วิจารณ์ สำรวจพระคัมภีร์ใหม่


ใครอยากรู้ภาพรวมของพระคัมภีร์ใหม่บ้าง.....เชิญอ่านเลยค่ะ

                     จากการอ่านหนังสือสำรวจพระคัมภีร์ใหม่ เขียนโดย พอล เบนแวร์ และ หนังสือมุมมองใหม่ในพระคัมภีร์ เขียนโดย ฮวง สาบิน ในมุมมองของข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นหนังสือที่เพิ่มพูนความรู้ด้านศาสนศาสตร์เป็นอย่างดี และให้เกิดความเจริญเติบโตด้านฝ่ายจิตวิญญาณเป็นอย่างมาก การใช้ภาษาก็ง่ายต่อการอ่าน แต่หนังสือสองเล่มนี้ให้ประโยชน์ต่างการและการนำมาใช้งานก็แตกต่างกันด้วย ซึ่งข้าพเจ้าสามารถวิเคราะห์ออกมาได้ดังนี้

1.สิ่งที่เหมือนกันเหมาะสำหรับผู้ที่สนใจศึกษาพระคัมภีร์ใหม่ที่ต้องการเห็นภาพรวมของพระคัมภีร์ใหม่ว่าเป็นอย่างไร

2.สิ่งที่แตกต่างกัน คือ หนังสือสำรวจพระคัมภีร์เป็นหนังสือที่เป็นหลักวิชาการเหมาะสำหรับนักศึกษาพระคริสตธรรมที่ได้รับนิมิตในการเป็นผู้รับใช้ที่ให้พระเจ้าใช้งานได้อย่างเต็มที่ และบุคคลหรือฆารวาสที่ต้องการศึกษาพระคัมภีร์อย่างจริงจัง เพราะเป็นหนังสือที่ยังไม่ได้ผ่านการตีความหมาย ไม่ได้บอกถึงการประยุคต์ใช้ไว้ ส่วนหนังสือมุมมองใหม่ต่อพระคัมภีร์นั้นจะเหมาะกับคนทั่วไปทุกระดับสามารถอ่านและทำความเข้าใจกับภาพรวมของพระคัมภีร์ใหม่ได้อย่างง่ายดาย เพราะผู้เขียนได้ทำการตีความหมายไว้ให้เรียบร้อยแล้ว

                       หนังสือสำรวจพระคัมภีร์ใหม่นั้น พอล เบนแวร์  ได้นำเสนอ ไว้เป็นตอนๆ มีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยให้ผู้ที่ศึกษาได้เห็นเนื้อหาความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในพระคัมภีร์

                           ในตอนที่หนึ่งนั้นจะให้ผู้ศึกษาได้เห็น ภาพรวมของพระคัมภีร์ใหม่ คือ เป็นเรื่องการทรงไถ่บาปของพระเจ้าต่อมนุษยชาติ เป็นบันทึกเกี่ยวกับการจัดตั้งพันธสัญญาใหม่ ซึ่งเป็นวิธีการที่พระเจ้าจะช่วยมวลมนุษย์ที่หลงทางไป มีการเปรียบเทียบพระคัมภีร์ทั้งสองพระภาคว่าเป็นอย่างไร  ได้บอกถึงโครงร่างโดยรวมของพระคัมภีร์ทั้งเล่ม และ เบื้องหลังของพระคัมภีร์ใหม่ด้วย ว่าเป็นมาอย่างไรโดยย้อนให้เห็นตั้งแต่ตอนจบของพระคัมภีร์เดิมที่ชนชาติอิสราเอลล้มเหลวทางด้านฝ่ายจิตวิญญาณ และเข้าสู่ยุคเงียบที่ไม่มีการเผยพระวจนะเลยเป็นเวลา 400 ปี แต่ในช่วง 400 ปีนี้ถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่เตรียมพระเมสสิยาห์ มีเหตุการณ์ต่างๆเกิดขึ้นมากมาย มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นยุคๆไป ตั้งแต่ ยุคเปอร์เซีย กรีก แฮสโมเนียน จนกระทั่ง สมัยโรมัน ซึ่งเป็นช่วงพระคัมภีร์ใหม่ เป็นช่วงที่พระเยซูเสด็จลงมาประสูติบนโลกเพื่อไถ่บาปมนุษย์ ทั้งยังเขียนให้ผู้ที่ศึกษาได้เห็นถึง ศาสนาและหลักปรัชญาในโลกชาวโรมัน ความเชื่อของคนในยุคนั้น ลัทธิต่างๆ  ปีศักดิ์สิทธิ์ของชาวยิว ให้เห็นภาพของพระวิหารในยุคของเฮโรด และได้บอกถึงลักษณะของพวกฟาริสี  ธรรมาจารย์ สะดูสี พวกเอสซีน เฮโรเดียน พวกพรรคชาตินิยม พวกแซนฮีดริน และธรรมศาลา ว่าเป็นอย่างไร

                        ตอนที่สองจะเป็นการนำเสนอเกี่ยวกับพระกิตติคุณ(การตั้งพันธสัญญาใหม่) พระกิตติคุณ หมายถึง ข่าวประเสริฐ มี 4 เล่ม คือ มัทธิว มาระโก ลูกา ยอห์น  พระกิตติคุณเป็นภาพพจน์ของพระเยซูคริสต์ใน 4 แง่มุมที่แตกต่างกัน  ซึ่งผู้เขียนแต่ละคนเข้าถึงชีวิตของพระคริสต์จากมุมมองของเขาเอง และคัดเลือกคำสอนและการอัศจรรย์ต่างๆมาเสนอ ในพระกิตติคุณจะบอกตั้งแต่ การบังเกิดและวัยเด็กของพระคริสต์ การเตรียมพร้อมเพื่อพันธกิจของพระคริสต์ การทำพันธกิจของพระคริสต์การสั่งสอน การอัศจรรย์ต่างๆ  พระราชกิจครั้งใหญ่ของพระคริสต์ในกาลิลี การเลือกและฝึกฝนสาวกสิบสองคน กระทั่งช่วงสุดท้ายของพระคริสต์ คือการสิ้นพระชนม์ การฟื้นพระชนม์ และการมีพระมหาบัญชาให้ประกาศข่าวประเสริฐเรื่องของพระเยซูนำมาซึ่งความรอดจนถึงสุดปลายแผ่นดินโลก

                        ตอนที่สาม เป็นการนำเสนอ พระธรรมกิจการ เป็นการประกาศพันธสัญญาใหม่

                        ตอนที่สี่ก็จะเป็นการนำเสนอจดหมายฝาก ซึ่งเป็นคำอธิบายพันธสัญญาใหม่ ซึ่งผู้เขียนเองก็ได้ให้มุมมองของจดหมายฝากไว้ด้วย ซึ่งจดหมายฝากนี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ จดหมายฝากของเปาโล และ จดหมายฝากทั่วไป ดังนี้

1.จดหมายฝากของเปาโล ได้แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มที่1 เป็นจดหมายฝากช่วงแรกของเปาโล ที่มีไปยังเมือง กาลาเทีย 1ฉบับ และ เมืองเธสะโลนิกา 2 ฉบับ  กลุ่มที่2 เป็นจดหมายฉบับยาวของเปาโล ได้เขียนไปยังเมือง โครินทร์ 2 ฉบับ  และ โรม 1 ฉบับ กลุ่มที่ 2 เป็นดหมายที่ เปาโลได้เขียนในขณะที่อยู่ในคุก ได้เขียนไปที่เมือง เอเฟซัส เมืองโคโลสี เมืองฟีเลโมน และเมืองฟิลิปปี  และกลุ่มที่ 4 เป็นจดหมายฝากไปยังศิษยาภิบาล ซึ่งอยู่ในพระธรรม 1 ทิโมธี,  ทิตัส และ 2 ทิโมธี

2.จดหมายฝากทั่วไป ก็จะประกอบไปด้วย พระธรรมยากอบ,ฮีบรู,1เปโตร,2เปโตร,ยูดา,1ยอห์น,2ยอห์น,3ยอห์น

                        ตอนที่ห้าเป็นการนำเสนอพระธรรมวิวรณ์ และสุดท้ายผู้เขียนได้มีภาคผนวกซึ่งได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับองค์พระเยซูคริสต์ , อัครทูตของพระเยซูคริสต์ , การอัศจรรย์ในพระกิตติคุณและกิจการ และยังได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับภาษาแปลกๆไว้อีกด้วยซึ่งการนำเสนอพระธรรมแต่ละเล่มนั้น ผู้เขียนจะแสดงให้เห็น ตั้งแต่บทนำของพระธรรมแต่ละเล่ม ต่อมาก็จะบอกว่าใครเป็นผู้เขียนพระธรรมเล่มนั้นๆ  สถานที่วันเวลาในการเขียน จุดประสงค์ของพระธรรม  โครงเรื่องของพระธรรม  หัวข้อของพระธรรม ลักษณะพิเศษของพระธรรม  ลักษณะพิเศษนี้ก็จะบอกถึง เบื้องหลังของพระคัมภีร์บางอย่างที่สำคัญ  แนะนำการตีความหมายพระธรรมแต่ละเล่มไว้ด้วย และได้บอกถึงหมายสำคัญและการอัศจรรย์ต่างที่ปรากฏอยู่ในพระธรรมเล่มนั้นๆ สุดท้ายของการนำเสนอก็จะเป็น การสรุปย่อพระธรรมเล่มต่างๆไว้ให้ศึกษา  และยังมีภาพแผนที่ประกอบด้วย

                         ส่วนหนังสือมุมมองใหม่ต่อพระคัมภีร์ ของ ฮวง สาบิน จะไม่ได้เสนอข้อมูลเหมือนหนังสือสำรวจพระคัมภีร์ ของ พอล เบนแวร์ แต่ ฮวง สาบิน ได้นำเสนอให้ผู้ที่ศึกษานั้นสามารถทำความเข้าใจพระคัมภีรืใหม่ได้ง่ายและดีขึ้น และยังได้ให้ทิศทางพระคัมภีร์ที่อ่านมาใช้ในการดำเนินชีวิตได้ เพราะผู้เขียนได้ทำการตีความหมายจากพระคัมภีร์ไว้เรียบร้อยแล้ว ผู้อ่านไม่ต้องไปตีความหมายเพิ่มสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้เลย ผู้ที่เป็นฆราวาส สามารถใช้หนังสือเล่มนี้เป็นคู่มือในการเฝ้าเดี่ยวได้ หรือผู้ที่กำลังเริ่มต้นศึกษาพระคัมภีร์หนังสือเล่มนี้ก็จะช่วยวางพื้นฐานให้เข้าใจในพันธสัญญาใหม่ได้แน่นขึ้น

                           ในพระธรรมแต่ละเล่มนั้นผู้เขียนจะบอกด้วยว่า ใครเป็นผู้เขียน  ช่วงเวลาที่เขียน จุดประสงค์ของการเขียน และได้บอกเกี่ยวกับ คำสำคัญต่างๆ ใจความสำคัญของพระธรรม วลีสำคัญๆ ข้อพระคัมภีร์ที่สำคัญ  บทเรียนที่สำคัญ ซึ่งการที่ผู้เขียนได้นำมาแสดงนั้นสามารถทำให้เราเข้าใจได้ว่าทำไมผู้เขียนถึงได้ตีความหมายออกมาอย่างนั้น (ในหนังสือที่ได้ตีความหมายมาตามที่ปรากฏในหนังสือ)

                           โดยผู้เขียนเองก็ได้แจกแจงพระธรรมแต่ละเล่มในพันธสัญญาใหม่ไว้นั้น จะแบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ 1.สะกิด จะเป็นคำนำซึ่งเป็นการแนะนำใจความหลักของพระธรรมนั้นๆ  2.สาระ ส่วนนี้จะเป็นการสรุปเนื้อหาพระธรรมเล่มนั้น  3.สำรวจ จะเป็นส่วนที่กล่าวถึงบทเรียนหลักของพระธรรมเล่มนั้นๆ  โดยสรุปไว้ด้วยหนึ่งหรือสองประโยค ผู้เขียนบอกว่า การท่องจำข้อสำรวจนี้ เป็นสิ่งที่สำคัญมากเพราะจะช่วยให้ผู้อ่านสามารถจำถึงบทเรียนที่ได้ศึกษานี้เสมอ  4.สนอง ส่วนนี้จะเป็นการแนะนำการประยุกต์ใช้ในชีวิต เช่น ในพระธรรมมัทธิว 1. สะกิด ผู้เขียนจะสะกิดให้ผู้อ่านคิดก่อน แล้วค่อยดึงเข้าสู่พรธรรม ซึ่งเกี่ยวกับความรอด กะลาสีเรือดึงผู้รอดชีวิตที่เกาะอยู่ข้างเรือบดขึ้นไปบนเรือผู้ที่รอดนั้นส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ว่าน้ำไม่เป็น แต่ผู้ที่ว่าน้ำเป็นนั้นจมน้ำตายหมด  สำหรับโลกฝ่ายวิญญาณคนบาปที่รอคอยพระผู้ช่วยให้รอดและเข้าสู่แผ่นดินของพระเจ้าได้  ก็เหมือนผู้ที่ว่ายน้ำไม่เป็น คือเป็นผู้ที่วางใจในพระเยซูคริสต์  แต่สำหรับผู้ที่คิดว่าตนมีความชอบธรรมมากพอที่จะเข้าแผ่นดินสวรรค์ด้วยตัวเอง  ความพยายามที่จะช่วยตัวเองไม่สามารถช่วยคนที่ว่ายน้ำเป็นให้รอดชีวิตได้ฉันนั้น  การคิดว่าตนเองชอบธรรมก็ไม่ได้ช่วยให้คนรอดพ้นจากนรกได้ฉันนั้น  2. สาระ ส่วนนี้ก็จะขยายความในส่วนสะกิด คือบอกวิธีการที่จะได้รับความรอดหรือ เข้าในแผ่นดินสวรรค์  3.สำรวจ ส่วนนี้จะบอกถึงบทเรียนหลักถ้าจากพระธรรมมัทธิวก็จะได้ว่า “คุณสมบัติที่ต้องมีในการเข้าสู่แผ่นดินสวรรค์ไม่ใช่ความชอบธรรมของตนเอง แต่เป็นความชอบธรรมของพระคริสต์ต่างหาก” 4.ส่วนสนอง ส่วนนี้ผู้เขียนจะตีความหมายออกมาเพื่อให้ผู้อ่านสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ ถ้าจากพระธรรมมัทธิวนี้ก็จะบอก “หากคุณกำลังแสวงหาความชอบธรรมด้วยตนเอง จงจำไว้ว่า แผ่นดินของพระเจ้าในสวรรค์ไม่มีที่สำหรับคนที่คิดว่าตัวเองเป็นคนชอบธรรม”  ซึ่งผู้อ่านก็สามารถนำเอาไปใช้ได้เลย ซึ่งผู้แปลไม่ต้องไปตีความหมายอีกครั้ง

                            สรุปแล้วข้าพเจ้าเห็นว่าหนังสือทั้งสองเล่มที่มีความแตกต่างกันนี้ก็เป็นประโยชน์อย่างมากต่อผู้ที่ได้ศึกษา หนังสือสำรวจพระคัมภีร์ใหม่ ของ พอล เบนแวร์ เอาไว้ศึกษาในลักษณะที่เอามาเป็นวิชาการ ส่วนมุมมองใหม่ต่อพระคัมภีร์ใหม่ก็เอามาไว้เปรียบเทียบเมื่อเราได้ตีความหมายหมายออกมาจากพระคัมภีร์ ว่ามีมุมมองที่แตกต่างกันอย่างไรระหว่างเราที่ตีความหมายเองโดยใช้หลักการตีความหมายพระคัมภีร์เข้ามาช่วย และการตีความหมายของ ฮวง สาบิน.


หมายเลขบันทึก: 519052เขียนเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2013 13:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2013 13:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณที่แนะนำครับ มีโอกาสผมจะหามาอ่านครับ ผมกำลังศึกษาศาสนาคริสต์อยู่ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท