พูดกับฉันด้วยเสียงอันแท้จริง


น้ำเสียงที่หมอใช้พูดกับผู้รับบริการนั้น เป็นแบบไหน

มนุษย์สื่อสารด้วยน้ำเสียง เรามีปฏิสัมพันธ์กับคนในกลุ่มต่างๆ ด้วยน้ำเสียงที่แตกต่างกัน

ผมสังเกตว่า บางทีเราปั้นแต่ง น้ำเสียง "เฉพาะ" ให้ "ฟังดูเป็นหมอ" เวลาเราสื่อสารกับผู้รับบริการ

หมอต้องการสื่ออะไรในน้ำเสียงนั้นกันหนอ

น้ำเสียงที่ "ฟังดูเป็นหมอ" ก็เป็นเครื่องมือในการสื่อสารชนิดหนึ่ง น้ำเสียงในที่นี้ เป็น อวัจนภาษา

หากการ "ฟังดูเป็นหมอ" นั้นสามารถสร้างความไว้วางใจ ความเชื่อมั่น และความผ่อนคลายให้กับผู้รับบริการ คงเป็นการดี

อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่เคยเป็น "คนไข้" เวลาได้ยินหมอปั้นแต่งน้ำเสียงของความเป็นหมอ กลับไม่รู้สึกถึงความผ่อนคลาย หากแต่รู้สึกได้ว่า นี่คือการแบ่งแยกฉันออกเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งต่างหาก ที่สำคัญเป็นกลุ่มที่ปราศจากอำนาจเสียด้วย

ผมติดข้องกับเรื่องนี้มาเกือบสามปีแล้ว พยายามสังเกตตัวเองว่า เวลาพูดกับผู้มารับบริการนั้น ผมใช้น้ำเสียงอย่างไร และผมรู้สึกอย่างไร

จากการสังเกตได้ผลว่า ใน visit แรก การพบกันครั้งแรกนั้น เรายังมีน้ำเสียงของการ "ไว้มาด" ความเป็นหมอ อยู่ แต่เมื่อคุ้นเคยกันมากขึ้น น้ำเสียงของผมจะเปลี่ยนไป เปลี่ยนไปเป็นมนุษย์มากขึ้น...เป็นหมอน้อยลง เป็นน้ำเสียงที่ผมพูดกับเพื่อน พูดกับคนในครอบครัว

ผมสังเกตว่า เมื่อน้ำเสียงที่ใช้ในการสื่อสารกันเปลี่ยนไป ความรู้สึกต่อกันก็เปลี่ยนไปด้วย เราสื่อสารกันในฐานะมนุษย์ที่มีศักดิ์เท่าเทียมกัน ร่วมกันแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

สำหรับผม การเปลี่ยนมุมมองเปลี่ยนความคิด เรื่องอำนาจระหว่าง หมอ-คนไข้ ที่มีอำนาจไม่เท่ากัน มาเป็นการสนทนาระหว่างเพื่อนมนุษย์ ที่ร่วมกันแก้ปัญหาตรงหน้า นี่คือสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราพูดกันด้วยเสียงที่แท้จริงของเราได้

หมายเลขบันทึก: 520712เขียนเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2013 20:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2013 20:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท