สถานการณ์ใต้ ตอนที่ 4: ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับปัตตานี : ยุคกษัตริย์สตรีแห่งปัตตานี: ราชินีฮีเยา


      (2) ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับปัตตานี:ยุคกษัตริย์สตรีแห่งปัตตานี                 

       ประวัติเมือง ปัตตานี ฉบับอักษรยาวี ของนายหะยีหวันอาซัน บันทึกว่า เมืองปัตตานี ปกครอง โดยเจ้าหญิง เป็นครั้งแรก ในสมัย อยุธยา ระหว่างปี พ.ศ.2116 จนกระทั่ง ถึงปี พ.ศ. 2227 ติดต่อ กัน 4 องค์ด้วยกัน เจ้าหญิง องค์แรก ไก้แก่ เจ้าหญิง ฮีเยา (เจ้าหญิงเขียว) องค์ที่ 2 ชื่อเจ้าหญิงบีรู (เจ้าหญิงน้ำเงิน) องค์ที่ 3 เจ้าหญิงอูงู (เจ้าหญิงม่วง) องค์ที่ 4 เจ้าหญิงกูนิง (เจ้าหญิงเหลือง) ซึ่งเป็น เจ้าหญิง องค์สุดท้าย แห่งวงศ์ โกตามหลิฆัย

       รัฐปัตตานีมีความเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมากในยุคการปกครองของกษัตริย์สตรี ปัตตานีเป็นที่รู้จักในด้านการเป็นศูนย์กลางการค้าขายที่สำคัญที่สุดของภูมิภาคนี้ เป็นจุดยุทธศาสตร์ทางด้านการ ค้าขายเป็นที่หมายปองของบรรดาพ่อค้าจากทั้งตะวันออกและตะวันตก เป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมมลายู และความมั่นคงทางการเมืองอันเนื่องมาจากความสามารถในการปกครองของกษัตริย์ ลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับปัตตานีที่ปรากฏในยุคนี้คือ ความสัมพันธ์ที่มีลักษณะความขัดแย้งเป็นส่วนใหญ่ เป็นความพยายามของสยามในการยึดครองปัตตานี ซึ่งขณะนั้นเป็นเมืองท่าที่มีความเจริญรุ่งเรือง มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ในขณะที่ปัตตานีก็พยายามต่อต้านอำนาจของสยามอย่างแข็งขัน บรรดาพ่อค้าชาติตะวันตก ตะวันออก และดินแดนใกล้เคียงปัตตานี เข้ามามีส่วนร่วมในความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับปัตตานีอันมีต้นเหตุมาจากการทำสงครามแย่งชิง

        ราชินีฮีเยาขึ้นครองราชย์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2127-2159  สมัยราชินีองค์นี้ มีการขุดคลองชลประทานหลายสาย กิจการค้าเจริญรุ่งเรือง ชาวต่างประเทศเข้ามาค้าขายเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะชาวโปรตุเกสและฮอลันดา ชาวเยอรมันคนหนึ่งชื่อ Mandel Slohe ไปถึงปัตตานีสมัยนั้น ได้บันทึกว่า "เมือง ปัตตานีเป็นเมืองที่บริบูรณ์ ชาวปัตตานีสามารถรับประทานผลไม้หลายชนิดในทุกๆ เดือน ไก่ที่นี่ ออกไข่วันละ2ครั้ง มีข้าวมากมีเนื้อหลายชนิดเช่น เนื้อวัว แพะ ห่าน เป็ด ไก่ ไก่ตอน นกยูง เนื้อกวางแห้ง กระจง และนกต่างๆ และผลไม้เป็นร้อยๆ ชนิด" ซึ่งแสดง ถึงปัตตานีในสมัยนั้นมีความเจริญรุ่งเรืองมาก 

       ด้านนโยบายต่างประเทศ กุศโลบายแรกของพระองค์ คือการพระราชทาน "เจ้าหญิงอูงู" พระน้องนางองค์เล็กให้เสกสมรสเป็นมเหสีแห่งเจ้านครปะหัง ด้วยมีพระราชประสงค์ที่จะสร้างสัมพันธ์ฉันญาติสนิทกับเจ้านครปะหัง เพื่อคานอำนาจของรัฐยะโฮร์ที่ทรงอิทธิพลเป็นคู่แข่งบนคาบสมุทรมลายู ณ เวลานั้น

       พิธีเสกสมรสของเจ้าหญิงอูงูกลายเป็นตำนานรักเพื่อแผ่นดินที่ถูกเล่าขานในตำนานนครรัฐปัตตานี หากแต่รักเร้นของพระพี่นางฮิเจา กลับลึกลับซับซ้อน ซ่อนเงื่อนอยู่ในบันทึกของนักเดินเรือจากยุโรป. เดือนมกราคม พุทธศักราช 2152 ข่าวลือเรื่องรักเร้นลับของกษัตริยาแห่งนครปัตตานี แพร่งพรายมาจากเจ้าชายสะเบอรัง (Raja Saberang) พระอนุชาของสุลต่านแห่งยะโฮร์ ที่กล่าวหาว่า เจ้านครปัตตานีใช้เล่ห์เพทุบายและมนต์มายาแห่งอิสตรีครอบงำพระเชษฐาของพระองค์ไว้

      ในปลายรัชสมัยของพระองค์ เมื่อความสัมพันธ์กับรัฐปะหังเริ่มขม สุลต่านแห่งปะหังผู้เป็นน้องเขยเริ่มมีข้ออ้างที่จะไม่ปฏิบัติตามคำร้องขอต่างๆ ของนครปัตตานีเฉกเช่นเคย ราชินีฮีเจาทรงแสดงพระราชอำนาจด้วยการมีพระราชบัญชาให้สกัดกั้นเรือสินค้าทุกลำจากอ่าวปัตตานีที่จะเดินทางไปสู่รัฐปะหัง และมีพระราชโองการให้เสนาบดีส่งกองทัพเรือ 70 ลำ พร้อมกับกำลังพล 4,000 นาย ไปยังนครปะหังพร้อมกับคำทูลเชิญให้สุลต่านปะหัง พาพระมเหสีอูงู กลับมาเยือนแผ่นดินเกิด สุลต่านแห่งปะหังมิอาจแข็งขืน เสด็จพร้อมพระมเหสี และเจ้าหญิงกูนิง พระธิดา มายังนครปัตตานีตามคำทูลเชิญเชิงบังคับของเจ้านครปัตตานี

         ราชินีฮีเจาทรงมีพระวรกายสูงสง่า เสด็จมาพร้อมกับเจ้าหญิงรัชทายาทบีรู และพระน้องนาง อูงู มเหสีของเจ้านครปะหัง ที่จากแผ่นดินเกิดไปนานเกือบ 30 ปี ทั้ง 3 พระองค์ทรงพระเกษมสำราญ ขณะที่สุลต่านแห่งปะหังนั้นดูไร้ความสุข และไม่ได้รับการถวายพระเกียรติอย่างที่ควร เจ้านครปะหังประทับอยู่ที่ปัตตานีเป็นเวลา 1 เดือน จึงถวายบังคมลาราชีนีฮีเจา พาพระมเหสีอูงูและพระราชธิดาคืนสู่นครปะหัง

         ช่วงปลายรัชสมัย 7 ปีก่อนสวรรคต ราชีนีฮีเจาเก็บพระองค์อยู่ในอาณาเขตของพระราชวัง เหล่าพสกนิกรจะมีโอกาสชื่นชมพระบารมีขององค์กษัตริยาเฉพาะในวโรกาสที่พระองค์เสด็จออกในราชพิธีล่าควายป่า และในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่พระองค์และเจ้าหญิงรัชทายาทบีรู เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคเพื่อให้พสกนิกรชื่นชมพระบารมี โดยมีกองเรือ 600 ลำ ตามเสด็จ. ทั้ง 2  พระองค์ทรงพระเกษมสำราญกับงานเฉลิมฉลองท่ามกลางสีสันและกลิ่นหอมของดงบุหงาที่ประดับประดาไปทั่วเมือง ชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในนครปัตตานีได้ร่วมจัดมหรสพถวายด้วย. ในราชพิธีล่าควายป่าขององค์กษัตริยานั้น สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับบรรดาชาวยุโรปที่ตามเสด็จ พวกเขาตื่นเต้นสนุกสนานกับการยิงปืนคาบศิลาขึ้นฟ้าเพื่อร่วมเฉลิมฉลอง

        ราชีนีฮีเจาสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2159 สิริรวมเวลาที่ทรงพระราชอำนาจเหนือบัลลังก์ยาวนานถึง 32 ปี กว่า 3 ทศวรรภายใต้การปกครองของกษัตริยาพระองค์แรกนั้น นครปัตตานีอุดมสมบูรณ์ รุ่งโรจน์ราวรุ้งสีเขียวแห่งพระนาม

       ช่วงปลายรัชสมัยของราชีนีฮีเจา ..อ่าวปัตตานียามค่ำคืน ณ เวลานั้น สว่างไสวไปด้วยแสงไฟจากเรือสินค้าจากอยุธยา บรูไน จัมบี (Jambi-เมืองท่าฝั่งเหนือของชวา) มากัสซาร์ (Makasar) โมลุกกะ (Moluccas) จีน ญี่ปุ่น กัมพูชา เกาะสุมาตรา และเรือสินค้าจากฮอลแลนด์ อังกฤษ และโปรตุเกส

      

หนังสืออ้างอิง

กฤตยา อาชวนิจกุล,กุลภา วจนสาระ,และหทัยรัตน์ เสียงดัง. ความรุนแรงและความตายภายใต้นโยบายรัฐ : กรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้.http://www.ipsr.mahidol.ac.th/IPSR/AnnualConference/ConferenceII/Article/Article12.htm เข้าถึงเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2556

วศินสุข.ข้องใจในประวัติศาสตร์ปัตตานี.

http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2006/12/K4950974/K4950974.html เข้าถึงเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2556.

รัตติยา สาและ .(2544). การปฏิสัมพันธ์ระหว่างศาสนิกที่ปรากฏในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส. กรุงเทพฯ:สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

สุภัตรา ภูมิประภาส. : สี่กษัตริยาปตานี : บัลลังก์เลือด และตำนานรักเพื่อแผ่นดิน. http://www.oknation.net/blog/print.php?id=209991 เข้าถึงเมื่อ 5 มีนาคม 2556

อ. อับดุชชะกูร์ บินชาฟิอีย์(อับดุลสุโก ดินอะ).ยุทธศาสตร์การเข้าใจ เข้าถึงและพัฒนาชุมชนมุสลิมจังชายแดนภาคใต้.http://www.oknation.net/blog/print.php?id=84138เข้าถึงเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2556.

.ไม่มีชื่อผู้แต่่ง. บทความประวัติเมืองปัตตานี. http://atcloud.com/stories/23146. เข้าถึงเมื่อวันที่่ 17 กุมภาพันธ์ 2556.



หมายเลขบันทึก: 521926เขียนเมื่อ 10 มีนาคม 2013 10:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มีนาคม 2013 15:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท