สังเคราะห์ความรู้ที่ได้จากการถอดบทเรียน การพัฒนาเยาวชนพลเมืองสิงคโปร์ จากเครือข่ายเยาวชนสิงคโปร์


แผนภาพสรุปบทเรียนที่ได้ในการพัฒนาพลเมืองสิงคโปร์

เอกสารในส่วนนี้ เป็นการสังเคราะห์ความรู้ที่เกิดขึ้นจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมทั้ง ข้อมูลที่ได้จากการถอดบทเรียนและประสบการณ์ในการทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาพลเมืองในกลุ่มเยาวชนของประเทศสิงคโปร์ จากMr.Wong Chong Wai Kennethบทสังเคราะห์ในส่วนนี้มีเป้าหมายสำคัญเพื่อชี้ให้เห็นถึงสาระสำคัญที่เป็น "ประเด็นสำคัญ" ในส่วนที่เป็น "ปัจจัยความสำเร็จ" ของการทำงานเพื่อพัฒนาพลเมืองในกลุ่มเยาวชนของประเทศสิงคโปร์

หลังจากที่คณะอนุกรรมการได้มีการจัดประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับ Mr.Wong Chong Wai Kenneth และได้ข้อมูลจากการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) ประกอบกับ การจัดประขุมเพื่อสรุปบทเรียน (After Action Research : AAR) จึงนำมาสู่ ข้อสรุปที่เป็นส่วนของการสังเคราะห์ประเด็นความรู้สำคัญที่ได้จากการถอดบทเรียนการพัฒนาพลเมืองในกลุ่มเยาวชนขอประเทศสิงคโปร์จาก Mr.Wong Chong Wai Kenneth

พบว่า หัวใจสำคัญของปัจจัยความสำเร็จในการทำงานเพื่อการพัฒนาพลเมืองในกลุ่มเยาวชนของประเทศสิงคโปร์นั้น ประกอบด้วยประเด็นสำคัญ ๔ ประเด็น กล่าวคือ (๑) การปลูกฝังแนวคิดเกี่ยวกับความเป็นพลเมืองให้กับกลุ่มเด็กและเยาวชนผ่านหลักสูตรการศึกษาและการเรียนรู้ในห้องเรียน (๒) การสร้างการเรียนรู้ความเป็นพลเมืองและทักษะความเป็นพลเมืองให้กับเยาวชนผ่านกิจกรรมเคลื่อนไหวทางสังคมที่หลากหลาย (๓) การสร้างบรรยากาศหรือวิถีความเป็นพลเมืองที่เน้นการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนผ่านเครือข่ายในท้องถิ่นต่างๆ (๔) ความชัดเจนและความต่อเนืื่องของนโยบายของการทำงานเพื่อพัฒนาพลเมืองที่มีคุณภาพ โดยมีรายละเอียดในแต่ละประเด็นดังนี้

() การปลูกฝัง "แนวคิดเกี่ยวกับความเป็นพลเมือง" ให้กับเด็กและเยาวชนผ่าน "หลักสูตรการศึกษาและการเรียนรู้" ในห้องเรียน พบว่า ประเทศสิงค์โปร์มีกระบวนการในการปลูกฝังแนวคิดเกี่ยวกับความเป็นพลเมืองให้กับกลุ่มเด็กและเยาวชนผ่านหลักสูตรการศึกษาและการเรียนรู้ในห้องเรียน โดยเฉพาะการเรียนรู้เกี่ยวกับประเด็นของการอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างหลากหลายของคนในสังคม สำหรับในส่วนของรูปแบบในการจัดกระบวนการเพื่อสร้างการเรียนรู้ ก็ให้ความสำคัญกับกิจกรรมที่มีการสร้างการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะในการสร้างการมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น เช่น การให้เด็กและเยาวชนออกแบบสิงคโปร์ในอนาคต เป็นต้น

() การสร้างจิตสำนึกความเป็นพลเมืองและทักษะความเป็นพลเมืองให้กับเยาวชนผ่านกิจกรรมเคลื่อนไหวทางสังคมแบบมีส่วนร่วมที่หลากหลายจากเครือข่ายทางสังคมหลายกลุ่ม

นอกจากการปลูกฝังแนวคิดเกี่ยวกับความเป็นพลเมืองผ่านจากหลักสูตรการเรียนรู้ในห้องเรียนแล้ว ประเทศสิงคโปร์ยังมีการสร้างบรรยากาศของการเรียนรู้ความเป็นพลเมืองในรูปแบบของกิจกรรมเคลื่อนไหวในทางสังคมที่หลากหลาย จะเห็นได้ชัดเจนจากตัวอย่างใน ๒ เรื่อง กล่าวคือ

  • กิจกรรมที่เกิดจากการสนับสนุนเครือข่ายประชาคมและการเชื่อมร้อยวัฒนธรรมโดยสมาคมของประชาชน (People’s Association) โดยมีการส่งเสริมและพัฒนาคนรุ่นใหม่ในการทำกิจกรรมต่างๆที่วางอยู่บนพื้นฐานของสิทธิของพลเมืองและการสร้างจิตสำนึกพลเมือง โดยในการจัดทำกิจกรรมจะมีแบ่งการทำงานแยกออกเป็นประเด็นย่อยๆ ตามกลุ่มเป้าหมายเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนชาวสิงคโปร์อย่างทั่วถึงกัน

  • สภาเยาวชนแห่งประเทศสิงคโปร์ จะเห็นได้ชัดจากการยืนยันอย่างหนักแน่นของMr.Wong Chong Wai Kennethที่ย้ำชัดเจนว่า สภาเยาวชนแห่งชาติประเทศสิงคโปร์ มีบทบาทในฐานะที่เป็นเพื่อนที่เข้าใจความต้องการของหนุ่มสาวสิงคโปร์ อีกทั้ง เป็นพื้นที่สำคัญในการพัฒนาศักยภาพให้กับเยาวชนโดยใช้แนวคิดการสร้างกระบวนการเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ และเปิดพื้นที่ให้เด็กเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ

() การสร้างบรรยากาศหรือวิถีความเป็นพลเมืองที่เน้นการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนผ่านเครือข่ายในท้องถิ่นต่างๆ ปัจจัยสำคัญอีกปัจจัยหนึ่งของความสำเร็จในการพัฒนาความเป็นพลเมืองในกลุ่มเยาวชนสิงคโปร์ก็คือ การสร้างกิจกรรมของการมีส่วนร่่วมทางการเมืองของประชาชนสิงคโปร์ โดยการทำงานของ "สมาคมของประชาชน" หรือ People’s Association" ในการสร้างเครือข่ายประชาคมและการเชื่อมร้อยวัฒนธรรมในระดับต่างๆโดยเฉพาะเครือข่ายในระัดบท้องถิ่นรากหญ้า ซึ่งมีการสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมการสร้างมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนในระดับท้องถิ่น เช่น กิจกรรมการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อนโยบายสาธารณะของรัฐบาลสิงคโปร์ เป็นต้น

() กลไกการสร้างบรรยากาศของความเป็นพลเมืองแบบมีส่วนร่วมคู่ขนาน : โดยมีเครือข่ายทางสังคมเป็นกลไกสำคัญของการทำงานคู่ขนานกับกลไกภาครัฐ

ปัจจัยความสำเร็จส่วนหนึ่งนั้นมาจากกลไกในการทำงานของเครือข่ายทางสังคมที่ทำงานคู่ขนานกับกลไกภาครัฐ เช่น สมาคมของประชาชน ที่มีเครือข่ายของสมาคมที่มาจากจาก ๑,๘๐๐ องค์กรระดับรากหญ้า (Gros) และเครือข่ายกว่า ๑๐๐ ชุมชน ตลอดจนสภาพัฒนาประสาน ๕ ชุมชน (five Community Development Councils) , สถาบันแห่งชาติผู้นำชุมชน (National Community Leadership Institute), องค์กรภายนอกสิงคโปร์ (Outward Bound Singapore), หน่วยงานเฝ้าระวังภัยแล้ง (Water - Venture) รวมทั้ง สภาเยาวชนแห่งชาติสิงค์โปร์ (National Youth Council) โดยองค์กรทั้งสองนี้ไม่ใช่องค์กรรัฐ แต่เป็นเครือข่ายทางสังคมที่เข้ามามีบทบาทสนับสนุนการทำงานเพื่อพัฒนาความเป็นพลเมืองให้กับคนในสิงคโปร์ ทั้งนี้ พบว่า บทบาทในการทำงานของทั้งสองหน่วยงานนี้ จะเน้นการ สนับสนุน (Advocate) การส่งเสริม (Enabler) รวมทั้ง การเป็นหุ้นส่วน (Partner) ในการทำงานร่วมกับประชาชนของสิงคโปร์ ทั้งหมดสะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการในการสร้างบรรยากาศของความเป็นพลเมืองคู่ขนานไปกับการปลูกฝังแนวคิดในการพัฒนาพลเมืองและการสร้างทักษะแห่งความเป็นพลเมือง

() ความชัดเจนและความต่อเนืื่องของนโยบายของการทำงานเพื่อพัฒนาพลเมืองที่มีคุณภาพ โดยให้ความสำคัญกับแนวคิดเกี่ยวกับการสร้างการมีส่วนร่วมของเยาวชน

เห็นได้ชัดจาก ข้อมูลจาก Mr. Kenneth ที่ชี้ว่า ความสำเร็จของสภาเยาวชนแห่งชาติในการโน้มน้าวคนรุ่นใหม่ เกิดขึ้นเพราะค (๑) ความจริงจังของรัฐบาลสิงคโปร์ในการส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงาน (๒) การการสนับสนุนให้เยาวชนได้มีส่วนร่วมในการทำงานในทุกขั้นตอน ความน่าสนใจของแนวคิดในการทำงานของรัฐบาลสิงคโปร์ในมุมมองของ Mr. Kenneth ก็คือ การสนับสนุนให้เยาวชนแต่ละคนได้ใช้ความสามารถของตัวเองในการช่วยเหลือสังคมส่วนกลางตามความถนัดและเป็นแนวทางในการทำงานเพื่อให้เยาวชนได้เกิดความตระหนักในการใช้ศักยภาพของตนเองซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของความก้าวหน้าของประเทศชาติ และ (๓) การปลูกฝังค่านิยมหรือแนวคิดเกี่ยวกับความเป็นพลเมืองสิงคโปร์กับความเป็นพลเมืองในระดับสากล โดยการปลูกฝังแนวคิดที่ว่า ไม่ว่าจะเป็นคนหนุ่มสาวสิงคโปร์ที่อยู่ส่วนไหนของโลก ต่างก็คือพลเมืองชาวสิงคโปร์เท่าเทียมกันทุกคน ภายใต้ วิสัยทัศน์ที่ว่า “ความมุ่งมั่นและแรงบัลดาลใจของหนุ่มสาว” (Inspired and Committed Youth)

หากเราพิจารณาจากปัจจัยความสำเร็จของการพัฒนาคุณภาพของ "ความเป็นพลเมือง" กลุ่มเยาวชนในประเทศสิงคโปร์และนำมาจัดทำเป็นแผนภาพของกระบวนการทำงานในการพัฒนาความเป็นพลเมือง ดังนี้


หมายเลขบันทึก: 522077เขียนเมื่อ 11 มีนาคม 2013 19:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มีนาคม 2013 19:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท