การนมัสการที่แบบที่พระเจ้าอวยพร


ใครอยากให้พระเจ้าอวยพรบ้าง....เชิญอ่านเลยค่ะ

                                                    การนมัสการที่นำมาซึ่งการอวยพร

                พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ขึ้นมาเพื่อนมัสการพระเจ้า นมัสการ WORSHIP 

  ในภาษาเดิมคำว่า  นมัสการ และคำว่ากราบ มาจากคำเดียวกัน เช่น การคนที่มีฐานะต่ำกว่าคุกเข่าลง 

  แสดงความเคารพต่อผู้ที่มีฐานะสูงกว่า (ปฐก.18:2 ; 33:3) การที่มนุษย์นมัสการพะรเจ้าเป็นทำนองเดียว

  กัน มนุษย์ถ่อมลงเฉพาะพระพักตร์พระผู้สูงสุด ถ่อมลงในฐานะผู้รับใช้ ถวายเกียรติยศ ยำเกรงและถวาย

  ความรักต่อพระองค์(ปฐก.24:26-27, อพย.4:34) เป็นการยอมจำนนเยี่ยงคนใช้ต่อพระองค์  ผู้ปกครอง[1]

                 1.  ประวัติความเป็นมาของการนมัสการ

                 พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ขึ้นเพื่อให้มานมัสการพระองค์ตามพระธรรม  ปฐก. 1:27

กล่าวว่า พระ​เจ้า​จึง​ทรง​สร้าง​มนุษย์​ขึ้น​ตาม​พระ​ฉายา​ของ​พระ​องค์ ตาม​พระ​ฉายา​ของ​พระ​เจ้า​นั้น ​พระ​องค์​ทรง​สร้าง​มนุษย์​ขึ้น และ​ได้​ทรง​สร้าง​ให้​เป็น​ชาย​และ​หญิง และในพะธรรม  นหม. 9:6ก็กล่าวว่า “​พระ​องค์​คือ​พระ​เยโฮวาห์ ​พระ​องค์​องค์​เดียว ​พระ​องค์​ได้​ทรง​สร้าง​ฟ้า​สวรรค์ ฟ้า​สวรรค์​อัน​สูงสุด​พร้อม​กับ​บริวาร​ทั้งสิ้น​ของ​ฟ้า​สวรรค์​นั้น แผ่นดิน​โลก​และ​บรรดา​สิ่ง​ที่​อยู่​ใน​นั้น ทะเล​และ​บรรดา​สิ่ง​ที่​อยู่​ใน​นั้น และ​พระ​องค์​ทรง​รักษา​สิ่ง​ทั้ง​ปวง​เหล่า​นั้น​ไว้ และ​บริวาร​ของ​ฟ้า​สวรรค์​ได้​นมัสการ​พระ​องค์​”

                  ดอน เฟลมมิ่ง ได้พูดถึงการนมัสการในสมัยพระคัมภีร์เดิมว่า

  ชาวอิสราเอลแสดงการนมัสการโดยหลายวิธี เช่น พิธีในเทศกาลต่างๆ และการถวายบูชา(1ซมอ.1:3; สดด.132:7) แต่พิธีกรรมจะไม่มีความหมายเลยถ้าคนนั้นไม่ได้นมัสการพระเจ้าด้วยใจบริสุทธิ์(สดด.50:7-15) แบบฉบับของพิธีนมัสการตั้งขึ้นครั้งแรกเกี่ยวกับพลับพลา ต่อมาก็ใช้วิหาร และต่อมาก็ใช้ธรรมศาลา[2]

                  2.  ความหมายของการนมัสการ

                   จากคู่มือการสอนวิชา การนำนมัสการ โดย  ศจ.บุญชาน อิทธิเวชช์ ได้ให้ความหมายของการ

ไว้ดังนี้

  การนมัสการ คือ การเห็นคุณค่า และยอมรับความมีคุณค่าของพระเจ้า ในจิตใจของเรา ซึ่งแสดงออก

  โดย คำสรรเสริญยกย่อง คำโมทนาขอบพระคุณ  การแสดงความเคารพเทิดทูนบูชา ที่สอดคล้องกับ

  ความรู้สึกในจิตใจ และการกระทำต่างๆภายนอก ที่เป็นการถวายพระเกียรติแด่พระองค์[3]

                    มีหนังอีกเล่มที่พูดถึงการนมัสการ คือหนังสือ ชีวิตสาวก รากฐานชีวิตคริสเตียน และ อุปนิสัยคริสเตียน  เขียนโดย ดร.ศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์ ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า

  นมัสการ คือ พิธีการที่เราแสดงออกถึงการเคารพรักและเทิดทูนบูชาพระเจ้าอย่างสูงสุด ซึ่งโดยปกติสาวกของพระเยซูจะร่วมกระทำกันที่คริสตจักรทุกวันอาทิตย์ สิ่งที่ทำร่วมกันนั้นก็คือ

-  ร่วมฟังคำสอนและคำเทศนาจากพระคัมภีร์จากผู้รับใช้พระเจ้า

-  ร่วมสามัคคีธรรมกัน หมายถึงการมีความสัมพันธ์กันในหมู่พี่น้องคริสเตียน

-  การหักขนมปัง(หมายถึงพิธีมหาสนิทที่คริสตจักรทำเพื่อร่วมกันระลึกถึงการที่พระเยซูสิ้นพระชนม์เพื่อไถ่บาปเรา)

-  อธิษฐานร่วมกัน

-  ร่วมกันถวายทรัพย์เพื่อใช้ในงานของพระเจ้า

-  ร่วมกันไปนมัสการที่พระวิหาร และมีการร่วมสามัคคีธรรมที่บ้านของกัน และกันด้วย

-  รับประทานอาหารร่วมกัน

-  สรรเสริญพระเจ้าร่วมกัน

                    การนมัสการเป็นสิ่งที่จำเป็นที่คริสเตียนทุกคนควรเข้าร่วมอย่างสม่ำเสมอทุกสัปดาห์ เพราะจะช่วย

ให้เราติดสนิทกับพระเจ้าอยู่เสมอ  และจะทำให้เราเติบโตฝ่ายจิตวิญญาณด้วย  เราจึงไม่ควรขาดการนมัสการ[4]

                   3.  การนมัสการที่พระเจ้าไม่อวยพร

                    ทุกคนไม่ว่าจะเป็นหรือไม่เป็นคริสเตียนก็ มักต้องการได้รับการอวยพรที่จับต้องได้ ที่เห็นเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะคริสเตียนเมื่อมาเชื่อพระเจ้าแล้วก็ต้องการได้รับการอวยพรจากพระเจ้ากันแทบทั้งสิ้น ถ้าผู้ที่นมัสการไม่เข้าใจถึงการนมัสการ ก็จะ ไม่ได้รับอวยพรจากพระเจ้าซึ่งผู้นมัสการเองจะต้องรู้ด้วยว่าอะไรคือ อุปสรรคและกับดักของการนมัสการ พระเจ้าที่พระเจ้าไม่อวยพร

                   จากการอ่านหนังสือ จุมพิตพระพักตร์ เขียนโดย แซม ฮินน์ ได้สรุปในส่วนของอุปสรรคและ

กับดัก ขงการนมัสการได้ 10 ประการ ดังนี้

                   3.1  กับดักของความเย่อหยิ่ง ความเย่อหยิ่งเป็นกับดักก้อนใหญ่ที่สุดของการนมัสการคู่แฝดที่น่าชังของความเย่อหยิ่งคือ ความเอาแต่ใจ ตัวอย่างจาก นาดับและอาบีฮู รู้กฎของการนมัสการเป็นอย่างดี เขารู้พระบัญชาในเรื่องการนมัสการอย่างถูกต้องสมควร แต่ก็ยังไม่เชื่อฟัง ผลลัพธ์ก็คือ ความตาย ไม่มีผู้ใดสามารถนมัสการพระเจ้าแบบตามใจชอบได้ เราต้องเข้าหาพระเจ้าตามแบบของพระองค์ไม่ใช่ตามแบบของเรา

                   3.2  กับดักของธรรมเนียมปฏิบัติ เพราะธรรมเนียมปฏิบัติทำให้การนมัสการแท้อ่อนด้อยลงและหยุดยั้งความเชื่อของเราในพระเจ้า เป็นการถือรักษารูปแบบ กฎเกณฑ์ ระบบซึ่งมนุษย์เป็นผู้สอน อันทำให้พระคำของพระเจ้าเป็นโมฆะ

                    3.3  กับดักของการตัดสิน คนที่ยึดธรรมเนียมปฏิบัติ จะไวในการตัดสินและกล่าวโทษพวกที่ถือธรรมเนียมปฏิบัติแบบอื่นที่ไม่เหมือนตัวเอง พวกเขาจะเริ่มต้นด้วยการนมัสการจากใจแต่ไม่นานจะจบลงด้วยการนมัสการของเขาเองและไม่ได้นมัสการพระเจ้า

                     3.4  กับดักของวิญญาณแห่งการวิจารณ์ เป็นวิญญาณที่ชอบจับผิดทุกสิ่งและทุกคน เพราะกับดักของวิญญาณแห่งการวิจารณ์จะทำให้เขาไม่เป็นผู้ที่นมัสการแท้ เมื่อเราตัดสิน  กล่าวโทษ และวิจารณ์ผู้อื่น เราได้สร้างกำแพงที่จะแยกเราจากการทรงสถิตของพระเจ้า

                     3.5  กับดักของการไม่รู้ มีวิธีนมัสการที่ถูกและผิด คนฮีบรูโบราณถือว่า ความรู้ คือ ทางเข้าซึ่งคล่องตัวและไม่หยุดนิ่งสู่ความสัมพันธ์ที่สนิทลึกซึ้ง การรู้จักพระเจ้า คือการเข้าสู่ความสัมพันธ์ที่สนิทลึกซึ้งกับพระองค์ ถ้าเราไม่รู้เราอาจเผลอนมัสการพระเทียมเท็จต่างๆซึ่งในอดีตล้วนแล้วก็เคยทำมาด้วยกันทั้งสิ้น

                      3.6  กับดักของวิญญาณศาสนา บุคคลที่มีวิญญาณศาสนาคือ ผู้ซึ่งปฏิเสธที่จะมีความบริบูรณ์ของพระเจ้าในชีวิตของเขา  เขาต้องการควบคุมพระเจ้า แทนที่จะยอมรับการควบคุมทั้งสิ้นไว้กับพระเจ้า การนมัสการที่แท้จริงจะปลดปล่อยเราให้เป็นอิสระจากการผูกมัดของความเชื่อที่บิดเบือน และระบบศาสนาจอมปลอม เมื่อเรานมัสการพระเจ้าอย่างแท้จริงเท่านั้น ที่วิญญาณจิตของเราจะหลุดจากการเป็นทาส และเหินสู่การทรงสถิตของพระเจ้า

                      3.7  กับดักของการไม่ให้อภัย การเจ้าคิดเจ้าแค้นไม่ยอมให้อภัยคนบางคน จะขัดขวางการนมัสการพระเจ้า หากเราเข้าสู่การทรงสถิตของพระเจ้า การอภัยเป็นสิ่งที่ต้องมี การอภัยเป็นข้อบังคับพระเจ้าจะไม่ทรงอภัยเรา หากเราไม่ยอมอภัยความขุ่นเคืองที่ผู้อื่นทำต่อเรา  เมื่อเรามีวิญญาณแห่งการอภัย เราก็สำแดงอย่างแท้จริงว่า เราคือผู้ติดตามพระเยซูคริสต์

                      3.8  กับดักของการบ่น การบ่นเป็นการแสดงความสงสัยและไม่ไว้ใจขึ้นระหว่างเรากับการทรงสถิตของพระเจ้า การบ่นเป็นการจดจ่ออยู่กับปัญหาหรือบุคคลอื่นเสมอ แทนที่จะเป็นพระเยซู พระเจ้าต้องการให้เราละสายตาจากปัญหาหรือผู้คนเสีย และให้จับจ้องที่พระเยซู หยุดบ่นและเริ่มนมัสการ เพราะเมื่อจดจ่ออยู่กับการนมัสการก็จะไม่บ่นอีกต่อไป

                      3.9  กับดักของการนินทา การนินทาไม่เพียงทำให้ผู้อื่นเจ็บปวด แต่มันยังหันเหหัวใจคนนั้นออกจากการนมัสการที่แท้ด้วย ในท่ามกลางบรรยากาศที่ควรจะนมัสการพระเจ้า พวกที่ติดกับของการนินทากลับมัวคิดถึงแต่เรื่องที่ได้ยินมา แทนที่จะคิดถึงสิ่งที่พระเจ้าเพิ่งตรัส ปากของผู้นินทานั้นเต็มด้วยคำโกหก หลอกลวงและมุ่งร้าย  ปากที่นินทาไม่อาจจุมพิตพระพักตร์ได้[5]

                     จากที่สรุปมาจากหนังสือ จุมพิตพระพักตร์ โดย แซม ฮินน์  จะเห็นได้ว่า สิ่งเหล่านี้ไม่เป็นที่พอพระทัยพระเจ้า  พระเจ้าทรงต้องการให้เรามีชีวิตที่บริสุทธิ์ ให้เรานมัสการด้วยชีวิตจิตวิญญาณ การกระทำที่ดีงาม เมื่อเรามีลักษณะตามที่กล่าวมานี้พระเจ้าก็ไม่สามารถที่จะอวยพรแก่เราได้

 

                    4.  การนมัสการที่นำมาซึ่งการอวยพร

                     การนมัสการที่พระเจ้าพอพระทัยจะนำซึ่งการเปลี่ยนแปลงได้รับการอวยพรจากพระเจ้าในพระธรรม  ยน. 4:24 กล่าวว่า พระเจ้าทรงเป็นพระวิญญาณและผู้ที่นมัสการพระองค์ต้องนมัสการด้วยจิตวิญญาณและความจริง

                     ในหนังสือ การนมัสการเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เขียนโดย จอห์น แม็คอาเธอร์ จูเนียร์ ได้พูดพูการนมัสการด้วยจิตวิญญาณ และความจริง ซึ่งสรุปออกมาได้ดังนี้

                      4.1 การนมัสการด้วยจิตวิญญาณ หมายถึง จิตวิญญาณมนุษย์ภายในบุคคล การนมัสการเป็นการหลั่งไหลจากภายในออกมา ไม้ใช่ว่าเป็นการอยู่ถูกสถานที่ ถูกเวลา ถูกวาจา ถูกความประพฤติ ถูกในการแต่งกาย ดนตรีถูกต้อง และอารมณ์ถูกต้อง  การนมัสการไม้ใช่การกระทำภายนอกที่สภาพแวดล้อมจะถูกสร้างขึ้น แต่มันเกิดขึ้นภายใน นั่นคือ จิตวิญญาณ  เราสามารถนมัสการด้วยจิตวิญญาณได้ดังนี้

-  ก่อนอื่นเราต้องยอมจำนนต่อพระวิญญาณบริสุทธิ์ ก่อนที่เราจะนมัสการพระเจ้าด้วยจิตวิญญาณของเรา พระวิญญาณบริสุทธิ์จะต้องอยู่ที่นั่นก่อนที่จะเกิดการนมัสการที่แท้จริง ถ้าเราไม่มีวิญญาณของพระเจ้ากระตุ้นหัวใจของเรา เร้าใจเราชำระหัวใจของเรา สอนเรา เราก็ไม่อาจนมัสการพระเจ้าได้ รากฐานการนมัสการที่แท้จริงคือ การช่วยให้รอด บุคคลที่ไม่ได้ถูกช่วยให้รอด ไม่อาจนมัสการได้อย่างแท้จริง และบุคคลที่ถูกช่วยให้รอดอย่างแท้จริงจะถูกกระตุ้นโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์ ที่อยู่ภายในให้เกิดการนมัสการ

-  ความนึกคิดของเราต้องมุ่งอยู่ที่พระเจ้า การนมัสการเป็นการเปี่ยมล้นด้วยจิตใจที่สดใหม่ ด้วยความจริงของพระเจ้า เรียกว่าการใคร่ครวญ หัวใจของการใคร่ครวญคือ การค้นพบ การค้นพบถึงความเข้าใจอย่างลึกซึ้งจากความจริงของพระเจ้า และการค้นพบก็มาจากการใช้เวลากับพระองค์ด้วยการอธิษฐานและจากพระคำของพระองค์ พระวิญญาณบริสุทธิ์ จะสอนความจริงแก่เราจากพระคำที่เราศึกษาและมีสมาธิศึกษาด้วยการอธิษฐาน

-  ต้องมีความสำนึกในความผิดบาป  บาปทั้งหมดต้องถูกจัดการให้หมด  เมื่อเราพูดถึงการนมัสการ  เราต้องพูดถึงการชำระล้างทำให้สะอาด ทำให้บริสุทธิ์  การสารภาพ และการสำนึกผิด  เพราะว่าผู้ที่จะเข้าสู่การมีความสัมพันธ์กับพระเจ้าองค์บริสุทธิ์นั้นจะต้องเป็นผู้ที่ความบาปของเขาถูกจัดการให้หมดสิ้น เราไม่อาจเร่งรัดในการเข้าหาต่อเบื้องพระพักตร์พระเจ้าด้วยความไม่บริสุทธิ์ โดยคิดว่าทุกสิ่งดีแล้ว

                       4.2 การนมัสการด้วยจิตวิญญาณ

                      พระเยซูตรัสว่าเราต้องนมัสการด้วยความจริง การนมัสการเป็นการตอบสนองที่มาจากความจริง ในสดุดี  145.18 กล่าวว่า “พระเจ้าทรงสถิตใกล้ทุกคนที่ร้องทูลพระองค์ ทุกคนที่ร้องทูลพระองค์ด้วยใจจริง”  เราต้องนมัสการโดยมาจากความเข้าใจในพระวจนะของพระเจ้าการนมัสการที่แท้จริง เป็นการตอบสนองจากความรู้สึกทางจิตใจอย่างแน่แท้ต่อความจริงของพระเจ้า และพระวจนะของพระองค์ ความจริง เมื่อพระวจนะพระเจ้ามีอิทธิพลต่อชีวิตของเรา  การสรรเสริญของเราจะมีระเบียบ  และการนมัสการของเราก็จะคล้อยตามมาตรฐานแห่งพระผู้เป็นเจ้า การนมัสการไม่ใช่ความรู้สึกที่ดีที่ห่างจากความเข้าใจแห่งความจริง  แต่การนมัสการเป็นการแสดงออกถึงการสรรเสริญที่ออกมาจากใจ ต่อพระเจ้าผู้ทรงเป็นที่เข้าใจตามที่พระองค์ทรงเปิดเผย

                      ธรรมชาติของการนมัสการนั้นก็คือ การถวายพระเจ้าด้วยการนมัสการที่มาจากส่วนลึกภายในของเราด้วยการสรรเสริญ การอธิษฐาน ร้องเพลง การให้ และความเป็นอยู่ โดยตั้งอยู่บนความจริงที่พระองค์ทรงปรากฏ ผู้ที่นมัสการพระเจ้าต้องอุทิศตนอย่างสัตย์ซื่อต่อพระวจนะของพระองค์ การนมัสการไม่ใช่เกิดขึ้นโดยสิ่งที่ออกมาจากสวรรค์ แล้วทำให้เราล้มลง แต่เป็นการท่วมท้นของความเข้าใจของเราต่อพระเจ้า จากที่พระองค์ได้ทรงสำแดงพระองค์เองในพระคัมภีร์ นี่แหละเป็นการนมัสการด้วยจิตวิญญาณและความจริง[6]

                       ฉะนั้นการนมัสการพระเจ้าอย่างถูกต้องจะนำมาซึ่งการได้รับการอวยพรจากพระเจ้า  ในหนังสือสารานุกรมพระคัมภีร์ ได้พูดถึงการอวยพรดังนี้

  การอวยพรคือ สิ่งที่พระเจ้าประทานให้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องฝ่ายจิตวิญญาณ ฝ่ายร่างกายหรือสิ่งของก็ดี พระคัมภีร์เรียกว่าพระพรทั้งสิ้น (ปฐก.9:1 ; ลนต.25:21 ; กดว.6:22-26)”[7]

  ในหนังสือ บทเรียน การนำนมัสการ โดย ศจ.บุญชาย อิทธิเวชช์  ได้พูดถึงการนมัสการอย่างถูกต้องไว้ดังนี้

  การนมัสการพระเจ้าอย่างถูกต้อง มีความสำคัญมากควบคู่ไปกับ การมีลักษณะชีวิตที่ถูกต้องต่อพระพักตร์พระเจ้าและต่อมนุษย์  เพราะพระเจ้าทรงแสวงหาคนเช่นนั้นเพื่อนมัสการพระองค์ ถ้าเราไม่เห็นความสำคัญในการแยกชีวิตออกจากความบาป หรือ แยกจากระบบของโลกนี้แล้ว  เราจะนมัสการและถวายเกียรติแด่พระเจ้าไม่ได้  ฉะนั้น ลักษณะชีวิตที่ดีงาม จึงจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งในการนมัสการเพื่อให้พระเจ้าอวยพร จากพระธรรม สดุดีบทที่ 15 ได้ให้ลักษณะที่ดีของผู้นมัสการพระเจ้า ดังนี้ คือ

-  มีชีวิตที่หาที่ติไม่ได้

-  เป็นผู้ที่ปฏิบัติตนอย่างชอบธรรม

-  เป็นผู้ที่พูดความจริงจากใจของตน

-  สามารถควบคุมลิ้นของตนได้ดี

-  ตีคุณค่าคนอย่างถูกต้อง

-  ยึดมั่นในคำสัญญาของตน

-  ไม่หาผลประโยชน์บนความทุกข์ของผู้อื่น

                     ชีวิตที่ดี 7 ประการ  ข้างต้น ควรเป็นหลักจริยธรรมแห่งชีวิตของผู้ที่นมัสการพระเจ้าทุกคน

เพราะผู้ที่ปฏิบัติในสิ่งเหล่านี้ จะไม่หวั่นไหวเป็นนิตย์  ชีวิตแบบนี้แหละที่จะส่งผลไปสู่การนมัสการอย่างถูกต้องต่อพระพักตร์พระเจ้า  อันเป็นการถวายเกียรติแด่พระองค์

   

  • ·  ในพระธรรม มธ. 6:33แต่​ท่าน​ทั้ง​หลาย​จง​แสวงหา​แผ่นดิน​ของ​พระ​เจ้า และ​ความ​ชอบธรรม​ของ​พระ​องค์​ก่อน แล้ว​พระ​องค์​จะ​ทรง​เพิ่ม​เติม​สิ่ง​ทั้ง​ปวง​เหล่า​นี้​ให้

                     พระธรรมตอนนี้ถือว่าเป็นพระสัญญาของพระเจ้า ให้ผู้เชื่อแสวงหาแผ่นดินของพระเจ้าก่อนแล้วพระองค์จะทรงเพิ่มเติมสิ่งทั้งปวงเหล่านี้ให้ แผ่นดินในที่นี้ไม่ได้หมายถึงผืนดินตามตัวอักษร แต่เป็นการแสวงหาพระเจ้า ยอมอยู่ภายใต้การปกคลุมของพระเจ้า ในหนังสือสารานุกรม ของ ดอน เฟลมมิ่ง ได้พูดถึงแผ่นดินของพระเจ้าดังนี้

  “แผ่นดินของพระเจ้า คือ การปกครองของพระองค์ มิได้หมายถึงเขตดินแดนหรือประชาชนตามที่เราเข้า

  ใจกันโดยทั่วไป เช่น เมื่อกล่าวถึงแผ่นดินยูดาห์ หรือแผ่นดินไทยในปัจจุบัน แต่แผ่นดินพระเจ้าหมายถึง

  อำนาจปกครองของพระเจ้า ผู้ที่เป็นผู้ครอบครอง[8]

    เมื่อเราแสวงหาแผ่นดินคือการปกคลุมของพระเจ้าหรือแสวงหาพระเจ้าก่อนพระองค์ก็จะทรงเพิ่มเติมสิ่งทั้งปวงเหล่านี้ให้ สิ่งทั้งปวงเหล่านี้ก็คือ สิ่งที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตของผู้เชื่อ 

 

  • ·  ในพระธรรม เอเสเคียล 34.16  พระเจ้าทรงประกาศว่า เราจะเที่ยวหาแกะที่หาย และเรานำแกะที่หลงหายกลับมา และเราจะพันผ้าให้แกะที่กระดูกหักและเราจะเสริมกำลังที่อ่อนเพลีย  แต่ตัวที่อ้วนและเข้มแข็งเราจะทำลาย เราจะเลี้ยงเข้าด้วยความยุติธรรม

            จากพระธรรมเอเสเคียลนี้ (ใช้หลักการตีความหมายเข้าช่วย) ถ้าดูบริบท ก่อน และหลังแล้ว จะเป็นการที่พระเจ้าเสาะแสวงหาแกะที่หลงหาย ซึ่งมีสาเหตุมาจาก ผู้เลี้ยงแกะเองที่ไม่เอาใจใส่ เอาแต่เลี้ยงดูตนเอง เมื่อแกะอ่อนเพลียก็ไม่เสริมกำลัง แกะที่บาดเจ็บก็ไม่รักษา ตัวที่กระดูกหักก็ไม่พันแผลให้ ตัวที่หลงหายก็ไม่เสาะหาไม่ได้ตามกลับมา  และได้ปกครองด้วยบังคับและข่มขี่เบียดเบียน  แต่พระเจ้าจะทรงเสาะหาและสิ่งที่พระเจ้าจะทำก็คือ

-  พ้นจากสถานที่ทั้งหลายซึงกระจัดกระจายไปอยู่เมื่อวันมีเมฆและมีความมืดทึบ (อสค.34.12)

-  จะเลี้ยงแกะในลานหญ้าอย่างดีและลานหญ้าของเขาจะอยู่บนบรรดาภูเขาสูงของอิสราเอล ณ ที่นั่นเขาจะนอนลงในลานหญ้าอย่างดี และเขาจะหากินอยู่บนลานหญ้าอุดมบนภูเขาแห่งอิสราเอล (อสค.34.14)

-  จะพันแผลให้แกะที่กระดูกหักและจะเสริมกำลังแกะที่อ่อนเพลีย

-  จะช่วยให้รอด เขาจะไม่เป็นเหยื่ออีกต่อไป (อสค.34.22)

-  จะทรงทำให้เขากับสถานที่รอบๆเนินเขาของพระองค์เป็นแหล่งพระพร เราจะส่งฝนลงมาในฤดูกาล เป็นห่าฝนแห่งพระพร ต้นไม้ที่ในทุ่งจะบังเกิดผล และพิภพจะบังเกิดผลประโยชน์ และเขาจะอยู่อย่างปลอดภัยในแผ่นดินของเขา (อสค.34.26-27)

 

                       สรุปจากพระธรรมตอนนี้สิ่งที่พระเจ้าอวยพรเมื่อเรานมัสการที่เป็นที่พอพระทัยพระเจ้าแล้ว  พระเจ้าจะทรงช่วยเราให้พ้นจากสถานการณ์ที่เลวร้ายที่เข้ามาในชีวิต  จะทรงอวยพรไม่ให้เราขัดสนในสิ่งที่จำเป็นสำหรับเรา จะทรงให้ได้รับความรอดไม่ตกเป็นเหยื่อของมารซาตานหรือสิ่งที่ไม่ดี ชีวิตของเขาจะอยู่อย่างปลอดภัยได้รับการปกป้องคุ้มครองจากพระเจ้า

  บทสรุป

                    เมื่อเรานมัสการพระเจ้าอย่างถูกต้องและเป็นที่พอพระทัยพระเจ้า เราก็จะได้รับการอวยพร ถ้าเราต้องการได้รับการอวยจากพระเจ้า เราต้องระวังที่จะต้องไม่ทำในสิ่งที่พระเจ้าไม่พอพระทัย นั่นคือ การมีความเย่อหยิ่ง การเอาแต่ใจตัวเอง นมัสการตามธรรมเนียมปฏิบัติไม่ได้ออกมาจากใจ มีนิสัยชอบตัดสินคนอื่น ชอบวิพากษ์วิจารณ์ การไม่รู้การไม่รู้เราสามารถแก้ไขได้โดยแสวงหาความรู้ความเข้าใจ  วิญญาณศาสนา การไม่ให้อภัยผู้อื่น ชอบบ่นว่า ชอบนินทา

                 แต่เมื่อเรานมัสการนั้นเราต้องนมัสการด้วยจิตวิญญาณและความจริง  โดยที่เราต้องยอมจำนนต่อพระวิญญาณบริสุทธิ์ ความนึกคิดในจิตใจของเรามุ่งตรงอยู่ที่พระเจ้า ที่สำคัญต้องมีความสำนึกในความผิดบาป เราต้องถวายพระเจ้าด้วยการนมัสการที่มาจากส่วนลึกภายในของเราด้วยการสรรเสริญ การอธิษฐาน การร้องเพลง การให้ และความเป็นอยู่ ต้องอุทิศตนอย่างสัตย์ซื่อต่อพระวจนะของพระเจ้า ให้ชีวิตจิตวิญญาณของเราในทุกส่วนถวายเกียรติแด่พระองค์ด้วยหัวใจและการกระทำทั้งสิ้นของเรา.

                                                          **************************************

 



[1] เฟรมมิ่ง. ดอน  , สารานุกรมพระคริสตธรรมคัมภีร์ ,  พิมพ์ครั้งที่ 4 , (กรุงเทพฯ: สถาบันคริสเตียนศึกษาและพัฒนาคริสตจักร,2011) ,  หน้า 

[2] เรื่องเดียวกัน,  หน้า

[3] บุญชาย อิทธิเวชช์ , บทเรียน การนำนมัสการ, หน้า 4.

[4] ศิลป์ชัย  เชาว์เจริญรัตน์, ชีวิตสาวก รากฐานชีวิตคริสเตียนและ อุปนิสัยคริสเตียน, พิมพ์ครั้งที่ 9(กรุงเทพฯ:พิมพ์ดีการพิมพ์,2009), หน้า 30-31.

[5] ฮินน์,  แซม , จุมพิตพระพักตร์ แปลจาก Kissing the Face of God โดย ตรูจิตต์ นีเดอเรอร์ , พิมพ์ครั้งที่ 3,(กรุงเทพฯ:แม่น้ำ,2010), หน้า 46-67.

[6] จูเนียร์, จอห์น แม็คอาเธอร์, นมัสการเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดแปลจาก The Ultimate Priority on Worship โดย รุ่งนภา สิริมนตราภรณ์,  พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ: สถาบันพระคริสตธรรมศึกษาและการพัฒนาคริสตจักร,1988),หน้า 133-139.

[7] เรื่องเดียวกัน, หน้า

[8] เฟรมมิ่ง. ดอน  , สารานุกรมพระคริสตธรรมคัมภีร์, หน้า


หมายเลขบันทึก: 519059เขียนเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2013 14:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2013 14:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท