กิจกรรม QA ภาควิชา คณะแพทย์ มอ.: KM & R2R (2)


สิ่งที่ทำคือการพัฒนางานของเราให้ดีขึ้น การดูแลผู้ป่วยให้ดีขึ้น และ ทุกคนมีความสุข หมายถึงทั้งคนทำงาน ผู้ป่วย และ ญาติ

ต่อจากบันทึกก่อน กิจกรรม QA ภาควิชา ของ คณะแพทย์ มอ.ในหัวข้อ KM & R2R  มีเรื่องน่าสนใจมาเล่าต่อค่ะ

ศ.นพ.สงวนสิน รัตนเลิศ ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทศัลยศาสตร์ จากภาควิชาศัลยศาสตร์  ท่านเล่าให้ฟังโครงการสร้างเครือข่ายการดูแลและส่งต่อผู้ป่วยที่มีปัญหาทางสมอง (ไม่แน่ใจว่าชื่อถูกต้องหรือไม่)  เครือข่ายที่ว่านี้ มีทั้งรพ.ชุมชน และ รพ.จังหวัด  โดยมีเป้าหมายให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ ได้รับการดูแลและส่งต่ออย่างเหมาะสม ทันการณ์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดผลลัพธ์ของการรักษา

ท่านทำเป็นโครงการวิจัย ลงไปในรพ.เป้าหมาย ไปให้ความรู้ พูดคุยเพื่อสร้างแนวปฏิบัติ (practice guideline) ร่วมกัน  เน้นกระบวนการดูแลผู้ป่วยทั้งระบบ ดูตั้งแต่เริ่มจนผู้ป่วยกลับบ้าน  สิ่งที่น่าสนใจ คือ การใช้ 3 C : Care, Communication, และ Continuity เป็น value ในการทำงาน  เมื่อมีอะไรติดขัด ก็จะบอกทีมงานให้ตรวจสอบ 3 C ที่ว่านี้ตลอดเวลาว่ามีปัญหาตรงจุดไหน

แนวคิดการสร้างเครือขายเช่นนี้ อาจารย์บอกว่า จะทำให้มีเพื่อนช่วยกันดูแลผู้ป่วย ไม่งั้นทุกคนก็จะวิ่งมาที่มอ. แม้จะเป็นปัญหาเล็กๆ ก็ตาม

อ.สงวนสินบอกว่า ท่านไม่กังวลว่าจะเรียกว่าอะไร จะ KM หรือ R2R  สิ่งที่ทำคือการพัฒนางานของเราให้ดีขึ้น การดูแลผู้ป่วยให้ดีขึ้น และ ทุกคนมีความสุข หมายถึงทั้งคนทำงาน ผู้ป่วย และ ญาติ

 

อีกเรื่องราวที่น่าประทับใจ เป็นการบอกเล่าของพี่ตา- คุณสงวนศรี  แต่งบุญงาม นักสังคมสงเคราะห์ จากภาควิชาจิตเวช  เธอทำโครงการ ออกค่ายครอบครัวผู้ป่วยพิการทางจิต  เป็นการนำครอบครัว ทั้งผู้ป่วยและครอบครัว หลายๆ ครอบครัว ไปทำกิจกรรมสัมพันธ์นอกสถานที่  ที่น่าสนใจมากคือ การให้ครอบครัวไป home stay หมายถึงไปพักกับคนในชุมชนที่ไปนั้น ซึ่งเธอบอกว่า เพื่อให้ผู้ป่วยรู้จักปรับต่อกับสังคมภายนอกมากขึ้น ในระหว่างนั้น ก็มีกิจกรรมสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวผู้ป่วยที่ไป ซึ่งจะทำให้ครอบครัวที่มีสมาชิกที่เป็นผู้ป่วยเหล่านี้  เรียนรู้ซึ่งกันและกัน รู้สึกมีเพื่อน และ ไม่รู้สึกแปลกแยกจากสังคม  ฟังแล้ว ดีใจแทนครอบครัวเหล่านี้มากๆ เลยค่ะ  ที่จริงมีรายละเอียด ภาพประกอบ รวมทั้งวิดิทัศน์ที่น่าสนใจมาก น่าเสียดายที่เก็บมาถ่ายทอดได้แค่นี้  เธอบอกว่า เธอเขียนเป็นบทความและลงตีพิมพ์ในวารสารไปแล้ว   แต่ก็บอกเธอว่า อยากให้พี่ตามาเขียนเล่าเรื่องใน Gotoknow  เพราะเธอยังมีกิจกรรมดีๆ อีกมากมายเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยจิตเวชและญาติ ในแนวทาง Empowerment และ เป็นการดูแลแบบองค์รวม และ น่าจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคุณกะปุ๋ม ซึ่งทำงานลักษณะเดียวกันอีกด้วย

 

หมายเลขบันทึก: 52676เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2006 00:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 พฤษภาคม 2012 22:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

อาจารย์ทำท่าจะเป็นคุณอำนวยการสร้างเครือข่ายด้วยนะคะนี่

ขอบคุณนะคะสำหรับเรื่องเล่าดีๆที่ พวกเราชาวคณะแพทย์ฯด้วยกันน่าจะได้รับรู้อย่างกว้างขวางและช่วยกันชื่นชมคนทำดี

สวัสดี..ยามค่ำคืนคะอ.หมอปารมี และพี่โอ๋-อโณ

กะปุ๋มกำลังคร่ำเคร่งกับ "Instructional Message Design Research" ในประเด็น Multiple – Channel Communication: The Theoretical and Research foundations of Multimedia อยู่คะ...แวะมาอ่านครั้งแรกแล้วคะ...ตอนนี้พักเหนื่อย...เข้ามา ลปรร. ประเด็นที่อาจารย์เล่าเรื่องของคุณพี่สงวนศรี...น่าสนใจมากเลยคะ เพราะในแผนปี 50 นี้เราคนจิตเวช...พัฒนาต่อยอดเครือข่ายขยายผลลงสู่ชุมชนมากขึ้น...ซึ่งกะปุ๋มจะทยอยนำเล่าในคนเล่าเรื่องจิตเวช เราสนใจหนึ่ง อสม. กับ หนึ่งผู้ป่วยจิตเวช...นั่นหมายถึงการดูแลอย่างใกล้ชิดแบบ one by one เนื่องจากเราพบว่าผู้ป่วยอยู่ที่บ้านจะไม่ทานยาหรือไม่ก็ทานยาไม่ถูกต้องทำให้เกิดปัญหาเรื้อรัง...และนอกจากนี้เราลงโครงการคลินิกจิตเวชเคลื่อนที่ รวมไปถึง "กบนอกกะลาตามรอยเยี่ยมคลินิคให้คำปรึกษา" และอีกหลายกิจกรรม จากที่พี่ตา-สงวนศรีได้ทำกิจกรรมนี้น่าสนใจมากเลยคะ...อยากได้ ลปรร. ในส่วนรายละเอียดมากกว่านี้คะอาจารย์ และจะเป็นประโยชน์ต่อหลายๆ ท่าน เช่น คุณมงคล ยะภักดี...คุณคนไกลที่เราคุยกันเรื่องคนจิตเวชเป็นประจำก็น่าจะไปปรับใช้ในงานท่านได้ด้วย เดี๋ยวกะปุ๋มต้องขยายผลเรื่องเล่านี้สู่ท่านอื่นๆ ได้รับรู้ด้วยนะคะ...

ขอบพระคุณอาจารย์มากคะ

*^__^*

กะปุ๋ม

 

คุณโอ๋คะ  Gotoknow ทำให้เรากลายคนอยากบอก อยากเล่า อยากเชื่อม โดยไม่รู้ตัวเลยเน๊าะ

คุณกะปุ๋ม จะนำ message นี้ไปบอกพี่ตาค่ะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท