ธรรมรัต
พระมหา ธรรมรัต อริยธมฺโม ยศขุน

ถาม-ตอบ ปัญหาในสมาธินิเทศ


ถามตอบปัญหาในสมาธินิเทศ 

โดย พระมหาเอกวิน ปิยวณฺโณ

สาขาพุทธศาสตร์ศึกษา ชั้นปีที่ ๒

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตศรีธรรมาโศกราช

**********

๑. อะไรเป็นสมาธิ ?

  ความมีอารมณ์เดียวแห่งจิตที่เป็นกุศล ชื่อว่าเป็นสมาธิ

๒. ที่ชื่อว่าสมาธิเพราะอรรถว่าอะไร ?

  ที่ชื่อว่าสมาธิเพราะอรรถว่าเป็นความตั้งมั่น คือ การดำรงอยู่ การตั้งอยู่อย่างสม่ำเสมอโดยถูกทางแห่งจิตและเจตสิกทั้งหลายในอารมณ์เดียว

๓. อะไรเป็นลักษณะของสมาธิ ?

  ความไม่ซัดส่ายในอารมณ์ต่างๆของจิต เป็นลักษณะของสมาธิ

๔. อะไรเป็นอาการปรากฏของสมาธิ ?

  ความไม่หวั่นไหวในอารมณ์เป็นอาการปรากฏของสมาธิ

๕. อะไรเป็นปทัฏฐานของสมาธิ ?

  ความสุขเป็นปทัฏฐานของสมาธิตามพระพุทธพจน์ว่า จิตของผู้มีความสุข ย่อมตั้งมั่น

๖. ทุกขาปฏิปทาทันทาภิญญาสมาธิ คืออะไร ?

  คือสมาธิที่ปฏิบัติลำบากและรู้ได้ช้า คือยากต่อการบรรลุ

๗. ความเศร้าหมองและความผ่องแผ้วของสมาธิ คืออะไร ?

  หานภาคิยธรรม คือสัญญาและมนสิการอันสหรคตด้วยกามที่ครอบงำผู้ได้ปฐมฌาน เป็นความเศร้าหมอง วิเสสภาคิยธรรรม คือ สัญญาและมนสิการที่ไม่มีความวิตกเกิดขึ้นเป็นความผ่องแผ้ว

๘. ปลิโพธิ คืออะไร ?

  ปลิโพธิ คือ กิเลสเครื่องร้อยรัดเครื่องกังวลอันเป็นอุปสรรคต่อการเจริญกรรมฐาน มี ๑๐ ประการ

๙. สัพพัตถกรรมฐาน คืออะไร ?

  สัพพัตถกรรมฐานคือกรรมฐานที่จำปรารถนาในที่ทั้งปวง กรรมฐานที่ใช้ประโยชน์ได้หรือควรต้องใช้ทุกที่ทุกกรณี  คือ  ทุกคนควรเจริญอยู่เสมอ  ได้แก่ เมตตา และมรณสติ

๑๐. ปาริหาริยกรรมฐาน คืออะไร ?

  กรรมฐานที่ต้องบริหาร  หมายถึงกรรมฐานที่เหมาะกับจริยาของแต่ละบุคคล  ซึ่งเมื่อลงมือปฏิบัติแล้วจะต้องคอยเอาใจใส่รักษาอยู่ตลอดเวลาให้เป็นพื้นฐานของการปฏิบัติที่สูงยิ่งขึ้นไป

๑๑. ผู้เจริญกรรมฐานมีขั้นตอนในการบำเพ็ญสมาธิอย่างไร ?

  ผู้จะเจริญกรรมฐานนั้น ในเบื้องต้นต้องชำระศีลของตนให้บริสุทธิ์ แล้วจึงตัดปลิโพธทั้ง ๑๐ จากนั้นจึงเข้าไปหากัลยาณมิตรผู้เป็นอาจารย์เพื่อเรียนกรรมฐาน ๔๐ วิธี วิธีใดวิธีหนึ่งซึ่งอนุกูลแก่จริยาของตน จากนั้นจึงเลือกอยู่ในเสนาสนะอันเหมาะสมแก่การบำเพ็ญสมาธิแล้วจึงเจริญสมาธิไปโดยไม่ให้บกพร่องในขั้นตอนทั้งปวง

๑๒. อาจารย์ผู้ให้กรรมฐาน ผู้เป็นกัลยาณมิตร มีคุณลักษณะอย่างไร ?

  ครูบาอาจารย์ผู้ที่สามารถสอนกรรมฐาน และคอยเป็นกัลยาณมิตรให้แก่ผู้อื่นได้ ต้องประกอบด้วยกัลป์ยาณมิตตธรรม ๗ ประการ คือ

  ๑.) ปิโย เป็นที่รัก หมายถึงบุคคลผู้มีความน่ารักน่าเลื่อมใส เพราะเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ เป็นผู้มีปกติยิ้มแย้มแจ่มใสและอารมณ์ดีอยู่เสมอ มีมารยาทงาม ดุจพระจันทร์วันเพ็ญ มีความชุ่มเย็นชวนมอง

  ๒.) ครุ หมายถึงบุคคลที่น่าเคารพน่าเกรงใจ เพราะบริบูรณ์ด้วยศีลและสมาธิ มีความอ่อนน้อมถ่อมตน วางตัวได้เหมาะสม เป็นที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจได้ทุกเมื่อ ประดุจขุนเขาตระหง่านมั่นคง

  ๓.) ภาวนีโย หมายถึงบุคคลผู้น่าสรรเสริญเทิดทูน เพราะมีใจเที่ยงธรรม ปราศจากอคติ ๔ ไม่มีความลำเอียงในสหธรรมิกและลูกศิษย์ เหมือนดวงอาทิตย์เป็นใหญ่ในท้องฟ้า

  ๔.) วตฺตา หมายถึง บุคคลผู้ฉลาดพร่ำสอน รู้จักพูดให้ได้เหตุผล รู้จักชี้แจงให้เข้าใจ รู้ว่าเมื่อไรควรพูดอะไรอย่างไร คอยให้คำแนะนำว่ากล่าวตักเตือน เป็นที่ปรึกษาที่ดี

  ๕.) วจนกฺขโม อดทนต่อถ้อยคำ คือ พร้อมที่จะรับฟังคำปรึกษาซักถามคำเสนอแนะวิพากษ์วิจารณ์ อดทน ฟังได้ไม่เบื่อ ไม่ฉุนเฉียว

  ๖.) คมฺภีรญฺจ กถํ กตฺตา แถลงเรื่องล้ำลึกได้ สามารถอธิบายเรื่องยุ่งยากซับซ้อน ให้เข้าใจ และให้เรียนรู้เรื่องราวที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไป

  ๗.) โน จฏฐาเน นิโยชเย ไม่ชักนำในอฐาน คือ ไม่แนะนำในเรื่องเหลวไหล หรือชักจูงไปในทางเสื่อมเสีย

๑๓. ลักษณะวิหารที่เหมาะสมแก่การเจริญสมาธิมีลักษณะอย่างไร ?

  วิหารใดประกอบด้วยองค์ ๕ มีความเป็นวิหารที่ไม่ไกลนัก ไม่ใกล้นักแต่โคจรคาม  เป็นอาทิ  วิหารนี้  ชื่อว่าวิหารเหมาะสม ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ตรัสไว้ว่า  ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เสนาสนะประกอบด้วยองค์  ๕ เป็นอย่างไร ภิกษุทั้งหลาย เสนาสนะในศาสนานี้เป็นที่ไม่ไกลนักไม่ใกล้นัก ไปมาสะดวก กลางวันไม่พลุกพล่าน  กลางคืนไม่มีเสียงอึกทึก ปราศจากสัมผัสแห่งเหลือบยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน  ก็แลเมื่อภิกษุพำนักอยู่ในเสนาสนะนั้น จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นโดยไม่ฝืดเคืองเลย อนึ่ง ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเถระ เป็นพหูสูต ทรงธรรม  ทรงวินัย  ทรงมาติกา  ย่อมอยู่ในเสนาสนะนั้น ภิกษุเข้าไปหาพระเถระเหล่านั้นตามกาลอันควร ได้สอบถาม ( ข้อธรรม ข้ออรรถ ) ว่า  " ท่านเจ้าข้า บทนี้เป็นอย่างไร "  ท่านเหล่านั้นย่อมจะเปิดข้อที่ยังไม่ได้เปิด ทำให้ตื้นข้อที่ยังมิได้ทำให้ตื้น และบรรเทาความสงสัยในธรรมทั้งหลายอันน่าจะสงสัยได้หลายๆ อย่าง ดูกรภิกษุทั้งหลาย เสนาสนะประกอบด้วยองค์ ๕ เป็นอย่างนี้แล

๑๔. ถ้าสัทธินทรีย์ในอินทรีย์ ๕ มีมากเกินไปจะส่งผลเป็นอย่างไร ?

  ถ้าสัทธินทรีย์กล้ามาก วิริยินทรีย์ ก็ไม่อาจจะทำปัคคหกิจ ( กิจคือการยกจิตไว้ ) สตินทรีย์ ก็ไม่อาจทำอุปัฏฐานกิจ ( กิจคือการดูแลจิต ) สมาธินทรีย์ ไม่อาจทำอวิกเขปกิจ ( กิจคือทำจิตไม่ให้ซัดส่าย ) ปัญญินทรีย์ ไม่อาจทำทัสสนกิจ ( กิจคือการเห็นตามความเป็นจริง )

๑๖. ถ้าสัทธินทรีย์มีกำลังมากผู้เจริญกรรมฐานมีวิธีการทำให้สัทธินทรีย์ลดลงได้อย่างไร ?

  ถ้าสัทธินทรีย์มีกำลังมากต้องทำให้ลดลงเสียด้วยพิจารณาสภาวะแห่งธรรม คือ ให้พิจารณาสภาวะคือความเป็นจริงแห่งธรรม  นั่นก็คือให้ใช้ปัญญานั่นเอง  อันสัทธากับปัญญาเป็นธุริยธรรม  คือเป็นธรรมคู่ดุจพาหนะคู่แอก  เพราะฉะนั้น  เมื่อใช้ปัญญาขึ้น  สัทธาอันกล้าย่อมจะลดลง  คือไม่เชื่อไปท่าเดียวรู้จักความจริงอันมีอยู่อย่างไรในสัทไธยวัตถุนั้นแล้วเชื่อตามเหตุผล

๑๗. บุคคลผู้มีปัญญากล้าแต่สัทธาอ่อนก่อให้เกิดผลเสียอย่างไร ?

  บุคคลผู้มีปัญญากล้าแต่สัทธาอ่อน ย่อมตกไปข้างอวดดี เป็นคนแก้ไขไม่ได้ เหมือนโรคที่เกิดแต่ยา รักษาไม่ได้ ฉะนั้น ธรรมทั้ง ๒ เสมอกัน บุคคลจึงจะเลื่อมใสในวัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส 


หมายเลขบันทึก: 530693เขียนเมื่อ 19 มีนาคม 2013 21:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2013 21:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท