การวิจัยเชิงคุณภาพ


การวิจัยเชิงคุณภาพจะแตกต่างกับการวิจัยเชิงปริมาณ เนื่องจากในการวิจัยเชิงปริมาณจะพยายามหลีกเลี่ยงการมีส่วนร่วมของผู้วิจัยเพื่อลดอคติต่างๆ แต่การวิจัยเชิงคุณภาพนั้นตัวผู้วิจัยเองจะเป็นเครื่องมือที่ใช้เพื่อการทำความเข้าใจ แปลความ ในปรากฏการณ์ทางสังคมเหล่านั้น จึงเรียกได้ว่า “ผู้วิจัย เป็น เครื่องมือในการวิจัย” ของการวิจัยเชิงคุณภาพ ซึ่งบางครั้งการตีความในปรากฏการณ์หนึ่งๆก็ไม่จำเป็นต้องมีข้อสรุปอย่างเดียว ขึ้นกับมุมมองและการทำความเข้าใจของผู้วิจัยนั้นๆ เนื่องจากการวิจัยเชิงคุณภาพเชื่อว่าความจริงแท้นั้นไม่ได้มีหนึ่งเดียว แต่ขึ้นกับการตีความผ่านมุมมองซึ่งอาจจะมีหลายมิติก็ได้

          ในบางคำถามงานวิจัย เราไม่สามารถจะหาคำตอบอย่างผิวเผินได้ เรามีความจำเป็นต้องเข้าใจอย่างลุ่มลึกในข้อมูลหรือปรากฏการณ์นั้นๆ การวิจัยเชิงคุณภาพจะช่วยให้เราสามารถเข้าใจความหมาย คุณค่า ของปรากฏการณ์นั้นๆโดยการต่อเรียนประสานความเข้าใจของข้อมูลในรูปแบบต่างๆจะสามารถสร้างเรื่องราวที่สะท้อนในการเข้าใจปรากฏการณ์นั้นๆที่มีความหมาย ซึ่งลักษณะโดยทั่วไปของการวิจัยเชิงคุณภาพ คือ  1 จะมุ่งเน้นไปที่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติจริง 2.การวิจัยจะเกี่ยวข้องกับการศึกษาทำความเข้าใจในปรากฏการณ์ที่ซับซ้อนเหล่านั้น ซึ่งมักจะเป็นการศึกษาที่มีความซับซ้อน มีหลายชั้น หลายมิติในการทำความเข้าใจ

         การวิจัยเชิงคุณภาพจะแตกต่างกับการวิจัยเชิงปริมาณ เนื่องจากในการวิจัยเชิงปริมาณจะพยายามหลีกเลี่ยงการมีส่วนร่วมของผู้วิจัยเพื่อลดอคติต่างๆ แต่การวิจัยเชิงคุณภาพนั้นตัวผู้วิจัยเองจะเป็นเครื่องมือที่ใช้เพื่อการทำความเข้าใจ แปลความ ในปรากฏการณ์ทางสังคมเหล่านั้น จึงเรียกได้ว่า “ผู้วิจัย เป็น เครื่องมือในการวิจัย” ของการวิจัยเชิงคุณภาพ ซึ่งบางครั้งการตีความในปรากฏการณ์หนึ่งๆก็ไม่จำเป็นต้องมีข้อสรุปอย่างเดียว ขึ้นกับมุมมองและการทำความเข้าใจของผู้วิจัยนั้นๆ เนื่องจากการวิจัยเชิงคุณภาพเชื่อว่าความจริงแท้นั้นไม่ได้มีหนึ่งเดียว แต่ขึ้นกับการตีความผ่านมุมมองซึ่งอาจจะมีหลายมิติก็ได้

          ธรรมชาติของการวิจัยเชิงคุณภาพมีความแตกต่างจากการวิจัยเชิงปริมาณค่อนข้างมาก โดยการวิจัยเชิงคุณภาพจะเริ่มต้นจากปัญหาการวิจัยหรือสถานการณ์ที่ผู้วิจัยสนใจ จากนั้นก็จะลงไปเก็บข้อมูลผ่านกระบวนการเชิงคุณภาพที่มีความหลากหลายและวิธีการแตกต่างกัน ทั้งนี้ ด้วยความซับซ้อนดังกล่าว การวิจัยเชิงคุณภาพ จำเป็นต้องมี “การเตรียมตัวและวางแผนอย่างระมัดระวัง” ในทุกๆขั้นตอนเพื่อให้งานวิจัยออกมามีคุณภาพ ตั้งแต่การเตรียมผู้ทำวิจัยให้มีทักษะและมีความชำนาญในการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพ ทักษะการสังเกต สัมภาษณ์ เพราะเป็นสิ่งสำคัญในการได้มาซึ่งข้อมูลในการทำความเข้าใจและความหมายของปรากฏการณ์ต่างๆเหล่านั้น รวมถึงต้องมีความสามารถแยกแยะสิ่งที่มีความสำคัญออกจากสิ่งที่ไม่มีความสำคัญออกจากการเก็บข้อมูลในแต่ละครั้งด้วย การวิจัยเชิงคุณภาพจึงไม่เหมาะกับงานที่ต้องการผลเร็วและวิธีการง่ายๆ เพราะธรรมชาติของการวิจัยที่มีความซับซ้อนและต้องใช้เวลาพอสมควรในการทำความเข้าใจ แยกแยะ ความหมายของปรากฏการณ์ดังกล่าว

  ควรใช้วิจัยเชิงคุณภาพเมื่อใด?

1.  ต้องการพรรณนาธรรมชาติของปรากฏการณ์ สถานการณ์ กระบวนการ หรือระบบใดๆ

2.  ต้องการแปลความหมายของ ปรากฏการณ์ที่สนใจ การสร้างทฤษฎีหรือแนวคิดใหม่ในปรากฏการณ์

3.  ต้องการตรวจสอบความถูกต้อง ของข้อสมมติฐาน ทฤษฎี หรือกฎสากลต่างๆโดยทั่วไป

4.  ต้องการประเมินคุณค่าการให้ความหมายของ กฎระเบียบ สถานการณ์ทางสังคมใดๆ

ชนิดของการวิจัยเชิงคุณภาพ อาจแบ่งเป็น 5 แบบง่ายๆ ดังนี้

1.  Case Study  เป็นการศึกษาเชิงลึกในเคส 1 เคส (หรือจำนวนน้อยๆ) ใช้กันมากในวงการแพทย์ การศึกษา การเมืองการปกครองและอื่นๆ ทั้งนี้เป็นรูปแบบการศึกษาที่เหมาะสมกับการเรียนรู้และทำความเข้าใจในสถานการณ์ที่ยังไม่ชัดเจน มีประโยชน์ในการเป็นหลักฐานเพื่อนำไปสร้างสมมติฐานเบื้องต้น จุดอ่อน คือ การใช้เพียง case เดียวอาจทำให้ไม่สามารถแน่ใจได้ว่า ข้อมูลที่ได้รับจะเป็นตัวแทนที่ดีในสถานการณ์อื่นๆหรือไม่ ขั้นตอนในการศึกษาชนิดนี้ ผู้วิจัยจะเก็บข้อมูลจากการสังเกต สัมภาษณ์ รวบรวมเอกสารหลักฐานต่างๆ จาก “เคส” หรือ “โปรแกรม” ที่ผู้วิจัยสนใจ รวมถึงบริบทของสิ่งแวดล้อมที่อยู่ ณ ขณะช่วงเวลาที่เก็บข้อมูลนั้นๆด้วย เมื่อรวบรวมข้อมูลได้แล้วจะทำการวิเคราะห์ข้อมูลตามขั้นตอนต่างๆ ได้แก่ การจัดเรียงและจัดระบบข้อมูล สกัดข้อมูลสำคัญแต่ละตัว จัดทำโครงสร้างรูปแบบข้อมูลที่มีความสอดคล้องกัน จากนั้นจะทำการสังเคราะห์เป็นข้อสรุปที่ได้

2.  Ethernography  ใช้กันมากในวงการมานุษยวิทยาและสังคมศาสตร์ โดยเป็นการศึกษาอย่างมีส่วนร่วมใน “กลุ่มคน”ที่มีฐานทางวัฒนธรรมเดียวกัน เพื่อศึกษาและทำความเข้าใจในการแสดงออกทางพฤติกรรมของผู้คนที่สะท้อนต่อ โครงสร้างทางวัฒนธรรมร่วมกันในกลุ่มคนนั้นๆ โดยเป็นการศึกษาเพื่อเข้าใจปรากฏการณ์ทาง “วัฒนธรรม” ผู้วิจัยจำเป็นต้องฝังตัวในพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจในวัฒนธรรมนั้นๆ โดยอาจต้องเริ่มต้นจากการมีคนในพื้นที่เป็นผู้พาให้ผู้วิจัยได้เข้าไปอยู่ในพื้นที่นั้นๆ เมื่อเข้าไปได้แล้วผู้วิจัยต้องหาบุคคลสำคัญที่เป็น Key Informant ในการให้ข้อมูลสำคัญกับผู้วิจัย โดยผู้วิจัยจะค่อยๆศึกษาเรียนรู้ผ่านกระบวนการสังเกตอย่างมีส่วนร่วม เพื่อทำความเข้าใจความรู้สึกนึกคิด ผ่านการพูดคุย สัมภาษณ์ และการจดบันทึกต่างๆ ที่ได้จากการสัมผัสกับคนในพื้นที่นั้นจริงๆ ซึ่งผู้วิจัยต้องค่อยๆทำตัวกลืนและและสร้างความเข้าใจกับคนในพื้นที่จนมีการเปลี่ยนแปลงมุมมองจาก”คนนอก” เป็น “คนใน”พื้นที่  ซึ่งข้อดีของการศึกษาแบบนี้คือ จะได้สิ่งที่เป็นความรู้สึก ความเชื่อ จริงๆของกลุ่มคนที่ผู้วิจัยเข้าไปคลุกตัวอยู่นั้นจริงๆ แต่ข้อเสีย คือการคลุกตัวเองให้เข้าใกล้ชิดกับกลุ่มคนนั้นๆ อาจทำให้มีอารมณ์ความรู้สึกอ่อนไหวในบางสิ่ง บางสถานการณ์ จนไม่สามารถศึกษาเรื่องนั้นๆจนเสร็จสิ้นได้

3.  Phenominological Study เป็นการศึกษาเพื่อเข้าใจ ประสบการณ์ ความรู้สึกนึกคิด หรือการรับรู้ของคนต่อปรากฏการณ์ใดปรากฏการณ์หนึ่งโดยการสัมภาษณ์เชิงลึกในกลุ่มคนที่มีประสบการณ์ร่วมกัน ประมาณ 5-25 คน เพื่อหาแก่นของประสบการณ์ร่วมในปรากฏการณ์ใดๆก็ตาม ทั้งนี้ ผู้วิจัยอาจต้องมีการละวางฐานคิดหรือความเชื่อดั้งเดิมของตน ( เรียกว่า Bracketing หรือ epo’che) ในระหว่างการเก็บข้อมูลเพื่อไม่ให้ข้อมูลประสบการณ์ที่ได้จากกลุ่มตัวอย่าง เป็นผลมาจากการสรุปและถอดความจากการมีประสบการณ์ดั้งเดิมของผู้วิจัย

4.  Grounded Theory Study  เป็นรูปแบบการศึกษาที่ใช้การเก็บข้อมูลจากความรู้สึกนึกคิดของผู้คนหลายๆคนตามธรรมชาติ มาสร้างเป็นแนวคิดหรือทฤษฎี ซึ่งโครงสร้างการศึกษาต้องทำย้อนกลับไปมาระหว่างการเก็บรวบรวมข้อมูลกับการวิเคราะห์ข้อมูล ย้อนไปมาจนกว่าจะหาความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องระหว่างข้อมูลต่างๆนั้น จนสามารถสร้างเป็นแนวคิด ทฤษฎีต่างๆได้

5.  Content Analysis  เป็นการศึกษาเชิงคุณภาพเพื่อแยกแยะคุณลักษณะเฉพาะของสิ่งต่างๆ โดยมุ่งเน้นที่รูปแบบของคำพูด การมองเห็น  หรือพฤติกรรมที่ผู้คนใช้สื่อสาร ซึ่งการรวบรวมข้อมูลจะมีการสร้างรหัสและวิเคราะห์ความสัมพันธ์เชื่อมโยงเพื่อแสดงคุณลักษณะของสิ่งที่ผู้วิจัยต้องการจะศึกษา



อ้างอิง

PART III Chapter 7 QualitativeResearch

(Leedy,2005)


คำสำคัญ (Tags): #การวิจัย
หมายเลขบันทึก: 521544เขียนเมื่อ 6 มีนาคม 2013 17:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มีนาคม 2013 17:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณบทความดีๆ ค่ะ

ขอบคุณมากครับ โดยส่วนตัวไม่ค่อยได้ทำปริมาณ แต่ส่วนใหญ่เป็นคุณภาพเพราะเน้นงานทางสังคม..ครับ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท