Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

กรณีศึกษากฎกระทรวงตามมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๓ ใหม่ : กรอบในการกำหนดเนื้อหา ? แนวคิดหลักในการกำหนดเนื้อหา ?


โดยกลไกเพื่อปฏิบัติตาม พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งถูกเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ รัฐมนตรีดังกล่าวย่อมได้รับ “การเสนอแนะและให้ความเห็น[1]โดยคณะกรรมการกลั่นกรองเกี่ยวกับสัญชาติ[2] ซึ่งการเสนอแนะและความเห็นของคณะกรรมการนี้ก็ย่อมเป็นไปตามกรอบที่กำหนดโดยมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๓ เช่นกัน กล่าวคือ (๑) เป้าหมายของกฎกระทรวงตามมาตรานี้ย่อมเป็นไปเพื่อกำหนดฐานะและเงื่อนไขการอยู่ของคนต่างที่เกิดในประเทศไทยแต่ไม่ได้สัญชาติไทยโดยผลอัตโนมัติของกฎหมายเพราะตกอยู่ภายใต้มาตรา ๗ ทวิ วรรค ๑ ตลอดจน (๒) เนื้อหาของกฎกระทรวงย่อมต้องไม่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน และ (๓) ต้องไม่ขัดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ดังนั้น หากคณะกรรมการนี้เสนอร่างกฎกระทรวงฯ ที่ขัดต่อเจตนารมย์ของมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๓ ใหม่ รัฐมนตรีก็ไม่ควรเห็นชอบเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี หรือหากคณะกรรมการนี้เสนอร่างกฎกระทรวงฯ บนสมดุลย์ของหลักสิทธิมนุษยชนและความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร รัฐมนตรีนี้ก็ควรจะเห็นชอบเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ ทั้งคณะกรรมการฯ และรัฐมนตรีฯ ก็ย่อมจะต้องเคารพเจตนารมย์ของมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๓ ใหม่ ตลอดจน หลักนิติธรรมตามมาตรา ๓ วรรค ๒ แห่ง แห่ง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ และในท้ายที่สุด หลักสิทธิมนุษยชนในกฎหมายระหว่างประเทศลายลักษณ์อักษรที่ผูกพันประเทศไทย

ในคำถามที่ว่า เนื้อหาของกฎกระทรวงตามมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๓ ใหม่ ควรจะเป็นอย่างใด ? รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยย่อมมีอำนาจดุลพินิจที่จะยกร่างได้ตามอำเภอใจหรือไม่ ? มีกรอบการทำงานอย่างไร ? หรือไม่ ?

 คำตอบในประการแรก ก็คือ เนื้อหาของกฎกระทรวงย่อมจะต้องเป็นไปภายใต้กรอบความคิดที่กำหนดโดยวรรคต้นของมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๓ ใหม่ โดยกลไกเพื่อปฏิบัติตาม พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งถูกเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ รัฐมนตรีดังกล่าวย่อมได้รับ “การเสนอแนะและให้ความเห็น[1]โดยคณะกรรมการกลั่นกรองเกี่ยวกับสัญชาติ[2]  ซึ่งการเสนอแนะและความเห็นของคณะกรรมการนี้ก็ย่อมเป็นไปตามกรอบที่กำหนดโดยมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๓ เช่นกัน กล่าวคือ (๑)  เป้าหมายของกฎกระทรวงตามมาตรานี้ย่อมเป็นไปเพื่อกำหนดฐานะและเงื่อนไขการอยู่ของคนต่างที่เกิดในประเทศไทยแต่ไม่ได้สัญชาติไทยโดยผลอัตโนมัติของกฎหมายเพราะตกอยู่ภายใต้มาตรา ๗ ทวิ วรรค ๑  ตลอดจน (๒) เนื้อหาของกฎกระทรวงย่อมต้องไม่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน และ (๓) ต้องไม่ขัดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ดังนั้น หากคณะกรรมการนี้เสนอร่างกฎกระทรวงฯ ที่ขัดต่อเจตนารมย์ของมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๓ ใหม่ รัฐมนตรีก็ไม่ควรเห็นชอบเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี หรือหากคณะกรรมการนี้เสนอร่างกฎกระทรวงฯ บนสมดุลย์ของหลักสิทธิมนุษยชนและความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร รัฐมนตรีนี้ก็ควรจะเห็นชอบเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ ทั้งคณะกรรมการฯ และรัฐมนตรีฯ ก็ย่อมจะต้องเคารพเจตนารมย์ของมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๓ ใหม่ ตลอดจน หลักนิติธรรมตามมาตรา ๓ วรรค ๒ แห่ง แห่ง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ และในท้ายที่สุด หลักสิทธิมนุษยชนในกฎหมายระหว่างประเทศลายลักษณ์อักษรที่ผูกพันประเทศไทย

คำตอบในประการที่สอง ก็คือ เนื้อหาของกฎกระทรวงย่อมเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนในเรื่องการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว (Principle of Family Unification) เราจะพบว่า แม้ไม่มีกฎกระทรวงตามมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๓ ใหม่ หลักสิทธิมนุษยชนดังกล่าวก็ได้รับความเคารพจากทางปฏิบัติของรัฐไทย หลักดังกล่าว ก็คือ บุตรผู้เยาว์ย่อมมีลักษณะการเข้าเมืองและการอาศัยอยู่ตามบุพการีที่มีอำนาจปกครองตน ดังนั้น บุตรต่างด้าวผู้เยาว์ที่เกิด “นอก” ประเทศไทยก็ย่อมมีสถานะบุคคลทั้งในสถานะ “คนเข้าเมือง” และ “คนอาศัยอยู่” ภายใต้กฎหมายการเข้าเมืองตามบุพการีที่มีอำนาจปกครอง แต่ในกรณีของบุตรต่างด้าวผู้เยาว์ที่เกิด “ใน” ประเทศไทยก็ย่อมมีสถานะบุคคลในสถานะ “คนอยู่” ตามกฎหมายคนเข้าเมืองตามบุพการีที่มีอำนาจปกครอง เนื่องจากบุตรที่เกิดในประเทศไทย มิได้เข้าเมืองมา จึงไม่จำเป็นต้องมีการกำหนดฐานะและเงื่อนไขของการเข้าเมือง มีความจำเป็นต้องกำหนดฐานะและเงื่อนไขการอยู่เท่านั้น

ในกรณีที่บุพการีต่างด้าวมีฐานะและเงื่อนไขการอยู่ในประเทศไทยที่ต่างกัน โดยหลักกฎหมายคุ้มครองเด็กที่ประเทศไทยยอมรับ[3] ประเทศไทยก็มีทางปฏิบัติอยู่แล้วที่กำหนดให้บุตรผู้เยาว์มีฐานะและเงื่อนไขการอยู่ตามบุพการีที่มีลักษณะการอยู่ที่เป็นคุณต่อบุตรมากที่สุด อาทิ หากบิดามีสิทธิอาศัยถาวรในขณะที่มารดาไม่มีสิทธิอาศัยแต่อย่างใด บุตรผู้เยาว์ก็ย่อมจะมีฐานะและเงื่อนไขการอยู่ตามบิดา ซึ่งมีลักษณะการอยู่ที่เป็นคุณต่อบุตรมากที่สุด

แต่ในกรณีที่บุพการีต่างด้าวทั้งสองมีสถานะเป็นคนต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎฆมายและไม่มีสิทธิอาศัยตามกฎหมายไทยว่าด้วยการเข้าเมืองแต่อย่างใด บุตรผู้เยาว์ก็ไม่อาจมีสิทธิอาศัยในประเทศไทยด้วยเช่นกัน แต่เฉพาะบุตรผู้เยาว์ที่เกิดนอกประเทศไทยเท่านั้นที่จะมีสถานะเป็นคนต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎหมายตามบุพการีและอาจได้รับโทษอาญาในลักษณะเดียวกับบุพการี แต่ในส่วนบุตรผู้เยาว์ที่เกิดในประเทศไทยนั้น ไม่อาจมีสถานะเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย เพราะเขาเป็นคนเกิดในประเทศไทย จึงไม่อาจได้รับโทษทางอาญาตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒  แต่อย่างไรก็ตาม ในเรื่องฐานะและเงื่อนไขการอยู่ในประเทศไทยนั้น บุตรผู้เยาว์ดังกล่าวย่อมไม่มีสิทธิอาศัยแต่อย่างใด เมื่อบุพการีต้องถูกส่งกลับออกนอกประเทศไทย โดยหลัก บุตรผู้เยาวดังกล่าวก็มีหน้าที่ติดตามบุพการีออกไปจากประเทศไทยด้วย เว้นแต่จะมีเหตุผลพิเศษอื่นๆ[4]

การเรียกร้องให้บุตรผู้เยาว์ที่เกิดในประเทศไทยจากบุพการีต่างด้าวที่มีลักษณะการเข้าเมืองไม่ถาวรมีสิทธิอาศัยอยู่ในลักษณะถาวรนั้น ก็เป็นการขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนว่าด้วยการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว (Principle of Family Unification) และยังขัดต่อหลักความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรอย่างชัดเจน หากเราตระหนักว่า ความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยยังไม่เอื้อต่อความรับผิดชอบคนสัญชาติไทยจำนวนมากๆ ที่จะเกิดขึ้น  แนวคิดที่ยอมรับให้สิทธิอาศัยถาวรให้แก่คนเกิดในประเทศไทยทุกคนย่อมจะทำให้บุตรที่เกิดในประเทศไทยของคนดังกล่าวมีสถานะเป็นคนสัญชาติไทยโดยผลของกฎหมาย ซึ่งสถานการณ์นี้ก็จะเป็นสถานการณ์ภายใต้ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๓๗ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๕ ซึ่งฝ่ายนิติบัญญัติของรัฐไทยทั้งใน พ.ศ.๒๕๓๕ และ พ.ศ.๒๕๕๑ ไม่ยอมรับเป็นแนวคิดในการกำหนดสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนโดยผลอัตโนมัติของกฎหมาย การผลักดันความคิดในลักษณะสุดโต่งเช่นนี้จึงขัดต่อหลักความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรเช่นกัน

คำตอบในประการที่สาม ก็คือ เนื้อหาของกฎกระทรวงย่อมเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนในเรื่องการคุ้มครองเด็กที่ขาดไร้บุพการีหรือพลัดพรากจากบุพการี (Principle of Child Protection) อีกด้วย  โดยข้อเท็จจริงในทุกสังคม เด็กและเยาวชนต่างด้าวอาจประสบปัญหาความไร้บุพการีหรือพลัดพรากจากบุพการี ดังนั้น กฎกระทรวงตามมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๓ ใหม่ ย่อมจะต้องตอบคำถามดังกล่าวด้วยเพื่อคุ้มครองสิทธิเด็กในสถานการณ์นี้  ในลักษณะที่เด็กไม่อยู่ภายใต้การปกครองตามกฎหมายครอบครัวของบุพการีตามธรรมชาติ เด็กแม้เป็นคนต่างด้าวก็ควรมีสิทธิเข้าเมืองและอาศัยอยู่ตามบุพการีที่มีอำนาจปกครองตามกฎหมายแพ่งว่าด้วยครอบครัว ในสถานการณ์ที่พบเห็นในประเทศไทย เราพบเด็กที่ขาดไร้บุพการีตามธรรมชาติใน ๓ สถานการณ์ย่อย กล่าวคือ (๑) เด็กในความดูแลของสถานสงเคราะห์ของรัฐภายใต้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (๒) เด็กในความดูแลของครอบครัวที่สถานสงเคราะห์ของรัฐให้ความเห็นชอบ และ (๓) เด็กในความดูแลของครอบครัวที่สถานสงเคราะห์ของรัฐยังมิได้ให้ความเห็นชอบ

มื่อย้อนกลับมาพิจารณาถึงฐานะและเงื่อนไขการอยู่ของเด็กและเยาวชนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทยที่ควรจะกำหนดในกฎกระทรวงตามมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๓ ใหม่นั้น ก็น่าจะเป็นไปตามหลักเดิมที่ปรุงแต่งโดยกฎหมายบ้านเมือง กล่าวคือ เด็กและเยาวชนต่างด้าวก็ควรจะมีสิทธิอาศัยตามบุคคลที่มาทำหน้าที่แทนบุพการีตามธรรมชาติ ซึ่งคำตอบ ก็น่าจะเป็นไปดังนี้

ในสถานการณ์ที่เด็กและเยาวชนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทยอยู่ในความดูแลของสถานสงเคราะห์ของรัฐภายใต้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พวกเขาก็ควรมีสิทธิอาศัยในประเทศไทย ซึ่งนโยบายของรัฐไทยในช่วงที่ไม่มีกฎกระทรวงนี้ ก็เป็นไปในทิศทางนี้มาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๘ และนอกจาก กฎหมายสัญชาติไทยที่ปฏิรูปใน พ.ศ.๒๕๕๑ ยังกำหนดเป็นหน้าที่ของผู้ปกครองสถานสงเคราะห์ที่มีหน้าที่ที่จะผลักดันการแปลงสัญชาติเป็นไทยตามมาตรา ๑๒/๑ (๑)[5] แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ ให้แก่เด็กที่อยู่ความดูแลของสถานสงเคราะห์มาแล้ว ๑๐ ปี

ในสถานการณ์ที่เด็กและเยาวชนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทยอยู่ในความดูแลของครอบครัวที่สถานสงเคราะห์ของรัฐให้ความเห็นชอบ พวกเขาก็ควรมีสิทธิอาศัยในประเทศไท ในสถานการณ์นี้ ครอบครัวที่อุปการะเด็กอาจจะเป็นคนสัญชาติไทยหรือคนต่างด้าวก็ได้ และการอุปการะนั้นอาจจะไปถึงการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมหรือไม่ ก็ได้ โดยหลักกฎหมายเพื่อคุ้มครองเด็กในภาวะยากลำบากเช่นนี้ เด็กก็ควรมีสิทธิอาศัยตามบุพการีอุปถัมภ์หรือบุญธรรม นั่นก็คือ ถ้าครอบครัวดังกล่าวเป็นคนสัญชาติไทย เด็กก็ควรมีสิทธิอาศัยในประเทศไทยตราบเท่าที่ยังอยู่ในความดูแลของครอบครัวดังกล่าว หรือถ้าครอบครัวดังกล่าวเป็นคนต่างด้าว เด็กก็ควรมีสิทธิอาศัยในประเทศไทยตามบุพการีอุปถัมภ์หรือบุญธรรมนั้นๆ  แต่ในสถานการณ์นี้ การปฏิรูปกฎหมายสัญชาติใน พ.ศ.๒๕๕๑ ยังกำหนดให้อำนาจแก่ผู้รับบุญธรรมสัญชาติไทยที่จะผลักดันการแปลงสัญชาติเป็นไทยตามมาตรา ๑๒/๑ (๓)[6] แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ ให้แก่บุตรบุญธรรมผู้เยาว์เมื่อผ่านการรับบุตรบุญธรรมมาแล้วไม่น้อยกว่า ๕  ปี

ในสถานการณ์ที่เด็กและเยาวชนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทยอยู่ในความดูแลของครอบครัวที่ในความดูแลของครอบครัวที่สถานสงเคราะห์ของรัฐยังมิได้ให้ความเห็นชอบ ในสถานการณ์นี้ แนวคิดในการจัดการที่ควรเป็นในกฎกระทรวงตามมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๓ ใหม่ ก็คือ การกำหนดให้ครอบครัวที่อุปการะเด็กและเยาวชนเข้าสู่กระบวนการให้ความเห็นชอบตามกฎหมายคุ้มครองเด็กที่เกี่ยวข้อง และการยอมรับฐานะและเงื่อนไขการอยู่ในประเทศไทยก็ย่อมเป็นไปตามสิทธิอาศัยในประเทศไทยที่ครอบครัวอุปถัมภ์หรือบุญธรรมที่สถานสงเคราะห์เห็นชอบแล้ว  

คำตอบในประการที่สี่ ก็คือ เนื้อหาของกฎกระทรวงย่อมเป็นไปตามหลักกฎหมายการเข้าเมืองสากลที่นานาอารยประเทศยอมรับอีกด้ว เมื่อคนเกิดในประเทศไทยบรรลุนิติภาวะแล้ว ฐานะและเงื่อนไขการอยู่ของคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทยนั้นก็ย่อมเป็นไปตามธรรมชาติของตนเอง ไม่ขึ้นอยู่กับบุพการีตามธรรมชาติหรือบุพการีอุปถัมภ์หรือบุพการีบุญธรรมอีกต่อไป หลักปฏิบัติที่ยอมรับกันแม้ในช่วงที่ยังไม่มีกฎกระทรวงตามมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๓ ใหม่ ของรัฐไทย ก็เป็นไปในลักษณะที่สอดคล้องกับหลักกฎหมายการเข้าเมืองสากล นั่นก็คือ (๑) ในกรณีที่คนเกิดในประเทศไทยในสถานการณ์ทั่วไป เงื่อนไขการอยู่ในประเทศไทยย่อมเป็นไปตาม ๑๕ ลักษณะที่กำหนดในมาตรา ๓๔ แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒  ระยะเวลาที่อนุญาตให้อาศัยอยู่ก็จะเป็นไปตามมาตรา ๓๕ แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒  และ (๒) ในกรณีที่คนเกิดในประเทศไทยในสถานการณ์พิเศษเฉพาะเรื่อง เงื่อนไขและระยะเวลาการอยู่ในประเทศไทยย่อมเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีที่เสนอโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๑๗ แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒  จนถึงปัจจุบัน คณะรัฐมนตรียอมรับเหตุเฉพาะเรื่องที่นำไปสู่การกำหนดสิทธิอาศัยในประเทศไทยใน ๖ ลักษณะย่อย กล่าวคือ (๑) การอนุญาตให้สิทธิอาศัยแก่ชนกลุ่มน้อยไร้รัฐไร้สัญชาติที่อพยพหนีภัยความตายเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้านนานแล้วจนมีความกลมกลืนทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมกับสังคมไทย  (๒) การอนุญาตให้สิทธิอาศัยแก่บุคคลที่ประสบความไร้รัฐไร้สัญชาติที่ศึกษาในสถาบันการศึกษาไทย (๓) การอนุญาตให้สิทธิอาศัยแก่บุคคลที่ประสบความไร้รัฐไร้สัญชาติที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศไทยอย่างชัดเจน (๔) การอนุญาตให้สิทธิอาศัยแก่บุคคลที่ประสบความไร้รัฐไร้สัญชาติเพราะตกเป็นคนไร้รากเหง้าทั้งแท้และเทียม (๕) การอนุญาตให้สิทธิอาศัยแก่บุคคลที่ประสบความไร้รัฐไร้สัญชาติที่อาสาเข้ามาทำงานไร้ฝีมือในสาขาอาชีพที่ประเทศไทยขาดแคลน และ (๖) การอนุญาตให้สิทธิอาศัยแก่บุคคลที่ประสบความไร้รัฐไร้สัญชาติหรือเสมือนไร้รัฐไร้สัญชาที่มีสาเหตุอันไม่อาจกลับออกไปจากประเทศไทยได้ อาทิ คนหนีภัยความตายจากรัฐต้นทางของบุคคล

เมื่อย้อนกลับมาพิจารณาถึงท่าทีของกฎกระทรวงตามมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๓ ใหม่ในเรื่องนี้  การยอมรับสิทธิอาศัยในลักษณะเดียวกันแก่คนเกิดในประเทศไทยก็น่าจะเป็นจุดที่สมดุลย์ระหว่างสิทธิมนุษยชนและความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร



[1] เป็นองค์กรที่ตั้งโดย มาตรา ๒๗ แห่ง  พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งถูกเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ ซึ่งบัญญัติว่า “คณะกรรมการมีหน้าที่เสนอแนะและให้ความเห็นต่อรัฐมนตรีในการใช้อำนาจตามมาตรา ๗ ทวิ มาตรา ๙ มาตรา ๑๑ มาตรา ๑๒ มาตรา ๑๒/๑ มาตรา ๑๔ มาตรา ๑๕ มาตรา ๑๖ มาตรา ๑๗  มาตรา ๑๘  มาตรา ๑๙ และมาตรา ๒๔ และการออกกฎกระทรวงตามพระราชบัญญัตินี้ ในการใช้อำนาจและดำเนินการดังกล่าวให้รัฐมนตรีรับฟังข้อเสนอแนะและความเห็นของคณะกรรมการประกอบด้วย”

[2] เป็นองค์กรที่ตั้งโดย มาตรา ๒๕ แห่ง  พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งถูกเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ ซึ่งบัญญัติว่า

ให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองเกี่ยวกับสัญชาติ ประกอบด้วย

(๑) ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานกรรมการ 

(๒) ผู้แทนกระทรวงกลาโหม ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ ผู้แทนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผู้แทนกระทรวงยุติธรรม ผู้แทนกระทรวงแรงงาน ผู้แทนสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุดผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  ผู้แทนสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ผู้แทน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง

(๓) ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกินหกคนซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์การทำงานด้านสัญชาติเป็นที่ประจักษ์เป็นกรรมการ

ให้อธิบดีกรมการปกครองเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้อธิบดีกรมการปกครองแต่งตั้งข้าราชการของกรมการปกครองอีกสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ”

[3] ทั้งนี้ เป็นไปตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก ค.ศ.๑๙๘๙/พ.ศ.๒๕๓๒ ซึ่งประเทศไทยยอมผูกพันเป็นภาคี และมี พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๖ เป็นกฎหมายหลักในการรองรับพันธกรณีระหว่างประเทศดังกล่าว

[4] อาทิ บุตรผู้เยาว์ดังกล่าวได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่เพื่อการศึกษาในประเทศไทย

[5]ซึ่งบัญญัติว่า “ในการขอแปลงสัญชาติเป็นไทยตามมาตรา ๑๒ นั้น บุคคลอื่นอาจขอแปลงสัญชาติเป็นไทยให้แก่บุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทยได้ ในกรณีดังต่อไปนี้(๒) ผู้ปกครองสถานสงเคราะห์ของรัฐตามที่รัฐมนตรีกำหนด เมื่อได้รับความยินยอมของผู้เยาว์แล้วอาจขอแปลงสัญชาติเป็นไทยให้แก่ผู้เยาว์ซึ่งอยู่ในความดูแลของสถานสงเคราะห์มาไม่น้อยกว่าสิบปี โดยให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องมีคุณสมบัติตามมาตรา ๑๐ (๑) และ (๓)”

[6]ซึ่งบัญญัติว่า “ในการขอแปลงสัญชาติเป็นไทยตามมาตรา ๑๒ นั้น บุคคลอื่นอาจขอแปลงสัญชาติเป็นไทยให้แก่บุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทยได้ ในกรณีดังต่อไปนี้  (๓) ผู้รับบุตรบุญธรรมซึ่งเป็นผู้มีสัญชาติไทยอาจขอแปลงสัญชาติเป็นไทยให้แก่บุตรบุญธรรมที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะซึ่งได้จดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี และมีหลักฐานแสดงให้เชื่อได้ว่าเป็นผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยให้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องมีคุณสมบัติตามมาตรา ๑๐ (๑) และ (๓)”


หมายเลขบันทึก: 520781เขียนเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2013 14:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2013 03:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท