นม


คนที่มีอาการท้องผูก เช่น ถ่ายอุจจาระทุกวันแต่แข็งเหลือเกินถ่ายลำบาก หรือคนที่หลายวันจึงถ่ายอุจจาระสักครั้ง อยากจะถ่ายบ่อยขึ้น อาจใช้นมเป็นอาหารแต่ปรับให้ปริมาณมากพอ ที่จะมีผลทำให้อุจจาระนิ่มลงหรือถ่ายบ่อยขึ้น

เช้าวันหนึ่งในปี พ.ศ. 2501 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีรถหกล้อสองคันบรรทุกนมขวดใส่ลังแช่เย็นเต็มคันรถมาจอดที่หน้าตึกชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ นมนี้แจกให้ดื่มฟรี นิสิตเก่ารุ่นๆนั้นน่าจะยังพอจำเหตุการณ์ได้นมขวดสมัยนั้นเรียกกันว่า “นมสด”ปัจจุบันเป็นทางการคงเรียกว่า “นมผงคืนรูปบรรจุขวดพร้อมดื่ม” ซึ่งก็คือ นมผงละลายน้ำใส่ขวดขายนั่นเอง ราคาขายขวดละ 2.50 บาทในขณะที่โคล่าขวดละ 1.00 บาท จึงไม่แปลกที่ขายไม่สู้จะคล่องนักวันนั้นจึงเป็นวันเริ่มต้นของโปรโมชั่น ผมกับนิสิตชั้นเดียวกันทราบข่าวตอนเลิกเรียนครึ่งเช้าก่อนเที่ยงเล็กน้อยรีบเดินไปที่รถแต่ก็ช้าไปเหลือแต่ขวดเปล่า รถมาจอดตั้งแต่ประมาณ 11.00 น นิสิตคณะอื่นที่ไม่มีชั่วโมงเรียนช่วงเช้าแวะมาจัดการเรียบร้อยไปหมดแล้วรุ่งขึ้นอีกวันเราเลิกเรียนเลยเที่ยงไปหลายนาที นึกว่าอดอีกแล้ว พอไปถึงก็แปลกใจเล็กน้อยที่ยังมีเหลือเกือบครึ่งคันรถก็ไม่รังเกียจที่จะดื่มกันคนละขวดสองขวดหรือสามขวด จะได้ทุ่นอาหารกลางวันไปได้มื้อหนึ่งแต่ตกบ่ายก็หิวอยู่ดี วันที่สาม นมขวดเหลือเกินกว่าครึ่งคันรถทั้งสองคัน แทนที่จะเห็นนิสิตดื่มนมกลับเห็นจับกลุ่มคุยกันทุกกลุ่มคุยเรื่องเดียวกัน คือสงสัยว่าบริษัทเอานมเก่าเก็บที่ขายไม่ออกมาแจกทำให้พวกเราท้องเสียไปตามๆกัน (ครับ ผมด้วย) เป็นอันว่าโปรโมชั่นครั้งนั้นล้มเหลว

เวลาผ่านไปเกือบสิบปีวิชาการจึงตามทัน ได้คำอธิบายใหม่ว่า ท้องเสียครั้งนั้นถือได้ว่าเป็นเรื่องธรรมชาติไม่ใช่เรื่องโรค เป็นธรรมดาของมนุษย์ที่ไม่ใช่ฝรั่ง เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้วส่วนใหญ่ (กว่าร้อยละ 80) ลำไส้จะเหลือเอ็นไซม์ไม่เพียงพอสำหรับย่อยน้ำตาลในนม(น้ำตาลแล็กโตส) หากดื่มนมเกินกว่าหนึ่งแก้ว(ประมาณ 240 ซีซี) มีโอกาสสูงที่จะท้องเสีย เพราะน้ำตาลแล็กโตสที่คนย่อยไม่ได้แต่แบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ย่อยได้สารที่เป็นผลจากการย่อยของแบคทีเรียที่ลำไส้คนดูดซึมไม่ได้ถูกขับออกมาต้องพาน้ำมาด้วยเป็นเหตุให้อุจจาระมีน้ำเพิ่มมากขึ้น จนอุจจาระเหลวได้ ปัญหานี้แก้ไขได้ด้วยการไม่ดื่มนมครั้งละมากนักหรือดื่มนมเปรี้ยวแทน (ในกระบวนการทำนมเปรี้ยว แบคทีเรียแล็กโตบาซิลลัสใช้น้ำตาลแล็กโตสเป็นอาหารจนไม่มีเหลือ)อย่างไรก็ตาม ราคานมที่ค่อนข้างจะแพง (เมื่อเทียบกับเครื่องดื่มประเภทอื่น)นี่แหละ กลับเป็นประโยชน์ช่วยให้คนไม่ดื่มนมครั้งละมากนัก (เรียกให้เก๋ก็ว่า เป็นกลไกจำกัดปริมาณการดื่มนม) ปัญหาท้องเสียจากนมจึงไม่ปรากฏให้เห็นบ่อยนักแต่การแจกฟรีแบบไม่จำกัดปริมาณนี่สิ เป็นการฝ่าฝืนกลไกที่ช่วยควบคุมอยู่ จึงเป็นเหตุทำให้นิสิตท้องเสียและโปรโมชั่นล้มเหลว 

แต่โปรโมชั่นที่ได้ผลดีก็เกิดเรื่องได้เหมือนกัน  เมื่อประมาณกว่าสิบปีมาแล้ว นมแคลเซียมสูงมาแรงได้รับการตอบรับดีมากจากสตรีสูงวัยและใกล้จะสูงวัย ภายในไม่กี่เดือนผมก็มีคนไข้มาหาในรูปแบบเฉพาะคือลูกสาววัยประมาณ 40 ปี พาคุณแม่มาหาหมอ ด้วยอาการท้องปั่นป่วนและถ่ายอุจจาระบ่อยเป็นที่น่ารำคาญ โดยไม่มีอาการอื่น สองรายแรกกว่าจะพบสาเหตุก็ต้องซักถามกันอยู่นานรายต่อๆจากนั้น เมื่อเห็นลูกสาวจูงคุณแม่เข้ามาบอกว่าท้องเสีย ก็เริ่มได้ด้วยคำถามว่า“คุณดื่มนม (บอกชื่อยี่ห้อที่รู้จักกันดี)หรือเปล่า” ถ้าดื่มก็จะชวนพิสูจน์ด้วยการหยุดดื่มนมแทนที่จะไปลำบากเดือดร้อนกับการตรวจอย่างอื่นก่อน บางคนตอบได้ดีกว่านั้นอีก “ดื่มค่ะ แต่หยุดมา 2-3 วันแล้วอาการก็หายไปแต่ลูกบอกว่านัดคุณหมอไว้แล้ว ก็ต้องมา”

กรณีนี้ ลูกสาว (สุภาพสตรีผู้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน เริ่มสนใจสุขภาพตนเองและสุขภาพของคุณแม่) เป็นผู้ซื้อนม คุณแม่ผู้ดื่มนมไม่ทราบราคาจึงหลุดจากกลไกจำกัดปริมาณการดื่มนมที่กล่าวถึงข้างต้นนอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่อง นมถูกเปลี่ยนสถานภาพจากอาหารไปเป็นยาที่ใช้ป้องกันโรคกระดูกพรุนคุณแม่จึงดื่มนมอย่างเคร่งครัดตามคำแนะนำข้างกระป๋องนมที่ว่า ครั้งละหนึ่งแก้ว (8ออนซ์หรือประมาณ 240 ซีซี) วันละสองครั้ง แถมยังมีลูกสาวคอยกำกับดูแลความสม่ำเสมออีกชั้นหนึ่งด้วย จึงต่างจากชาวบ้านทั่วไปที่ซื้อมารับประทานเองซึ่งในไม่ช้าก็จะดื่มน้อยลงด้วยเหตุต่างๆ กัน เช่น ไม่อร่อย ลืม เสียดายเงิน หรือหายตื่นเต้นแล้วเป็นต้น (รวมทั้งคุณลูกสาวด้วย) และผู้ที่ดื่มบ้างไม่ดื่มบ้างมีโอกาสสังเกตได้บ่อยขึ้นว่า ช่วงที่ดื่มนมถ่ายบ่อยช่วงที่ไม่ดื่มไม่ถ่ายบ่อย

 

เรื่องทั้งสองข้างต้น เล่าให้ฟังเพื่อที่จะบอกว่านมเป็นอาหารที่มีประโยชน์แต่การดื่มนมเกินกว่าวันละหนึ่งแก้วมักจะเกินความสามารถในการย่อย (น้ำตาลแล็กโตส) ของคนไทย ถ้าดื่มถึงสองแก้วส่วนมากจะมีปัญหาท้องอืดเล็กน้อยปั่นป่วนมีเสียงดังในท้อง ถ่ายอุจจาระนิ่มหรือเหลว และบ่อยกว่าที่เคยอาการเหล่านี้อาจทำให้แปลกใจหรือเกิดความรำคาญจนถึงเดือดร้อน หากไม่รำคาญเดือดร้อนก็ไม่มีโทษหรืออันตรายใดๆการปรับการดื่มนมเป็นการดื่มหลายครั้งโดยให้ปริมาณแต่ละครั้งน้อยลงอาจลดปัญหาไปได้บ้าง เช่น ครึ่งแก้ววันละ 2 ครั้งแต่บางคนก็ว่าหลายครั้งวุ่นวาย ก็อาจเปลี่ยนไปใช้นมเปรี้ยวแทน (เลือกชนิดน้ำตาลไม่เกินร้อยละ 5) โดยได้ประโยชน์เท่ากัน

อีกประเด็นหนึ่งน่าสนใจกว่าคือ เรื่องที่ทำให้บางคนเดือดร้อนรำคาญนี้เอง กลับเป็นประโยชน์กับคนอีกกลุ่มหนึ่งคือคนท้องผูกซึ่งพบบ่อยเป็นพิเศษในผู้สูงอายุ ด้วยเหตุนี้ผู้สูงอายุที่ดื่มนมแคลเซียมสูงจำนวนหนึ่งจึงได้พบด้วยความยินดีว่าอาการท้องผูกที่มีอยู่เดิมหายไปบางคนแม้จะถ่ายบ่อยเกินไปบ้างก็ไม่รังเกียจ เพราะน่ารำคาญน้อยกว่าท้องผูกอย่างเทียบกันไม่ได้

คนที่มีอาการท้องผูกเช่น ถ่ายอุจจาระทุกวันแต่แข็งเหลือเกินถ่ายลำบาก หรือคนที่หลายวันจึงถ่ายอุจจาระสักครั้งอยากจะถ่ายบ่อยขึ้น อาจใช้นมเป็นอาหารแต่ปรับให้ปริมาณมากพอ ที่จะมีผลทำให้อุจจาระนิ่มลงหรือถ่ายบ่อยขึ้นโดยมีข้อแนะนำดังต่อไปนี้

     1. เลือกเวลาดื่มนมให้เหมาะสมเวลาตื่นนอนน่าจะเหมาะที่สุด (แต่คนที่ต้องรีบออกจากบ้านไปทำงานเช้าอาจใช้ไม่ได้) เวลาที่เหมาะรองลงมาคือ เมื่อกลับถึงบ้านตอนเย็น (อาจเหมาะกับนักเรียนและคนทำงานมักกลับค่ำหรือเวลาไม่แน่นอน)อีกเวลาหนึ่งคือประมาณหนึ่งชั่วโมงก่อนนอน (ถ้าใกล้เวลานอนมากนักจะเกิดปัญหาต้องลุกขึ้นมาปัสสาวะหลังหลับแล้ว)ไม่ควรดื่มนมก่อนหรือพร้อมมื้ออาหาร (ยกเว้นอาหารเช้าซึ่งอาจใช้นมเป็นส่วนหนึ่งของอาหารได้สะดวก)เพราะนมเต็มท้องจะทำให้รับประทานอาหารอื่นได้น้อยลง ถ้าไม่ยอมน้อยลงก็จะแน่นท้อง (บางคนดื่มน้ำมากๆเพื่อสุขภาพ แต่ดื่มไม่เป็น ก็เจอปัญหานี้) เมื่อเลือกเวลาใดแล้วก็ควรเป็นเวลานั้นทุกวัน

    2. เลือกปริมาณนมให้เหมาะสม (ปริมาณเพื่อถ่าย) ที่เห็นได้ด้วยตนเองว่า ถ่ายนิ่ม สะดวก แต่ไม่ถึงกับเหลวและไม่ทำให้ถ่ายมากกว่าหนึ่งครั้ง อาจเริ่มด้วยปริมาณหนึ่งแก้ว (240 ซีซี) ไม่เห็นผลก็เพิ่มปริมาณเป็นหนึ่งแก้วครึ่งและสองแก้วตามลำดับ บางคนจำเป็นต้องปรับปริมาณละเอียดกว่านี้ เช่นเพิ่มหรือลดขั้นละหนึ่งในสี่แก้วจนพอดี และข้อสำคัญต้องดื่มนมเป็นครั้งเดียวต่อวันจึงจะได้ผล 

    3. เลือกประเภทนมให้เหมาะสมผู้ที่ไม่ใช่เด็กแล้วควรใช้นมพร่องมันเนยชนิดไม่หวาน (ให้พลังงาน130 กิโลแคลอรีต่อ 240 ซีซีเปรียบเทียบกับมาม่าคัพรสต้มยำกุ้ง 210 กิโลแคลอรี) 

    4. ตั้งเป้าหมายการถ่ายอุจจาระให้เหมาะสมผู้ที่ถ่ายทุกวันแต่มีปัญหาเรื่องแข็งหรือถ่ายยาก สามารถตั้งเป้าให้ถ่ายทุกวันได้แต่ผู้ที่สามสี่วัน (บางคนเจ็ดวันหรือนานกว่า) ถ่ายครั้ง จะลองดื่มนมทุกวันด้วยความหวังให้ถ่ายทุกวันก็ได้ถ้าสำเร็จขอแสดงความยินดีด้วย หากไม่สำเร็จก็น่าจะตั้งความหวังให้ถ่ายแค่วันเว้นวันและดื่มนมปริมาณเพื่อถ่ายแค่วันเว้นวัน(วันอื่นไม่ดื่มหรือดื่มปริมาณธรรมดาเช่นครึ่งแก้ววันละสองครั้ง)

ผู้ที่ใช้ได้ผลมีกว่าร้อยละ 80 ที่เหลือไม่ถึงร้อยละ 20 ใช้ไม่ได้ผลครับเพราะท่านบังเอิญโชคดี (หรือโชคร้ายแล้วแต่จะมอง) ที่ยังมีเอนไซม์สำหรับย่อยน้ำตาลในนมได้อย่างเพียงพอ

อำนาจ ศรีรัตนบัลล์

25 กุมภาพันธ์ 2556

หมายเลขบันทึก: 520622เขียนเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2013 10:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2018 12:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ผมไม่แน่ใจว่าอยู่ในกลุ่ม 20% หรือเปล่าครับ ผมดื่มนมได้ไม่มีปัญหาเรื่องท้องเสียเพราะผมเป็นคนธาตุอ่อนเข้าห้องน้ำวันละสองสามรอบไม่ว่าจะดื่มนมหรือไม่ก็ตามครับ

คนธาตุอ่อนนี่ก็ใช่ว่าจะดีครับ ไปทานอาหารที่ไหนถ้าทานไปเยอะๆ ก็ต้องเล็งหาห้องน้ำไว้ให้ดี เป็นความท้าทายที่มากกว่าคนอื่นครับ แล้วก็ทำให้ได้ความรู้ว่าร้านอาหารดีๆ ดังๆ หลายแห่งนั้น พอเข้าไปหลังร้านแทบจะทำให้ทานไม่ลงครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท