ชีวิตมนุษย์


ชีวิตมนุษย์


          มีใครบ้าง? ที่มีความเข้าใจและรู้จักกับเรื่องของชีวิตที่เกิดมาเป็นมนุษย์นี้...เท่าที่สังเกตส่วนใหญ่ (บางคน) จะหลง ๆ อยู่ในวังวนที่เป็นกับดักของกิเลส ตัณหา ที่จะพาให้ชีวิตและตนเองมัวเมา มัวหมองได้...เริ่มต้นตั้งแต่แรกเกิดมาเป็นมนุษย์ ได้ลืมตา อ้าปากในวัยเด็ก ได้เล่าเรียนจากพ่อ - แม่ ปู่ - ย่า ตา - ยาย และคนรอบข้าง โดยแต่ละคนได้รับความรู้จากสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นแตกต่างกัน ไม่ว่ายามที่เมื่อเข้าโรงเรียนประถม - มัธยม ตลอดจนสถาบันอุดมศึกษาแล้วก็ตาม การได้รับกับสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ย่อมมีความแตกต่างกัน...

          การแตกต่างกันนั้น อาจมาด้วยสภาพครอบครัวที่มีความพร้อมและโอกาสที่ให้นั้นไม่เหมือนกัน บางคนก็มีความพร้อมที่ดี มีโอกาสที่ทางครอบครัวให้กับสิ่งดี ๆ บางคนก็มิได้เป็นเช่นนั้น เพราะสภาพของครอบครัวคนเราเกิดมาย่อมมีความแตกต่างกัน...เมื่อจบการศึกษา ได้รับวุฒิที่ทางสังคมเรียกว่า "มีวุฒิการศึกษา" ซึ่งทางสังคมได้จัดแบ่งให้เป็นตัวแบ่งความไม่เท่ากันของคนที่มีการศึกษาในแต่ละระดับมาเทียบเป็นการจ้างงานของคนที่เรียกว่า "คนทำงาน" เกิดการจ้างงานที่แตกต่างกัน ใครจบวุฒิการศึกษาสูงก็จะได้รับค่าแรงหรือเงินเดือนที่สูงขึ้น แล้วก็ไล่ระดับลงมาตามที่เรียกว่า "คุณวุฒิ"...

           เมื่อคนเราเข้ามาทำงานอยู่ในสังคมที่เรียกว่า "สังคมของการทำงาน" (บางคน) ที่ทำงานก็ลืมนึกไปว่า...ดั้งเดิมก่อนที่ตัวเราจะมายืนอยู่จุดนี้ เคยเป็นหรือเคยทำงานอะไรมาก่อน ลืมนึกไปว่า "สมัยก่อน ทำงานเป็นลูกจ้างชั่วคราวก็เคยเป็นมาแล้ว พอมายืนอยู่ ณ จุดนี้ ถ้าพูดไปแล้ว ดีกว่าเมื่อก่อนมากนัก...แต่คนเราก็ไม่เคยพอใจในสิ่งที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบันเลย...พยายามเรียกร้องสิ่งที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ เรียกร้องไปเพื่ออะไรเล่า...ก็เพื่อสนองความต้องการ ความอยากได้ของตนเองไง!!!...ลืมนึกไปว่า...สมัยก่อนตนเองอยู่ในฐานะลูกจ้างชั่วคราว เป็นระบบสัญญาจ้างปีต่อปี เงินเดือนไม่มีที่ส่วนราชการจะขึ้นให้เพราะมีข้อสัญญาว่า...ถ้าไม่ทำก็ลาออกไป เพราะมีคนที่จะเข้ามาทำงานอีกมากมาย...แต่พอเมื่อตนมายืนในที่ ๆ ทุกคนมองว่าดีขึ้นกว่าเดิม...แต่ก็กลับไม่พอใจในสิ่งที่ตนเองเป็น พยายามเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ ให้เท่าเทียบกับบุคลากรอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า "ข้าราชการ"...

           ทำให้ผู้เขียนมีความคิดเห็นว่า...คนเรานี่ช่างไม่รู้จักพอเสียจริง ๆ ถ้าเรียกร้องสิทธิจะให้เท่าเทียบกับข้าราชการเขา ก็ทำไมไม่ไปสอบเป็นข้าราชการเสียเล่า จะได้หมดเรื่อง ไม่ต้องมาเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ ให้มันเมื่อยอยู่หรอก...แต่อย่าลืมนะว่า...การสอบเป็นข้าราชการได้นั้น มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนักหรอก ที่เห็น ๆ ข้าราชการที่เขาเป็นอยู่นี่ กว่าพวกเขาจะผ่านด่านกันมาได้ ไม่ใช่ง่ายอย่างที่คิด โดยเฉพาะความรู้ ความสามารถ และยิ่งเป็นข้าราชการเก่า ๆ เขาจะมีประสบการณ์พ่วงติดตามมาด้วย จะไม่เหมือนเด็กที่จบใหม่ ๆ โดยเฉพาะที่คิดว่าจบการศึกษาสูงสุดแล้ว...อย่าลืมว่า...พวกคุณก็ยังขาดประสบการณ์ เวลาเท่านั้นที่จะทำให้คุณได้ประสบการณ์เพิ่มพูนเข้ามาในชีวิตของคุณเอง แล้วสักวัน คุณก็จะเทียบเท่ากับข้าราชการเก่า ๆ ท่านนั้น ที่คุณอาจหาญว่า ในปัจจุบันนี้ ที่คุณจบมาใหม่ ๆ แล้วคุณจะเทียบเท่ากับข้าราชการเก่า ๆ คนนั้น...อย่าลืม!!! กับคำว่า "ประสบการณ์" ๆ เพียง ๑,๒,๓,๔,๕ ปี...ก็ยังไม่เท่ากับประสบการณ์ของคนที่มีประสบการณ์ในการทำงานมาเกือบ ๔๐ ปี นั้นหรอกค่ะ...

           เขียนเพื่อต้องการให้เป็นข้อคิดสำหรับผู้ที่เข้ามาอ่านที่บอกว่า...ตนเองจบการศึกษาที่เรียกว่า "สูงสุด" แล้ว (เด็กรุ่นใหม่)

           คนเราเมื่อทำงานแล้ว คุณอาจคิดว่า "เป็นสังคมทำงานที่สูงสุดแล้ว" แต่อย่าลืมว่า!!! สักวันหนึ่งพวกคุณต้องคืนสู่สามัญ...หมายความว่า...คุณเกิดมาจากที่ไหน คุณก็จะต้องกลับไปยังที่นั้น นั่นเอง...ในการทำงานถ้าจะให้เกิดสุขต่อชีวิตไม่ว่าครอบครัวหรือชีวิตของการทำงาน ควรที่จะยึดหลัก "ธรรม" คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ตลอกจนเรื่องของ "จรรยาบรรณวิชาชีพ" เข้ามาใช้ในการดำรงชีวิตด้วย เพราะถ้าไม่มี "ธรรม" และจรรยาบรรณ (การปฏิบัติที่ควรปฏิบัติและการปฏิบัติในสิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติหรือละเว้น) อยู่ในใจแล้ว จะทำให้สังคมที่เรียกว่า สังคมการทำงาน นั้นขาดความสุขลงได้...เพราะชีวิตคนเราก็เท่านี้ สุดท้ายทุกคนก็ต้องลงไปนอนอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมแคบ ๆ นั่นเอง สิ่งที่จะต้องจารึกอยู่บนโลกใบนี้ ก็คือ "การกระทำของคุณเอง" แม้แต่ชื่อถ้าคุณทำไม่ดี สักวันคนรุ่นหลังเขาก็ลืม เพราะเขาไม่อยากที่จะจดจำ แต่ถ้าการกระทำของคุณมีประโยชน์ กระทำดีต่อตนเอง ต่อผู้คนรอบข้าง ต่อให้จากไปนานแสนนาน คนรุ่นหลังก็ยังที่จะจารึกชื่อของคุณอยู่ในใจของพวกเขาอยู่เสมอและตลอดไป...



หมายเลขบันทึก: 522369เขียนเมื่อ 14 มีนาคม 2013 14:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มีนาคม 2013 14:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท