ความสำคัญของเพลงหน้าพาทย์


ความสำคัญของเพลงหน้าพาทย์

ดนตรีไทย ถือว่าเพลงในการประกอบการแสดงโขนนั้นเป็นเพลงหน้าพาทย์  ซึ่งถือว่าเป็นเพลงที่ศักดิ์ และมีความสูงส่งเป็นที่ควรเคารพบูชาของเหล่าศิลปิน การที่จะได้ท่ารำมานั้นมันไม่ง่าย  เพราะท่ารำของเพลงหน้าพาทย์ต่างๆ ครูอาจารย์มักหวงแหน เมื่อจะถ่ายทอดก็ต้องดูถึงความเหมาะสมพฤติกรรม อันเป็นประเพณีที่สืบต่อกันมาช้านาน  เพราะในการฝึกการสั่งสอนให้บูชาพระรัตนตรัย  ครูอาจารย์ ทุกครั้งไป ต้องสักการต่อหน้าพระพุทธรูป ครูฤษี ครูพระพิราบ  การฝึกหัดท่ารำ หรือการฝึกหัดจนเกิดความชำนาญ ก่อนออกการแสดงจะต้องมีการกราบไหว้เคารพบูชา ต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์   ตลอดจนการขอพรครูอาจารย์ให้ช่วยดลบันดาลให้การแสดงสัมฤทธิ์  และเป็นที่ชื่นชอบของผู้ชม ในขณะเดียวกันก็ขอขมาต่อการแสดงปฏิบัติท่ารำผิดพลาด ในการปฏิบัติท่วงทำนองเพลงหน้าพาทย์ต่างๆ  ตลอดจนกระบวนท่ารำที่คลาดเคลื่อนไป ช่วยยกโทษให้ ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบต่อกันมาช้านาน ผู้ศึกษาทางนาฏศิลป์ไม่ควรละเว้น  แม้ขณะที่ได้ยินเพลงหน้าพาทย์ ก็ควรยกมือไหว้เพื่อระลึกถึงคุณครูบาอาจารย์   แม้กระทั้งการฝึกหัดต่อท่าเพลงหน้าพาทย์  ต่อครูอาจารย์ก็ควรให้ความเคารพเช่นกัน  หรือจะต้องต่อเพลงหน้าพาทย์ชั้นสูงๆ จะต้องต่อในพิธีไหว้ครู ซึ่งจะมีการจัดพิธีไหว้ครูประจำขึ้นทุกปี  ศิษย์คนใดที่ครูเห็นว่าควรที่จะต่อเพลงหน้าพาทย์  จะต้องเตรียมของมาคำนับครู เช่น ขันล่างหน้า ๑ ใบ ผ้าเช็ดหน้า ๑ ผืน ดอกไม้ ธูปเทียน หญ้าแพรก ดอกมะเขือ พร้อมด้วยเงิน ๖ บาท หรือ ๑๒ บาท เงินบูชานี้นิยมทำกันเป็นธรรมเนียมว่า จะนำไปทำบุญอุทิศให้แก่บูรพาจารย์เหนือขึ้นไป มิฉะนั้นจะผิดครู

ฉะนั้นก่อนผู้ที่ผู้ฝึกจะทำการต่อเพลงหน้าพาทย์ต่างๆได้นั้น จะต้องไดรับการ ครอบ  หรือการไหว้ครูครั้งใหญ่ก่อน  ถ้าผู้ฝึกจะจบการศึกษาระดับนาฏศิลป์ชั้นสูง หรือจะไปเป็นครูนาฏศิลป์ต่อไป ผู้นั้นจะได้รับการมอบจากครูผู้ใหญ่(ประธานพิธีไหว้ครู)ก่อน

การรำหน้าพาทย์

          โขนมีความผูกพันใกล้ชิดกับศาสนาฮินดู จนเรียกได้ว่าเป็นพิธีกรรม หรือส่วนหนึ่งของพิธีกรรมทางศาสนา โขนยังมีการรักษาส่วนต่างๆ ของพิธีกรรม ของพราหมณ์เอาไว้มาก ส่วนใหญ่อยู่ในการรำที่เรียกว่า รำหน้าพาทย์ 

          เพลงหน้าพาทย์นั้นมิใช่การรำละครหรือการฟ้อนรำธรรมดา มิใช่การรำเพื่อแสดงอารมณ์ของผู้รำ  หรือเป็นการรำเพื่อฝึกกล้ามเนื้อหรืออวัยวะต่างๆของร่างกาย ให้เข้าที่ในนาฏศิลป์ เช่น การรำเพลงช้าเพลงเร็ว  แต่เป็นการรำที่ถือว่า เป็นการบูชาในพิธีกรรม หรือเป็นการปรากฏตัวของเทพเจ้าอันศักดิ์สิทธิ์  หรืแล้วอผู้ประกอบพิธีได้ผูกพรตเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์

          การทำพิธีของพราหมณ์ที่ทำในเมืองไทยในสมัยก่อนนั้น  เป็นการรำเพื่อการบูชา  และจะคงมีอยู่ในหลายพิธี แต่ตอนนี้ไดสูญหายไป  ถึงอย่างนั้นก็ยังเหลืออยู่บ้าง คือ ในพิธีที่เกี่ยวข้องกับช้าง หรือคชศาสตร์ที่เรียกว่า พระราชพิธีทอดเชือกตามเชือก พราหมณ์ผู้ประกอบพิธีต้องรำบูชาพระเป็นเจ้า เรียกว่า รำพัดชา เดี๋ยวนี้ยังมีคนรำได้อยู่ แต่การรำพัดชานั้นเท่าที่ได้เห็นมาแล้วรู้สึกว่า ออกจะเก้งก้างกระโดกกระเดกไม่น่าดูเหมือนรำละคร ทั้งนี้เพราะการรำพัดชานั้นเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมโดยแท้ ไม่มีความประสงค์ที่จะรำให้ใครดู หรือต้องเอาใจใคร ยิ่งกว่านั้นยังมีข้อห้ามอยู่ว่า การรำพัดชาในพระราชพิธี ทอดเชือกตามเชือกนั้น ห้ามไว้เป็นเด็ดขาดมิให้คนนอกเข้าดู จะดูได้เฉพาะ ผู้ที่ได้ครอบวิชาคชศาสตร์แล้วและมีหน้าที่อยู่ในพิธีเท่านั้น

          ในการรำที่เป็นพิธีกรรมในเกาะบาหลีนั้น ยังคงเหลืออยู่มาก      การร่ายรำในเทวสถานที่บาหลีนั้น ผู้ที่จะรำจะต้องผูกพรตจำศีล ภาวนาก่อน บางทีก็ทำล่วงหน้าวันหนึ่งหรือสองวัน จนจิตเข้าสู่ภวังค์แล้วจึงรำ

          ส่วนในเมืองไทยนั้น ถึงแม้การรำจะสูญไปจากพิธีบูชาของพราหมณ์เป็นส่วนมากแล้ว ก็ยังเหลือตกค้างอยู่ในนาฏศิลป์ที่เรียกว่า โขน ไม่หายไปไหน เช่นเพลงหน้าพาทย์ที่มีชื่อว่า “ดำเนินพราหมณ์” ก็ดี “พราหมณ์เข้า”ก็ดี “พราหมณ์ออก”ก็ดี ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่ามาจากพิธีของพราหมณ์ เป็นดนตรีที่ใช้ในพิธีกรรมของพราหมณ์คงจะได้ใช้เวลา พราหมณ์ผู้ประกอบพิธีเดินเข้ามาในบริเวณพิธีและออกจากโรงพิธี ซึงในสมัยนั้นคงจะมีดนตรีบรรเลงและมีการเดินเข้าจังหวะดนตรี เพื่อให้ดูขลังและศักดิ์สิทธิ์ยิ่งขึ้น

          การรำหน้าพาทย์ใหญ่ๆเช่น คุกพาทย์ รัวสามลา หรือ ตระนิมิต ตระสันนิบาต นั้นคนรำต้องใช้สมาธิมากอย่างยิ่ง เพราะเกรงว่าจะรำผิดในเพลงอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งถือกันอยู่ว่ากากมีการรำผิดพลาดแล้ว ภัยอันตรายจะเกิดขึ้นกับผู้รำ การที่ต้องใช้สมาธิมากในการรำเพลงหน้าพาทย์ใหญ่ๆนั้น ถ้าจะว่าไปก็เป็นการรำทำจิตให้เข้าภวังค์ และผู้ที่สามารถรำเพลงหน้าพาทย์ใหญ่ๆเหล่านี้ได้ ก็คงจะต้องยอมรับว่าใจขณะที่รำนั้นจิตใจของตนเอง ก็อยู่ในภวังค์

          

หมายเลขบันทึก: 520004เขียนเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2013 08:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2013 08:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท