ย้อนรอยสินบนซีทีเอ็กซ์ เชือดโกงรับสุวรรณภูมิ


ย้อนรอยสินบนซีทีเอ็กซ์ เชือดโกงรับสุวรรณภูมิ
หลังการยึดอำนาจการบริหารประเทศโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข นโยบายสำคัญที่คณะปฏิรูปฯ ประกาศคือการตรวจสอบการทุจริตโครงการต่าง ๆ ที่รัฐบาล     พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ดำเนินการส่อไปในทางไม่โปร่งใส โดยยื่นดาบให้ คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)  คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และคณะกรรมการตรวจสอบตามประกาศ คณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ 23 (คณะกรรมการการตรวจสอบทรัพย์สิน ตรวจสอบการดำเนินงานและโครงการต่าง ๆ ที่ได้รับอนุมัติหรือเห็นชอบโดยบุคคลในคณะรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรี    ในยุค พ.ต.ท.ทักษิณ) ไปสะสางคุณหญิงจารุวรรณ ประกาศจะประเดิมตรวจสอบเรื่องสินบนการซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด ซีทีเอ็กซ์ 9000 เป็นคดีแรก ซึ่งตอนนี้สรุปผลเสร็จแล้วเหลือแค่กลั่นกรองคำพูดเล็กน้อย   เรื่องสินบน ซีทีเอ็กซ์ ถือเป็นคดีโด่งดัง       มานานนับปี มีการร้องเรียนเรื่องความไม่โปร่งใสในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ มาตลอด  ตั้งแต่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ จนวันนี้มีการเปิดบริการอย่างเป็นทางการเป็นวันที่ 4 แล้ว แต่ยังไม่สามารถ       หาคนผิดมาลงโทษได้ ย้อนไปเมื่อ 3 ปีก่อน  วันที่ 9 พ.ย.2546 บริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด (บทม.)      ได้ทำสัญญาว่าจ้างกลุ่มบริษัทร่วมทุนไอทีโอ ประกอบด้วย บริษัท อิตาเลียน-ไทย จำกัด  บริษัท ทาเคนากะ จำกัด และบริษัท โอบายาชิ จำกัด (ITO) ให้จัดสร้างท่าอากาศยานสากลสุวรรณภูมิแบบจ้างเหมาเบ็ดเสร็จครอบคลุมงานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารและอาคารเทียบเครื่องบินในราคา 36,666,736,448 บาท สัญญาครอบคลุมระบบสายพานลำเลียงและจำแนกกระเป๋าและสัมภาระแบบธรรมดา (ระบบ stand alone)    ครั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ก่อการร้ายขึ้นในสหรัฐ ทางการสหรัฐและสายการบินต่าง ๆ เกิดความหวั่นไหวในระบบรักษาความปลอดภัยในการเดินทางด้วยอากาศยาน หน่วยงานของสหรัฐ ชื่อ USTDA จึงได้รับเข้ามาศึกษาและประเมินระบบตรวจสอบการรักษาความปลอดภัยของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ แล้วแนะนำให้ปรับปรุง วันที่ 11 พ.ย. 2546 คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ปรับปรุงและเพิ่มระบบงาน รวมทั้งระบบประปา ไฟฟ้า         การบำบัดน้ำเสีย การอำนวยความสะดวกภายในอาคาร และการรักษาความปลอดภัยในการตรวจสอบกระเป๋าและสัมภาระทั้งระบบ ได้แก่ การปรับปรุงอาคาร การติดตั้งสายพานเพิ่มจากเดิมอีกหกกิโลเมตร การจัดสร้างห้องปฏิบัติการเฝ้าระวัง การตรวจกระเป๋าด้วยเครื่องซีทีเอ็กซ์ และการทำลายวัตถุต้องสงสัย บทม. ได้เจรจากับไอทีโอ ขอเพิ่มเติมสัญญาแต่ไอทีโอมีขีดจำกัด จึงขอซื้อจากบริษัทอินวิชั่น เทคโนโลยี อิงส์ สหรัฐอเมริกา และอินวิชั่น ขอให้ ไอทีโอ ติดต่อซื้อจากตัวแทนจำหน่ายผู้ทรงสิทธิในประเทศไทยคือ บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจบริษัทแพทริออท บิสซิเนส คอนซัลแทนซ์ จึงทำสัญญาซื้อและจ้างให้ แพทริออท ติดตั้งระบบซีทีเอ็กซ์ 9000จำนวน 26 เครื่อง ซึ่ง บทม. จะต้องชำระราคาและค่าใช้จ่ายให้ไอทีโอ    ต่อจากนั้นไอทีโอ ชำระราคาและค่าใช้จ่ายให้แพทริออท และแพทริออท ชำระค่าวัสดุอุปกรณ์ให้ อินวิชั่น ซึ่งการทำธุรกรรมยอกย้อนหลายทอดนี้ทำให้       ชวนสงสัยได้ว่ามีเบื้องหลังประการใดหรือไม่ โดยเฉพาะส่วนต่างของราคาที่เพิ่มขึ้นในทุกทอดของธุรกรรม ปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติมด้วยว่าในการที่ บทม.ตัดสินใจปรับระบบรักษาความปลอดภัยมาใช้ซีทีเอ็กซ์ 9000 นี้ บริษัท Cage Technology ซึ่งเป็นผู้ออกแบบอิสระที่ไอทีโอ จ้าง  และบริษัท Quatrotec ผู้ชำนาญการระบบรักษาความปลอดภัยท่าอากาศยานซานฟรานซิสโก ที่ บทม. จ้างมาตรวจสอบอีกราย ได้ให้ความเห็นตรงกันว่า    ควรใช้ระบบของซีทีเอ็กซ์ ซึ่งท่าอากาศยานในสหรัฐหลายแห่งใช้อยู่ต่อมาเดือน เม.ย. 2548 มีข่าวใหญ่โตว่า กระทรวงยุติธรรมสหรัฐและคณะกรรมการกำกับ และตรวจสอบตลาดหลักทรัพย์ แห่งสหรัฐอเมริกา (เอสอีซี) ตรวจสอบพบว่าอินวิชั่น กระทำความผิด ด้วยการร่วมเห็นชอบ      และรับรู้ เพื่อให้ตัวแทน หรือผู้จัดจำหน่ายในท้องถิ่นติดสินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่พรรคการเมืองในไทย เพื่อให้จัดซื้อชุดอุปกรณ์ดังกล่าวสำหรับนำไปติดตั้งประจำท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำนวน 26 เครื่อง วงเงิน 35.8 ล้านเหรียญสหรัฐ   เอสอีซี ลงโทษอินวิชั่นโดยไม่ดำเนินคดีแต่ลงโทษปรับเป็นเงิน 800,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 32 ล้านบาท ฐานทำผิดกฎหมายว่าด้วยการคอร์รัปชั่นข้ามชาติและทำผิดกฎหมายเอสอีซี25 เม.ย.2548 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคมในขณะนั้น ชี้แจงว่าได้หารือกับทูตพาณิชย์สหรัฐ  เมื่อ 23 มี.ค.2548 รวมถึงการสอบอินวิชั่น และบริษัทตัวแทนจำหน่ายที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย (บริษัทแพทริออท บิสซิเนส คอนซัลแทนซ์ และบริษัทอินวิชั่น เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) ไม่พบเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลไทยเกี่ยวข้องรับผลประโยชน์มิชอบ และสั่งการให้อินวิชั่นและไอทีโอ สรุปรายละเอียดภายใน 1 สัปดาห์    จากนั้นแถลงข่าวให้         บทม. สั่งซื้อตรงจากอินวิชั่นในวงเงิน 25.8 ล้านดอลลาร์ จำนวน 26 เครื่อง และให้ไอทีโอเป็นผู้รับติดตั้งระบบเหมือนเดิม27 เม.ย. 2548 นายสุริยะส่งจดหมายถึงนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ให้ช่วยตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง28 เม.ย. 2548 รัฐบาลตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง มีนายบุญศักดิ์ เจียมปรีชา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เป็นประธานขณะที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ชี้แจงว่า รู้เรื่องตั้งแต่ปลายปี 2547 และให้สอบสวนทางลับ พบว่ารัฐบาลไม่เกี่ยวข้องใด ๆ พร้อมสั่งการให้นายสุริยะรวบรวมข้อมูลและแถลงข่าวกรณี          ถูกสหรัฐพาดพิง และประกาศลั่นจะตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ถ้าเจอไม่ดี เล่นงานแน่ไม่ว่าใครทั้งสิ้น วันที่ 23 มิ.ย.2548 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ที่มี พล.ต.ต.พีรพันธุ์ เปรมภูติ เป็นเลขาธิการ แถลงผลสอบไม่พบทุจริตสินบนซีทีเอ็กซ์ โดยอ้างว่าได้รวบรวมหลักฐานจากคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ประกอบด้วย คณะกรรมการสอบสวนชุดที่มีนายบุญศักดิ์ เจียมปรีชา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เป็นประธาน คณะกรรมาธิการวุฒิสภา และคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร   ถัดมา นายสุริยะ ชี้แจงต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.2548 ยืนยันไม่มีนักการเมืองและเจ้าหน้าที่ไทยเกี่ยวข้องกับการให้สินบนใด ๆ โดยอ้างหลักฐานของอินวิชั่น พร้อมแถลงข่าวเอาตำแหน่ง รมต. เป็นเดิมพัน และถ้ามีคนผิดต้องติดคุกในที่สุด บทม. ได้ทำสัญญาขายพร้อมติดตั้งเครื่องซีทีเอ็กซ์ 9000 จำนวน 26 เครื่อง กับอินวิชั่น เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2548 ในวงเงิน 1,432 ล้านบาท โดยรวมอุปกรณ์และการดำเนินการต่าง ๆ 13 รายการ รวมถึง  อะไหล่สำรองสำหรับช่วงรับประกัน 2 ปี และการฝึกอบรม  โดยในสัญญาเดิม บทม. จัดซื้อจัดจ้างจากกลุ่มไอทีโอ ในวงเงิน 2,608 ล้านบาท ขณะที่ไอทีโอจัดซื้อจัดจ้างจากแพทริออท เป็นเงิน 2,003 ล้านบาท โดยแพทริออท จัดซื้อจัดจ้างจากอินวิชั่น อีกทอดในราคา 1,432 ล้านบาทเท่านั้น  แต่ บทม. ยังต้องจ่ายให้กลุ่มไอทีโอในราคา      2,608 ล้านบาท ตามสัญญาเดิม ซึ่งสูงกว่าซื้อตรงจากอินวิชั่นประมาณ 1,200 ล้านบาท  จนเป็นที่มาของข้อสงสัยว่าส่อเป็นนิติกรรมอำพลางหรือไม่ วันที่ 29 ก.ค.2548 นายสุริยะ พร้อมคณะผู้บริหารระดับสูง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)  หรือ ทอท. และผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้ไปรับเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์ 9000 ที่ดอนเมือง 2 เครื่องแรก ที่อินวิชั่น จัดส่งมาจากสนามบินซานฟรานซิสโก สหรัฐ ด้วยเที่ยวบิน เคแซด 254 สายการบินนิปปอน แอร์คาร์โก้ ในเวลา 09.15 น. และอีกเครื่องมาในเที่ยวบิน ซีไอ 003 สายการบินไชน่า แอร์ไลน์ส ในเวลา 12.20 น.  ท่ามกลางพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ส.ว. รุมเหน็บว่าเครื่องซีทีเอ็กซ์ ถึงไทยไม่ได้หมายความว่าช่วยฟอกทุจริตได้  เมื่อ สตง.       เข้ามาตรวจสอบอีกครั้ง รายการเช็กบิลจะลงที่ใครบ้างเป็นเรื่องที่น่าจับตามองยิ่งนัก                                                 มติชน (คอลัมน์รายงานพิเศษ)  2  ต.ค.  49
คำสำคัญ (Tags): #ซีทีเอ็กซ์
หมายเลขบันทึก: 52989เขียนเมื่อ 2 ตุลาคม 2006 16:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤษภาคม 2012 13:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท