พลิกวิธีสอนประวัติศาสตร์ไทยให้มีชีวิตชีวากันเถอะ



พลิกวิธีสอนประวัติศาสตร์ไทยให้มีชีวิตชีวากันเถอะ...

พระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ที่พระราชทานแก่พสกนิกรในวันคล้ายวันพระราชสมภพ เมื่อวันที่  ๑๑ สิงหาคม ๒๕๕๑ มีเนื้อความตอนหนึ่งที่สะท้อนถึงวิกฤตการศึกษาคนไทยรุ่นใหม่ละเลยการเรียนรู้วิชาประวัติศาสตร์ไทย ขาดจิตสำนึกในความเป็นชาติไทยอย่างน่าห่วงใย ขณะที่อารยประเทศทั้งหลายยังให้ความสำคัญกับการเรียนประวัติศาสตร์ชาติของตนเป็นผลให้กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดนโยบายสู่สถานศึกษาทั่วประเทศให้ดำเนินการทบทวนการใช้หลักสูตรโดยหยิบเอาหน่วยการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ในกลุ่มสาระสังคมศึกษาฯ ขึ้นมาจัดกิจกรรมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์แนวใหม่อย่างจริงจังและจัดโครงสร้างหลักสูตรให้มีเวลาเรียนประวัติศาสตร์ไทยสัปดาห์ละ ๑ ชั่วโมง หรือ ๑หน่วยกิต ต่อปีการศึกษา

ครูผู้สอนวิชาประวัติศาสตร์นับว่ามีบทบาทสำคัญที่จะนำพาผู้เรียนให้เข้าถึงกระบวนการเรียนรู้ประวัติศาสตร์แนวใหม่ ชี้นำให้ผู้เรียนเห็นประโยชน์และคุณค่าของการเรียนประวัติศาสตร์เท่าๆ กับการเรียนรู้ในกลุ่มสาระหลัก แต่จากการนิเทศติดตามการใช้หลักสูตรของโรงเรียนในเขตพื้นที่การศึกษาพบว่า  ครูผู้สอนวิชาประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ขาดความมั่นใจในการสอนด้วยความรู้สึกส่วนตัวที่ไม่ได้เรียนจบในสาขาวิชาเอกโดยตรง ต้องเรียนรู้ใหม่ในกระบวนการสอนเชิงกระบวนการตามแนวการสอนประวัติศาสตร์แนวใหม่  เมื่อยังไม่กล้าทดสอบตนเอง จึงใช้วิธีการเดิมที่ถนัดไปพลางโดยค้นคว้าเนื้อหาตามหน่วยการเรียนรู้มาสอนใช้ความสามารถส่วนตัวในการบรรยาย เล่าเรื่อง สอดแทรกข้อคิด ใช้เกร็ดความรู้สร้างบรรยากาศ สังเกตครูรุ่นใหม่มักจัดกิจกรรมให้ผู้เรียนอ่านเอกสารความรู้ ใบงานและทดสอบความรู้ด้วยแบบฝึกหัด แบบทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน ใช้สื่อใบความรู้และใบงานที่จัดทำขึ้นได้จากการค้นคว้าจากเอกสาร ตำราทั่วไป รายงาน งานวิจัย วิทยานิพนธ์ที่ดาวน์โหลดจากเว็บไซต์ ใบความรู้มีลักษณะเอกสารที่คว้ามาโดยไม่เรียบเรียง อ้างอิงที่มาของข้อมูลอย่างถูกต้อง บางเรื่องอ้างอิงจากตำนาน อ้างเว็บไซต์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับองค์กร สถาบันทางประวัติศาสตร์ ครูอีกบางส่วนให้เด็กค้นคว้ารายงานจากห้องสมุด หรือพาเด็กไปทัศนศึกษาโบราณสถาน พิพิธภัณฑ์ เท่าที่มีโอกาส และชื่นชมครูบางส่วนที่พยายามสอนโครงงานประวัติศาสตร์แต่เมื่อพิจารณาโครงงานที่ทำ ก็ยังมีลักษณะรายงานสรุปผลการไปทัศนศึกษาแหล่งเรียนรู้ในชุมชน โบราณสถาน พิพิธภัณฑ์ หรือรายงานการสำรวจความรู้ทางประวัติศาสตร์จากผู้รู้หรือภูมิปัญญาท้องถิ่น แทนที่จะให้ผู้เรียนตั้งประเด็นที่สงสัยแล้วหาคำตอบที่อ้างอิงได้ โดยการค้นคว้า สำรวจ สืบค้นหลักฐาน เอกสารชั้นต้น ข้อมูลชั้นต้น มาสรุป ตีความ เรียบเรียงรายงาน นำเสนอ วิพากษ์หาข้อสรุป เป็นองค์ความรู้ที่ได้ ยกตัวอย่างง่ายๆเช่น ทำไมจึงทราบว่าขอมเป็นผู้สร้างปรางค์กู่  ทำไมคนภาคอีสานจึงมีสำเนียงพูดคล้ายคนลาว การเทียบปีพุทธศักราชกับจุลศักราชทำอย่างไร เหตุใดไทยกับพม่าจึงเป็นประเทศคู่สงครามกัน (บูรณาการอาเซียนศึกษา) ทำไมจึงเรียกพระยาภักดีชุมพลว่า“พญาแล” ภาพยนตร์ “ตำนานสมเด็จพระนเรศวร” ให้ข้อคิดเกี่ยวกับบทบาทภารกิจต่อชาติไทยของพระพระมหากษัตริย์ไทยสมัยนั้นอย่างไรบ้าง  ฯลฯ ซึ่งประเด็นคำถามเหล่านี้ สามารถหาคำตอบได้โดยวิธีการทางประวัติศาสตร์


อย่างไรก็ตาม การสอนโดยการบรรยายสาระสำคัญของครูประกอบการอ่านตำราและการค้นคว้าจากเว็บไซต์ และการทดสอบความรู้ของผู้เรียน ก็ยังเป็นปรากฏการณ์ปกติในชั้นเรียนแสดงถึง กำแพงเจตคติยังปิดกั้น หรือยังต้องการเพื่อนคู่มิตร มิตรผู้นิเทศเรียกพลังความมั่นใจกลับมา ให้เกิดพลังเพียงพอที่จะกล้าพลิกบทบาทตนเองให้ทดลองสอนด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ (Historical  method) ซึ่งถือว่าสอดคล้องกับการเรียนรู้ของคนในศตวรรษที่ 21 ที่มุ่งให้ผู้เรียนใช้ทักษะความสามารถในการคิด การแก้ปัญหา การติดต่อสื่อสาร รู้สารสนเทศ มีการร่วมมือ ปรับตัว ยืดหยุ่นมีทักษะทางสังคม ข้ามวัฒนธรรม สู่กระบวนการเรียนรู้ประวัติศาสตร์อย่างมีชีวิตชีวาด้วยทักษะการเรียนรู้ที่คล่องแคล่ว สามารถสืบค้น ค้นคว้าอย่างมีวิจารณญาณ เคารพในเหตุผล หลักฐานอ้างอิง เห็นประโยชน์ของการศึกษาอดีต เพื่อเข้าใจปัจจุบัน เห็นความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยในบริบทเวลาที่ต่างกัน ได้เรียนรู้รากเหง้าที่แท้จริงของคนไทย ความเพียรพยายามของบรรพบุรุษไทยในการรวมผู้คน รวมรัฐให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทั้งโดยสันติวิธีและวิธีการทำสงครามต่อสู้ซึ่งแลกมาด้วยชีวิตเลือดเนื้อของผู้คนจำนวนมาก ซึ่งนั่นเท่ากับ ครูผู้สอนได้สร้างระบบการเรียนรู้ให้ผู้เรียนเป็นนักอ่านนักค้นคว้า นักคิด สู่การเป็นปัญญาชนของสังคม พร้อมกับซึมซับความรู้สึกรักแผ่นดินถิ่นเกิดและภาคภูมิใจในความเป็นไทย

ถึงเวลาแล้วที่ครูผู้สอนประวัติศาสตร์ต้องใช้บทเรียนในอดีต พัฒนาตนเองสู่โลกอนาคต โดย X- RAY กระบวนการสร้างภูมิปัญญาการเรียนรู้ด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ (Historical  method) พลิกวิธีสอนจาก “ ใครทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่” เป็น “ทำไมถึงเกิด  ทำไมถึงเปลี่ยน ทำไมถึงเป็น เกิดขึ้นได้อย่างไร เปลี่ยนแปลงอย่างไร มีผลต่ออะไร อย่างไรบ้าง”  โดยลดเวลาบรรยาย และเพิ่มเวลาทำกิจกรรมที่มีความหมาย เป็นครูสอนประวัติศาสตร์ที่สังคมคาดหวัง

  .............................................................................................


บรรณานุกรม

กรมวิชาการกระทรวงศึกษาธิการ.  คู่มือจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม.      กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์,2545.

สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ.  เอกสารการนิเทศรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน  ประวัติศาสตร์และศีลธรรม. เอกสารที่ 76/2544 สำนักนิเทศและพัฒนามาตรฐานการศึกษา.  กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว,2544.

สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. เพื่อนคู่คิดมิตรคู่ครู   แนวทางการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์.กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย  จำกัด, 2554.



 

หมายเลขบันทึก: 530554เขียนเมื่อ 18 มีนาคม 2013 15:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มีนาคม 2013 17:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท