ข้อเสนอต่อการจัดการประชุมวิชาการ


ลองเปลี่ยนความยากลำบากนั้นมาเป็นความยากลำบากในการจัดการซึ่งอาจจะเพิ่มขึ้นสักเล็กน้อย แต่เป็นการเพิ่ม Empowerment ให้แก่เจ้าหน้าที่อย่างใหญ่หลวงนัก

          การประชุมวิชาการ "สร้างสรรค์นวตกรรมสร้างเสริมสุขภาพชุมชนจังหวัดพัทลุง" ระหว่างวันที่ 26-27 กันยายน 2548 ณ โรงแรม บีพีแกรนด์ทาวเวอร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ก็ได้ผ่านพ้นไปด้วยดี และทุกฝ่ายก็ร่วมกันทำงานตามหน้าที่อย่างมีความสุข ต้องขอขอบคุณแทนผู้ที่ได้รับผลดีจากการดำเนินงานครั้งนี้ด้วย
          ปีนี้มีการส่งผลงานทั้งสิ้น 25 เรื่อง มีการตัดสินกันปก่อนล่วงหน้า บนเวทีก็เลือกเฉพาะผลงานที่ได้ลำดับที่ 1 – 3 ทั้งผลการวิจัยและผลการดำเนินงานไปนำเสนอ และทุกผลงานก็ขอให้นำเสนอด้วยโบสเตอร์ไว้ที่หน้างาน บรรยากาศที่เห็นคือ ในห้องประชุมมีคนนั่งกันเต็มไปหมด ไม่มีที่ว่างเลย ตอนพักรับประทานอาหารว่าง มีผู้เข้าประชุมเป็นจำนวนมากไปเดินดูผลงานของเพื่อน ๆ ที่นำเสนอไว้ นี่เป็นดัชนีที่สำคัญว่างานนี้สำเร็จหรือไม่ ควรจะจัดต่อไปหรือไม่ งานนี้มีกลุ่มเยาวชนจากชุมชนเกาะเรียนได้นำเสนอด้วย 1 เรื่อง แต่ในการตัดสินนั้นจะไม่ได้รับการตัดสินเนื่องจากมีข้อยกเว้นไว้ ซึ่งก็น่าเสียดายมาก


 

          ในมุมมองของผมจึงอยากเสนอว่าการประกวดควรจะได้ประชาสัมพันธ์ไว้ตั้งแต่ต้นปี ว่ามีทิศทางในประเด็นอะไร (กว้าง ๆ) โดยควรให้มีประเภทและระดับให้มาก ๆ หน่อย เพื่อจะได้มีผลงานเข้าสู่การประกวดมาก ๆ และเป็นผลลงานที่ทำจริงกับมือ ไม่ใช่เขียนมากับมือ ควรเปิดรับจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาคราชการ ส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน จะเป็นผลงานจาก อวช.ก็ได้ แต่ควรเว้นสาระนิพนธ์ และวิทยานิพนธ์ ซึ่งปีนี้ไม่จำกัดส่วนนี้ จึงทำให้การพิจารณายากลำบาก ทั้งนี้ต้องให้เป็นผลงานหรือการวิจัยที่ดำเนินการในจังหวัดพัทลุงเท่านั้น
          สำหรับระดับและประเภทอยากให้เป็นไปในลักษณะนี้ คือ ระดับหน่วยงานสนับสนุนด้านสาธารณสุข (สสอ. สสจ. อบจ.) ระดับหน่วยบริการระดับอำเภอหรือเทียบเท่า (รพท. รพช.) และระดับหน่วยงานหรือหน่วยบริการระดับปฐมภูมิ (สอ. ศสช. เทศบาล อบต.) ในส่วนของประเภทก็ควรจะมีประเภทผลงานเด่น การวิจัย หรือกรณีศึกษาผู้ป่วยหรือกรณีศึกษาเชิงสังคมที่ Case น้อย ๆ รวมเบ็ดเสร็จก็จะได้ประเภททั้งหมด 6 ประเภท ประเภทละ 3 รางวัล ทั้งหมดจะมี 18 รางวัล ประเด็นสำคัญคือ รางวัลใดที่ผลงานไม่ถึงเกณฑ์ที่ควรได้รับก็ให้ข้ามส่วนนั้นเสีย เช่นรางวัลที่ 2 ประเภทการวิจัย ระดับหน่วยงานสนับสนุนด้านสาธารณสุข ไม่มีผลงานเหมาะสม อย่างนี้เป็นต้น ที่นำเสนออย่างนี้ก็เพราะถอดจากสิ่งที่กรรมการได้พูดถึงความยากลำบากในการตัดสิน แต่ลองเปลี่ยนความยากลำบากนั้นมาเป็นความยากลำบากในการจัดการซึ่งอาจจะเพิ่มขึ้นสักเล็กน้อย แต่เป็นการเพิ่ม Empowerment ให้แก่เจ้าหน้าที่อย่างใหญ่หลวงนัก กรณีเช่นนี้ให้ลองไปศึกษาได้จากบริษัทประกันชีวิต ที่มีการเพิ่ม Empowerment ให้แก่ทีมขายอย่างไร เกือบทุกแห่งมีวิธีคิดคล้าย ๆ กัน และได้ผลมาตลอด

หมายเลขบันทึก: 5200เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2005 21:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท