ค้นหรือไม่ค้นชีวิต


หากเชื่อว่าองค์ความรู้ คือการค้นหาความจริง กลไกแห่งตัวตน ก็คือความจริงประการหนึ่ง

ค้นหรือไม่ค้นชีวิต

 3 ตุลาคม 2549 

หากนับว่าแนวคิดหลักในการศึกษาองค์ความรู้ ซึ่งพยายามบ่งบอกว่าการค้นหาความจริง คือสิ่งสำคัญที่สุดขององค์ความรู้ ในรอบหลายปีที่ผ่านมา ผมก็คงหลงอยู่ในวังวนและมายาคติ ที่เป็นดั่งเวทมนตร์ซึ่งคอยหลอกล่อชีวิต ให้เชื่อว่าการค้นหาคือความจริงที่สำคัญในชีวิตผู้คน และด้วยความเชื่อเหล่านี้ผมก็คงต้องเป็นส่วนหนึ่งที่ล่วงหลงเข้าไปในดงแห่งนี้

นานหลายปีเท่าที่หลงใหลในการอ่านหนังสือ ด้วยเพราะความเชื่อเหล่านี้ ที่ทำให้ผมเรียนรู้ว่า การหลงอยู่ในวังวนของความเชื่อ ล้วนมีผลแบบทวิลักษณ์แฝงอยู่เสมอ ไม่ว่าจะมองในแง่ดีหรือแง่ร้ายก็ตาม ทั้งรายล้อมเชื่อมโยงถึงสิ่งที่เรากำลังจะกระทำ ทั้งเชื่อมั่นตัวเองในการกระทำตามสิ่งอันพึงเชื่อเหล่านั้น จนแม้เพียงความหมายของความคิดในใจก็ตาม

แต่สิ่งที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ก็คือ ความหมายจากความเชื่อมั่นเหล่านี้ ได้ทำให้เราพยายามบ่งบอกและเฝ้ากรอกหูตัวเองว่า เรามีความแตกต่างจากคนอื่นและพิเศษกว่าคนอื่นอย่างไร เช่นเดียวกันทุกๆเหตุผลในโลกนี้ ที่เราล้วนแต่ใช้ตนเองเป็นศูนย์กลางและแกนกลางของเรื่องราวเสมอ ใช้ทุกความเข้าใจเพื่อให้โลกและดวงอาทิตย์หมุนรอบตัวเรา เช่นเดียวกันที่ผู้คนทั่วไปก็ต้องหมุนรอบตัวเรา และความปรารถนาของเรา จนกว่าเราจะเรียนรู้ว่าจักรวาลซับซ้อนและกว้างใหญ่เพียงใด แต่ใช่ว่าความจริงของชีวิต จะเป็นเรื่องง่ายดายทั้งหมด เช่นเดียวกับเหตุผลที่รายรอบตัวเราเอง ก็ล้วนต้องผ่านการทดลองทดสอบ

เมื่อศูนย์กลางของจักรวาลที่เราใช้ชีวิตตัวเองเป็นแกน ถูกตรวจสอบจากแกนของจักรวาลแกนอื่นอยู่ตลอดเวลา นับจากวันที่เราก้าวขาออกจากบ้าน โดยไม่มีที่แห่งใดในโลกนี้ไม่เคยถูกตรวจสอบจากความจริงข้อนี้ สิ่งเหล่านี้กลายเป็นองค์ประกอบสำคัญว่า ทำไมเด็กจะต้องแบ่งของเล่นให้เพื่อนบ้าง ในยามที่อยากเล่นกับคนอื่น หรือเด็กที่แข็งแรงกว่าต้องเป็นพระเอกหรือตำรวจอยู่เสมอ ในยามเล่นโปลิศจับขโมย และเด็กผู้หญิงที่ขนหม้อชามรามไหของจริงจากครัวในบ้านมาได้ จะต้องเป็นคนปรุงผักหญ้าทำอาหารในยามเล่นครอบครัวพ่อแม่ลูก ไม่นับกับความหมายของเด็กที่โตกว่า เด็กที่แข็งแรงกว่า และเด็กที่พวกเยอะกว่า ทุกตรรกะของเด็กที่กลายเป็นผู้ออกกฎในการเล่นแต่ละครั้ง ล้วนคือความจริงจากการท้าทายด้วยแกนจักรวาลเสมอ 

ในโลกของการเล่นแบบเด็กผู้หญิง ผมอาจจะไม่เข้าใจกฎเกณฑ์อะไรมากมาย แต่ในโลกของเด็กผู้ชาย การเอาชนะกันถือเป็นเรื่องสนุกอย่างมาก ทั้งเลือดกลบปากและรสชาติความตื่นเต้น การต่อยตีแล้วไม่ชนะหรือการทะเลาะแล้วเถียงไม่ขึ้น ล้วนนำมาซึ่งผลตอบรับเสมอ ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม แต่สุดท้ายเราก็ต้องเรียนรู้ว่าจะทำอย่างไร บ้างอาจจะยอมรับสภาพเป็นผู้ตาม บ้างที่เป็นผู้ชนะก็เฝ้าออกกฎบอกคนอื่นอยู่เรื่อยไป มีบ้างยอมเป็นบางโอกาส มีบ้างที่ยอมเพราะรู้ว่าวันหนึ่งจะดักต่อยเพื่อขึ้นมาออกกฎ ความฉ้อฉล กลโกง การเอาเปรียบหรือวิญญาณแบบลูกผู้ชายเต็มตัว ล้วนหลอมในทุกครั้งของลมหายใจที่ต้องการเอาชนะ  การเรียนรู้ต่อรองและไกล่เกลี่ย จึงกลายเป็นทักษะติดตัวเรื่อยมา

สำหรับเด็กที่มักจะเป็นผู้แพ้อยู่เสมอ พอๆกับเด็กที่ชนะมาเรื่อยเปื่อยก็จะตะบี้ตะบันออกกฎอยู่ร่ำไป แต่ใช่ว่าความเข้าใจเหล่านี้จะติดตัวไปนาน เมื่อโลกของเด็กกว้างใหญ่ และผู้คนมากมายขึ้น การสลับขึ้นลงระหว่างความพ่ายแพ้และชัยชนะ จึงเป็นเรื่องง่ายๆที่เกิดได้สม่ำเสมอ  โดยเฉพาะในโลกที่บ่งบอกว่าชัยชนะคือคำตอบสูงสุด ซึ่งบางคนอาจบอกว่าเจ็บปวดเกินกว่าจะได้ยิน เราจึงไม่แปลกใจนักหากจะพบว่า กฎเกณฑ์ข้อสรุปของการต่อยแบบตัวต่อตัว ล้มและไม่ซ้ำ หรือสู้กันพอรู้แพ้รู้ชนะ ว่าเป็นเพียงคำตอบเชิงอุดมคติ สำหรับสังคมที่ไม่ยอมรับชัยชนะแบบสูงสุด หรือเป็นเพียงคำของผู้แพ้ไว้ปลอบใจตัวเอง  

ภาพความเท่ห์ของนักวิชาการที่นำเสนอผลงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคสังคมศาสตร์ทั้งหลาย ที่ยึดการศึกษาเชิงเอกสารและงานวิจัยแนวคิดเป็นหลัก จากภาพการศึกษาวิจัยซึ่งฉายผ่านการบรรยายนำเสนอ ในการประชุมสัมมนาทางวิชาการ หรือเวทีสาธารณะเพื่อนำเสนอผลการศึกษา ไม่ได้มีเพียงคำตอบทางวิชาการโดยบริสุทธิ์ การอธิบายเพื่อล้มล้างความเชื่อเดิมนั้น บ่อยครั้งตอกย้ำในเรื่องพฤติกรรมของผู้ศึกษาในอดีต เพียงเพื่อบอกว่าคนๆนั้นไม่น่าจะเข้าใจ หรือสนับสนุนให้งานศึกษาชิ้นเก่าดูไร้ความหมาย

บางครั้งในการบรรยายไม่เพียงบ่งบอกถึงความภาคภูมิใจจากการกัดฟันเก็บรายละเอียด หรือเก็บความเชื่อมั่นเพื่อล้มล้างแนวคิดทางวิชาการ ที่เคยเขียนไว้ในตำรา เพื่อบอกกล่าวถึงการค้นพบใหม่ๆ บ่อยครั้งซึ่งเวทีทางวิชาการได้กลายร่าง เป็นวงประชดประชันเย้ยหยัน พอๆกับที่มีเอกสารทางวิชาการกองอยู่ตรงหน้า                การกล่าวโทษความอ่อนด้อยทางวิชาการ ผ่านสายตามุมมองล้าหลัง เพื่อให้เกิดการล้มล้าง หรือเขียนความน่าจะเป็น และตัวตั้งทางวิชาการในศาสตร์ใหม่ๆ ใช่ว่าจะมีความจริงของเรื่องราวเหล่านั้นเพียงประการเดียว

บ่อยครั้งสงครามศิษย์คิดล้างครูในทางวิชาการ กลายเป็นเรื่องตลกในวงเหล้า หลังลูกศิษย์กับอาจารย์นั่งปรับทุกข์ หรืออาจเป็นเรื่องแคลงใจจนมองหน้าไม่ติด เพราะนำเสนอด้วยน้ำเสียงประชดประชันที่แรงเกินไป ในท่วงทำนองเดียวกันนั้น ทั้งการต่อรอง ไกล่เกลี่ย ล้มล้าง หรือประนีประนอม ก็มีรูปแบบทางวิชาการในแต่ละสังคม และแต่ละความสนิทสนมของครูบาอาจารย์ประกอบไว้เสมอ บางวงวิชาการอาจพูดคุยด้วยความตระหนัก ว่าจะนำเสนออย่างไรให้นุ่มนวลตรงประเด็น มากกว่ามุ่งถกเถียงในกระบวน

การศึกษาอันรอบด้านของวงวิชาการในอดีต หรือกระทั่งไม่ยั่วยุแหย่ในมุมมองส่วนตัวของอดีตผู้ศึกษา ที่เดินทางผ่านมาก่อนจนมากเกินงาม  ภาพของความเจ้าเล่ห์ฉ้อฉล สง่างาม บิดพลิ้ว มั่นคง หรือมุ่งมั่น ในแต่ละองค์ประกอบของชีวิตผู้คน ที่เราต่างตีความไปตามความเข้าใจของตนเอง

การตีความและตีค่าคุณค่าแห่งความดีงามและชั่วร้ายในผู้คน ก็ล้วนเป็นหนึ่งในกลไกของการค้นหาความจริง เช่นเดียวกับที่ชีวิตพยายามจะเข้าใจ ว่าทำไมต้องมีคุณค่าแห่งความดีงามปรากฏอยู่ในโลกนี้ ให้ผู้คนก่นด่าว่าเป็นสิ่งไม่มีอยู่จริง ในโลกที่ผู้คนมีความทุกข์ระทม มากกว่าความชื่นใจและสมหวัง ผมพบว่า ส่วนใหญ่แล้วผู้คนไม่ชื่นชอบที่จะค้นหาความจริงจากความเจ็บปวดเหล่านั้น อาจมีบ้างที่พยายามค้นหาว่า ทำไมชีวิตถึงต้องเจ็บช้ำน้ำใจเพียงนี้ หรืออาจมีบ้างเฝ้าครุ่นคิดในความผิดพลาด แต่หากใช้ความมุ่งหมาย เพื่อค้นหาความจริงในแต่ละองค์ความรู้ บ่อยครั้งที่ผู้คนทั่วไปก็เลี่ยงหลีกเร้นจากความเจ็บปวดในความจริงเหล่านั้นอยู่เสมอ 

การค้นหาความจริงในชีวิตผู้คน นับตั้งแต่มีห้วงความคิดอยู่ในสมองมนุษย์ และผู้คนค้นหาสร้างสรรค์ห้วงความคิดและองค์ความรู้ ให้หมุนวนเป็นกลไกชีวิต ทั้งหมดต่างล้มตายและล่มสลายทับถมกันไปมา เหมือนใบไม้ร่วงหล่นจากต้นในผืนป่า ทับถมเน่าสลายและคลายธาตุแห่งความรู้ ให้ผู้คนใช้เรียบเรียงจัดโครงสร้าง และใช้ความน่าจะเป็นในการลำดับความรู้ ให้เป็นหมวดหมู่ เป็นส่วนหนึ่งที่อาจต้องมีในสังคมมนุษย์ เท่ากับที่ต้องมีคนคอยเรียบเรียงและอธิบายผลแห่งการเน่าสลายเหล่านั้น ให้เป็นความรู้งอกเงยอันจะสามารถหยิบจับได้ บ้างก็ใช้ในสถานการณ์หนึ่ง บ้างก็ใช้บ่อยจนเป็นสูตรสำเร็จ

โดยความเน่าสลายขององค์ความรู้เหล่านี้ เป็นทั้งวัตถุซึ่งส่งประโยชน์ และส่งกลิ่นให้เรารับรู้ว่า สิ่งเหล่านี้เป็นอดีตซึ่งสั่งสมกันมายาวนานเพียงใด บางครั้งในบางวัน ที่มีโอกาสนั่งเล่นคนเดียว ผมก็พบว่า ไม่มีตรรกะของการค้นหาความจริงใด จะก้าวล่วงเข้าไปในใจของมนุษย์ได้ หากมนุษย์ไม่ปรารถนา

หมายเลขบันทึก: 53045เขียนเมื่อ 3 ตุลาคม 2006 04:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท