deawche
เดี่ยวเช คมสัน deawche หน่อคำ

“วัดหัวข่วงสิงห์ชัย”


วัดหัวข่วงสิงห์ชัย”

เกริ่นวัดหัวข่วงมีเจดีย์ยืนตั้งมั่นอันสง่างามสูงตระหง่าน๒๕.๖๐เมตรเป็นหลักฐานและสัญลักษณ์อันเก่าแก่ของการแรกเริ่มการก่อสร้างพร้อมกับการสร้างเมืองแพร่มีอายุร่วม๑,๒๑๒ปีซึ่งมีอายุยืนยิ่งกว่าโบราณสถานของกรุงศรีอยุธยาที่มีอายุเพียง๖๖๒ปีแม้แต่กรุงสุโขทัยซึ่งตั้งราชธานีเมื่อปี.. ๑๘๐๐ก็ภายหลังวัดหัวข่วงถึง๔๕๘ปี

ประวัติวัดหัวข่วง

  พุทธศักราช ๑๓๘๗ ขุนหลวงพล เจ้าหลวงเมืองแพร่ ชราภาพมากแล้ว จึงมอบให้  ท้าวพหุสิงห์ ครองเมืองพลแทน ท้าวพหุสิงห์ เป็นผู้ที่เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา หลังจากครองเมืองพลได้ ๑ ปี จึงให้ขุนพระพิษณุวังไชย ไปว่าจ้างช่างจากเวียงพางคำ เชียงแสน มาบูรณะซ่อมแซมวัดหลวง  แม่เฒ่าจันคำวงศ์  แม่ของขุนหลวงพล  เห็นฝีมือของช่างจากเวียงพางคำ  เชียงแสน ทำได้สวยสดุดตา  จึงให้ช่างดังกล่าวสร้างวัดขึ้นอีกวัดหนึ่ง โดยเลือกเอาที่ดินซึ่งเป็นลานกว้างขวาง แต่เดิมใช้เป็นสนามกีฬาประจำเมือง (ข่วงเล่นกีฬาประจำเมือง )

  ขุนพระพิษณุวังไชย ให้ช่างทำพิธีสู่ขวัญเสาแก้วของวัด ในวันขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๔ ปีเล้า และตั้งชื่อว่า“วัดหัวข่วงสิงห์ชัย”ท้าวพหุสิงห์ โปรดให้จัดงานเฉลิมฉลองพร้อมกับวัดหลวงเป็นเวลา ๕ วัน ๕ คืน  มีการละเล่น จ๊อย ซอ เล่าค่าว ให้ขุนแขกลือราช สร้างโรงทานไว้ ๔ มุมวัด และนิมนต์พระจากหลวงพระบางมาจำพรรษาสั่งสอนอบรมชาวเมืองพล

  พุทธศักราช ๑๔๓๕ ขุนพนมสิงห์ ขึ้นครองเมืองพล ในยุคนี้เมืองพลเป็นปึกแผ่นแน่นหนา ข้าวปลาอุดมสมบูรณ์ ชาวเมืองต่างทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ขุนพนมสิงห์จึงให้บูรณะซ่อมแซมวัดหัวข่วงสิงห์ชัย โดยให้ชาวเมืองช่วยกันปั้นอิฐ (ดินกี่) ก่อสร้างกำแพงวัดขึ้นใหม่ เพราะกำแพงเดิมถูกน้ำยมเซาะจนพังทลายไป สร้างเสร็จโปรดให้จัดงานฉลอง ๓ วัน ๓ คืน

  พุทธศักราช ๑๔๔๓ ขุนพนมสิงห์ สถาปนาเมืองพลเป็น “ พลรัฐนคร ” และเลื่อนตัวเองเป็น “ พญาพนมสิงห์ ” โปรดให้ขุนอภัยเดินทางไปเมืองลัมปะนคร (ลำปาง) อาราธนาครูบาศรีใจ มาเป็นประธานก่อสร้างเจดีย์ขึ้นองค์หนึ่งทางด้านตะวันตกของวิหาร ฐานเจดีย์กว้าง ๑๒ ศอก ๙ นิ้ว องค์เจดีย์ตอนบนห่อหุ้มด้วยทองคำเหลืองอร่ามตา

  กล่าวกันว่าในเดือนแรมราว ๑๔ – ๑๕ ค่ำ  จะปรากฏแก้วสุกใส  ลอยจากยอดเจดีย์  พุ่งวาบ ๆ ไปทางทิศตะวันออกของเมืองพลรัฐนครเสมอ

  พุทธศักราช ๑๕๒๔ ขอมส่งกองทัพจำนวนหลายหมื่นคน เข้ารุกรานอาณาจักรโยนกเชียงแสน พลรัฐนครถูกกองทหารขอมโจมตี เผาวัดวาอาราม ลอกเอาทองคำหุ้มพระและเจดีย์ไปเป็นจำนวนมาก วัดหัวข่วงสิงห์ชัยถูกทำลายเสียหายย่อยยับ จนกลายเป็นวัดร้างไประยะหนึ่ง

  พุทธศักราช ๑๕๕๙ ท้าววังสุพล รวบรวมผู้คนเมืองพลเข้าโจมตีขับไล่ทหารขอมหนีไปจนหมดสิ้น แล้วสร้างเมืองและบูรณะซ่อมแซมวัดใหม่  วัดหัวข่วงสิงห์ชัยได้รับการบูรณะซ่อมแซมด้วย

  พุทธศักราช ๑๖๕๐ ขอมส่งกองทัพเข้ายึดอาณาจักรโยนก เชียงแสน และลานนา ขอมเปลี่ยนชื่อเมืองพลเป็น เมืองโกศัย หรือนครโกศัย วัดหัวข่วงสิงห์ชัย ถูกขอมทำลายอีกครั้ง

  พุทธศักราช ๑๗๒๘ พญาพีระไชยวงศ์ครองเมืองโกศัยได้ ๕ ปี ชาวเมืองมีความเป็นอยู่สุขสบาย จึงโปรดให้ทุกเขตแขวงซ่อมแซมบูรณะวัดของตน ขุนอินทิราช นายแขวงหัวข่วงกีฬา พร้อมกับชาวบ้านหัวข่วงช่วยกันบูรณะซ่อมแซมวิหาร และเจดีย์ หอกลอง ของวัดหัวข่วงสิงห์ชัยเสียใหม่ ด้วยการร่วมกันบริจาคเงินทองบ้านละ ๒ ท็อก ๓ ท็อก  เมื่อบูรณะเสร็จจัดงานเฉลิมฉลองกันทั้งเมือง ๕ วัน ๕ คืนพร้อมทั้งประกาศให้ชาวเมืองทราบว่าเมืองโกศัยเรียกชื่อใหม่เป็นเมืองแพล

  พุทธศักราช ๑๗๓๙ เมืองแพลอยู่ในความยึดครองของพม่า มีส่างมังกำระ  ปกครองดูแลร่วมกับเจ้าเมืองแพล  โดยให้ทุกวัดสร้างเสาหงส์ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของเมืองหงสาวดี และได้เปลี่ยนชื่อวัดหัวข่วงสิงห์ชัยเป็นวัดหัวข่วงรามัญ

  พุทธศักราช ๑๘๒๙ เมืองแพล ตกเป็นประเทศราชของอาณาจักรสุโขทัย วัดหัวข่วงรามัญได้รับการบูรณะซ่อมแซมอีกครั้ง พญาแสงฟ้าคำวงศ์ มอบให้ขุนพิษณุบุญมา ก่อสร้างกุฏิสงฆ์ ซ่อมแซมเจดีย์ให้อยู่ในสภาพดี จัดงานเฉลิมฉลอง ๓ วัน ๓ คืน และเปลี่ยนชื่อวัดเป็น วัดหัวข่วงมงคลชัย

  พุทธศักราช ๒๑๐๑ พระเจ้าบุเรงนองแห่งพม่า ยกทัพเข้าโจมตีอาณาจักรลานนา เมืองแพร่ถูกทหารพม่าเผาเมืองและวัดต่าง ๆ วัดหัวข่วงมงคลชัยถูกเผาทำลายลอกเอาทองคำหุ้มพระประธานไปจนหมดสิ้น

  พุทธศักราช ๒๓๖๙ เจ้าเทพวงศ์ เจ้าเมืองแพร่ เป็นประธานบูรณะซ่อมแซมวัดหัวข่วงมงคลชัย  และให้เปลี่ยนชื่อเป็น วัดหัวข่วง

  พุทธศักราช ๒๔๒๘ เจ้าพิมพิสาร เจ้าเมืองแพร่ โปรดให้บูรณะเจดีย์ขยายฐานชั้นล่างให้กว้าง ๕ วา และเปลี่ยนหลังคาวิหารด้วย

  พุทธศักราช ๒๔๓๒ เจ้าพิริยะเทพวงศ์ เจ้าเมืองแพร่คนสุดท้าย โปรดให้ขุนพิษณุลือวิชัย บูรณะซ่อมแซมวัดต่าง ๆ วัดหัวข่วงได้รับการบูรณวิหาร ประดับตกแต่งฐานพระประธานด้วยมุก ประตูด้านหน้าให้แกะสลักเป็นภาพพุทธประวัติ ทำฉัตรเก้าชั้นด้วยเงินจากเมืองตะโก้ง หงสาวดี

  พุทธศักราช ๒๕๕๕  ปีฉลองพุทธชันตี ๒๖๐๐ ปีแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า คณะพระภิกษุสงฆ์สามเณร โดยพระอธิการนพพล  กิตติสาโร  เจ้าอาวาสปัจจุบัน พร้อมคณะศรัทธาชาวชุมชนหัวข่วง ร่วมกันบูรณะปฏิสังขรณ์แท่นพระประธาน  และลงรักปิดทององค์พระประธาน  และพระพุทธรูปในอุโบสถทั้งหมด

  นับได้ว่าวัดหัวข่วง เป็นวัดเก่าแก่ ที่สร้างมาตั้งแต่ประมาณพุทธศักราช ๑๓๘๙ มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจยิ่ง  มีประเพณีงานไหว้พระธาตุเป็นประจำทุกปี ในเดือน ๓ ใต้หรือเดือน ๔ เหนือ โดยกำหนดให้วันขึ้น ๑๔ ค่ำ เป็นวันเจริญพระพุทธมนต์ และมีขบวนแห่เครื่องไทยธรรมจากวัดต่าง ๆ ในเขตปกครองของคณะสงฆ์  วันขึ้น ๑๕ ค่ำ ทำบุญตักบาตรและเวียนเทียน  ซึ่งตรงกับวันมาฆบูชา 

  เมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๕๕ จังหวัดแพร่ ได้ประกาศขึ้นทะเบียนวัดหัวข่วงเป็นแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมของจังหวัด สมควรที่จะได้รับการทำนุบำรุงรักษาไว้ให้เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองสืบไป

  ปัจจุบัน วัดหัวข่วง ตั้งอยู่เลขที่ ๒๑ ถนนคำแสน ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่  มีเนื้อที่ ๓ ไร่ ๒ งาน ๑ ตารางวา โฉดที่ดินเลขที่ ๑๓๐๖  ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา  เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๒ สังกัดคณะสงฆ์ มหานิกาย มีพระอธิการนพพล  กิตติสาโร  เป็นเจ้าอาวาส

 

ตำนานวัดหัวข่วง ผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนได้เล่าสืบต่อๆกันมาว่า “ภายในองค์พระธาตุเจดีย์วัดหัวข่วงนั้นมี สำเภาเงินสำเภาทอง ลักษณะคล้ายเรือสุพรรณหงส์ เป็นยานพาหนะบรรจุพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมกับบรรจุแก้วแหวนเงินทองที่ไม่อาจประมาณมูลค่าได้และยังมีพระพุทธรูปองค์หนึ่ง ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “พระขึด”หรือพระมืด มีลักษณะสีดำเป็นทองสัมฤทธ์ สูงประมาณ ๑ คืบ หน้าตัก ๙ นิ้ว มีความมหัศจรรย์คือ เมื่อนำเอาพระพุทธรูปองค์นี้จุ่มลงในบ่อน้ำ ก็จะปราฎมีทั้งลมและฝนตกอย่างหนักสร้างความเดือดร้อนกับผู้จัดงานเทศกาล อตีดเจ้าอาวาสจึงได้นำไปฝังซ่อนไว้และทำพิธีสาบแช่งไม่ให้ใครนำออกมาสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นอีกต่อไป”เพราะฉนั้นพระเจดีย์วัดหัวข่วง จึงมีดวงแก้วแสดงปาฎิหารย์มาปรากฎให้เห็นที่พ้นวิสัยที่สามัญชนจะทำได้ คือ ดวงแก้วจะปราฎในวันสำคัญทางพุทธศาสนาและดวงแก้วจะท่องเที่ยวไปตามพระเจดีย์ต่างๆ โดยลอยจากเจดีย์วัดหัวข่วงไปพระธาตุช่อแฮและพระธาตุหลวงธาตุเนิ้ง ซึ่งแต่ละแห่งอยู่ห่างกัน ๙ กิโลเมตร


หมายเลขบันทึก: 521620เขียนเมื่อ 7 มีนาคม 2013 09:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มีนาคม 2013 09:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท