ในยุคที่เด็กหันหลังให้กับการเรียนประวัติศาสตร์ไทย...ครูควรรับมืออย่างไร?



 

ในยุคที่เด็กหันหลังให้วิชาประวัติศาสตร์ไทย....ครูผู้สอนควรเตรียมรับมืออย่างไร?


การสอนให้เด็กรู้และเข้าใจเนื้อหาตามหน่วยเรียนรู้ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับครูสอนประวัติศาสตร์ไทย แต่การสอนให้เด็กซึ่งวิเคราะห์แล้วว่าที่มีต้นทุนต่ำในองค์ความรู้ประวัติศาสตร์ไทยอยู่เดิม ให้สามารถเรียนรู้โดยวิธีการใหม่ด้วยกระบวนการคิดวิเคราะห์จากสารสนเทศข้อมูล หลักฐานอ้างอิง ใช้เทคนิควิธีที่มีชีวิตชีวา เหมาะสมกับผู้เรียนนั้น แทบว่าครูผู้สอนหลายคนจะถอดใจไปเลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม ก็เป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับครูผู้สอนที่มีอุดมการณ์ ความตั้งใจมุ่งมั่น อดทน ที่ต้องการเห็นลูกศิษย์เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ ใช้บทเรียนในอดีตมาวิเคราะห์พยากรณ์แนวโน้มในอนาคตได้ และเป็นพลเมืองดี ที่มีความรัก ความภูมิใจในความเป็นไทย 

ในยุคที่เด็กไทยหลงไหลไปกับการบริโภคสื่อเทคโนโลยีและเปิดรับวัฒนธรรมตะวันตก ด้วยเห็นว่าเป็นเรื่องทันสมัย ขณะเดียวกันก็กลับมองการเรียนประวัติศาสตร์เป็นสิ่งไม่จำเป็น ไม่เป็นประโยชน์ต่อวิถีชีวิตในอนาคตหรือการประกอบอาชีพ  ครูสอนประวัติศาสตร์ไทยที่มีฝีมือเท่านั้นที่จะทำให้้เด็กๆ เห็นว่า แท้ที่จริง เรียนประวัติศาสตร์ไทย ได้อะไรมากมายกว่าที่คิด ยิ่งบรรยากาศการเรียนที่มีชีวิตชีวา ไม่จำเพาะอยู่ในห้องเรียนสี่เหลี่ยม  เปิดโลกทัศน์ด้วยวิธีการสอนและแหล่งเรียนรู้้ดีๆ  อย่างอดทน ก็จะค่อยๆเปลี่ยนความคิดของพวกเขาได้   ตอนนี้สำรวจตนเองว่า สภาพการจัดการเรียนการสอนที่ผ่านๆ มา มีความพร้อมในเรื่องต่อไปนี้หรือยัง?

เรื่องที่ 1  ทักษะพื้นฐานในการเรียนรู้ของเด็กมีเพียงพอหรือยัง?

  1.ทักษะการสังเกต เด็กต้องมีทักษะการสังเกตสิ่งรอบตัวธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ที่ละเอียดถี่ถ้วน ถูกต้อง 

  2.ทักษะการบันทึก เด็กต้องมีทักษะการจดบันทึกสาระสำคัญที่มีรูปแบบ สั้นกะทัดรัด สื่อความหมายได้ดี ครอบคลุมเนื้อหาตรงประเด็นข้อเท็จจริง

  3. ทักษะการพูด เด็กต้องกล้าพูด กล้าแสดงความคิดเห็น ชี้แจงเหตุผล กล้าซักถามอย่างมีมารยาท

  4. ทักษะการอ่าน เด็กต้องมีทักษะการอ่านเพื่อสรุปความ ตีความ ตามประเด็นที่อ่าน

  5. ทักษะการเขียน เด็กต้องมีทักษะในการเขียนย่อความ เรียงความ สรุปใจความสำคัญ ออกแบบเขียนแผนภูมิ กราฟ สถิติ แผนภาพ ภาพลายเส้นง่ายๆ

  6. ทักษะการฟัง เด็กต้องมีทักษะในการฟัง เข้าใจคำอธิบาย คำบรรยาย คำสันนิษฐาน ผลการวิเคราะห์ วิจัยจากผู้รู้ เพื่อสรุปสาระสำคัญจากการฟัง 

7. ทักษะการคิด เด็กต้องมีทักษะการคิดอย่างมีเหตุผลตามข้อมูลที่ปรากฏคิดอย่างมีวิจารณญาณ   

8. ทักษะการวิเคราะห์ เด็กต้องมีทักษะในการวิเคราะห์ข้อมูล วิเคราะห์เหตุผล ความเป็นไปได้เพื่อสนับสนุนอ้างอิงข้อมูลพยากรณ์แนวโน้ม

  9. ทักษะการสังเคราะห์ เด็กต้องมีทักษะในการเชื่อมโยงความรู้จากหลายๆทางมาสรุปเป็นความคิดรวบยอด ประมวลเหตุการณ์เรื่องราว สู่ข้อสรุป

  เรื่องที่ 2 ครูผู้สอนมีความสามารถออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ ได้หลากหลายเพียงใด?

ตัวอย่าง แนวการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิชาประวัติศาสตร์ไทยตามหลักการปฏิรูปการเรียนรู้

 1.กรณีศึกษา ยกเหตุการณ์ที่น่าสนใจมาเป็นประเด็นศึกษาให้เด็กได้อภิปราย สืบสวน วิเคราะห์สาเหตุ ผลกระทบ จากเหตุการณ์นั้น เช่น สาเหตุการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2  ผลของการเปลี่ยนแปลงการปกครองเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ฯลฯ

  2. สรุป วิเคราะห์อย่างมีเหตุผลจากการศึกษาเนื้อหาเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ โดยใช้สื่อแผนผังความคิดรวบยอดซึ่งทำได้หลายลักษณะเช่นโครงร่าง  แผนภูมิ แผนภาพ กราฟ แผนที่ ภาพร่าง การ์ตูน ภาพวาด โครงสร้างจำลอง เช่น ลำดับราชวงศ์พระมหากษัตริย์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยาการศึกษาในสมัยกรุงสุโขทัย  เป็นต้น

  3. เรียนรู้ด้วยโครงงานประวัติศาสตร์เช่น ประวัติศาสตร์ของจังหวัด  ความเป็นมาเมืองเก่า ศาสนสถานในท้องถิ่น เชื้อสายของคนในชุมชน ความเชื่อ ประเพณีที่มีผลต่อการดำรงชีวิตของผู้คนในท้องถิ่น เป็นต้น

4. เรียนรู้แบบบูรณาการภายในวิชาหรือข้ามวิชาเช่น กำหนดหัวข้อ วัดในหมู่บ้านของเรา” สามารถเรียนรู้เรื่องการศึกษาศิลปะพื้นบ้าน ลักษณะชุมชน ประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น

5. เรียนรู้ด้วยเพลง เช่น เพลงปลุกใจ เพลงเห่เรือ ที่มักจะสอดแทรกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ คติความเชื่อของผู้คนในยุคสมัยต่างๆไว้เช่น ศึกบางระจัน สยามานุสติ เราสู้  เป็นต้น

6. เรียนรู้ด้วยเกม เช่น การต่อคำศัพท์ ลำดับเหตุการณ์  โยงความหมาย โดมิโน บันไดความรู้จากบทเรียนเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยเกมจะช่วยให้บรรยากาศการเรียนรู้สนุกสนานมีชีวิตชีวา 

7. เรียนรู้จากสื่อ เช่น บทเรียนสำเร็จรูป วีดิทัศน์ แผนที่ หุ่นจำลอง ป้ายนิเทศ สารานุกรม จดหมายเหตุ ปัจจุบันมีสื่อเทคโนโลยีแหล่งการเรียนรู้มากมายที่ผู้สอนสามารถจัดหาได้ง่าย เช่น ซีดีสารคดีทางประวัติศาสตร์  บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน  ภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์  ข้อมูลทางอินเตอร์เนต ช่วยให้ผู้สอนมีแหล่งข้อมูลในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลายยิ่งขึ้น

8. เรียนรู้ด้วยการแสดงบทบาทสมมุติ  การแสดงละครอิงประวัติศาสตร์ ทำให้ผู้เรียนเกิดจิตสำนึกในการเป็นไทย  เห็นคุณค่าของการเสียสละต่อชาติบ้านเมืองของบรรพบุรุษ เช่น วีรกรรมสมเด็จพระศรีสุริโยทัย ขบวนการเสรีไทย เป็นต้น

9. เรียนรู้โดยการจัดทัศนศึกษา แหล่งเรียนรู้ที่เป็นโบราณสถาน แหล่งโบราณคดี พิพิธภัณฑ์ อุทยานประวัติศาสตร์ ให้ผู้เรียนได้สัมผัสหลักฐานร่องรอยแห่งอารยธรรม วิถีชีวิตผู้คนในอดีตที่เชื่อมโยงถึงปัจจุบัน และแนวโน้มในอนาคต 

เรื่องที่ 3 ตามมาตรฐานการเรียนรู้ เด็กต้องเรียนเรื่องอะไร ฝึกทักษะอย่างไร สร้างเจตคติด้านใด?

  ตัวอย่างเช่น  การออกแบบการเรียนรู้ตามหน่วยเรียนรู้ มาตรฐาน ส 4.3  เข้าใจความเป็นมาของชาติไทย วัฒนธรรม ภูมิปัญญาไทย มีความรัก ความภูมิใจ และธำรงความเป็นไทย  ครูควรคิดวางแผนการสอนย่อๆ ดังนี้

    1.ครูต้องสอนความรู้เรื่องความเป็นมาของชาติไทย  พัฒนาด้านต่างๆของไทย  วัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย  บุคคลสำคัญของไทย ด้วยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งในเรื่องที่ 3 หรืออื่นๆที่เหมาะกับพื้นฐานนักเรียน

    2. ครูต้องฝึกทักษะของนักเรียน ให้เข้าถึงหลักฐานชั้นต้น  ฝึกทักษะวิธีการสืบค้นข้อเท็จจริง

    3. ครูต้องสร้างเจตคติในความรัก ความภูมิใจในชาติ ธำรงความเป็นไทย

  เรื่องที่ 4 ครูพร้อมที่จะพัฒนาตนเอง เข้าใจ พอใจที่ปรับเปลี่ยนบทบาทในการสอนหรือยัง?

1. ครูต้องศึกษา ค้นคว้า ให้มีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยเป็นอย่างดี

2. ครูต้องปรับตัว ยืดหยุ่น สามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้ได้หลากหลายวิธีสนองธรรมชาติผู้เรียน

3. ครูควรสนใจติดตามรายงานการศึกษาค้นคว้าทางประวัติศาสตร์ไทยอยู่เสมอ

4 ครูควรสนใจประวัติศาสตร์ระดับภูมิภาค ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น

5. ครูควรเป็นตัวอย่างในความเป็นนักอ่านนักค้นคว้า เอกสาร ตำรา สารคดีทางประวัติศาสตร์มีความรอบรู้

แตกฉาน เป็นที่ยอมรับศรัทธาของเด็ก

6. ครูสามารถเป็นที่ปรึกษาแนะนำ ให้ผู้เรียนใช้ทักษะความสามารถในการคิดวิเคราะห์สังเคราะห์ข้อมูล

ได้อย่างเต็มที่

7. ครูควรเป็นผู้มีความสามารถในการวิจัย

ถ้าสำรวจตนเองได้ว่า ถึงพร้อมแล้วซึ่งจุดเปลี่ยนแปลงใน 4 เรื่องนี้  ก็มั่นใจได้เลยว่า การสอนประวัติศาสตร์ไทยในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา  ถึงฝั่งฝันอย่างแน่นอน

....................................................................................................................

บรรณานุกรม

ทัศนัย  ไกรทอง.  การสอนวิชาประวัติศาสตร์ในยุคปฏิรูปการศึกษา.วารสารวิชาการ ปีที่ 5 ฉบับที่ 3 มีนาคม   2545 (หน้า49-54)

สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ.  เอกสารการนิเทศรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน  ประวัติศาสตร์และศีลธรรม. เอกสารที่76/2544 สำนักนิเทศและพัฒนามาตรฐานการศึกษา.   กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว,2544.

สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ.  แนวทางการจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์แนวใหม่.  เอกสารที่ 82/2543 สำนักนิเทศและพัฒนามาตรฐานการศึกษา.  กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว  , 2543.



 

หมายเลขบันทึก: 530561เขียนเมื่อ 18 มีนาคม 2013 15:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มีนาคม 2013 20:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท