ผู้ให้ ผู้รับ ผู้รับบริการ ผู้ให้การบำบัดฟื้นฟู


     ความสุข   เกิดขึ้นได้เมื่อมีสิ่งที่ดีงามเกิดขึ้น ไม่ว่าสิ่งดีงามนั้นจะเกิดขึ้นมากหรือน้อย สิ่งดีงามก็คือสิ่งดีงาม สิ่งที่ทำให้รู้สึกอิ่มที่ใจแม้จะไม่ได้รับประทานอะไรเข้าไปก็ตาม สิ่งที่ทำให้รู้สึกว่าเกิดรอยยิ้มขึ้นมาในจิตใจไม่ว่าจะมีใครยิ้มให้เราก่อนหรือทำให้เราต้องสนุกสนานไปกับเขาด้วย สิ่งที่ดีงาม คือสิ่งที่เป็นประโยชน์  ..เป็นประโยชน์ต่อผู้รับบริการ  

     ผู้รับบริการ Fracture left olecranon อายุ 50 ปี มือข้างที่ถนัดคือ ข้างขวา พบปัญหาสำคัญคือ มีช่วงการเคลื่อนไหวของแขนซ้ายจำกัด(limit range of motion left upper limb) นั่นคือมีช่วงการเคลื่อนไหวของหัวไหล่ ข้อศอก ส่วนปลายแขน ข้อมือ นิ้วมือซ้ายจำกัด มีอาการแขนซ้ายบวม(edema of left upper limb) อ่อนแรง(muscle weakness of left upper limb) หยิบจับสิ่งของได้ไม่มั่นคง(fair left hand function and hand prehension:grasp+pinch) และมีความต้องการคือสามารถกลับไปทำงาน(ประกอบอาชีพรับจ้าง) และใช้แขนข้างซ้ายทำกิจวัตรประจำวันและกิจกรรมต่างๆได้อย่างเต็มที่

     หลังจากการประเมิน แจกแจงปัญหา ตั้งเป้าประสงค์โดยเรียงลำดับตามความสำคัญและความจำเป็น จากนั้นให้กิจกรรมการบำบัดฟื้นฟูคือ กิจกรรมการออกกำลังกายด้วยตนเอง(active exercise) การฝึกหยิบจับสิ่งของจากชิ้นใหญ่ไปเล็ก(hand function and hand prehension training) การจัดท่าและนวดลดบวม(positioning and retrograde massage edema) รวมทั้งการจับดึงยืดข้อต่อ(passive stretching) ในทุกข้อต่อขอองแขนซ้ายเนื่องจากมีข้อติด(joint stiffness) ขณะทำกิจกรรมทุกกิจกรรม ผู้รับบริการมักถามว่าเมื่อไหร่จะหายป่วย การอธิบายและให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอาการ และพยากรณ์ของโรคเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ผู้รับบบริการเข้าใจโรคและคลายความกังวลเกี่ยวกับโรคลงได้ และขณะทำกิจกรรมผู้รับบริการมีอาการเจ็บและปวดแขนข้างซ้ายแต่เจ็บพอทนได้ โดยเฉพาะในกิจกรรมpassive stretching แต่ด้วยความต้องการหายป่วยและอยากให้แขนซ้ายกลับมาใช้งานได้อย่างเต็มที่ จึงมีความอดทนสูง ตั้งใจทำแต่ละกิจกรรมอย่างเต็มที่ เมื่อเจ็บมากขึ้นผู้รับบริการจะบอกว่าเจ็บแล้ว เจ็บแล้ว พร้อมกับหัวเราะเล็กน้อยที่ตนเองขยับแขนซ้ายอยู่ในท่าที่เอียงไปทั้งตัวและนั่งในท่าทางที่ไม่ตั้งตรง หรือบางครั้งมีการชักมือหนีด้วย หลังจากการบำบัดฟื้นฟูผ่านไป 2 สัปดาห์โดยผู้รับบริการเข้ารับบริการทุกวัน(จันทร์-ศุกร์)  พบว่าผู้รับบริการยังมีอาการข้อติดทุกข้อต่อของแขนซ้าย แต่มีข้อติดน้อยลง ขยับแขนและมือได้มากขึ้น แขนซ้ายมีอาการบวมลดลง และสามารถหยิบจับสิ่งของชิ้นใหญ่ได้มั่นคงแต่ยังหยิบจับสิ่งของชิ้นเล็กได้ไม่มั่นคง(good left hand function and hand prehension : grasp / fair : pinch) 

     การประเมินซ้ำหลังจากให้บริการทางกิจกรรมบำบัด 2 สัปดาห์ ทำให้พบว่าผู้รับบริการมีอาการดีขึ้น นอกจากผู้รับบริการจะรู้สึกผ่อนคลายความกังวล เรื่องการเจ็บป่วยแล้ว  ผู้รับบริการยังมีความสุขเพิ่มขึ้นจากการสะท้อนกลับข้อมูลก่อนการบำบัดฟื้นฟู และหลังการบำบัดฟื้นฟูว่าเป็นอย่างไร ซึ่งถือว่าเป็นการให้กำลังใจผู้รับบริการอีกทางหนึ่ง ส่งผลให้ส่งเสริมความสามารถ ความสุขในการกลับไปทำกิจกรรมการทำงานและใช้แขนซ้ายได้อย่างเต็มที่ตามความต้องการของผู้รับบริการ ส่งผลต่อยอดให้ผู้รับบริการใช้ชีวิตได้อย่างอิสระ และมีความสุขในชืวิต... และไม่เพียงแต่ผู้รับบริการที่มีความสุข ผู้ให้การบำบัดฟื้นฟู ก็รู้สึกได้ว่า เกิดรอยยิ้มขึ้นบนใบหน้าของตน และที่ใจก็รู้สึกดี ที่อาการของผู้รับบริการมีความก้าวหน้าในทางที่ดีขึ้น ทำให้บางทีลองคิดย้อนถึงคำที่ว่าผู้ให้กับผู้รับ ผู้ให้มักจะมีความสุขมากที่ได้ให้อะไรแก่คนๆหนึ่งไป แต่ความสุขจะมากยิ่งกว่า ไม่ใช่เพราะผู้รับเห็นถึงความสำคัญของสิ่งที่ให้ไป แต่เป็นเพราะการที่ผู้รับได้ รับประโยชน์ จากสิ่งนั้นจริงๆ

หมายเลขบันทึก: 521022เขียนเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2013 23:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มีนาคม 2013 23:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท