เผยคำแนะนำ 5 ประการสยบวัณโรค ให้วัคซีน ปิดปากจมูก เวลาไอจาม ติดตามกินยา ค้นหา และหลีกเลี่ยงสัมผัสโรค


เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2555 นายแพทย์โกวิท  พรรณเชษฐ์ นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ  กลุ่มระบาดวิทยาและข่าวกรอง  สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค  กล่าวว่า ปัญหาโรคติดต่อที่กำลังเป็นปัญหาสำคัญด้านสาธารณสุข  เป็นสาเหตุของการป่วยและการตายในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก  และอาจกลับมามีปัญหาใหม่อีกครั้งคือ โรควัณโรค และตั้งแต่เดือนเมษายน 2536 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้วัณโรคอยู่ในภาวะฉุกเฉินสากลและต้องการการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกรายงานว่าพบผู้ป่วยวัณโรคหรือความชุกในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลกประมาณ 16 – 20 ล้านคน  โดยประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้ประมาณ  8 – 10 ล้านคนเป็นกลุ่มที่กำลังแพร่เชื้อ โดยร้อยละ 85 อยู่ในประเทศที่กำลังพัฒนา   

            รายงานปี 2553 ในจำนวน 22 ประเทศที่มีขนาดปัญหาด้านวัณโรคสูง องค์การอนามัยโลกได้จัดให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 18 ของโลก  โดยคาดการว่าจะมีผู้ป่วยวัณโรคพบเชื้อรายใหม่ประมาณ 92,300 คน ในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งหรือ 44,275 เป็นผู้ป่วยระยะแพร่เชื้อ  จากการแพร่ระบาดของเอดส์ส่งผลให้การแพร่ระบาดของวัณโรคมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น   ผู้ป่วยวัณโรครายใหม่จึงตรวจพบติดเอดส์ร่วมด้วยประมาณร้อยละ 17 ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตของผู้ป่วย  ปัจจัยหนุนสำคัญของวัณโรค คือ การเคลื่อนย้ายประชากรจากชนบทเข้ามาทำงานในเมืองใหญ่  แหล่งชุมชนแออัดของประชากรยากจน แรงงานย้ายถิ่นจากประเทศเพื่อนบ้านตามแนวชายแดน และผู้ต้องขังในเรือนจำ

  การดำเนินงานวัณโรคในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ( พิษณุโลก อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ สุโขทัย ตาก ) พบว่า  1 ใน 3 ของผู้ป่วยวัณโรคปอดระยะแพร่เชื้ออยู่ในความดูแลของโรงพยาบาลขนาดใหญ่  และหนึ่งในปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือผลการรักษาที่ยังไม่บรรลุเป้าหมายจากตายและขาดยารักษาสูง  ดังนั้นประชาชนทุกคนควรร่วมมือร่วมใจต่อสู้กับโรคร้ายนี้โดยการสร้างความเข้มแข็งในการควบคุมป้องกันเพื่อกำจัดวัณโรค ตามคำขวัญการรณรงค์ปีนี้ที่ว่า “ เมืองไทยปลอดวัณโรค “

            นายแพทย์โกวิท  กล่าวต่อให้คำแนะนำการป้องกันวัณโรคสำหรับประชาชนว่า 1) ให้วัคซีนบีซีจีป้องกันตั้งแต่แรกเกิดจะช่วยป้องกันการเกิดวัณโรคที่รุนแรงและวัณโรคเยื่อหุ้มสมอง 2) หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่กำลังไอ และยังไม่ได้รับการรักษาด้วยยาวัณโรค 3) ผู้ป่วยควรปิดปากหรือสวมหน้ากากอนามัย ปิดจมูกเวลาไอ จาม และควรล้างมือด้วยสบู่ทุกครั้งหลังจากไอ จาม 

           และคำแนะนำในการควบคุมวัณโรคสำหรับญาติหรือผู้ดูแลผู้ป่วย คือ 4) การติดตามการกินยาของผู้ป่วยให้ได้รับยาอย่างสม่ำเสมอและครบตามสูตรยาที่รักษารวมทั้งติดตามผลการรักษาผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง 5) ค้นหาผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยแล้วนำไปให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยโรคเพื่อพิจารณาให้การรักษาและเฝ้าระวังป้องกันโรคในกลุ่มเสี่ยง

ข้อความหลัก " เริ่มที่ตัวเรา  เราปลอดวัณโรค เมืองไทยก็ปลอดวัณโรคด้วย”

กรมควบคุมโรค  ห่วงใย  อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี

ที่มา http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd/news/2555/03_30_TB.html

 

คำสำคัญ (Tags):
หมายเลขบันทึก: 529937เขียนเมื่อ 2 เมษายน 2012 01:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 เมษายน 2012 15:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท