ศีล ๕


ศีล 5 ที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เบญจศีล นั้น ชาวพุทธเราเอาแต่ท่อง ทว่าในทางปฏิบัติแล้ว หาผู้ปฏิบัติได้ครบทุกข้อค่อนข้างยาก นั่นอาจเป็นเพราะว่าเรามีทัศนคติในเชิงลบต่อศีล 5 ว่าเป็นข้อห้าม หรือเป็นกฏทางจริยธรรมที่พระมอบให้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับชีวิตของตนโดยตรง จึงไม่อยากนำมาปฏิบัติ แต่แท้ที่จริงนั้น ศีล 5 ไม่ใช่ข้อห้าม หากแต่เป็น "ข้อฝึกปฏิบัติ" (สิกขาบท) ที่เราทุกคนโดยไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นชาวพุทธ ขอเพียงแค่เป็นมนุษย์เท่านั้น ก็ควรจะรับมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติ เพื่อฝึกหัดพัฒนาชีวิตให้ดีงามล้ำเลิศในทุก ๆ ด้าน

ศีล 5 นี้ ในภาษาบาลีเดิมเรียกว่า "มนุษยธรรม" (ธรรมที่ทำให้คนให้เป็นมนุษย์) เพราะผู้ปฏิบัติตามศีล 5 ได้ ย่อมเป็นคนคุณภาพที่สามารถยกชีวิตให้พัฒนาขึ้นมาอีกระดับหนึ่งจากปุถุชนทั่วไป ที่ยังคงใช้ชีวิตโดยการชักจูงของสัญชาตญาณเป็นส่วนใหญ่ ส่วนผู้ปฏิบัติตามศีล 5 แล้วนั้น จะก้าวเข้าสู่การเป็นมนุษย์ผู้พร้อมที่จะร่วมเป็นหุ้นส่วนแห่งสังคมอารยะ ที่สามารถจะนำพาทั้งชีวิตของตน ของคนอื่น และของสังคมโดยรวม ไปสู่ความร่มเย็นเป็นสุขอย่างเกื้อกูลกันในวงกว้างทั่วทั้งโลก

คำอธิบายหรือคำสมาทานศีล 5 ดังต่อไปนี้ จัดปรับตามแนวทางแห่งคำอธิบายที่ปรากฏในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา เช่น สมันตปาสาทิกา วิสุทธิมรรค มังคลัตถทีปนี พุทธธรรม และพระไตรปิฎก เป็นต้น โดยพยายามจัดปรับถ้อยคำให้ร่วมสมัย เพื่อสามารถสื่อสารกันได้กับคนรุ่นใหม่ผู้ยังไม่คุ้นกับวัฒนธรรมทางศาสนาเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม มีข้อที่ควรย้ำในที่นี้ว่า แม้คำอธิบายชุดนี้ก็ไม่ได้มีไว้สำหรับท่องเหมือนศีล 5 แบบเดิม หากแต่มุ่งหมายให้เป็นแนวทางในการปฏิบัติในชีวิตประจำวันจริง ๆ เป็นสำคัญ ด้วยเหตุนั้นหากอยากให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผู้ศึกษาก็ควรทำความเข้าใจแต่ละข้ออย่างลึกซึ้ง แล้วจะพบว่าไม่มีสิกขาทบข้อไหนเลยที่ควรปฏิเสธ ตรงกันข้าม สิกขาบททุกข้อล้วนมีความจำเป็นต่อการมีชีวิตที่ดีงามล้ำเลิศทั้งสิ้น ผู้ใดปรารถนาที่จะวางราฐานแห่งชีวิตของตนไว้บนวิถีทางแห่งความสุข ความเจริญ ก็ควรปฏิบัติตนตามแนวทางแห่งสิกขาทบทั้ง 5 ประการนี้ให้ครบถ้วนด้วยสมัครใจ

สิกขาบท 5 มีสาระสำคัญอันควรศึกษาปฏิบัติดังต่อไปนี้

1. หลักประกันความมั่นคงของชีวิต >>  ข้าพเจ้าขอตั้งสัตย์ปฏิญาณว่า จะไม่ละเมิด จะไม่คุกคามต่อชีวิตของผู้อื่น สัตว์อื่น ด้วยตัวเอง และไม่ใช้ให้ใครละเมิด ทั้งนี้ด้วยความตระหนักรู้เป็นอย่างดีว่า ทั้งตัวเราเองและผู้อื่น สัตว์อื่น ต่างก็รักตัวกลัวตาย รักสุขเกลียดทุกข์เช่นเดียวกัน เรารักตัวเองฉันใด คนอื่น สัตว์อื่น ก็รักตัวเองฉันนั้นเหมือนกัน เพื่อให้ชีวิตของข้าพเจ้าเป็นชีวิตที่ไม่เบียดเบียนทำร้ายใคร ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ข้าพเจ้าขอสมาทานปฏิบัติตามแนวทางแห่งพระพุทธองค์ที่ว่า "เมื่อเธอทอดตามองไปยังจาตุรทิศแล้ว ย่อมไม่พบใครที่จะเป็นที่รักยิ่งไปกว่าตนเองฉันใด ตนของผู้อื่นก็ย่อมเป็นที่รักของเขาฉันนั้นเหมือนกัน ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ควรเบียดเบียนตนและไม่ควรเบียดเบียนคนอื่น หรือไม่คารฆ่าใคร และไม่ควรใช้ใครให้ไปฆ่า"

2. หลักประกันความมั่นคงของทรัพย์สิน >>  ข้าพเจ้าขอตั้งสัตย์ปฏิญาณว่า จะไม่ละเมิดต่อทรัพย์สิน และกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของผู้อื่น ด้วยตัวเอง และไม่ใช้ให้ใครละเมิด ทั้งนี้ด้วยความตระหนักรู้เป็นอย่างดีว่า ทรัพย์สินของใครใครก็รัก ของของใครใครก็หวง เรารักและหวงแหนในทรัพย์สินของเราฉันใด คนอื่น สัตว์อื่น ก็รักและหวงแหนในทรัพย์สินของเขาฉันนั้น เมื่อทรัพย์สินของเราถูกขโมยหรือพลัดพรากจากเราไป เราย่อมทุกข์ฉันใด คนอื่น สัตว์อื่นก็ย่อมทุกข์ฉันนั้นเหมือนกัน

3. หลักประกันความมั่นคงของสถาบันครอบครัว >>  ข้าพเจ้าขอตั้งสัตย์ปฏิญาณว่า จะไม่ละเมิดต่อจริยธรรมทางเพศของคู่ควง คู่รัก คู่ครอง และของเพศตรงข้าม ทั้งนี้ด้วยความตระหนักรู้เป็นอย่างดีว่า การละเมิดต่อจริยธรรมทางเพศของคู่ควง คู่รัก คู่ครองโดยปราศจากสติและความรับผิดชอบ นำมาซึ่งความทุกข์อย่างใหญ่หลวงทั้งต่อตัวผู้ถูกละเมิด และต่อครอบครัวของเขาหรือของเธอ ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงตั้งใจว่า หากข้าพเจ้าไม่พร้อมจะรับผิดชอบชีวิตของผู้ใดแล้ว ข้าพเจ้าจะไม่มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับคนคนนั้นเป็นอันขาด เพราะความสัมพันธ์ที่ปราศจากความรัก ปราศจากสติ และปราศจากความรับผิดชอบนั้น คือ ต้นธารแห่งปัญหาชีวิตที่หนักหนาสาหัสอันไม่รู้จบสิ้น

4. หลักประกันความมั่นคงของสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร >>  ข้าพเจ้าขอตั้งสัตย์ปฏิญาณว่า จะไม่กล่าววาจาที่ปราศจากสติอันเป็นเหตุให้เกิดความเดือนร้อนแก่ผู้อื่น แก่สังคม แก่ประเทศ และแก่มวลมนุษยชาติ และทุกครั้งที่พูด ข้าพเจ้าจะพยายามหลีกเลี่ยงการกล่าวคำพูดที่เป็นคำโกหก คำหยาบคาย คำเพ้อเจ้อ คำส่อเสียด คำยุให้แตกความสามัคคี แต่จะพยายามพูดถ้อยคำที่เป็นความจริง เป็นประโยชน์ เป็นสิ่งที่มีหลักฐาน เป็นถ้อยคำประสานสามัคคี และเป็นถ้อยคำที่สอดคล้องกับกาลเทศะ ประการสำคัญที่สุด ทุกถ้อยคำที่เปล่งออกมาจากการเจริญสติอย่างดีที่สุด โดยเลือกพูดแต่ถ้อยคำที่เป็นความจริง เป็นประโยชน์ เป็นสิ่งที่มีหลักฐาน เป็นถ้อยคำประสานสามัคคี และเป็นถ้อยคำที่สอดคล้องกับกาลเทศะ ประการสำคัญที่สุด ทุกถ้อยคำที่เปล่งออกมาจะต้องประกอบด้วยจิตเปี่ยมเตตาเสมอ ทั้งนี้เพราะตระหนักรู้เป็นอย่างดีว่า การเปล่งวาจาที่ปราศจากสติ และขาดความรับผิดชอบนั้น เป็นสาเหตุแห่งความเข้าใจผิด เป็นต้นทางของความหม่นหมองครองทุกข์สำหรับผู้ถูกพาดพิง เป็นที่มาของการทำลายเพื่อนมนุษย์ให้แตกความสามัคคี ก่อให้เกิดความเกลียดชัง ปลูกฝังทัศนคติในแง่ลบ และอาจลุกลามเป็นสงครามระหว่างมนุษยชาติได้ทุกเมื่อ

5. หลักประกันความมั่นคงของสุขภาพ >>  ข้าพเจ้าขอตั้งสัตย์ปฏิญาณว่า จะไม่ดื่มสุรา และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ และ/หรือสิ่งเสพติดทุกชนิด ที่เมื่อดื่มแล้วจะทำให้ประมาทขาดสติ อันเป็นการสูญเสียปกติภาพแห่งความเป็นมนุษย์ ทั้งนี้เพราะตระหนักเป็นอย่างดีว่า การดื่มสุรา หรือเครื่องดื่มที่ประทุษร้ายต่อสติสัมปชัญญะใด ๆ และการเสพสิ่งเสพติดทุกชนิดนั้น เป็นประตูแห่งความเสื่อมสุขภาพ เสื่อมสติสัมปชัญญะ เสื่อมทรัพย์ เสื่อมเกียรติภูมิชื่อเสียง เสี่ยงต่อการทะเลาะวิวาทวุ่นวายอันเป็นอันตรายทั้งต่อชีวิตและต่อครอบครัวอันเป็นที่รักยิ่ง หรือในบางกรณี อาจเป็นอันตรายลุกลามกว้างไกลต่อความสุขและสวัสดิภาพของสังคมโดยรวมอย่างคาดไม่ถึงอีกด้วย

บทความของ ท่าน ว. วชิรเมธี


คำสำคัญ (Tags): #ธรรม#ศีล
หมายเลขบันทึก: 520342เขียนเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2013 14:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2013 14:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

Seeing "siila" as "rights" may be a way to explain universal concepts of Buddhism to the world.

I (had written about and so) support siila as rights. In my view

1) Right to Life: all lifeforms (not just human) have a right to live (and protect a livelihood).

2) Right to Possession: all lifeforms (not just human) have a right to own (and protect) property

3) Right to Familial Relations: all lifeforms (not just human) have a right for a family (or associations)

*4) Right to Truth: all lifeforms (not just human) have a right to tell and hear the truth

*5) Right to Wellness: all lifeforms (not just human) have a right to deny intoxicants.

* I think Right to Truth and หลักประกันความมั่นคงของสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร are the same in content but different in emphasis. Right to Truth is just that regardless of communication modes. And I see Right to Wellness as a right for all to maintain wellbeing including denying prescriptions, drugs, intoxicants, and any form of stimulants. Animals also have this right and we should keep them sedated or in captivity against their will.

Am I a monk? No.     Am I against ท่าน ว. วชิรเมธี? NO.

I do however think of "siila" as universal rights, not just human rights.  


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท