Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

การจัดสรรเอกชนระหว่างประเทศในบริบทอาเซียน : จะต้องสอนเรื่องนี้หรือไม่ ? อย่างไร ?


ไม่ว่าเราจะคิดอย่างไรในเรื่องนี้ จะยอมรับว่ามีกฎหมายอาเซียนแล้วหรือยังก็ตาม “ประชาชนอาเซียน” มีอยู่แล้ว ๖๐๐ ล้านคน การจัดสรรประชาชนทั้งหมดนี้เป็นภารกิจของนักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลของประชาคมอาเซียนอย่างแน่นอน

-------------------------------------------------------

๑.  บทนำ : ขอบเขตและเป้าหมายของงานเขียน

--------------------------------------------------------

  หัวข้อ “การจัดสรรบุคคลตามกฎหมายเอกชนในทางระหว่างประเทศ (classification of private persons) หรือที่เรียกกันสั้นว่า “การจัดสรรเอกชน” เป็นหัวข้อหนึ่งใน ๔ หัวข้อ[1]ที่ปรากฏในหนังสือและหัวข้อบรรยายเกี่ยวกับวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลในวงการนิติศาสตร์ไทยเสมอมา ตั้งแต่สมัยโรงเรียนกฎหมายก็ว่าได้ ด้วยว่าวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลเป็นวิชากฎหมายระหว่างประเทศที่มีบุคคลตามกฎหมายเอกชนเป็นเป้าหมายของการศึกษา

  เรื่องราวหลักของวิชานี้จึงเป็นเรื่องของมนุษย์หรือที่ภาษากฎหมายเรียกว่า “บุคคลธรรมดา (natural persons)” แต่ด้วยวิชานิติศาสตร์โลกยอมรับให้มนุษย์อาจสร้างนวตกรรมทางกฎหมายที่เรียกว่า “นิติบุคคล (juristic persons)” ได้ คำว่า “บุคคลตามกฎหมายเอกชน หรือ เอกชน” จึงหมายความถึงทั้ง (๑) มนุษย์/บุคคลธรรมดา และ (๒) นิติบุคคลที่มนุษย์ก่อตั้งขึ้นตามกฎหมาย” ดังนั้น การศึกษาการจัดสรรเอกชนระหว่างประเทศจึงประกอบไปด้วย (๑) การจัดสรรมนุษย์/บุคคลธรรมดา และ (๒) การจัดสรรนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชน

  อาเซียนหรือ ASEAN หรือ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of Southeast Asian Nations) ก็คือ ประชาคมระหว่าง ๑๐ ประเทศ[2]แห่งเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งยอมรับกฎหมายระหว่างประเทศที่เป็นลายลักษณ์อักษรรวมกันเพื่อสร้างความเป็นเอกภาพทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การเมือง และความมั่นคง ความมีผลของกฎบัตรอาเซียนใน พ.ศ.๒๕๕๐ ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงในบรรยากาศทางความคิดในทุกด้านอย่างมากทั้งในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนเอง และกลุ่มประเทศเพื่อนของอาเซียน สิ่งหนึ่งที่เราจะต้องตระหนักอย่างยิ่งในบรรยากาศทางความคิดนี้ ก็คือ กฎบัตรอาเซียนซึ่งลงนาม ณ สิงคโปร์ วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ค.ศ.๒๐๐๗/พ.ศ.๒๕๕๐ ได้รับรองอย่างชัดเจนว่า บุคคลเป้าหมายของกฎบัตรนี้ได้แก่ “Peoples of the Member States of the Association of Southeast Asian Nations (ASEAN)” หรือที่เรียกกันสั้นว่า “ประชาชนอาเซียน (ASEAN People)” ดังนั้น นักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลในประชาคมอาเซียนจึงต้องทบทวนความคิดพื้นฐานของวิชา และมีความอธิบายคำนี้ให้ชัดเจน ทั้งนี้ เพราะพวกเขาก็คือ ผู้ทรงสิทธิที่แท้จริงของกฎบัตรอาเซียน

  บทความนี้จึงมีเป้าหมายที่จะทบทวนความคิดว่าด้วยการจัดสรรเอกชนทั้งในพื้นฐานของวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลและในความคิดใหม่ที่ปรากฏในกฎบัตรอาเซียน อันจะนำไปสู่ข้อวิเคราะห์และข้อเสนอแนะต่อนักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลที่จะพัฒนาวิชาการนี้ต่อไปในสถานการณ์ที่อาเซียนเป็นเรื่องจริงแล้วของประเทศไทย เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ และโลกทั้งใบ การรักษาความยุติธรรมระหว่างประเทศคงทำไม่ได้ดีนักหากเราไม่มีองค์ความรู้ที่ถูกต้องและเหมาะสมในเรื่องนี้

----------------------------------------------------------------

๒.  ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการจัดสรรเอกชนระหว่างประเทศที่ควรทบทวนในบริบทอาเซียน

----------------------------------------------------------------

การทบทวนแนวคิดพื้นฐานของการจัดสรรเอกชนระหว่างประเทศย่อมเป็นสิ่งที่จำเป็น หากจะต้องปฏิรูปแนวคิดนี้เสียใหม่ให้สอดคล้องกับบรรยากาศใหม่ของสังคมระหว่างประเทศที่จะเกิดขึ้นจากการเปิดเสรีเต็มรูปของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนใน ค.ศ.๒๐๑๕/พ.ศ.๒๕๕๘  เราควรจะเริ่มต้นทบทวนจากประเด็นสำคัญอันเกี่ยวกับแนวคิดของรัฐอธิปไตยที่ใช้สัญชาติและภูมิลำเนาในการจัดสรรเอกชนระหว่างประเทศ เพราะในบริบทอาเซียน รัฐสมาชิกก็ยังคงใช้ปัจจัยทั้งสองนี้ในการกำหนดสิทธิหน้าที่ของเอกชน และไปจบการทบทวนที่แนวคิดว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งทุกรัฐในประชาคมโลก ไม่เฉพาะแต่รัฐสมาชิกอาเซียนที่ยอมรับว่า ความเป็นมนุษย์เป็นฐานแห่งสิทธิได้ เราควรจำแนกมนุษย์ภายใต้หลักสิทธิมนุษยชนหรือไม่ ? เพื่ออะไร ?

๒.๑.  รัฐอธิปไตยต่างกำหนดให้สัญชาติและภูมิลำเนาเป็นข้อเท็จจริงที่แสดงจุดเกาะเกี่ยวระหว่างรัฐและเอกชน อันนำไปสู่การจัดสรรเอกชนระหว่างประเทศ

พื้นฐานความคิดในประการแรกของวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ก็คือ การยอมรับว่า บุคคลตามกฎหมายเอกชนย่อมมี “จุดเกาะเกี่ยว (Connecting Points)” กับรัฐอธิปไตยทั้งโดยหลักดินแดนและหลักบุคคล[3] ทั้งนี้ เพราะรัฐอธิปไตยย่อมมีอำนาจอธิปไตย (Sovereignty) เหนือดินแดนและประชากร ดังนั้น รัฐที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับเอกชนใด ย่อมมีอำนาจหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งเหนือเอกชนนั้น ทั้งนี้ การมีและใช้อำนาจหน้าที่ของรัฐดังกล่าวในยุคปัจจุบันย่อมเป็นไปตามกฎหมายที่ผูกพันรัฐนั้น ทั้งนี้เพราะหลักคิดนิติธรรม (The Rule of Law) เป็นที่ยอมรับอย่างชัดเจนในประชาคมระหว่างประเทศ

เราพบต่อไปว่า กฎหมายของนานารัฐยอมรับว่า ข้อเท็จจริงที่แสดงถึงจุดเกาะเกี่ยวระหว่างเอกชนกับรัฐ ก็คือ (๑) การมีสัญชาติของรัฐ และ (๒) การมีภูมิลำเนาของรัฐ ดังนั้น ทั้งมนุษย์/บุคคลธรรมดา และนิติบุคคลที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐ ก็คือ บุคคลที่มีสัญชาติและภูมิลำเนาของรัฐนั่นเอง ในวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล จึงกล่าวกันเสมอว่า รัฐเจ้าของตัวบุคคล (Personal State)[4] ก็คือ รัฐเจ้าของสัญชาติของบุคคล และรัฐเจ้าของถิ่นอันเป็นภูมิลำเนาของบุคคล ดังนั้น มนุษย์ที่มีสัญชาติและภูมิลำเนาไทย ก็ย่อมมีข้อเท็จจริงอันทำให้ตกเป็นทั้งผู้ทรงสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายไทย ในขณะที่บริษัทสัญชาติและภูมิลำเนาสิงค์โปร์ ก็ย่อมมีข้อเท็จจริงอันทำให้ตกเป็นทั้งผู้ทรงสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายสิงคโปร์

ข้อวิเคราะห์นี้คงไม่ก่อความซับซ้อนที่จะจัดการ หากคนสัญชาติไทยและบริษัทสัญชาติสิงค์โปร์ไม่ข้ามชาติมาทำนิติสัมพันธ์นอกดินแดนของรัฐเจ้าของสัญชาติและภูมิลำเนา แต่ในความจริงของโลกปัจจุบันที่ตกอยู่ในบรรยากาศของโลกาภิวัตน์ (Globalization) นั้น เอกชนมีชีวิตระหว่างประเทศอย่างเป็นธรรมดา ดังนั้น นิติสัมพันธ์ของเอกชนที่มีลักษณะระหว่างประเทศจึงเกิดขึ้นอย่างมากมายในแต่ละวันของโลก และในประชาคมระหว่างประเทศที่มีความแนบแน่นทางเศรษฐกิจอย่างสูงสุด นิติสัมพันธ์ดังกล่าวจึงเกิดขึ้นในชีวิตจริงของมนุษย์ทุกคน ในทางวิชาการด้านกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล นิติสัมพันธ์ของเอกชนที่มีลักษณะระหว่างประเทศนี้ย่อมนำไปสู่สถานการณ์การขัดกันแห่งกฎหมายที่มีผลต่อนิติสัมพันธ์ ซึ่งการขัดกันนี้ย่อมมี ๒ ลักษณะ กล่าวคือ (๑) การขัดกันแห่งกฎหมายเอกชน และ (๒) การขัดกันแห่งกฎหมายมหาชน ซึ่งการจัดการการขัดกันแห่งกฎหมายในทั้งสองสถานการณ์ย่อมนำไปสู่การเลือกกฎหมายเพื่อกำหนดผู้ทรงสิทธิและหน้าที่ และเราก็พบว่า กฎหมายที่ถูกเลือกหรือที่เรียกกันว่า “กฎหมายที่มีผลบังคับ (Applicable Law)” จะกำหนดผู้ทรงสิทธิและหน้าที่ตามจุดเกาะเกี่ยวที่มีกับรัฐที่มีการกล่าวอ้างสิทธิ

๒.๒.  สัญชาติและภูมิลำเนามีบทบาทในการจัดการสถานการณ์การขัดกันแห่งกฎหมาย “เอกชน” หรือไม่ ? อย่างไร ?

ในสถานการณ์การขัดกันแห่งกฎหมายเอกชน[5] ซึ่งอาจถูกจำแนกออกได้เป็น ๕ ประการย่อย[6]นั้น เราพบว่า กฎหมายของรัฐเจ้าของบุคคลมักได้รับการเลือกให้มีผลกำหนดสิทธิในความเป็นบุคคลตามกฎหมายโดยทั่วไปและสิทธิในความสัมพันธ์ทางครอบครัว รวมตลอดถึงสิทธิในความเป็นบุคคลที่ไปพัวพันกับอีก ๓ ปัญหากฎหมายเอกชน[7]

แต่การเลือกกฎหมายของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดกฎหมายของรัฐเจ้าของตัวบุคคลจะพบกันมากในเรื่องการกำหนดความสามารถในการทำสัญญาของบุคคล เราพบต่อไปอีกว่า กฎหมายของรัฐเจ้าของตัวบุคคลอาจมีได้ใน ๒ ทิศทาง กล่าวคือ (๑) ทิศทางที่ยอมรับในหลักกฎหมายขัดกันแบบ Civil Law ที่ถือว่า กฎหมายของรัฐเจ้าของตัวบุคคลได้แก่กฎหมายของรัฐเจ้าของสัญชาติของบุคคล และ (๒) ทิศทางที่ยอมรับในหลักกฎหมายขัดกันแบบ Common Law ที่ถือว่า กฎหมายของรัฐเจ้าของตัวบุคคลได้แก่กฎหมายของรัฐเจ้าของถิ่นอันเป็นภูมิลำเนา ดังนั้น ในการกำหนดความสามารถในการทำสัญญาของบุคคลธรรมดา

ยกตัวอย่างจากกรณีนางแมรี่[8] ซึ่งมีสัญชาติฝรั่งเศส แต่ตั้งบ้านเรือนอยู่ในประเทศไทยจึงมีภูมิลำเนาไทย เมื่อศาลไทยซึ่งเป็นศาลในตระกูลกฎหมายแบบ Civil Law จะต้องกำหนดความสามารถในการทำสัญญาของนางแมรี่ ศาลนี้ย่อมเริ่มต้นพิจารณาประเด็นแห่งคดีโดยกฎหมายขัดกันไทย และกฎหมายนี้ย่อมชี้ให้กฎหมายขัดกันฝรั่งเศส ซึ่งเป็นกฎหมายของรัฐเจ้าของสัญชาติของนางแมรี่ และกฎหมายขัดกันฝรั่งเศสย่อมชี้ให้ใช้กฎหมายแพ่งสาระบัญญัติฝรั่งเศส ดังนั้น กฎหมายของรัฐเจ้าของตัวบุคคลที่มีผลในศาลไทย ก็คือ กฎหมายฝรั่งเศสซึ่งเป็นรัฐเจ้าของสัญชาติของคู่สัญญา แต่หากศาลมาเลเซียเป็นศาลที่จะต้องพิจารณาประเด็นแห่งคดีนี้ เมื่อศาลนี้เป็นศาลในตระกูลกฎหมายแบบ Common Law ศาลนี้ย่อมเริ่มต้นพิจารณาคดีโดยกฎหมายขัดกันมาเลเซีย ซึ่งกฎหมายนี้ย่อมชี้ให้ใช้กฎหมายแพ่งสาระบัญญัติไทยเพื่อกำหนดความสามารถในการทำสัญญาของนางแมรี่  ทั้งนี้ เพราะกฎหมายไทยเป็นกฎหมายของรัฐเจ้าของภูมิลำเนาของนางแมรี่ และกฎหมายขัดกันไทยย่อมชี้ให้ใช้กฎหมายแพ่งสาระบัญญัติไทย[9]

โดยพิจารณากรณีของนางแมรี่ในการพิจารณาของศาลไทยและศาลมาเลเซียดังกล่าวมาแล้ว เราจะสังเกตเห็นการยอมรับจุดเกาะเกี่ยวต่างกันในตระกูลกฎหมายที่ต่างกัน เรื่องของการกำหนดความสามารถในการทำสัญญาของนางแมรี่โดยกฎหมายฝรั่งเศสในศาลไทย หรือโดยกฎหมายไทยโดยศาลมาเลเซียย่อมแสดงให้เห็น “ความไม่มีเสถียรภาพทางกฎหมาย” ในประชาคมอาเซียนเช่นกัน และเราย่อมเห็นความจำเป็นที่จะต้องแสวงหากฎหมายเอกรูปในเรื่องนี้

ขอให้ตระหนักว่า ในวิวัฒนาการการจัดการสถานการณ์การขัดกันแห่งกฎหมายเอกชนนั้น “หลักการเลือกกฎหมาย” ได้ปรากฏตัวขึ้นในทางปฏิบัติของประชาคมระหว่างประเทศ ทุกรัฐบนโลกนี้ยอมรับหลักการเลือกกฎหมายนี้ในการจัดการสถานการณ์การขัดกันแห่งกฎหมายเอกชน ดังนั้น แม้บุคคลจะมีจุดเกาะเกี่ยวกับหลายรัฐอันทำให้มีรัฐเจ้าของตัวบุคคลหลายรัฐ โดยกลไกของกฎหมายขัดกัน ก็จะมีเพียงกฎหมายของรัฐเดียวที่มีผลบังคับต่อกรณี กฎหมายที่มีผลบังคับนั้นได้แก่กฎหมายของรัฐที่มีจุดเกาะเกี่ยวที่เข้มข้นมากที่สุด โดยทั่วไป กฎหมายของนานารัฐจะมีความเป็นเอกภาพในการยอมรับหลักการเลือกกฎหมายในการขัดกันแห่งกฎหมายเอกชน[10]

ดังนั้น ประเด็นพิจารณาในศาลภายในของรัฐในสถานการณ์การขัดกันแห่งกฎหมายเอกชนนั้น ก็อาจมีประเด็นให้ต้องพิจารณาการจัดสรรเอกชนระหว่างประเทศอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ ประเด็นที่ถกเถียงกันโดยทั่วไป ก็คือ การจะฟังว่า บุคคลมีสัญชาติของรัฐใดนั้น ดูจากความทรงสิทธิในสัญชาติของรัฐตามกฎหมายสัญชาติของรัฐเจ้าของสัญชาติ ? หรือดูจากการรับรองสิทธิในสัญชาติตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรของรัฐ ? และการจะฟังว่า บุคคลมีภูมิลำเนาบนดินแดนของรัฐใดนั้น ดูจากสิทธิในภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชนว่าด้วยภูมิลำเนา ? หรือดูจากสิทธิในภูมิลำเนาตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร ?

เราคงตระหนักอีกว่า ประเทศไทยจัดอยู่ในตระกูลกฎหมายขัดกันแบบ Civil Law ดังนั้น ข้อเท็จจริงอันเป็นจุดเกาะเกี่ยวส่วนใหญ่ในการกำหนดปัญหาบุคคลและปัญหาอื่นที่เกี่ยวกับบุคคล จึงเป็นไปตามกฎหมายเอกชนของรัฐเจ้าของสัญชาติของบุคคล[11] แต่อย่างไรก็ตาม การใช้กฎหมายเอกชนของรัฐเจ้าถิ่นอันเป็นภูมิลำเนาของบุคคลก็ได้รับการยอมรับให้มีผลในการจัดการการขัดกันแห่งกฎหมายเอกชนเช่นกัน โดยเฉพาะในกรณีมนุษย์/บุคคลธรรมดาตกเป็นคนไร้สัญชาติ ดังปรากฏในมาตรา ๖ วรรค ๔ แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.๒๔๘๑ ซึ่งบัญญัติว่า “สำหรับบุคคลผู้ไร้สัญชาติ ให้ใช้กฎหมายภูมิลำเนาของบุคคลนั้นบังคับ ถ้าภูมิลำเนาของบุคคลนั้นไม่ปรากฏ ให้ใช้กฎหมายของประเทศซึ่งบุคคลนั้นมีถิ่นที่อยู่บังคับ”

เราจึงอาจสรุปว่า มีความจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้การกำหนดสิทธิในสัญชาติและภูมิลำเนาของบุคคล ตราบที่สองเรื่องนี้ยังทำหน้าที่เป็นจุดเกาะเกี่ยวในการเลือกกฎหมายที่มีผลต่อนิติสัมพันธ์ตามกฎหมายเอกชนที่มีลักษณะระหว่างประเทศ อันทำให้ตกอยู่ภายใต้สถานการณ์การขัดกันแห่งกฎหมายเอกชน

๒.๓.  สัญชาติและภูมิลำเนามีบทบาทในการจัดการสถานการณ์การขัดกันแห่งกฎหมาย “มหาชน” หรือไม่ ? อย่างไร ?

ในสถานการณ์การขัดกันแห่งกฎหมายมหาชนนั้น เราพบว่า กฎหมายที่มีผลกำหนดนิติสัมพันธ์ตามกฎหมายมหาชนที่มีลักษณะระหว่างประเทศ ก็คือ กฎหมายมหาชนภายในของรัฐคู่กรณี ทั้งนี้ เว้นแต่จะมีการกำหนดเป็นอย่างอื่น เราพบต่อไปว่า มีกฎหมายมหาชนจำนวนไม่น้อยที่กำหนดจำกัดสิทธิของ “คนต่างด้าว (alien)” บนดินแดนของรัฐ ตัวอย่างของกฎหมายในลักษณะนี้ ก็คือ  กฎหมายของนานารัฐว่าด้วยการอนุญาตให้ทำงานและลงทุน[12] นอกจากนั้น เรายังพบกฎหมายมหาชนภายในของรัฐอีกจำนวนหนึ่งที่กำหนดรับรองสิทธิของคนสัญชาติของรัฐเท่านั้น ตัวอย่างคือ กฎหมายว่ามีการมีส่วนร่วมทางการเมืองในรัฐสภา[13] ในขณะที่กฎหมายมหาชนว่าด้วยการเกณฑ์ทหารนั้นจะกำหนดหน้าที่ให้คนสัญชาติเท่านั้น ดังนั้น การจัดสรรเอกชนโดยสัญชาติจึงเป็นประเด็นสำคัญที่นำมาพิจารณาในการกำหนดผู้ทรงสิทธิหรือผู้ทรงหน้าที่ในกฎหมายดังกล่าว

ขอให้ตระหนักว่า ในวิวัฒนาการการจัดการสถานการณ์การขัดกันแห่งกฎหมายมหาชนนั้น “หลักการเลือกกฎหมาย” ไม่ปรากฏขึ้นในลักษณะเดียวกับการจัดการการขัดกันแห่งกฎหมายเอกชน ดังนั้น บุคคลที่ตกอยู่ภายใต้การขัดกันแห่งกฎหมายมหาชนจึงต้องปฏิบัติตามกฎหมายมหาชนของรัฐที่มีผลทั้งหมด

อาทิ เมื่อนายสมชายซึ่งมีทั้งสิทธิในสัญชาติเวียดนามโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดาและสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดา เขาจึงตกอยู่ภายใต้หน้าที่รับราชการทหารตาม พ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ. ๒๔๙๗ ซึ่งเป็นกฎหมายว่าด้วยการเกณฑ์ทหารที่มีผลในปัจจุบัน และกฎหมายนี้มีผลกำหนดหน้าที่รับราชการทหารให้แก่ชายสัญชาติไทยเท่านั้น นอกจากนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่า เขามีสิทธิในสัญชาติเวียดนามอีกด้วย เขาก็จะมีหน้าที่ในการรับราชการทหารอีกด้วยในประเทศเวียดนาม การเลือกรับราชการทหารในประเทศเดียวไม่อาจทำได้ เว้นแต่จะมีความตกลงระหว่างประเทศไทยและประเทศเวียดนาม ดังนั้น ในปัจจุบัน เมื่อชายคนหนึ่งมีสิทธิในสองสัญชาติที่ยังมีกฎหมายกำหนดให้ถูกเกณฑ์ทหาร ก็จะเลือกใช้สิทธิในสัญชาติเดียว แม้จะมีอยู่ถึง ๒ สิทธิในสัญชาติก็ตาม ในขณะที่นายอเล็กซันเดอร์ ไวท์ คนสัญชาติโปรตุเกสที่มีสิทธิอาศัยถาวรในประเทศไทยตามกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมือง แม้เขาจะอาศัยอยู่ถาวรในประเทศไทย เขาก็ไม่ถูกเกณฑ์ทหารในประเทศไทย กฎหมายไทยว่าด้วยการรับราชการทหารไม่มีผลบังคับเขา

แต่หากเป็นเรื่องของการทำงานหรือการลงทุนข้ามชาตินั้น เราพบว่า คนหลายสัญชาติจะมีสิทธิที่เด็ดขาดในการทำงานและลงทุนในทุกประเทศที่ตนมีสัญชาติ พวกเขาไม่มีหน้าที่ต้องขออนุญาตทำงานหรือลงทุนต่อรัฐเจ้าของดินแดน ดังเช่นคนต่างด้าว ดังนั้น นายสมชายในข้อเท็จจริงข้างต้นจะมีสิทธิประกอบอาชีพอย่างเด็ดขาดและสมบูรณ์ทั้งในประเทศไทยและประเทศเวียดนาม แต่นายอเล็กซันเดอร์ ไวท์ในข้างเท็จจริงข้างต้นจะมีสิทธิประกอบอาชีพอย่างเด็ดขาดและสมบูรณ์ในประเทศโปรตุเกสเท่านั้น ความเป็นคนต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยถาวรในประเทศไทยไม่นำไปสู่สิทธิในเสรีภาพอันเด็ดขาดและสมบูรณ์ที่จะประกอบอาชีพ

นอกจากนั้น เราควรจะต้องสนใจประเด็นสิทธิในภูมิลำเนาของบุคคลซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่มีผลกำหนดสิทธิในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายบ้านเมือง โดยหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความว่าด้วยการกำหนดเขตอำนาจศาล เราพบว่า ศาลภายในของรัฐมักยอมรับพิจารณาคดีเสมอหากจำเลยหรือผู้ร้องมีภูมิลำเนาในเขตอำนาจศาล สำหรับกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งไทยตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๔ ยังบัญญัติให้ศาลไทยยอมรับคำฟ้องที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งในต่างประเทศ หากปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย หรือหากโจทย์มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย ศาลไทยก็จะต้องยอมรับคำฟ้องของโจทก์ แม้มูลคดีจะเกิดในต่างประเทศ หรือจำเลยมีภูมิลำเนาในต่างประเทศ

ดังนั้น ในประเด็นพิจารณาสถานการณ์การขัดกันแห่งกฎหมายมหาชนนั้น ก็อาจมีประเด็นให้ต้องพิจารณาการจัดสรรเอกชนระหว่างประเทศทั้งโดยสัญชาติและภูมิลำเนาอย่างหลีกเลี่ยงมิได้อีกเช่นกัน ความเป็นคนต่างด้าวหรือคนที่ไม่มีสัญชาติของรัฐอาจนำไปสู่ข้อจำกัดสิทธิหรือความไร้สิทธิ ในขณะที่ความไม่มีภูมิลำเนาในประเทศอาจนำไปสู่ความไม่สามารถที่จะใช้สิทธิดังกล่าว

เราจึงอาจสรุปได้เช่นกันว่า มีความจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้การกำหนดสิทธิในสัญชาติและภูมิลำเนาของบุคคล ตราบที่สองเรื่องนี้ยังทำหน้าที่เป็นจุดเกาะเกี่ยวในการเลือกกฎหมายที่มีผลต่อนิติสัมพันธ์ตามกฎหมายมหาชนที่มีลักษณะระหว่างประเทศ อันทำให้ตกอยู่ภายใต้สถานการณ์การขัดกันแห่งกฎหมายมหาชน

๒.๔.  ประเด็นการจัดสรรเอกชนโดยสัญชาติของรัฐ

ดังที่ได้กล่าวถึงมาแล้วว่า ในการศึกษาวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลนั้น เราไม่อาจหลีกเลี่ยงการใช้สัญชาติทั้งในสถานการณ์การขัดกันแห่งกฎหมายเอกชนและในสถานการณ์การขัดกันแห่งกฎหมายมหาชน การศึกษากฎหมายสัญชาติจึงเป็นหัวข้อสำคัญที่จะต้องศึกษากัน เราพบว่า นานารัฐต่างมีกฎหมายสัญชาติที่เป็นเอกภาพที่ในเรื่องของสัญชาติของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชน ดังที่เราจะได้กล่าวถึงในรายละเอียด

๒.๔.๑.  ข้อเท็จจริงที่ก่อตั้งสิทธิในสัญชาติของรัฐให้แก่มนุษย์/บุคคลธรรมดา

โดยหลักกฎหมายสัญชาติสากล เราพบว่า สิทธิในสัญชาติถูกจำแนกออกเป็น ๒ ลักษณะ กล่าวคือ (๑) สิทธิในสัญชาติโดยการเกิด และ (๒) สิทธิในสัญชาติภายหลังการเกิด ซึ่งเราอาจจะทำความเข้าใจให้ลึกซึ่งต่อไปดังนี้

๒.๔.๑.๑.  สิทธิในสัญชาติโดยการเกิด

สิทธิในสัญชาติ “โดยการเกิด” อันหมายถึง สิทธิในสัญชาติที่เกิดจากข้อเท็จจริงอันเป็นจุดเกาะเกี่ยวที่มนุษย์มีกับรัฐเจ้าของสัญชาติในขณะที่เกิด ข้อเท็จจริงที่แสดงจุดเกาะเกี่ยวลักษณะนี้จึงมีได้ ๓ ประการ กล่าวคือ (๑) การเกิดบนดินแดนของรัฐย่อมนำไปสู่สิทธิในสัญชาติโดยหลักดินแดนโดยการเกิด (๒) การมีมารดาซึ่งมีสิทธิในสัญชาติของรัฐย่อมนำไปสู่สิทธิในสัญชาติโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดาโดยการเกิด และ (๓) การมีบิดาซึ่งมีสิทธิในสัญชาติของรัฐย่อมนำไปสู่สิทธิในสัญชาติโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดาโดยการเกิด แต่เมื่อเราพิจารณาผ่านทฤษฎีอำนาจอธิปไตยของรัฐ เราจะเห็นว่า ข้อเท็จจริงแรกเกิดจากการที่รัฐแสดงอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนอันเป็นที่เกิดของบุคคลนั้น ในขณะที่ข้อเท็จจริงที่สองและสามเกิดจากการที่รัฐแสดงอำนาจอธิปไตยเหนือบุคคลที่เป็นบุพการีของคนเกิด

แต่อย่างไรก็ตาม เราจะต้องตระหนักว่า วิธีการใช้สิทธินั้นย่อมเป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของรัฐเจ้าของสัญชาติ ซึ่งอาจจะแตกต่างกันในกฎหมายของแต่ละประเทศ ความสามารถที่จะใช้สิทธิอาจเกิดขึ้นโดยผลอัตโนมัติของกฎหมาย หรืออาจเกิดขึ้นต่อเมื่อมีการจดแจ้งทางทะเบียนราษฎรของรัฐ หรืออาจเกิดขึ้นต่อเมื่อมีการร้องขอ

ในส่วนของสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดนั้น เป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมายไทยว่าด้วยสัญชาติของบุคคลธรรมดาที่มีผลในขณะที่บุคคลนั้นเกิด[14] โดยพิจารณาหลักกฎหมายสัญชาติไทยตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน เราอาจสรุปว่า สิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตทั้งจากบิดา[15]และมารดา[16]ย่อมเป็นไปโดยผลอัตโนมัติของกฎหมาย ในขณะที่สิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนโดยการเกิดของคนเกิดในประเทศไทยก่อนวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕ ย่อมเป็นไปโดยผลอัตโนมัติของกฎหมาย[17] ส่วนกรณีของคนที่เกิดตั้งแต่วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕ ย่อมเป็นไปโดยผลของคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย[18] แต่อย่างไรก็ตาม องค์ประกอบแห่งข้อเท็จจริงของการได้สิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดในแต่ละกรณีย่อมเป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมายไทยที่มีผลในขณะบุคคลนั้นเกิด

๒.๔.๑.๒.  สิทธิในสัญชาติ “ภายหลัง” การเกิด

สิทธิในสัญชาติ “ภายหลังการเกิด” อันหมายถึง สิทธิในสัญชาติที่เกิดจากข้อเท็จจริงอันเป็นจุดเกาะเกี่ยวที่แท้จริงที่มนุษย์มีกับรัฐเจ้าของสัญชาติภายหลังการเกิด ข้อเท็จจริงที่แสดงจุดเกาะเกี่ยวลักษณะนี้น่าจะมีได้ ๓ ประการ กล่าวคือ (๑) ความจงรักภักดีต่อดินแดนโดยการสร้างคุณประโยชน์แก่รัฐเจ้าของสัญชาติ (๒) การมีความสัมพันธ์ทางครอบครัวกับคนที่ถือสัญชาติของรัฐ และ (๓) ความเป็นคนที่เคยมีสัญชาติของรัฐ เราจะสังเกตว่า ข้อเท็จจริงแรกย่อมแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและเอกชนโดยหลักดินแดน ในขณะที่ข้อเท็จจริงสองข้อหลังแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและเอกชนโดยหลักดินแดนบุคคล

โดยหลักกฎหมายสัญชาติไทย สิทธิในสัญชาติไทยภายหลังการเกิดมีอยู่ ๒ ลักษณะ กล่าวคือ (๑) สิทธิในสัญชาติไทยโดยการสมรส[19] และ (๒) สิทธิในสัญชาติโดยการแปลงสัญชาติ[20] วิธีการใช้สิทธิในสัญชาติแต่ละกรณีแต่ละยุคย่อมเป็นไปตามกฎหมายไทยว่าด้วยสัญชาติไทยที่มีผลในแต่ละกรณี ในปัจจุบัน การได้สัญชาติไทยภายหลังการเกิดทั้งสองกรณีจะมีผลในวันที่มีการประกาศคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพื่ออนุญาตการได้สัญชาติภายหลังการเกิดนี้ในราชกิจจานุเบกษาและมีผลเฉพาะตัว

๒.๔.๒.  ข้อเท็จจริงที่ทำให้มนุษย์/บุคคลธรรมดาเสียสัญชาติไทย

ประเด็นการเสียสิทธิในสัญชาติเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สอนในวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ทั้งนี้ เพราะการเสียสิทธินี้ย่อมทำให้คนสัญชาติตกเป็นคนต่างด้าว สัมพันธภาพระหว่างรัฐเจ้าของสัญชาติและมนุษย์ย่อมสิ้นสุดลง และหากมนุษย์ผู้นั้นยังอาศัยบนดินแดนของรัฐ รัฐนั้นก็จะมีสถานะเป็นรัฐเจ้าของภูมิลำเนาเท่านั้น โดยหลักกฎหมายสัญชาติสากล การเสียสิทธิในสัญชาติอาจเกิดขึ้นทั้ง (๑) โดยเจตนาของเอกชนที่ประสงค์จะสละสัญชาติของรัฐ และ (๒) โดยเจตนาของรัฐเจ้าของสัญชาติ ซึ่งองค์กรของรัฐที่อาจแสดงเจตนาเพื่อถอนสัญชาติของมนุษย์ ก็อาจเป็น (๑) ฝ่ายนิติบัญญัติของรัฐ (๒) ฝ่ายบริหารของรัฐ และ (๓) ฝ่ายตุลาการของรัฐ สำหรับประเทศไทย การเสียสัญชาติไทยก็เป็นไปในทิศทางที่ยอมรับกันโดยทั่วไป[21]

หากต้องการอ่านข้อเขียนนี้ต่อ 

โปรดคลิก URL ดังต่อไปนี้

http://www.learners.in.th/media/files/370828

คำสำคัญ (Tags): #asean#people management
หมายเลขบันทึก: 521951เขียนเมื่อ 10 มีนาคม 2013 18:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มีนาคม 2013 18:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท