โรคหอบหืดกับการดูแลตนเอง


โรคหอบหืด
กับ..การดูแลตนเอง

    โรคหอบหืด เป็นโรคที่มีการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม มีผลทำให้ผนังหลอดมมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ และสิ่งแวดล้อมมากกว่าคนปกติ พบได้ในคนทุกวัย ตั้งแต่เด็กจนถึงวัยผู้สูงอายุ และพบมากในคนที่มีประวัติภูมิแพ้ในครอบครัว
    อาการ
    - ไอ แน่นหน้าอก
    - เสมหะมาก
    - หายใจมีเสียงหวีด หรือหอบเหนื่อย อาการเหล่านี้อาจหายไปได้เองหรือไปเมื่อได้รับยาขยายหลอดลม
    สาเหตุ หรือสิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการหอบหืด
    - สารก่อภูมิแพ้ เช่น ฝุ่นละออง , เกสรดอกไม้ , ขนสัตว์ , อาหารทะเลบางชนิด
    - ควันพิษและมลพิษอื่น ๆ เช่น ควันบุหรี่ สารเคมี หรือฝุ่นในโรงงานอุตสาหกรรม
    - ความเย็น ความชื้น
    - การติดเชื้อในทางเดินหายใจ เช่น ติดเชื้อไวรัส
    - ความเครียด
    การดำเนินของโรค
    ภาวะหอบหืด ทำให้มีการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม หลอดลมมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ หรือสิ่งแวดล้อมมากกว่าปกติ เกิดมีการหดเกร็งตัวของหลอดลม เยื่อบุหลอดลมบวม และมีการขับเมือกออกมา ซึ่งถ้าเป็นรุนแรง อาจก่อให้เกิดการหายใจล้มเหลว และสมรรถภาพการทำงานของปอดลดลง
    การรักษา
    ยาที่ใช้ในการรักษาโรคหอบหืด เป็นยาที่ใช้เพื่อบรรเทาอาการให้ดี ทุเลาขึ้น มีทั้งยาที่ออกฤทธิ์ต่อต้านการอักเสบ และ/หรือ ขยายหลอดลม ซึ่งมีในรูป
    ยาหอบหืดที่ควรรู้จัก คือ
    1. ยาขยายหลอดลม จะใช้เมื่อมีอาการจับหอบ เพื่อบรรเทาอาการอย่างรวดเร็ว ยานี้ช่วยเปิดช่องทางเดินหายใจให้กว้างขึ้น ยาออกฤทธิ์ภายใน 5-10 นาที และออกฤทธิ์อยู่ประมาณ 4-6 ชั่วโมง
    อาการข้างเคียงของยา ยาขยายหลอดลมชนิดพ่นสูด ไม่ค่อยมีอาการข้างเคียงใด ๆ เพราะยาออกฤทธิ์โดยตรง ต่อปอด ตัวอย่างยาที่ใช้
    - กลุ่มเบต้า อะโกนิสต์ เช่น Salbutamol (Ventolin) Terbulatine (Bricanyl)
    - กลุ่มแอนตี้โคลิเนอจิกส์ เช่น Ipratropium Bromide
    2. ยาควบคุมป้องกัน (Inhaled Carticosteroids) ยาชนิดนี้ ควรใช้ทุกวัน แม้ไม่มีอาการหอบ ต้องใช้พ่นสูด " ตามเวลาที่แพทย์สั่ง " ถ้าหยุดยาเอง อาการอาจกลับกำเริบ และถ้าพ่นขณะหอบ ยาจะไม่ช่วยให้อาการทุเลา
    ยากลุ่มนี้ใช้ควบคุม และป้องกันการบวม หรือการอักเสบของหลอดลม เพราะการบวมเป็นสาเหตุให้หลอดลมตีบแคบ มีเสมหะ หายใจลำบาก
    อาการข้างเคียงของยา การใช้ยา อาจเกิดอาการระคายคอ เสียงแหบแห้ง ควรบ้วนปากด้วยน้ำหลังพ่นสูดยา แต่ละครั้ง ยาสเตียรอยด์ แม้จะเข้าสู่ร่างกายปริมาณน้อย แต่ก็สามารถรักษาอาการหอบหืดได้ ตัวอย่างยาที่ใช้
    - Beclomethasone (Beclofote) (Becotide)
    - Budesonide (Pulmicort)
    ข้อสังเกต เพื่อป้องกันการหยิบใช้ยาผิดประเภท
    - ยาพ่นสูดทุกวัน ตัวหลอดมักเป็นสีแดงหรือสีน้ำตาล
    - ยาพ่นสูดเมื่อจับหอบ ตัวหลอดมักเป็นสีฟ้าหรือสีเทาหรือสีน้ำเงิน
    การสังเกตอาการตนเอง
    อาการปกติ
    - ปฏิบัติงาน และออกกำลังได้ปกติ
    - นอนหลับได้ตลอดคืน
    อาการกำเริบ
    - ไม่สามารถปฏิบัติงานตามปกติ
    - ตื่นมาหอบตอนกลางคืน
    - พ่นยาขยายหลอดลมบ่อยขึ้น
    - ได้ยินเสียงหวีดเวลาหายใจออก
    อาการรุนแรง
    - ไอหอบมาก
    - แน่นหน้าอก หายใจไม่เข้าปอด
    - ไม่สามารถพูดให้จบประโยค
    - อาการกระสับกระส่าย
    - อาการเกิดรุนแรง และเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว
    การดูแลตนเอง เนื่องจากโรคหอบหืดเป็นโรคเรื้อรัง มีผลกระทบต่อ ร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม การรู้จักดูแลตนเองที่ถูกต้อง ตั้งแต่เริ่มมีอาการ จะช่วยลดภาวะหืดหอบที่รุนแรง ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข การดูแลตนเองเมื่อเริ่มมีอาการ ย่อมดีกว่าเมื่อทิ้งไว้นาน และการป้องกันควบคุมมิให้มีอาการจับหืด ย่อมดีที่สุดโดย
    1. หลีกเลี่ยงสิ่งระคายเคืองต่อทางเดินหายใจ หรือสารก่อภูมแพ้ เช่น ขนสัตว์ ฝุ่นในบ้านหรือที่นอน ควันบุหรี่ อาหารทะเล ฯลฯ
    2. ดื่มน้ำมาก ๆ วันละประมาณ 8-10 แก้ว เพื่อช่วยในการละลายเสมหะ
    3. ผู้ป่วยโรคหอบหืดจำนวนมากไม่สามารถจะออกกำลังกายได้ดี หรือได้มากเท่า คนปกติ โดยจะเหนื่อย แน่นหน้าอกขึ้นมาภายหลังจากการออกกำลังกายไปพักหนึ่ง
    4. ออกกำลังกาย ควรทำสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง อาจทำโดยถีบจักรยาน , เดิน , ว่ายน้ำ เป็นต้น และเมื่อมีอาการหอบ ควรหยุดออกกำลังกายทันที ดังนั้นก่อนการออกกำลังกาย อาจต้องใช้ยาขยายหลอดลม 5-10 นาที ก่อนการออกกำลังกาย และสังเกตตนเองว่าการออกกำลังกายประเภทใดทำให้เหนื่อยง่าย จึงควรออกกำลังกาย แต่พอควร และสม่ำเสมอ
    5. ฝึกหายใจที่ถูกต้อง เพื่อช่วยลดความรุนแรงขณะมีอาการหอบหืดได้ โดยการหายใจเข้าออกลึก ๆ ยาว ๆ ทางปาก
    6. กินยา หรือพ่นยาตรงตามการรักษาของแพทย์ ไม่ควรหยุดยาเอง เมื่ออาการเริ่มดีขึ้น ทำให้โรคกำเริบได้
    7. ฝึกการบริหารปอด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการหายใจ
    8. ควรพบแพทย์สม่ำเสมอ เพื่อได้รับการตรวจสมรรถภาพของปอด เป็นระยะ
    ท่าที่ช่วยในการบริหารปอด ได้แก่
    ท่าที่ 1 ท่าหายใจด้วยท้อง หรือกระบังลม นอนหงายกับพื้น วางต้นแขนทั้ง 2 แนบลำตัว วางมือบนอก และท้อง งอเข่า 2 ข้าง
    - สูดหายใจเข้าลึก ๆ ทางจมูก ให้หน้าท้องป่องออก และหน้าอกมีการเคลื่อนไหวน้อยมาก
    - ผ่อนลมหายใจออกยาว ๆ ผ่านทางไรฟัน ในขณะที่ปากเผยอออกเพียงเล็กน้อย
    ท่าที่ 2 ท่าพักเหนื่อย จะช่วยให้เหนื่อยน้อยลง เมื่อหายใจไม่ค่อยสะดวก
    - นั่งพัก เอนตัวไปข้างหน้าเล็กน้อย
    - วางข้อศอกบนเข่า 2 ข้าง หายใจ เข้าและออกช้า ๆ หรือวิธี
    - นั่งพับเพียบ หมอนวางบนตัก
    -วางแขน และซบหน้าลงบนหมอน
ท่าที่ 3 ท่าโน้มตัว
- นั่งบนเก้าอี้ แล้วโน้มตัวลง มือแตะพื้นขณะหายใจออก
- กลับยกแขนขึ้นเหนือศีรษะ แยกเป็นตัว V ขณะหายใจเข้า
ท่าที่ 4

    - มือ 2 ข้างประสานท้ายทอย ยกมือลงเอาศอกชิดกัน ขณะหายใจออก กางข้อศอก ขณะหายใจเข้า

      ท่าที่ 5 ใช้ไม้เท้าในท่ายกแขน 2 ข้างขึ้น ขณะหายใจเข้าแล้วยกลงในขณะหายใจออก


    การพ่นยาที่ถูกวิธี
    การพ่นยาที่ถูกวิธีเป็นสิ่งสำคัญในการบรรเทา และป้องกันอาการได้ ยาที่นิยมใช้ คือ ยาในรูปยาพ่นสูด
    วิธีการใช้ยาพ่นสูด ควรปฏิบัติดังนี้
    1. เปิดฝาครอบออก
    2. เขย่ากระบอกยา 4-5 ครั้ง ก่อนสูดดม
    3. หายใจออก
    4. ถือกระบอกยาไว้ในลักษณะ กันขวดยาจะหันขึ้นข้างบน อมปากกระบอกยา และหุบปากให้สนิท
    5. กดก้นกระบอกยาลงจนสุด 1 ครั้ง พร้อมกับสูดลมหายใจเข้าลึก ๆ ทางปากให้ละอองของยาเข้าไปในปอดช้า ๆ จนสุดการหายใจแล้ว กลั้นหายใจประมาณ 5-10 วินาที อาจโดยนับ 1-10 ในใจ
    6. เมื่อครบเวลา จึงนำกระบอกยาออกจากปาก แล้วหายใจออกช้า ๆ นับเป็นการพ่นสูดยา 1 ครั้ง
    7. เมื่อใช้เสร็จแล้ว สวมฝาปิดไว้ดังเดิม
    ถ้าต้องการใช้ยาขยายหลอดลมพ่นซ้ำอีก ควรใช้หลังจากการสูดดมยาครั้งแรกประมาณ 1 นาที สำหรับในผู้ป่วยบางราย เช่น เด็ก หรือผู้สูงอายุ ที่ไม่สามารถสอนให้สูดดมยาตามวิธีดังกล่าวข้างต้นได้ การใช้หลอดต่อเข้ากับกระบอกพ่นยา ซึ่งทำให้การใช้ยามีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ต้องรอจังหวะการพ่นกับการสูดหายใจ จึงช่วยให้การใช้ยาง่ายขึ้น
    1. ถอดฝาครอบออก
    2. สวมหลอดต่อกระบอกพ่นยา (โดยใช้ช่องเปิดทางด้านกว้าง) ฝาป้องกันฝุ่นสวมเข้าหลอดต่อทางปลายด้านเล็กอีกข้างหนึ่ง
    3. เขย่ากระบอกยาให้ยาเข้ากันได้ดี กดก้นกระบอกยาลงจนสุด 1 ครั้ง
    4. รีบถอดฝาป้องกันฝุ่นออก อมปลายหลอดต่อให้แน่น พร้อมสูดยาในหลอดต่อเข้าปากช้า ๆให้ลึกที่สุด
    5. กลั้นหายใจชั่วครู่ (2-3 วินาที)
    6. ถอดหลอดต่อออกจากกระบอกพ่นยา และปิดฝาเข้ากับกระบอกพ่นดังเดิม

    ข้อมูล : หน่วยพัฒนาสุขภาพ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

คำสำคัญ (Tags):
หมายเลขบันทึก: 528550เขียนเมื่อ 16 มีนาคม 2011 22:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มีนาคม 2011 22:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท