พ่อแม่(ไม่)ดูละคร...มาชวนลูกเล่น


เด็กเล่นเก่ง เรียนรู้สนุก ต้องเริ่มต้นที่พ่อแม่

เด็กปกติหรือเด็กพิเศษ (หนูน้อยออทิสติก สมาธิสั้น ดาวน์ซินโดรม LD MR CP) ใครก็ตามเมื่ออยู่ในช่วงวัยเด็กก็ต้องการการเล่นเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ โดยเฉพาะเด็กแรกเกิดถึง 6 ปี หากแต่พ่อแม่บางคนเข้าใจผิด คิดว่าวัยเด็กคือวัยเรียน กลับให้เด็กนั่งเขียนแบบฝึกหัดตั้งมากมาย เพื่อให้เด็กเป็นคนเก่ง สอบได้ที่ 1 ได้เข้าเรียนในโรงเรียนที่ดี (ของคุณพ่อคุณแม่) โดยเฉพาะละครสะท้อนให้เรียนรู้ที่สามารถติดตามได้ในตอนนี้คือเรื่อง พรพรหมอลเวง เด็กคนใดก็คงรู้สึกตกที่นั่งลำบากหากต้องเป็นเหมือนดั่งลูกของตัวละครที่ชื่อ ปรางค์ทิพย์ ที่ได้ของขวัญเป็นแบบฝึกหัดเล่มโต ไม่ได้เล่นตุ๊กตาหมี พูดคุยกับสัตว์เลี้ยง หรือการเล่นของเล่นที่ตนเองต้องการ จะเห็นได้ว่าในช่วงวัยเดียวกันเด็กๆ จะต้องได้ทำกิจกรรมต่างๆมากมาย ตั้งแต่การเล่นเพื่อการเคลื่อนไหวของร่างกาย การเล่นเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ การเล่นเพื่อพัฒนาภาษาและการสื่อสาร และการเล่นเพื่อกิจกรรมทางสังคม จะเห็นได้ว่า การเล่นของเด็กไม่ได้เป็นการเล่นที่ไม่มีจุดหมาย หากยกตัวอย่างให้เห็นภาพอย่างชัดเจนเป็น 4 ประเด็นใหญ่ๆ ได้แก่ 

การเล่นเพื่อพัฒนาความสามารถทางกาย ได้แก่ การเล่นเครื่องเล่นสนาม ชิงช้า ม้าหมุน กระดานลื่น กระดานหก วิ่ง ปั่นจักรยาน ปีนป่าย กระโดด ให้เกิดบรรยากาศเหนื่อย-สนุกสนาน เป็นการส่งเสริมความสามารถทางกายที่ให้เด็กสามารถพัฒนาจัดระเบียงร่างกาย การเคลื่อนไหวได้อย่างคล่องแคล่ว กล้ามเนื้อแข็งแรง ไม่เป็นโรคตัวนิ่ม โรคอ้วนตามมา 

การเล่นเพื่อพัฒนาความสามารถทางความรู้ความเข้าใจ ได้แก่ การเล่นเกมกระดาน การเล่นบล๊อกไม้ ตัวต่อ จะส่งเสริมทักษะการแก้ปัญหา การจัดลำดับที่ซับซ้อน รู้จักสี รูปทรง รู้จักสัตว์ ผลไม้ สิ่งของ ซึ่งสิ่งนี้ที่ทำให้ตนเองต้องแปลกใจกับประสบการณ์เมื่อวานที่ผ่านมา เมื่อไปซื้อผักผลไม้ที่ร้านค้าผักปลอดสารในมหาวิทยาลัย และพบนักศึกษาสาวน่าตาสดใส ที่พยายามเลือกกล้วยอยู่ และทันใดนั้นเอง นักศึกษาคนดังกล่าวกลับถามว่า "นี่คือกล้วยน้ำว้าหรือเปล่าค่ะ"  โอ้ย!! น่าสงสัยมาก การแยกกล้วยน้ำว้ากับกล้วยหอมนั้นที่จริงแล้วสามารถทำได้ตั้งแต่อายุ 6 ขวบ เด็กจะเริ่มแยกแยะได้ว่าสิ่งที่เหมือนกัน/ต่างกันเป็นอย่างไร หรือของบางอย่างเป็นของประเภทเดียวกัน แต่มีลักษณะแตกต่างกันในบางอย่างก็เป็นไปได้ ความคิดแบบนี้เรียกว่า ขั้นปฏิบัติการคิดด้านรูปธรรม (Concrete Operation Stage) ของเพียเจต์ โดยเด็กจะพัฒนาการการรู้คิด และเด็กจะสามารถเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ ได้เป็น 6 ขั้นคือ  ขั้นความรู้แตกต่าง  ขั้นรู้สิ่งตรงกันข้าม ขั้นรู้หลายระดับ ขั้นความเปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง ขั้นรู้ผลของการกระทำ ขั้นการทดแทนอย่างลงตัว ซึ่งพ่อแม่สามารถส่งเสริมความสามารถและทักษะของลูกทั้ง 6 ขั้นได้ ตนเองยังสงสัยว่า นักศึกษาคนนั้นไม่รู้จักกล้วยน้ำว้า เพราะเกิดไม่เคยเห็น หรือเพราะแยกกล้วยน้ำว้าและกล้วยหอมไม่ได้จริงๆ

มาต่อที่ การเล่นเพื่อพัฒนาภาษาและการสื่อสาร ได้แก่ การเล่นเพื่อการฟัง พูด อ่าน เขียน ความเข้าใจภาษา คำศัพท์ต่างๆ ผ่านสื่อของเล่นทางภาษาการ์ดภาพ ตัวต่อคำศัพท์ต่างๆ หรือแม้แต่การได้พูดคุยกับคุณพ่อคุณแม่ เืพื่อน รู้จักคำศัพท์ที่ใช้ในการเล่น การเรียบเรียงประโยค การพูดเพื่อให้สามารถสื่อสารกับคนอื่นๆ ได้ พูดให้เป็น ฟังให้ได้ ซึ่งทักษะนี้พอเป็นผู้ใหญ่จะพัฒนาได้ยากสำหรับบางคน เพราะพูดเป็นอย่างเดียว....ฟังไม่ค่อยได้:)

การเล่นเพื่อกิจกรรมทางสังคม ได้แก่ การเล่นสมมติ การเล่นในสถานการร์จำลอง การไปเที่ยว การว่ายน้ำ การเล่นสวนสนุก การเล่นเกมกระดานกับเพื่อน เช่น โดมิโน เกมเศรษฐร บิงโก ซึ่งจะต้องมีการผลัดเปลี่ยนกันเล่น รอคอย และขณะเล่นต้องรู้จักการเข้าใจผู้อื่น เห็นใจเมื่อผู้อื่นแพ้ อ่านใจเพื่อนได้ว่าจะต้องรอคอยตนนานหากตนเองชักช้า ซึ่งสิ่งเหล่านี้นอกจากจะพัฒนาทักษะทางสังคมแล้ว ยังพัฒนาเกี่ยวกับการเห็นใจผู้อื่น เอาใจเขามาใส่ใจเรา....ซึ่งสิ่งนี้ผู้ใหญ่ที่มีลักษณะแบบเอาแต่ใจ และเอาใจเราไปใส่ใจเขา ต้องทบทวนตนเองว่าพัฒนาการของตนในช่วงแรกเกิดมีความพร่องในบางด้านไปหรือเปล่า 

 จะเห็นได้ว่า คุณพ่อคุณแม่นั่งดูละคร มองย้อนดูลูกของตน และยังต้องย้อนกลับมามองตนว่าเลี้ยงลูกเป็นอย่างไร การจะให้ลูกเป็นเด็กเล่นเก่ง เรียนรู้สนุก ต้องเริ่มต้นที่พ่อแม่ ว่าจะหยิบยื่นอะไรให้กับเขาด้วย 

แบบฝึกหัด 100 หน้า หรือ ตัวต่อแสนสนุก 100 ตัว..........ศุกร์นี้สดใส และไปเป็นกำลังใจให้ตันหยง น้องเมย์ และที่สำคัญคือลูกแก้ว ลูกขวัญของคุณแม่ปรางค์ด้วยนะค่ะ 

 


หมายเลขบันทึก: 521060เขียนเมื่อ 1 มีนาคม 2013 14:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กรกฎาคม 2014 01:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

แวะมาขอบคุณในความมุ่งมั่นของอาจารย์ในงานกิจกรรมบำบัดเพื่อชุมชนและเด็กพิเศษครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท