ธรรมรัต
พระมหา ธรรมรัต อริยธมฺโม ยศขุน

ถาม-ตอบ ปัญหาในสีลนิเทศ


ถาม-ตอบ ปัญหาในสีลนิเทศ

โดย พระมหาเอกกวิน  ปิยวณฺโณ เลขที่ ๒

สาขาพุทธศาสตร์ คณะศาสนาและปรัชญา

๑. อะไรเป็นศีล ?

  ธรรมทั้งหลายมีเจตนาเป็นต้นของบุคคลผู้เว้นจากโทษมีปาณาติบาตเป็นต้นก็ดี   ของบุคคลผู้บำเพ็ญข้อวัตรปฏิบัติก็ดี  เป็นศีล

๒. ที่เรียกว่าศีลเพราะอรรถว่ากระไร  ?

  ที่เรียกว่าศีลเพราะอรรถว่าเป็นสีลนะ  (คือเป็นมูลราก) คือกิริยาที่รวมเอาไว้อย่างดี  หมายถึงความที่กรรมในทวารมีกายกรรมเป็นต้น  ไม่กระจัดกระจายโดยความมีระเบียบอันดีอย่าง

คือความเข้าไปรับไว้ หมายถึงความเป็นที่รองรับ โดยความเป็นที่ตั้งอาศัยแห่งกุศลธรรมทั้งหลายอย่าง 

๓. อะไรเป็นลักษณะของศีล ?

  สีลนะ ได้แก่ ความเป็นมูลราก  เป็นลักษณะของศีล ท่านกล่าวว่า สีลนะ คือความเป็นมูลรากนั้นเป็นลักษณะของศีล หมายถึงความประพฤติเรียบร้อยทางกายกรรมวจีกรรมและการสำรวมในมโนกรรม หรือการที่กายใจมีความประพฤติชอบมีความสำรวมจนสามารถยังกุศลกรรมให้ประดิษฐานในใจได้กล่าวคือการที่คนสามารถเข้าถึงคุณธรรมต่างๆหรือสามารถน้อมนำคุณธรรมต่างๆมาปฏิบัติได้จริงเรียกว่าเป็นลักษณะของศีล

๔. อะไรเป็นรสของศีล ?

  กิริยาที่กำจัดความทุศีล  อีกอย่างหนึ่งคุณคือความหาโทษมิได้ ท่านกล่าวว่า ชื่อว่าเป็นรส คือเป็นหน้าที่ของศีล

๕. อะไรเป็นปัจจุปัฏฐานของศีล ?

  ศีลนี้นั้นผู้รู้พรรณนาไว้ว่า มีความสะอาดเป็นปัจจุปัฏฐาน ได้แก่ความสะอาด  ๓  คือ

ความสะอาดทางกาย  ความสะอาดทางวาจา  ความสะอาดทางใจ เป็นปัจจุปัฏฐาน

๖. อะไรเป็นปทัฏฐานของศีล ?

  โอตตัปปะและหิรินั่นแล เป็นปทัฏฐานแห่งศีลนั้น เพราะเมื่อหิริและโอตตัปปะ มีอยู่  ศีลจึงจะเกิดขึ้นและตั้งอยู่ได้ เมื่อหิริและโอตตัปปะไม่มี  ศีลก็เกิดไม่ได้ตั้งอยู่ไม่ได้

๗. ปริยันตปริสุทธิศีล หมายถึงอะไร ?

  ปริยันตปริสุทธิศีล  หมายถึง ศีลมีที่สุด มี ๕ ประเภท ได้แก่

  ๑. ศีลมีลาภเป็นที่สุด หมายถึงผู้ที่ละเมิดศีลเพราะลาภเป็นเหตุ

  ๒. ศีลมียศเป็นที่สุด หมายถึงผู้ที่ทุศีลเพราะเหตุแห่งยศถาบรรดาศักดิ์

  ๓. ศีลมีญาติเป็นที่สุด หมายถึงผู้ที่ทุศีลเพราะญาติเป็นสำคัญ

  ๔. ศีลมีอวัยวะเป็นที่สุด ได้แก่ผู้ที่ละเมิดสิกขาบทด้วยความกังวลในอวัยวะ

  ๕. ศีลมีชีวิตเป็นที่สุด ได้แก่ ผู้ที่ยอมทำลายศีลเพราะความรักในชีวิต

๘. อปรามัฏฐศีล หมายถึงอะไร ?

  อปรามัฏฐศีล หมายถึง ศีลที่ไม่ถูกตัณหาและทิฏฐิจับ ได้แก่ ศีลอันสัมปยุตด้วยมรรคของพระเสขะทั้งหลาย กล่าวคือ ศีลของพระเสขบุคคล ๗ จำพวก

๙. ทายัชชบริโภค หมายถึงอะไร ?

  ทายัชชบริโภค หมายถึง หมายถึงการบริโภคจตุปัจจัยของทายกโดยความที่ตนเป็นผู้มีคุณธรรมเหมาะสมกับความเป็นสมณะเป็นเชื้อสายของพระพุทธเจ้า กล่าวโดยสรุป คือการบริโภคปัจจัยของพระเสขะบุคคล ๗ จำพวก

๑๐. สังวรสุทธิ หมายถึงอะไร ?

  สังวรสุทธิ หมายถึง ความหมดจดด้วยความสังวรคือสำรวม กล่าวคือ อินทรีย์สังวร การสำรวมอินทรีย์ ๖ เรียกว่าเป็น สังวรสุทธิ เพราะหมดจดด้วยการสำรวมโดยการตั้งมโนปณิธานว่า เราจักไม่ทำอย่างนี้อีก

๑๑. สัลลปนา หมายถึงอะไร ?

  สัลลปนา หมายถึงการพูดเอาใจทายกทายิกา ได้แก่การพูดโดยแสดงการอ่อนน้อมต่อทายกทายิกาเพราะเกรงว่าทายกทายิกาจะไม่รัก ซึ่งเป็นกิริยาที่จัดอยู่ใน กุหนา คือการหลอกลวง

๑๒. อุนนหนา หมายถึงอะไร ?

  อุนนหนา หมายถึง การพูดผูกมัดทายกายิกา เช่น พูดว่า เมื่อปีก่อนโยมถวายผ้าป่าตั้งหมื่นปีนี้ไม่ถวายหรือ ซึ่งเป็นการบีบบังคับให้ทายกทายิกาต้องถวายโดยความไม่เต็มใจ

๑๓. อารักขโคจร หมายถึง อะไร ?

  อารักขโคจร หมายถึง การสำรวมระวังของภิกษุผู้เข้าไปสู่บ้าน ไม่วอกแวกสอดส่ายจนทำให้ไม่เป็นที่ศรัทธาเลื่อมใสของผู้พบเห็น กล่าวคือให้มีสติเป็นเครื่องกำกับอยู่ตลอดเวลาซึ่งพระฎีกาจารย์ได้อธิบายไว้ว่า สตินั่นเองเป็นอารักษ์

๑๔. อุปนิพัทธโคจร หมายถึงอะไร ?

  อุปนิพัทธโคจร หมายถึง สติปัฏฐาน ๔ ได้แก่ กายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนาและธรรมานุปัสสนา ซึ่งเป็นกิจอันภิกษุควรเจริญเป็นนิตย์

๑๕. ปณีตศีล หมายถึง อะไร ?

  ปณีตศีล หมายถึง ศีลที่บุคคลประพฤติด้วยอิทธิบาทธรรมมีฉันทะเป็นต้นอย่างประณีต ชื่อว่า ปณีตศีล อีกความหมายหนึ่ง คือ ศีลที่บุคคลสมาทานอาศัยอริยภาวะด้วยความคิดว่า สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ดีเราควรทำ อีกอย่างหนึ่ง โลกุตตรศีลจัดเป็นปณีตศีล และศีลที่ประพฤติด้วยความประสงค์จะหลุดพ้นก็จัดเป็นปณีตศีล

๑๖. ปริกถา หมายถึงอะไร ?

  ปริกถา หมายถึง การพูดจาหว่านล้อม คือการพูดล้อมไปล้อมมาจนทายกทายกต้องถวายให้ในที่สุด เช่น พูดว่า กุฏิของอาตมาเล็กไปนะคุณโยม หรือรถของพระอาจารย์คันนี้มันเก่าไปแล้ว เป็นต้น 

๑๗. อานิสงส์ของศีลในคัมภีร์วิสุทธิมรรคจำแนกไว้อย่างไรบ้าง ?

  อานิสงส์ของศีลในคัมภีร์วิสุทธิมรรคจำแนกไว้เป็น ๔ จำพวก ดังนี้

  จำพวกที่ ๑ ศีลมีความไม่ต้องเดือดร้อนใจเป็นผลดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า ดูกรอานนท์ ก็แลศีลแลเป็นกุศล มีความไม่ต้องเดือดร้อนใจเป็นผล มีความไม่ต้องเดือดร้อนใจเป็นอานิสงส์

  จำพวกที่ ๒ อานิสงส์ของศีลมี ๕ ประการ ได้แก่

  ๑. ย่อมได้ประสบกองโภคะใหญ่ เพราะเหตุความไม่ประมาท

  ๒. กิตติศัพท์ชื่อเสียงย่อมฟุ้งกระจายไป

  ๓. จะเข้าไปสู่ท่ามกลางประชุมชนได้อย่างองอาจกล้าหาญไม่เก้อเขิน

  ๔. ไม่หลงทำกาลกิริยา

  ๕. เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตกย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

  จำพวกที่ ๓ อานิสงส์ของศีลมีความเป็นที่รักที่ชอบใจเป็นเบื้องต้นและมีความสิ้นอาสวะเป็นที่สุด

  จำพวกที่ ๔ อานิสงส์ของศีลมี ประการ ได้แก่

  ๑. ย่อมชำระมลทินของสรรพสัตว์ได้

  ๒. มีความเย็นระงับความเร่าร้อนให้แก่สรรพสัตว์ได้

  ๓. มีกลิ่นที่ขจรกระจายไปได้ในทุกที่ (หมายถึงกลิ่นความดี)

  ๔. เป็นบันไดขึ้นสู้สวรรค์

  ๕. เป็นประตูสู่พระนิพพาน

  ๖. มีความงดงามกว่าเครื่องประดับทั้งปวง

  ๗. ย่อมกำจัดภัยมีอัตตานุวาทภัยเป็นต้นได้

  ๘. ย่อมยังชื่อเสียงและความเริงร่าให้เกิด


หมายเลขบันทึก: 530691เขียนเมื่อ 19 มีนาคม 2013 21:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2013 21:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท