“Tablet” + อินเทอร์เน็ต = เครื่องมือโลกไซเบอร์ยุคใหม่สำหรับเด็กไทย ?


การเรียนรู้ยุคใหม่

 

“Tablet” + อินเทอร์เน็ต  = เครื่องมือการเรียนรู้ยุคใหม่สำหรับเด็กไทย ?

                                                    โดย  นายบุญช่วย   สายราม

 Doctoral Candidate of  Educational Administration and Development ( Ed.D ). MSU, Thailand.

……………………………………………………………………………………..

เทคโนโลยีสารสนเทศและระบบเครือข่ายได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาองค์กรและสังคมในทุกๆ ส่วน อย่างที่ไม่อาจจะปฏิเสธได้ นับวันเทคโนโลยีก็ยิ่งพัฒนาไปอย่างรวดเร็วท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกโลกาภิวัฒน์ที่เชื่อมต่อโยงใยกันเป็นระบบและมีความซับซ้อน เทคโนโลยีกลายเป็นกลไกลสำคัญต่อระบบสังคมอย่างไม่สามารถแยกออกจากกันได้และในแต่ละวันก็จะมีความใกล้ชิดกับผู้คนทั่วโลกมากขึ้นทุกขณะทุกเวลาและทุกสถานที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพประชากรของประเทศต่างๆทั่วโลกในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ และต่างมุ่งเน้นพัฒนาให้ผู้เรียนในแต่ละช่วงวัยได้เรียนรู้อย่างหลากหลาย เหมาะสมกับบริบทของสังคมภายในและภายนอกประเทศ ทั้งนี้เพื่อเสริมสร้างประชากรให้เป็นพลเมืองและพลโลกที่สมบูรณ์ สามารถเทียบเคียงสมรรถนะและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน การจัดการศึกษาของประเทศไทยภายใต้การปฏิรูปทางการศึกษารอบที่สอง ( พ.ศ. 2552 – 2561) ภายใต้วิสัยทัศน์: “คนไทยได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ” ตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และแก้ไขทุกฉบับ ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศได้เข้ามามีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาทุกระดับ ทั้ง การศึกษาในระบบ  นอกระบบ และตามอัธยาศัย ไม่ว่าจะเริ่มจากระดับก่อนวัยเรียนไปจนถึงระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิต โดยเฉพาะในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานนั้นถือว่าเป็นการศึกษาเพื่อเตรียมคนให้มีความพร้อมในด้านต่างๆเพื่อก้าวไปสู่การศึกษาในระดับที่สูงขึ้น “อินเทอร์เน็ต” และแท็ปเล็ต กำลังกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการเป็นโปรโมชั่นเสริมความรอบรู้ให้กับผู้เรียนในการช่วยให้เข้าถึงแหล่งความรู้ในด้านต่างๆได้อย่างทั่วถึงครอบคลุมไปทั่วโลก ผู้เรียนสามารถเข้าไปค้นคว้าด้วยตัวเองได้ตลอดเวลาตามความพร้อมและความสนใจอย่างไร้ข้อจำกัดด้านเวลาและสถานที่ เป็นความท้าทายในเรื่องของการขยายโอกาสทางการเรียนรู้ การพัฒนาระบบการจัดการความรู้และการถ่ายโอนความรู้ทั้งที่เป็นความรู้ดิบ และความรู้ที่ปรุงสุกพร้อมรับเข้าไปในระบบการเรียนรู้ซึ่งแพร่กระจายไปยังผู้เรียนเรียนที่อยู่ในทุกหนทุกแห่งของภูมิภาคทั้งในประเทศและต่างประเทศด้วย

 การปฏิรูปการศึกษาของไทยที่ดำเนินมายาวนาน และกำลังดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่องเป็นความปรารถนาอย่างแรงกล้าของนักวิชาการและนักการศึกษาไทยทุกระดับ รวมไปถึงสถาบันการศึกษา ชุมชน ผู้ปกครองและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวช้องกำลังให้ความสำคัญ ประเทศไทยได้รับการท้าทายในเรื่องของการเข้าร่วมประเมินผลการเรียนรู้นานาชาติ PISA มาแล้ว 3  ครั้ง ล่าสุดคือ PISA 2012  รวมถึงการประเมิน TIMMS และความท้าทายที่ใกล้ตัวมากที่สุดซึ่งกำลังเผชิญหน้าอยู่ในขณะนี้คือการมุ่งเช้าสู่ประชาคมอาเซียน ในปี พ.ศ. 2558 เป็นความท้าทายที่จะต้องมีการวางแผนและกระตุ้นให้เกิดการเตรียมคนไทยทุกระดับมีความพร้อมและสามารถแข่งขันในเวทีอาเซียนกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งหมด 10 ประเทศ และที่สำคัญการแก้ไขปัญหาด้านคุณภาพการศึกษาของไทยในภาพรวมยังถือว่าด้อยกว่าหลายประเทศในกลุ่มอาเซียนโดยเฉพาะทักษะด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษ การอ่าน  คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ และด้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการเสาะแสวงหาองค์ความรู้ต่างๆที่มากมายอยู่ทั่วโลก

มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ระบุว่า การศึกษาหมายถึง กระบวนการเรียนรู้เพื่อความเจริญงอกงามของบุคคลและสังคม โดยการถ่ายทอดความรู้ การฝึกอบรม การสืบสานทางวัฒนธรรม การสร้างจรรโลงความก้าวหน้าทางวิชาการ การสร้างองค์ความรู้อันเกิดจากการจัดสภาพแวดล้อมสังคม การเรียนรู้ และปัจจัยเกื้อหนุนให้บุคคลเรียนรู้อย่างผสานระหว่างการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อให้สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต อินเทอร์เน็ตจึงเป็นขุมความรู้ปริมาณมหาศาล และเป็นเครื่องมือสื่อสารสืบค้นที่สะดวกรวดเร็วและไร้พรมแดน สามารถเอื้อให้เกิดการเรียนรู้จากทุกที่ไม่จำกัดแค่เพียงในห้องเรียน หรือในเวลาเรียนเท่านั้น จึงเป็นการส่งเสริมให้เกิดการศึกษาทั้งในและนอกระบบ และตามอัธยาศัย ที่สำคัญยังเปิดกว้างสำหรับทุกคนที่ต้องการศึกษาหาความรู้ ไม่ว่าจะอยู่ในวัยใดก็ตาม ซึ่งเป็นการสนับสนุนให้เกิดการศึกษาพัฒนาความรู้ตลอดชีวิตสอดคล้องกับพระราชบัญญัติ อินเทอร์เน็ตเพื่อการศึกษา นับได้ว่าเป็นเครื่องมือที่สำคัญอย่างยิ่งในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระหว่างกลุ่มคนในสังคม และเป็นการเพิ่มพูนการเรียนรู้ของบรรดานักเรียนที่เตรียมพร้อมที่จะก้าวไปสู่การเป็นบุคลากรที่เปี่ยมด้วยความรู้ความสามารถ เพื่อเป็นการผลักดันประเทศไทยให้เข้าสู่สังคมแห่งปัญญาและความรู้ (Knowledge based Society) ในอนาคตข้างหน้า

สำหรับประเทศไทยการเข้าถึงการศึกษาของประชาชนยังปรากฏความไม่เสมอภาคค่อนข้างชัดเจน อาจจะสืบเนื่องมาจากข้อจำกัดทางระบบโครงสร้างทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจ และปัจจัยอื่นๆ ที่ยังคงเป็นปัญหาในระดับเชิงนโยบาย ดังจะเห็นได้จากปัญหาทางด้านการสื่อสารหรือโทรคมนาคมพื้นฐานในระบบ 3G ซึ่งในหลายประเทศในกลุ่มประเทศอาเซียนได้พัฒนาก้าวล้ำไปไกลหลายปีแล้ว แต่ประเทศไทยเพิ่งเริ่มพัฒนาเพื่อให้ก้าวทันประเทศอื่นๆ

ในอดีตประเทศไทยได้มีโครงการเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อโรงเรียนไทย (School Net) ซึ่งริเริ่มและดำเนินการโดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ด้วยความร่วมมือจากกระทรวงศึกษาธิการ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อต้องการที่ลดความไม่เสมอภาคด้านการเข้าถึงแหล่งเรียนในระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตแก่โรงเรียนทั่วประเทศ เพื่อให้ครู อาจารย์และนักเรียนได้ใช้ประโยชน์ในการเรียนรู้และเพื่อให้เทคโนโลยีสารสนเทศถูกใช้เพื่อการพัฒนาการศึกษาและปฏิรูประบบการเรียนรู้ให้หลากหลายและเกิดความน่าสนใจแก่ผู้เรียนมากยิ่งขึ้น

          ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษาในยุคแห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องพัฒนาระบบการเรียนรู้ให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาของสังคมโลกยุคไร้พรมแดน การนำเทคโนโลยีการศึกษามาประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับบริบทของการจัดการศึกษาในแต่ละระดับ จะทำให้ผู้เรียนได้มีการเรียนรู้ที่ทันสมัย ก้าวทันเทคโนโลยี มีความอย่างสะดวก และรวดเร็ว จากความคอมพิวเตอร์แบบพกพาหรือคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก เปลี่ยนเป็นคอมพิวเตอร์พกพารูปแบบใหม่ คือ “Tablet” ซึ่งเป็นทีนิยมใช้กันอย่างกว้างขวางทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ตามโครงการ “One Tablet Per Child” โดยเริ่มจากนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ให้ใช้กันทั้งประเทศและได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อมอบให้กับนักเรียนในระดับชั้น ม. 1 ในปีการศึกษา 2556  การใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาเป็นการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ.2558 นั้น เป็นการเร่งพัฒนาการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาให้เป็นเครื่องมือยกระดับคุณภาพและกระจายโอกาสทางการศึกษาใหม่ ระบบการเรียนแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติเป็นกลไกในการปรับเปลี่ยนกระบวนการคิดวิเคราะห์และการสังเคราะห์ โดยเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางและเอื้อให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตทั้งในระบบและนอกระบบได้อย่างไร้ข้อจำกัด

          จากที่กล่าวมาจะเห็นว่าการเรียนรู้สมัยใหม่ผู้เรียนสามารถก้าวข้ามเรื่องเวลาและสถานที่ สามารถหลีกเลี่ยงข้อจำกัดในเรื่องการเรียนรู้ในห้องเรียนและกับคุณครูได้เพียงอย่างเดียว การพัฒนาทักษะด้านการสื่อสารและเทคโนโลยีเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับผู้เรียนยุคใหม่ หรือที่เรียกว่า “Learning skills in the 21st Century” ซึ่งผู้เรียนจะต้องมีทักษะด้านสารสนเทศ สื่อ และเทคโนโลยี ( Information , Media and Technology Skills ) ได้แก่องค์ประกอบสำคัญดังต่อไปนี้

ความรู้พื้นฐานด้านสารสนเทศ ( Information Literacy ) ประกอบด้วย

1.      การเข้าถึงและการประเมินสารสนเทศ ( Access and Evaluate Information ) โดยสามารถเข้าถึงสารสนเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ (ด้านเวลา) และเกิดประสิทธิผล (แหล่งข้อมูลสารสนเทศ)

2.      ประเมินสารสนเทศได้อย่างมีวิจารณญาณตามสมรรถนะที่เกิดขึ้น การใช้และการจัดการสารสนเทศ ( Use and Manage Information )

3.      เพิ่มประสิทธิภาพการใช้สารสนเทศอย่างสร้างสรรค์และตรงกับประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น

4.      จัดการกับสารเทศได้อย่างต่อเนื่อง จากแหล่งข้อมูลที่มีอยู่มากมายหลากหลาย

5.      มีความรู้พื้นฐานที่จะประยุกต์ใช้สารสนเทศตามกรอบแห่งคุณธรรมจริยธรรมที่มีปัจจัยเสริมอยู่รอบด้าน ข. ความรู้พื้นฐานด้านสื่อ ( Media Literacy ) ประกอบด้วย ความสามารถในการวิเคราะห์สื่อ ( Analyze Media )

6.      เข้าใจวิธีการใช้และการผลิตสื่อเพื่อให้ตรงกับเป้าประสงค์ที่กำหนด

7.      สามารถใช้สื่อเพื่อตอบสนองต่อความแตกต่างของปัจเจกชน รู้คุณค่าและสร้างจุดเน้น รู้ถึงอิทธิพลของสื่อที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคสื่อ

8.      มีความรู้พื้นฐานที่จะประยุกต์ใช้สื่อได้ตามกรอบแห่งคุณธรรมจริยธรรมที่มีปัจจัยเสริมอยู่รอบด้าน ความสามารถในการผลิตสื่อสร้างสรรค์ ( Create Media Products )

9.       มีความรู้ความเข้าใจต่อการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์และเหมาะสมตามคุณลักษณะเฉพาะของตัวสื่อประเภทนั้นๆ

10.  มีความรู้ความเข้าใจต่อการใช้สื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสนองต่อความแตกต่างในเชิงวัฒนธรรมอย่างรอบด้าน

 ความรู้พื้นฐานด้านไอซีที ( ICT : Information , Communication and Technology Literacy ) ประกอบด้วย

1.      ประสิทธิผลของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ( Apply Technology Efficiency )

2.       ใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือเพื่อการวิจัย การจัดการองค์กร การประเมินและการสื่อสารทางสารสนเทศ

3.      ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ( คอมพิวเตอร์ , PDAs , Media Players etc. ) ในการสื่อสารและการสร้างเครือข่าย รวมทั้งการเข้าถึงสื่อทางสังคม ( Social Media ) ได้อย่างเหมาะสม

4.       มีความรู้พื้นฐานในการประยุกต์ใช้ ICT ได้ตามกรอบแห่งคุณธรรมจริยธรรมที่มีข้อมูลหลากหลายรอบด้าน

จากที่กล่าว สรุปได้ว่า ประโยชน์ของการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษานั้นส่งผลให้ผู้เรียน

ได้รับประโยชน์ ดังนี้

1.       คุณค่าด้านวิชาการ ทำให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ตรงด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 ทำให้เรียนรู้ได้ดีกว่า เข้าใจความหมายสิ่งต่างๆได้กว้างขวางยิ่งขึ้น

2.       คุณค่าด้านจิตวิทยาการเรียนรู้ สื่อเป็นศูนย์รวมความสนใจของผู้เรียน ทำให้การเรียนน่าสนใจมากขึ้น

3.       คุณค่าด้านเศรษฐกิจการศึกษา ช่วยให้ผู้เรียนที่เรียนช้าเรียนได้เร็วและมากขึ้น ประหยัดเวลาในการทำความเข้าใจเนื้อหาต่างๆ

4.       คุณค่าด้านการแสวงหาความรู้ด้วยตนเองโดยสามารถก้ามข้ามเวลาและสถานที่ได้อย่าง่ายดาย

5.       คุณค่าการสื่อสาร สามารถเชื่อมโยงองค์ความรู้ต่างๆระหว่างตัวเรียนกับบุคคลอื่นได้ทั่วโลก

6.       คุณค่าด้านนวัตกรรม ก่อให้เกิดทักษะในการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อการเรียนยุคใหม่

7.       เด็กไทย สามารถพัฒนาตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพ

8.       ส่งเสริมเด็กไทยให้กลายเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ “เก่ง  ดี   มีความสุข”

9.       สามารถแข่งขันได้ในเวทีสากลระดับนานาชาติ

 

 

References : http://educationinnovation.typepad.com/my_weblog/2008/08/buzz-word-21st-century-learning-skills.html  6 มีนาคม  2556.

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เลือกตัวเลือกนี้ หากข่าวประชาสัมพันธ์นี้เป็นข่าวกิจกรรม

สถานที่: สถาบันการศึกษา

หมายเลขบันทึก: 530495เขียนเมื่อ 7 มีนาคม 2013 22:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2014 08:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท