ความรักทำให้ปวดท้อง



นิ้งหน่องเป็นนักเรียนชั้นประถมปีที่ 1 ของโรงเรียนมีชื่อแห่งหนึ่ง เปิดเทอมมาสองเดือนแล้ว คุณแม่เล่าให้หมอฟังว่า ทุกวันนิ้งหน่องจะปวดท้องเวลารับประทานอาหารเช้า ทำให้รับประทานอาหารไม่ค่อยจะได้ มื้ออื่นๆไม่ค่อยเป็นปัญหา เคยพาไปหาหมอเด็กที่ดูแลกันเป็นประจำสองครั้งแล้วหมอบอกว่าไม่เป็นอะไร แต่ก็ไม่หายสักที ขณะที่คุณแม่เล่านิ้งหน่องหยอกล้ออยู่กับน้องที่อายุอ่อนกว่ากันสองปี ไม่แสดงท่าทีเดือดร้อนแต่อย่างใด เมื่อหมอถามนิ้งหน่องบอกว่าก็มันปวดนี่ แต่ถึงโรงเรียนแล้วสักพักหนึ่งก็หาย หลังอาหารกลางวันที่โรงเรียนก็ไม่ปวด หลังอาหารเย็นเคยปวดครั้งเดียวเมื่อเดือนก่อนแล้วก็ไม่ปวดอีก กลางคืนก็ไม่เคยปวด ตอนนี้ก็ไม่ปวด ตอบแล้วก็หันไปเล่นกับน้อง

คุยต่อกับคุณแม่ดีกว่า ดูท่าจะเป็นปัญหาของคุณแม่มากกว่าเป็นปัญหาของนิ้งหน่องเสียแล้ว ได้ความว่าปีนี้ย้ายโรงเรียน อยู่ไกลจากบ้านมากกว่าเดิม ต้องออกจากบ้านแต่เช้า (ขณะที่ผมยังหลับอยู่) จึงจำเป็นต้องเอาอาหารเช้ามารับประทานบนรถ (ชักจะมองเห็นเค้าของปัญหา) ในชั้นเรียนใหม่นี้เวลาเข้าแถวตามลำดับความสูง นิ้งหน่องอยู่ค่อนไปทางครึ่งท้ายแม้จะไม่ถึงกับรั้งท้าย เคยถามหมอเด็กแล้ว หมอว่าความสูงนิ้งหน่องยังอยู่ในเกณฑ์ของเด็กปกติ แต่คุณแม่ก็อยากให้นิ้งหน่องสูงกว่านี้อีกสักหน่อย และรู้สึกว่าจะผอมไปสักนิด ในที่สุดก็ยอมรับว่ามีความพยายามที่จะให้นิ้งหน่องรับประทานอาหารมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งอยากให้ดื่มนมมากกว่านี้ แต่นิ้งหน่องก็ไม่ชอบดื่มนม อย่างมากยอมดื่มแค่แก้วเดียว ถึงตอนนี้เห็นชัดขึ้นว่าเป็นปัญหาของคุณแม่ 

(ตอนต่อไปที่อยู่ในวงเล็บนี้เป็นจินตนาการของผมเอง: อาหารมื้อเช้าอยู่ภายใต้การควบคุมของคุณแม่แบบเบ็ดเสร็จเพราะอยู่ในรถ นิ้งหน่องไม่อาจหนีไปไหนได้ ต่อมานิ้งหน่องคงพบโดยบังเอิญว่า การบ่นว่าปวดท้องสามารถทำให้ยุติการรับประทานอาหารเช้าได้ง่ายและดีกว่าวิธีอื่นๆที่เคยลองใช้มาแล้ว)    

ผมไม่ได้เล่าจินตนาการของผมให้คุณแม่หรือนิ้งหน่องฟัง เมื่อคลำท้องนิ้งหน่องและถามเพิ่มเติมพบว่า ไม่เคยเจ็บป่วยอะไร อาการอื่นๆก็ไม่มี ยังเล่นได้เหมือนเด็กคนอื่นๆ น้ำหนักไม่ลด แต่เพิ่มช้า (คุณแม่ย้ำ) ผมสรุปให้คุณแม่และนิ้งหน่องฟังว่า นี่ไม่ใช่อาการของโรคร้ายแรงอะไร ปวดท้องเกิดจากกระเพาะอาหารบีบตัวเพราะไม่ชอบใจกับอาหารที่รับประทานเข้าไป จะหายได้ด้วยการปรับเปลี่ยนเรื่องอาหารเช้านิดหน่อย แต่ก่อนอื่นต้องจัดการเรื่องนมให้เป็นที่พอใจของคุณแม่ ผมถามนิ้งหน่องถึงเรื่องนมและประโยชน์ของนม นิ้งหน่องรู้เรื่องดีทุกอย่าง จึงถามว่าถ้าให้เลือกได้นิ้งหน่องเลือกที่จะดื่มนมอะไร นิ้งหน่องตอบว่านมเปรี้ยว (เอ่ยชื่อนมเปรี้ยวพร้อมดื่ม ชนิดเดียวกับที่ผมชอบ) จึงต้องใช้เวลาอธิบายให้คุณแม่ฟังว่า ในทางโภชนาการนมเปรี้ยวและนมสดมีคุณค่าเท่ากันทั้งเรื่องโปรตีนและแคลเซียมที่คุณแม่รู้ว่าช่วยทำให้เด็กเติบโต ความแตกต่างมีเพียงเรื่องน้ำตาลแล็กโตสที่มีในนมสดแต่นมเปรี้ยวไม่มี เด็กบางคนดื่มนมสดมากไปเสียอีกอาจท้องอืดหรือปวดท้องหรือถ่ายเหลวพอเปลี่ยนเป็นนมเปรี้ยวก็หาย ผลการเจรจาสามฝ่ายได้ข้อตกลงข้อที่หนึ่งว่า นมสดหนึ่งแก้วเวลาเย็น ส่วนที่เกินจากนั้นเป็นนมเปรี้ยว อย่างน้อยวันละสองแก้ว เมื่อได้ข้อตกลงข้อที่หนึ่งเป็นที่พอใจของคุณแม่แล้ว การบรรลุข้อตกลงข้อที่สองก็ทำได้ง่าย โดยให้เป็นดังนี้ อาหารเช้าในรถถ้านิ้งหน่องบอกว่าอิ่มคืออิ่ม ไม่มีการแถมอีกคำ คุณแม่สัญญา (ของจริงที่จะทำให้หายปวดท้องอยู่ที่ข้อนี้) ข้อตกลงข้อที่สาม ถ้าไม่หายให้กลับมาต่อว่าหมอ (ข้อนี้ผมแถมให้เอง) แต่ถ้าหายอีกหนึ่งเดือนขอเพียงแค่โทรศัพท์มาบอก      

หนึ่งเดือนต่อมา คุณแม่โทรศัพท์มาบอกว่าไม่ปวดท้องอีกแล้ว ตั้งแต่วันรุ่งขึ้นก็ไม่ปวดแล้ว แต่รอจนครบเดือนเพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่ปวดอีก 


หมายเหตุเพิ่มเติม

ผมเป็นหมอโรคระบบทางเดินอาหาร จึงมีพ่อแม่ผู้ปกครองพาเด็กในวัย 5-8 ปี มาหาที่โรงพยาบาลบ้าง มาปรึกษาที่บ้านบ้าง ด้วยเรื่องประเภท “กินน้อย กินแล้วปวดท้อง หรือกินแล้วอาเจียน” เนื่องจากผมไม่ใช่หมอเด็ก เด็กทุกคนที่มาหาผมผ่านด่านหมอเด็กมาแล้วทั้งนั้น (ประเภทที่มีโรคมาไม่ถึงผม) จึงไม่น่าแปลกใจที่เกือบทั้งหมด ไม่สบายจากความรักหรือความปรารถนาดีของพ่อแม่ผู้ปกครองที่อยากให้ลูกหลานเติบโตแข็งแรง ด้วยการพยายามให้รับประทานอาหารที่คิดว่าดีมีประโยชน์ในปริมาณที่มาก (เกิน) พอ และเกินกว่าที่เด็กต้องการ ในมุมมองหนึ่งอาจจะเรียกว่า โรคที่เกิดจากการเคี่ยวเข็ญ แต่อีกมุมมองหนึ่งซึ่งดีกว่าน่าจะเรียกว่าโรคที่เกิดจากความรัก ซึ่งเห็นได้ชัดเจนมาก (แต่คนที่มีความรักมากๆมักจะไม่เห็น) ในกรณีที่เด็กรับประทานอาหารแล้วปวดท้องหรืออาเจียน เรียกได้ว่าเป็นพฤติกรรมที่เกิดจากการเรียนรู้ของเด็กว่าเป็นวิธีที่ใช้ได้ผล ที่จะทำให้หยุดป้อนหรือหยุดชักชวน  แต่การทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองเชื่อไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ต้องประติดประต่อเหตุผลต่างๆให้ชัดเจนน่าเชื่อถือ รวมทั้งคอยให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ วิธีที่พบว่าใช้ได้ผลดีคือ การทำข้อตกลงสามฝ่าย ให้เป็นที่พึงพอใจทั้งต่อเด็กและต่อพ่อแม่ผู้ปกครองโดยมีหมอเป็นพยาน ข้อสำคัญอย่างยิ่งต้องระวังไม่ให้พ่อแม่ผู้ปกครองเสียหน้า แต่เกือบทุกรายก็ยังอดรู้สึกไม่ได้อยู่ดี จึงนำมาเสนอไว้ ณ ที่นี้ จะได้ลองทำดูเองโดยไม่ต้องให้คนอื่นรู้ 


อำนาจ ศรีรัตนบัลล์

14 กุมภาพันธ์ 2556


หมายเลขบันทึก: 519540เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2013 07:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2013 07:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

จริงๆ ด้วยค่ะอาจารย์หมอ คุณแม่หลายๆ คนกลัวลูกจะผอมไม่แข็งแรงก็เลยอัดอาหารการกินให้ลูกแบบเต็มที่จริงๆ ค่ะ ซึ่งหลายๆ ครั้งเป็นอาหารที่ไม่มีคุณค่าอะไรเลยค่ะแต่อิ่มท้องมากๆ เช่น หนังไก่ทอด :)

อ่านบันทึกนี้ของอาจารย์แล้ว อยากออกความเห็นว่า ตั้งใจไว้เลยว่าจะเลี้ยงลูกแบบให้เขาเป็นตัวเอง เพราะรู้สึกว่าเราไม่ค่อยเป็นตัวเองเพราะพ่อแม่รักมากไปนี่แหละค่ะ แล้วก็ได้เห็นผลจริงๆว่าเด็กๆมีศักยภาพในตัวเองมากมายที่พ่อแม่ไม่ค่อยเห็นเพราะเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง เขามีวินัย ดูแลตัวเองได้ดีทีเดียวเราเพียงแค่กำหนดบทบาทตัวเองให้ถูกจังหวะเท่านั้นเองค่ะ สอนให้ลูกคิดเอง เรื่องอะไรที่ควรคิด ควรรู้ เรามีหน้าที่แนะนำ ไม่ต้องไปกะเกณฑ์มาก ต้องมั่นใจว่าลูกมีเหตุผลของตัวเอง ถ้าเราเชื่อมั่นตัวเอง เราก็จะเชื่อมั่นในตัวลูกค่ะ

เห็นด้วยค่ะพี่โอ๋ เด็กๆ มีศักยภาพในตัวเองมากมายจริงๆ ค่ะ และพ่อแม่ต้องรู้จักจับ "จังหวะ" ของลูกให้ได้ค่ะ แล้วทั้งแม่และลูก็จะมีความสุขค่ะ :)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท