าสู่วัด  ที่อาจารย์อยู่ นั้น พึงวานใครทำไม้ชำระฟันให้เป็นกัปปิยะในระหว่างทางนั่นแหละถือเข้าไป  ด้วย  และไม่ควรเข้าไปบริเวณอื่น ด้วยคิดว่า จักพักทำสรีรกิจมีล้างและทาเท้าเป็นต้นจึงไปหาอาจารย์  ดังนี้เลย  ถามว่า  เพราะเหตุอะไร ?  ตอบว่า เพราะถ้าภิกษุทั้งหลายที่ไม่ถูกกับอาจารย์นั้น จะพึงมีอยู่ในบริเวณนั้นไซร้  พวกเขาถาม  ทราบ เหตุแห่งการมาของเธอ แล้ว ก็จะพึงเปิดเผยเรื่องเสียหายของอาจารย์ ให้เธอฟัง  แล้วพูด เป็นที่ทักท้วง ว่า " จบกันละท่าน ถ้าท่านมาหาอาจารย์รูปนั้นละก็ " ทำความผิดหวังให้เกิด แก่เธอจน  เป็นเหตุให้เธอกลับไปเสียจากที่นั้นก็ได้ เพราะเหตุนั้น ถาม ( ทราบ ) ที่อยู่ของอาจารย์แล้ว พึงตรงไป ณ ที่นั้นทีเดียวเถิด

  ถ้าอาจารย์อ่อน พรรษา กว่า อย่าพึงยินดีสามีจิกรรมมีการรับบาตรจีวรเป็นต้น ที่อาจารย์นั้นจะทำให้   ถ้าอาจารย์แก่ ( พรรษา ) กว่า ไปถึงแล้วพึงไหว้อาจารย์แล้วยืนอยู่ ท่านบอกให้วางบาตรจีวรจึงวาง ท่านบอกให้ดื่มน้ำ ถ้าต้องการ ก็พึงดื่ม แต่เมื่อ  ท่านบอกให้ล้างเท้า อย่าเพิ่งล้าง เพราะถ้าน้ำ ( ล้างเท้านั้น ) จะพึงเป็นน้ำที่อาจารย์ตักมาไซร้  ก็เป็นการไม่สมควร ต่อท่านบอกว่า " ล้างเถิด  อาวุโส น้ำนั่นมิใช่ฉันตักมา คนอื่นตักดอก " ดังนี้แล้ว พึงไปนั่งในที่ๆ อาจารย์มองไม่เห็น จะเป็นที่ว่างอันมีสิ่งปิดบัง หรือว่ากลางแจ้งทางท้ายๆ วัดก็ได้ ล้างเท้าเถิด ถ้าอาจารย์นำกระโหลกน้ำมัน มาให้  พึงลุกขึ้นรับโดยเคารพด้วยมือทั้ง ๒ เพราะถ้าเธอไม่รับกะโหลกน้ำมันนั้น อาจารย์จะเกิดความกินแหนงว่า " ภิกษุนี้ทำสมโภค  การใช้ร่วมกัน ให้เสียไปตั้งแต่บัดนี้เทียวนะ " แต่ครั้นรับมาแล้วก็ไม่ควรทาเท้าเข้าก่อนทีเดียว เพราะถ้าน้ำมันนั้น จะพึงเป็นน้ำมันสำหรับชโลมตัวอาจารย์ไซร้ ก็จะเป็นการไม่สมควรไป เพราะฉะนั้นพึงทาศีรษะก่อน แล้วจึงทาอวัยวะอื่นมีคอเป็นต้น ( ต่อไป ) ต่อท่านบอกว่า " อาวุโส น้ำมันนี่เป็นน้ำมันสำหรับใช้ได้ทุกอย่าง ทาเท้าก็ได้ " ดังนี้ จึงแตะที่ศีรษะหน่อยหนึ่ง ต่อนั้นจึงทาเท้า  เสร็จ แล้ว พึงเรียน  ท่านว่า จะเก็บกะโหลกน้ำมัน ที่ไหน เพื่อท่านจะได้ชี้ที่เก็บให้ แต่  เมื่ออาจารย์รับเอาไป จะเก็บเองก็ให้ท่าน ไปเถิด

  ไม่ควรเร่งเร้าให้ท่านบอกกรรมฐานให้ตั้งแต่วันที่มาถึง แต่ว่าตั้งแต่วันที่สองไป ถ้าภิกษุอุปัฏฐากประจำของอาจารย์มีอยู่ พึงขอกะเธอ ทำวัตรอาจารย์บ้าง ถ้าแม้ขอแล้ว เธอไม่ยอมให้ ก็พึงคอยทำเมื่อได้โอกาสก็แล้วกัน ก็แลเมื่อจะทำ พึงน้อมถวายไม้ชำระฟันทั้ง ๓ ขนาด คือขนาดเล็กขนาดกลางและขนาดใหญ่ น้ำล้างหน้าและน้ำอาบเล่า ก็พึงจัดถวายทั้ง ๒ อย่าง คือ อย่างเย็น อย่างอุ่น อาจารย์ใช้ไม้ชำระฟันและน้ำ  อย่างใดตลอดสามวัน ต่อนั้นไปพึงเข้าไปตั้งไม้ชำระฟันและน้ำอย่างนั้นถวายเป็นนิจไป เมื่อท่านไม่ พิถีพิถันใช้อะไรก็ได้ ก็พึงน้อมถวายของตามแต่จะได้เถิด จะว่ากันมาก ไปไย สัมมาวัตร ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติไว้แล้วในมหาขันธกะว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันเตวาสิก พึงทำวัตรอันชอบในอาจารย์ นี้เป็นการทำวัตรชอบในข้อนั้น คือ อันเตวาสิก พึงลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ ถอดรองเท้า ทำอุตตราสงค์เฉวียงบ่าแล้ว  เข้าไปถวายไม้ชำระฟัน ถวายน้ำล้างหน้า ปูอาสนะ ถ้ายาคูมีอยู่ พึงล้างภาชนะ น้อมยาคูเข้าไปถวาย ดังนี้เป็นต้นนั้นอันใด พึงทำสัมมาวัตรนั้นทุกข้อเถิด

  อันศิษย์ผู้ยังครูให้พอใจอยู่ด้วยวัตรสมบัติอย่างนี้ ในเวลาเย็นท่านปล่อยให้กลับไป จึงกราบ ลาไป เมื่อใดท่านถามว่าเธอมาเพื่ออะไร จึงเรียนเหตุแห่งการมาเมื่อนั้น ถ้าท่านไม่ถามเสียเลย แต่ว่าท่านยินดีการทำ วัตรไซร้ เมื่อล่วง ๑๐ วัน หรือปักข์หนึ่งไปแล้ว  ได้โอกาส ณ วันหนึ่ง แม้ท่านปล่อย ในตอนเย็นแล้วก็อย่าไป ให้ท่านทำโอกาสแล้ว เรียนบอกเหตุแห่งการมา หรือว่าเธอแสร้งไป หาท่านผิดเวลา เพื่อจะให้ท่านถามว่า มาทำไม จึงกราบเรียน เหตุแห่งการมาให้ท่านทราบ ถ้าท่านสั่งให้มาตอนเช้าก็พึงไปแต่เช้า แต่ถ้าในเวลานั้น ท้องของเธอร้อน เพราะน้ำดีเบียนเอา๑ ก็ดี อาหารไม่ย่อยเพราะไฟธาตุ อ่อนก็ดี โรคอะไรอื่นๆ เบียนเอาก็ดี พึงเปิดเผยอาพาธนั้น ให้อาจารย์ทราบ ตามที่มันเป็น เรียนบอกเวลาที่กายใจสบายสำหรับตน แล้วไปหาท่าน ในเวลานั้น เพราะว่าในเวลาที่ไม่สบาย แม้ท่านบอกกรรมฐานให้ เธอก็ไม่อาจมนสิการ ใส่ใจ ได้ นี้เป็นความพิสดารในข้อว่า " เข้าไปหาท่านผู้ให้กรรมฐานผู้เป็นกัลยาณมิตร " นั้น

๑๐. จริยา คืออะไร ?

  จริต หรือ จริยา ๖ หมายถึงความประพฤติปกติ  ความประพฤติซึ่งหนักไปทางใดทางหนึ่ง อันเป็นปกติประจำอยู่ในสันดาน  พื้นเพของจิต  อุปนิสัย  พื้นนิสัย  แบบหรือประเภทใหญ่ๆ แห่งพฤติกรรมของคน

  ตัวความประพฤติเรียกว่า จริยา บุคคลผู้มีความประพฤติอย่างนั้นๆ เรียกว่า จริต

    ๑. ราคจริต ผู้มีราคะเป็นความประพฤติปกติ ประพฤติหนักไปทางรักสวยรักงาม กรรมฐานคู่ปรับสำหรับแก้ คือ อสุภะและกายคตาสติ

     ๒. โทสจริต ผู้มีโทสะเป็นความประพฤติปกติ ประพฤติหนักไปทางใจร้อนหงุดหงิด กรรมฐานที่เหมาะ คือ พรหมวิหารและกสิณ โดยเฉพาะวัณณกสิณ

     ๓. โมหจริต  ผู้มีโมหะเป็นความประพฤติปกติ  ประพฤติหนักไปทางเขลา เหงาซึมเงื่องงง งมงาย กรรมฐานที่เกื้อกูล คือ อานาปานสติ และพึงแก้ด้วยมีการเรียน ถาม ฟังธรรม สนทนาธรรมตามกาลหรืออยู่กับครู

    ๔. สัทธาจริต ผู้มีศรัทธาเป็นความประพฤติปกติ ประพฤติหนักไปทางมีจิตซาบซึ้ง ชื่นบาน น้อมใจเลื่อมใสโดยง่าย พึงชักนำไปในสิ่งที่ควรแก่ความลื่อมใส และความเชื่อที่มีเหตุผล เช่น พิจารณาอนุสติ ๖ ข้อต้น

    ๕. พุทธิจริต หรือ ญาณจริต  ผู้มีความรู้เป็นความประพฤติปกติ  ประพฤติหนักไปในทางใช้ความคิดพิจารณา

    ๖. วิตกจริต ผู้มีวิตกเป็นความประพฤติปกติ  ประพฤติหนักไปทางนึกคิดจับจดฟุ้งซ่าน  พึงแก้ด้วยสิ่งที่สะกดอารมณ์ เช่น เจริญอานาปานสติ หรือเพ่งกสิณ เป็นต้น

๑๑. จริตของคนที่เข้ากันได้ มีจริตใดบ้าง ?

  คนราคจริตมีส่วนเข้ากันได้กับคนศรัทธาจริต โดยมีอรรถาธิบายว่า ในสมัยที่กุศลจิตเกิดขึ้น สำหรับคนราคจริตนั้น ศรัทธามีกำลังมาก เพราะศรัทธามีคุณลักษณะใกล้กับราคะ ขยายความว่า ในฝ่ายอกุศล ราคะย่อมทำให้เยื่อใยติดใจในอารมณ์ ไม่ห่อเหี่ยว ฉันใด ในฝ่ายกุศล ศรัทธาก็ทำให้เยื่อใยติดใจในอารมณ์ ไม่ห่อเหี่ยว ฉันนั้น ราคะย่อมแสวงหาวัตถุกาม ฉันใด ศรัทธาก็ย่อมแสวงหาคุณมีศีลเป็นต้น ฉันนั้น และราคะย่อมไม่ละวางซึ่งสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ฉันใด ศรัทธาก็ไม่ละวางซึ่งสิ่งที่เป็นประโยชน์ ฉันนั้น

  คนโทสจริตมีส่วนเข้ากันได้กับคนพุทธิจริต โดยมีอรรถาธิบายว่า ในสมัยที่กุศลจิตเกิดขึ้น สำหรับคนโทสจริตนั้น ปัญญามีกำลังมาก เพราะปัญญามีคุณลักษณะใกล้กับโทสะ ขยายความว่า ในฝ่ายอกุศล โทสะไม่เยื่อใย ไม่ติดอารมณ์ ฉันใด ในฝ่ายกุศล ปัญญาก็ไม่เยื่อใย ไม่ติดอารมณ์ ฉันนั้น โทสะย่อมแสวงหาแต่โทษแม้ที่ไม่มีจริง ฉันใด ปัญญาก็ย่อมแสวงหาแต่โทษที่มีจริง ฉันนั้น และโทสะย่อมเป็นไปโดยอาการหลีกเว้นสัตว์ ฉันใด ปัญญาก็ย่อมเป็นไปโดยอาการหลีกเว้นสังขาร ฉันนั้นแหละ

  โมหจริตบุคคลมีส่วนเข้ากันได้กับวิตกจริตบุคคล โดยมีอรรถาธิบายว่า เมื่อโมหจริตบุคคลเพียรพยายามเพื่อทำให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้นนั้น วิตกผู้ทำอันตราย ย่อมชิงเกิดขึ้นเสียโดยมาก ทั้งนี้ เพราะวิตกมีลักษณะใกล้กับโมหะ ขยายความว่า โมหะเป็นสภาพไม่ตั้งมั่น เพราะเกลื่อนกลาดดาษดาไปในอารมณ์ ฉันใด วิตกก็เป็นสภาพไม่ตั้งมั่น เพราะตริตรึกนึกไปโดยประการต่าง ๆ ฉันนั้น และโมหะเป็นสภาพไหวหวั่นเพราะไม่หยั่งลงมั่นในอารมณ์ ฉันใด วิตกก็เป็นสภาพไหวหวั่น เพราะกำหนดอารมณ์รวดเร็ว ฉันนั้น

๑๒. จริยา ๖ มีอะไรเป็นเหตุ ?

  ในจริยา ๖ อย่างนั้น เกจิอาจารย์กล่าวไว้ว่า จริยา ๓ อย่างข้างต้น มีกรรมที่ได้สั่งสมมาแต่ชาติก่อนเป็นเหตุ ๑ มีธาตุ และโทษเป็นเหตุ ๑

  อนึ่ง เพราะมีธาตุทั้ง ๒ คือ ธาตุดินและธาตุน้ำมาก บุคคลจึงเป็นคนโมหจริต เพราะมีธาตุทั้ง ๒ คือธาตุไฟและธาตุลมนอกนี้มาก บุคคลจึงเป็นคนโทสจริต และเพราะมีธาตุหมดทั้ง ๔ ธาตุสม่ำเสมอกัน บุคคลจึงเป็นคนราคจริต ส่วนในข้อว่าด้วยโทษนั้นคือ บุคคลผู้มีเสมหะมากเป็นคนราคจริต บุคคลผู้มีลมมากเป็นคนโมหจริต หรือบุคคลผู้มีเสมหะมากเป็นคนโมหจริต บุคคลผู้มีลมมากเป็นคนราคจริต

๑๓. จะทราบจริตของคน จะสามารถดูหรือสังเกตได้จากอะไรบ้าง ?

  จะทราบจริตของคน จะสามารถดูหรือสังเกตได้จากอิริยาบถ กิจ การบริโภค อาการมีการดูเป็นต้น และโดยธรรมประวัติ ( ความเป็นไปแห่งธรรม )

๑๔. อิริยาบถ บอกจริตของคนได้อย่างไร ?

  คนราคจริต เมื่อ  เดินไปโดยปกติ ย่อมเดินโดยอาการน่ารัก ค่อยวางเท้า วางเท้ายกเท้าสม่ำเสมอ และรอยเท้าของเขาเป็นรอยกระโหย่งกลาง

    คนโทสจริต เดินราวกะขุด ( ดิน ) ด้วยปลายเท้า วางเท้ายกเท้าด้วยอาการผลุบผลับ และรอยเท้าของเขาเป็นรอยขยุ้ม

  คนโมหจริต เดินท่าทางเงอะงะ วางเท้ายกเท้าราวกะคนหวาดสะดุ้ง และรอยเท้าของเขาเป็นรอยเลอะเลือน  ซึ่งในมาคันทิยาสูตร พราหมณีก็ได้กล่าวคำประพันธ์นี้ไว้ว่า

  ก็รอยเท้าของคนเจ้าราคะ เป็นรอยกระโหย่งกลาง

  รอยเท้าของคนเจ้าโทสะ เป็นรอยขยุ้ม รอยเท้า

  ของคนเจ้าโมหะ เป็นรอยเลอะเลือน ( แต่ ) รอยเท้า

  เช่นนี้นี่เป็นรอยเท้าของท่านผู้มีหลังคา ( คือกิเลส )

   อันเปิดแล้ว ดังนี้

    แม้การยืนแห่งคนราคจริต ก็มีอาการนุ่มนวลน่าเลื่อมใส แห่งคนโทสจริต มีอาการกระด้าง แห่งคนโมหจริต มีอาการส่ายไปมา แม้ในการนั่ง ก็มีนัยดุจนัยนี้

  ส่วนการนอน คนราคจริตไม่รีบร้อน ปูที่นอนเรียบร้อยแล้วค่อยเหยียดกายนอน รวบองคาพยพวาง  ไว้ดี นอนหลับด้วยอาการน่าเลื่อมใส และเมื่อถูกปลุกให้ลุก ก็ไม่ลุกทันที คือค่อยลุก ให้คำตอบเบาๆ ราวกะคนมีความรังเกียจ

  คนโทสจริตจะนอน ก็รีบปูที่นอนแต่พอดีพอร้ายแล้วทิ้งตัวลงทำหน้านิ่วหลับไป และเมื่อถูกปลุกให้ลุกก็ลุกเร็ว ให้คำตอบราวกะคนโกรธ

  คนโมหจริต ปูที่นอนไม่เป็นรูป นอนเก้งก้าง คว่ำหน้าเป็นส่วนมาก และเมื่อถูกปลุกให้ลุก ทำเสียงหือๆ อยู่นั่นลุกขึ้นอืดอาด

  ก็เพราะบุคคล ๓ ข้างปลาย มีคนสัทธาจริตเป็นต้น  เป็นสภาคแห่งคน ๓ ข้างคนมีคนราคจริตเป็นต้น  เพราะเหตุนั้น  อิริยาบถแม้แห่งบุคคล  ๓  ข้างปลายมีคนสัทธาจริตเป็นต้นนั้น  ก็เป็นเช่นเดียวกันนั่นแลบัณฑิตพึงบอกจริยาด้วยอิริยาบถ  ดังกล่าวมานี้  เป็นอันอับแรก 

๑๕. ความเกิดขึ้นแห่งธรรมบอกจริตได้อย่างไร ?

  ธรรมทั้งหลายคือ มายา สาเถยฺยะ มานะ ปาปิจฺฉตา (ความปรารถนาลามก ) มหิจฺฉตา ( ความมักมาก ) อสนฺตุฏฐิตา ( ความไม่สันโดษ ) สิงคะ ( ความแง่งอน ) จาปลฺยะ ( ความโอ่อ่า) อย่างนี้เป็นต้น ย่อมเป็นไปมากแก่คนราคจริต

  ธรรมทั้งหลายคือ  โกธะ  อุปนาหะ  มกฺขะ  ปลาสะ  อิสฺสา มจฺฉริยะ ดังนี้เป็นต้น ย่อมเป็นไปมากแก่คนโทสจริต 

  ธรรมทั้งหลายคือ  ถีนมิทธะ  อุทฺธจฺจกุกกุจฺจะ  วิจิกิจฺฉา อาทานคาหิตา ( ความถือผิด ) ทุปฺปฏินิสฺสคฺคิตา ( ความรั้น ) ดังนี้เป็นต้นย่อมเป็นไปมากแก่คนโมหจริต

  ธรรมทั้งหลายคือ มุตฺตจาคตา ( ความสละปล่อยเลย ) อริยาน ทสฺสนกามตา ( ความใคร่ที่จะได้พบพระอริยะทั้งหลาย ) สทฺธมฺม  โสตุกามตา ( ความใคร่จะฟังพระธรรม ) ปาโมชฺชพหุลตา ( มีความชื่นบานในธรรมมาก ) อสถตา ( ความไม่โอ้อวด ) อมายาวิตา ( ความไม่มีมายา )  ปสาทนีเยสุ  ฐาเนสุ  ปสาโท ( ความเลื่อมใสในฐานะทั้งหลายที่ควรจะเลื่อมใส ) ดังนี้เป็นต้น ย่อมเป็นไปมากแก่คนสัทธาจริต

  ธรรมทั้งหลายคือ โสวจสฺสตา  กลฺยาณมิตฺตตา  โภชเนมตฺตญฺญุตา  สติสมฺปชญฺะ  ชาคริยานุโยค  สเวชนีเยสุ  าเนสุ  สเวโค ( สังเวชในฐานะทั้งหลายอันควรจะสังเวช )  สวิคฺคสฺส  โยนิโส  ปธาน ( เมื่อสังเวชแล้วควรทำความเพียรอย่างแยบคาย ) ดังนี้เป็นต้น เป็นไปมากแก่คนพุทธิจริต

  ธรรมทั้งหลาย  ภสฺสพหุลตา ( พูดมากกว่าทำ )  คณารามตา ( ชอบคลุกคลีในหมู่คณะ ) กุสลานุโยเค อรติ ( หน่ายทำกุศล ) อนวฏฺิตกิจฺจตา ( จับจด ) รตฺติธุมายนา ( กลางคืนบังหวนควัน ) ทิวาปชฺชลนา( กลางวันไม่ลุกเป็นเปลว ๑)  หุราหุร ธาวนา ( พลุ่งพล่าน ๒) ดังนี้เป็นต้น เป็นไปมากแก่คนวิตกจริต 

๑๖. กรรมฐาน ๔๐ วิธี มีอย่างไรบ้าง ?

  กรรมฐาน ๔๐ วิธีนั่น คือ กสิณ ๑๐ อสุภ ๑๐  อนุสสติ ๑๐ พรหมวิหาร ๔ อารูป ๔ สัญญา ๑ ววัฏฐาน ๑

  ในกรรมฐานเหล่านั้น แบ่งออกเป็น กสิณ ๑๐ คือ ปฐวีกสิณ อาโปกสิณ  เตโชกสิณ วาโยกสิณ นีลกสิณ ปีตกสิณ โลหิตกสิณ  โอทาตกสิณ อาโลกกสิณ ปริจฉินนากาสกสิณ 

  อสุภะ  ๑๐ คือ  อุทธุมาตกะ  วินีลกะ  วิปุพพกะ  วิจฉิททกะ วิกขายิตกะ วิกขิตตกะ หตวิขิตตกะ โลหิตกะ ปุฬูวกะ  อัฏฐิกะ 

  อนุสสติ ๑๐ คือ พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ สีลานุสสติ  จาคานุสสติ เทวตานุสสติ มรณานุสสติ  กายคตาสติ อานาปานสติ อุปสมนานุสสติ

  พรหมวิหาร ๔ คือ  เมตตา  กรุณา  มุทิตา  อุเบกขา

  อรูป ๔ คือ อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ

  อาหาเรปฏิกูลสัญญา ชื่อว่า สัญญา  ๑  จตุธาตุววัฏฐาน  ชื่อว่า ววัฏฐาน ๑

๑๗. กรรมฐานที่เหมาะแก่จริยาเป็นอย่างไร ?

ในกรรมฐาน ๔๐ นั้น  กรรมฐาน  ๑๑  คือ  อสุภ  ๑๐  กายคตาสติ  ๑  อนุกูลแก่คนราคจริต  

กรรมฐาน ๘ คือ พรหมวิหาร ๔ วัณณกสิณ ๔ อนุกูลแก่คนโทสจริต

อานาปานสติกรรมฐานอย่างเดียวเท่านั้น อนุกูลแก่คนโมหจริตและคนวิตกจริต

อนุสติ ๖ ข้างต้น อนุกูลแก่คนสัทธาจริต

  กรรมฐาน ๔ คือ มรณสติ อุปสมานุสติ จตุธาตุววัฏฐาน อาหาเรปฏิกูลสัญญา อนุกูลแก่คนพุทธิจริต

กสิณที่เหลือและ อรูป ๔ อนุกูลแก่คนทุกจริต

อนึ่ง ในกสิณทั้งหลาย กสิณอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นปริตตารมณ์  อนุกูลแก่คนวิตกจริต ที่เป็นอัปปมาณารมณ์ อนุกูลแก่คนโมหจริต

๑๘. พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในเมฆยสูตร เกี่ยวกับการปฏิบัติกรรมฐานไว้อย่างไร ?

  พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรเมฆิยะ ธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อความแก่กล้าแห่งเจโตวิมุติที่ยังไม่แก่กล้า ๕ ประการเป็นไฉน

    ดูกรเมฆิยะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี นี้เป็นธรรมประการที่ ๑ ย่อมเป็นไปเพื่อความแก่กล้าแห่งเจโตวิมุติที่ยังไม่แก่กล้า ฯ

     อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้มีศีล สำรวมระวังในปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยอาจาระ และโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษมีประมาณน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย นี้เป็นธรรมประการที่ ๒ ย่อมเป็นไปเพื่อความแก่กล้าแห่งเจโตวิมุติที่ยังไม่แก่กล้า ฯ

  อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ได้ตามความปรารถนาได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบากซึ่งกถาอันเป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลส เป็นที่สบายในการเปิดจิต คือ อับปิจฉกถา สันตุฏฐิกถา ปวิเวกกถา อสังสัคคกถา วิริยารัมภกถา สีลกถา สมาธิกถา ปัญญากถา วิมุตติกถา วิมุตติญาณทัสนกถา นี้เป็นธรรมประการที่ ๓ ย่อมเป็นไปเพื่อความแก่กล้าแห่งเจโตวิมุติที่ยังไม่แก่กล้า ฯ

    อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ปรารภความเพียรเพื่อละอกุศลธรรม เพื่อความถึงพร้อมแห่งกุศลธรรม เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดทิ้งธุระในกุศลธรรม นี้เป็นธรรมประการที่ ๔ ย่อมเป็นไปเพื่อความแก่กล้าแห่งเจโตวิมุติที่ยังไม่แก่กล้า ฯ

    อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญาเครื่องพิจารณาความเกิดและความดับ เป็นอริยะ ชำแรกกิเลสให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ นี้เป็นธรรมประการที่ ๕ ย่อมเป็นไปเพื่อความแก่กล้าแห่งเจโตวิมุติที่ยังไม่แก่กล้า ฯ

    ดูกรเมฆิยะ ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี พึงหวังข้อนี้ได้ คือ ตนจักเป็นผู้มีศีล ฯลฯ สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ตนจักได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งกถาอันเป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลส เป็นที่สบายในการเปิดจิต คือ อัปปิจฉกถา ฯลฯ วิมุตติญาณทัสสนกถา ตนจักปรารภความเพียร ฯลฯ ไม่ทอดทิ้งธุระในกุศลธรรม ตนจักมีปัญญา ฯลฯ ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ ดูกรเมฆิยะ ก็แหละภิกษุนั้นตั้งอยู่ในธรรม ๕ ประการนี้แล พึงเจริญธรรม ๔ ประการให้ยิ่งขึ้น คือ พึงเจริญอสุภะเพื่อละราคะ พึงเจริญเมตตาเพื่อละความพยาบาท พึงเจริญอานาปานสติเพื่อตัดวิตก พึงเจริญอนิจจสัญญาเพื่อถอนอัสมิมานะ ดูกรเมฆิยะ อนัตตสัญญาย่อมปรากฏแก่ภิกษุผู้ได้อนิจจสัญญา ผู้ที่ได้อนัตตสัญญาย่อมบรรลุนิพพาน อันถอนเสียได้ซึ่งอัสมิมานะในปัจจุบันทีเดียว ฯ

๑๙. คำถวายตัวแก่พระพุทธเจ้าก่อนเข้าปฏิบัติกรรมฐานว่าอย่างไร ?

    ในการมอบตัวนั้น พึงมอบตัวแด่พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ด้วยคำว่า   " อิมาห  ภควา  อตฺตภาว   ตุมฺหาก  ปริจฺจชามิ " " ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าขอสละอัตภาพนี้แด่พระองค์ "

๒๐. คำถวายตัวแก่พระอาจารย์ ก่อนเข้ากรรมฐานว่าอย่างไร ?

  เมื่อจะมอบ ( ตัว ) แด่พระอาจารย์ ก็พึงกล่าวว่า " อิมาห  ภนฺเต  อตฺตภาว  ตุมหาก  ปริจฺจชามิ "  " ข้าแต่อาจารย์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอสละอัตภาพนี้แด่ท่าน " 

๒๑. อานิสงส์ของการถวายตัวแก่อาจารย์และโทษของการไม่ถวายตัว เป็นอย่างไร ?

  อานิสงส์ขอการถวายตัวแก่อาจารย์ คือ จะไม่เป็นผู้ที่อาจารย์ปรามไม่ได้  ไม่เป็นผู้ไปตามชอบใจ เป็นผู้ว่าง่าย มีความเป็นไปต่อเนื่องกับอาจารย์อยู่เสมอ เธอเมื่อได้รับสงเคราะห์ทั้ง ๒ ประการ คือ การสงเคราะห์ด้วยอามิสและด้วยธรรม จากพระอาจารย์ ย่อมจะถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในพระศาสนา

  ส่วนโทษของการไม่ถวายตัวแก่อาจารย์ คือ ภิกษุผู้ไม่มอบอัตภาพอย่างนี้ จะเป็นผู้ที่อาจารย์ปรามไม่ได้บ้าง จะเป็นคนว่ายากไม่ทำตามโอวาทบ้าง จะเป็นคนไปตามชอบใจ ยังมิได้ลาอาจารย์ก็ไปเสีย ณ ที่ๆ ตนปรารถนาบ้าง พระอาจารย์จะไม่สงเคราะห์เธอผู้นั้นด้วยอามิสบ้าง ด้วยธรรมบ้าง ( ทั้ง ) จะไม่ให้เธอศึกษาข้อขอดที่ลึกลับ ภิกษุนั้นเมื่อไม่ได้รับความสงเคราะห์ ๒ ประการนี้ ชื่อว่าไม่ได้ที่พึ่งในพระศาสนา ไม่ช้าก็จะถึงซึ่งความทุศีล หรือเป็นคฤหัสถ์ไป


หมายเลขบันทึก: 530699เขียนเมื่อ 19 มีนาคม 2013 21:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2013 21:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท