Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

ข้อคิดและข้อสังเกตในการส่งองค์ความรู้เกี่ยวกับอาเซียนสู่ชนกลุ่มน้อยไร้รัฐในประเทศไทย


ข้อคิดและข้อสังเกตในการยกร่างโครงการฝึกอบรมองค์ความรู้เกี่ยวกับอาเซียนให้แก่ชนกลุ่มน้อยไร้รัฐในประเทศไทยภายใต้ความร่วมมือระหว่างคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และ Hanns Seidel Foundation (HSF)

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๖

https://www.facebook.com/note.php?saved&&note_id=10151548233603834

-------------------------------------------------------------

เพื่อให้คำปรึกษาต่อคณะผู้ช่วยทางวิชาการที่ทำหน้าที่เลขานุการประชาคมวิจัยการจัดการประชากร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการยกร่างโครงการฝึกอบรมองค์ความรู้เกี่ยวกับอาเซียนให้แก่ชนกลุ่มน้อยไร้รัฐในประเทศไทย เพื่อการยกร่างโครงการดังกล่าว อ.แหววซึ่งเป็นสมาชิกคนหนึ่งของประชาคมดังกล่าว จึงขอให้ข้อคิดและข้อสังเกตต่อการทำงานนี้ดังต่อไปนี้

ในประการแรก จากข้อสรุปในการประชุมกับคุณชยานนท์แห่งมูลนิธิ ฮันส์ ไซเดล (Hanns Seidel Foundation)[1] เมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๖ อ.แหววคิดว่า งานของเราชัดว่า กลุ่มเป้าหมายของเราก็คือ (๑) ชนกลุ่มน้อยในประเทศไทย  และ (๒) มีปัญหาที่ถูกทอดทิ้งจากรัฐ แต่ด้วยเหตุที่เราเชี่ยวชาญในเรื่องปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมาย เราจึงน่าจะเจาะลงไปที่ "ชนกลุ่มน้อยที่ประสบประสบความไร้การรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายที่เหมาะสมจากรัฐ" หรือ "ชนกลุ่มน้อยไร้รัฐ"  อ.แหววจึงคิดว่า เราควรจะใช้ชื่อรวมของกลุ่มเป้าหมายว่า "ชนกลุ่มน้อยไร้รัฐในประเทศไทย (stateless minority in Thailand)"

ในประการที่สอง หากเรายอมรับการตีความ “ความไร้รัฐหรือเสมือนไร้สัญชาติ” ใน ๔ ลักษณะ กล่าวคือ (๑) ไร้รัฐเพราะอยู่ในพื้นที่ห่างไกล (๒) ไร้รัฐเพราะอยู่บนพื้นที่ชายแดน (๓) ไร้รัฐเพราะเป็นคนหนีภัยความตาย และ (๔) ไร้รัฐเพราะไร้รากเหง้าอันทำให้กำหนดสิทธิในสัญชาติไม่ได้  เราก็ควรระบุการตีความนี้ใน conceptual note ทั้งนี้  เพราะว่า เมื่อมีความชัดเจนในการนิยาม “บุคคลเป้าหมาย” ของการทำงาน การกำหนดวิธีการทำงานก็จะตรงไปที่บุคคลเป้าหมายโดยไม่ผิดพลาด

ในประการที่สาม หากเราเห็นว่า การมาถึงของประชาอาเซียนจะทำให้บริบททางสังคมไทยเปลี่ยนไป ก็จำเป็นที่จะต้องมีการปรับตัวของมนุษย์ทุกคนบนแผ่นดินอาเซียน องค์ความรู้เกี่ยวกับอาเซียนจึงจำเป็นสำหรับประชาชนอาเซียน  แต่องค์ความรู้เพื่อการปรับตัวนี้ยังเข้าไปไม่ถึงชนกลุ่มน้อยไร้รัฐ เราจึงเห็นว่า มีความจำเป็นที่จะส่งต่อองค์ความรู้ ๗ ลักษณะไปยังคนรากหญ้ากลุ่มนี้ กล่าวคือ

(๑) ความตระหนักรู้ (Awareness) ว่า อาเซียนคืออะไร ?

(๒) ความตระหนักรู้ (Awareness) ว่า อาเซียนจะมีผลกระทบต่อพวกเขาซึ่งเป็นประชาชนอาเซียนอย่างไร ?

(๓) การสร้างความเข้มแข็งให้แก่มนุษย์ (Empowerment) ว่า ประชาชนอาเซียนที่เป็นชนกลุ่มน้อยไร้รัฐจะจัดการปัญหาความไร้รัฐที่รับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายของตนอย่างไร ?

(๔) การสร้างความเข้มแข็งให้แก่มนุษย์ (Empowerment) ว่า ประชาชนอาเซียนที่เป็นชนกลุ่มน้อยไร้รัฐจะจัดการปัญหาการเข้าถึงสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของตนอย่างไร

(๕) การสร้างความเข้มแข็งให้แก่มนุษย์ (Empowerment) ว่า ประชาชนอาเซียนที่เป็นชนกลุ่มน้อยไร้รัฐจะจัดการปัญหาการเข้าถึงสิทธิในคุณภาพชีวิตของตนอย่างไร ?

(๖) การสร้างความเข้มแข็งให้แก่มนุษย์ (Empowerment) ว่า ประชาชนอาเซียนที่เป็นชนกลุ่มน้อยไร้รัฐจะจัดการปัญหาการเข้าสิทธิในการมีส่วนร่วมของตนอย่างไร ? และ

(๗) การสร้างความเข้มแข็งให้แก่มนุษย์ (Empowerment) ว่า ประชาชนอาเซียนที่เป็นชนกลุ่มน้อยไร้รัฐจะจัดการปัญหาการเข้าสู่สิทธิในความยุติธรรมของตนอย่างไร

โดยสรุป อ.แหววเห็นว่า  องค์ความรู้ที่ธรรมศาสตร์จะส่งต่อไปยังชนกลุ่มน้อยไร้รัฐจึงมีลักษณะเป็น "2A&5E" ซึ่งถ้า HSD ให้เวลา ๔ ปี ๑๖ ห้องเรียน เราก็คงทำอะไรได้มาก

ในประการที่สี่ อ.แหววเห็นว่า การส่งความรู้ 2A&5E นี้ ควรทำใน ๒ ลักษณะ กล่าวคือ (๑) การส่งต่อไปยัง Supporter of Stateless Minority ซึ่งประกอบด้วยประชาสังคมที่แวดล้อมชนกลุ่มน้อยไร้รัฐ ซึ่งจำนวนไม่น้อยพูดภาษาไทยไม่ได้ และไม่มีความเข้าใจในกลไกของรัฐชาติเลย ไม่เข้าใจในความหมายของคำว่า "สัญชาติ" หรือ "ต่างด้าว" และ (๒) การส่งต่อไปยังชนกลุ่มน้อยไร้รัฐโดยตรง เพื่อสร้างความรู้แก่พวกเขาโดยตรง

ในประการที่ห้า อ.แหววเห็นว่า ห้องเรียน ๑๖ ห้องที่จะเกิดขึ้นใน ๔ ปีนี้น่าจะมี ๓ ลักษณะ กล่าวคือ (๑.) ห้องเรียนที่ใช้ภาษาไทย (๒.) ห้องเรียนที่ใช้ภาษาชาติพันธุ์ของชนกลุ่มน้อยไร้รัฐ และ (๓) ห้องเรียนที่ใช้ภาษาอังกฤษ

เท่าที่คิดออก คงมีแค่นี้ก่อน



[1] http://en.wikipedia.org/wiki/Hanns_Seidel_Foundation; http://www.hss.de/english.html


หมายเลขบันทึก: 523115เขียนเมื่อ 16 มีนาคม 2013 15:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มีนาคม 2013 19:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท