ผลของศรีนครินทรวิโรฒโซเดียมฟลูออไรด์เจล ต่อการคืนแร่ธาตุของเคลือบฟันบริเวณรอบแบรกเก็ตจัดฟันที่จำลองสภาวะฟันผุ


การวิจัยนี้เพื่อพัฒนาวัสดุทันตกรรมชนิดเจลผสมสารฟลูออไรด์ ซึ่งผลิตขึ้นจากคณะเภสัชศาสตร์ มศว. สำหรับการทำให้เกิดการคืนกลับของผิวเคลือบฟันที่มีรอยผุระยะแรกเริ่มให้มีความแข็งแรงขึ้นมาใหม่ โดยการวิจัยนี้เพื่อประยุกต์ใช้ในผู้ป่วยที่กำลังรับการรักษาทางทันตกรรมจัดฟันซึ่งอาจจะใม่สามารถดูและทำความสะอาดฟันโดยการแปรงฟันได้ดี จึงจำเป็นต้องใช้วัสดุเพิ่มเติมเพื่อช่วยเสริมให้ผิวเคลือบฟันมีความแข็งแรงขึ้น ซึ่งคือ เจลผสมสารฟลูออไรด์

ผลของศรีนครินทรวิโรฒโซเดียมฟลูออไรด์เจล ต่อการคืนแร่ธาตุของเคลือบฟันบริเวณรอบแบรกเก็ตจัดฟันที่จำลองสภาวะฟันผุ

นงลักษณ์ สมบุญธรรม1 สถาพร นิ่มกุลรัตน์2 ปวีณ์ธิดา เหลืองอร่าม1  วรฉัตร ทิพยดำรงกุล1 ภัทรภร สุทธิสารากร1 นพวรรณ พิศิษฐ์พงศ์ธร1

1. คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ  

2.  คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ


บทคัดย่อ

วัตถุประสงค์ : โซเดียมฟลูออไรด์ถูกนำมาใช้ในการคืนแร่ธาตุในฟันที่มีรอยผุระยะเริ่มต้น การศึกษานี้เปรียบเทียบผลของศรีนครินทรวิโรฒโซเดียมฟลูออไรด์เจลความเข้มข้น 1.1% และโซเดียมฟลูออไรด์เจลความเข้มข้น 1.1% ที่ขายเชิงพาณิชย์ ที่มีต่อการคืนแร่ธาตุของผิวเคลือบฟันวัวบริเวณรอบแบรกเก็ตจัดฟันที่จำลองสภาวะฟันผุในระยะแรกเริ่ม โดยศึกษาค่าเฉลี่ยของการสูญเสียแร่ธาตุ (Mineral loss)  และ การคืนแร่ธาตุ (Mineral gain)  ณ เวลา 28 วัน โดยเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับโซเดียมฟลูออไรด์เจล

วิธีการศึกษา : นำฟันหน้าของวัวจำนวน 12 ซี่ มาตัดแบ่งเป็นสามส่วนในแนวยาวเป็น 36 ชิ้น ติดแบรกเก็ตจัดฟันโลหะไร้สนิม จากนั้นทาผิวฟันทั้งหมดด้วยสารทนทานต่อกรด (acid resistant varnish) ยกเว้นพื้นที่บริเวณ 2x3  ตร.มม. ทางคอฟัน (cervical)ต่อแบรกเก็ตจัดฟัน แบ่งตัวอย่างแบบสุ่มเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ทาด้วยศรีนครินทรวิโรฒโซเดียมฟลูออไรด์เจลความเข้มข้น 1.1%  กลุ่มที่ 2 ทาด้วยโซเดียมฟลูออไรด์เจล 1.1% ที่ขายเชิงพาณิชย์  กลุ่มที่ 3  เป็นกลุ่มควบคุมซึ่งไม่ได้รับการทาโซเดียมฟลูออไรด์เจล  การสร้างรอยผุจำลองระยะเริ่มต้นบนผิวเคลือบฟันทำโดยแช่ฟันในสารละลายเคลือบฟัน(demineralizing solution) ที่พีเอช 5.1 (pH 5.1) เป็นเวลา 14 วัน  ทำการทาโซเดียมฟลูออไรด์เจล 1.1% ในกลุ่มทดลองทั้งสองกลุ่มที่บริเวณพื้นที่ใต้ต่อแบรกเก็ตซึ่งเว้นเอาไว้ นาน 4 นาที วันละ 2 ครั้ง ตัวอย่างฟันทั้งหมดถูกทดลองในสภาวะที่มีความเป็นกรดด่างสลับกัน (pH cycling) โดยใช้สภาวะที่มีการละลายเคลือบฟันเป็นเวลา 3 ชั่วโมง และสภาวะที่มีการคืนแร่ธาตุเป็นเวลา 21 ชั่วโมงต่อวัน  รวมเวลาทดลอง 28 วัน  นำชิ้นตัวอย่างมาทำการทดสอบความแข็งภาคตัดขวาง (cross sectional micro hardness) โดยใช้หัวกดรูปไดมอน (Knoop indentor)  ที่น้ำหนัก 10 กรัม เป็นเวลา 15 วินาที  เปรียบเทียบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยของการสูญเสียแร่ธาตุ  (Mineral loss-∆Z) และ ค่าเฉลี่ยของการคืนแร่ธาตุ (Mineral gain)ระหว่างกลุ่มด้วย ด้วยสถิติไฟร์แมน (Friedman test) และ ทดสอบความแตกต่างระหว่างคู่ด้วยวิธี วิล คอกซันไซน์แรงค์ (Wilcoxon signed ranks test) ที่ระดับความเชื่อมั่น 95%

ผลการศึกษา: จากการทดสอบ พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญอย่างน้อย 1 คู่ระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม โดยกลุ่มทดลองที่ 1 ที่ทาด้วยศรีนครินทรวิโรฒโซเดียมฟลูออไรด์เจล 1.1% มีค่าเฉลี่ยการสูญเสียแร่ธาตุน้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้ทาโซเดียมฟลูออไรด์เจล และกลุ่มทดลองที่ 2  ที่ได้รับโซเดียมฟลูออไรด์เจล 1.1% ที่ขายเชิงพาณิชย์ (p< .05)  เมื่อเปรียบการคืนแร่ธาตุ พบว่ากลุ่มทดลองที่ 1 มีการคืนแร่ธาตุไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญจากกลุ่มทดลองที่ 2

สรุปผล : ศรีนครินทรวิโรฒโซเดียมฟลูออไรด์เจลความเข้มข้น 1.1% มีผลทำให้เกิดการคืนแร่ธาตุของผิวเคลือบฟันบริเวณรอบแบรกเก็ดจัดฟันที่จำลองสภาวะฟันผุไม่แตกต่างจากโซเดียมฟลูออไรด์เจลความเข้มข้น 1.1% ที่ขายเชิงพาณิชย์


การนำความรู้จากผลการศึกษาวิจัยไปประยุกต์ใช้

           การวิจัยนี้เพื่อพัฒนาวัสดุทันตกรรมชนิดเจลผสมสารฟลูออไรด์ ซึ่งผลิตขึ้นจากคณะเภสัชศาสตร์ มศว. สำหรับการทำให้เกิดการคืนกลับของผิวเคลือบฟันที่มีรอยผุระยะแรกเริ่มให้มีความแข็งแรงขึ้นมาใหม่  โดยการวิจัยนี้เพื่อประยุกต์ใช้ในผู้ป่วยที่กำลังรับการรักษาทางทันตกรรมจัดฟันซึ่งอาจจะใม่สามารถดูและทำความสะอาดฟันโดยการแปรงฟันได้ดี จึงจำเป็นต้องใช้วัสดุเพิ่มเติมเพื่อช่วยเสริมให้ผิวเคลือบฟันมีความแข็งแรงขึ้น  ซึ่งคือ เจลผสมสารฟลูออไรด์

           ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่าการใช้เจลผสมสารฟลูออไรด์ทั้งที่ผลิตจึ้นเอง หรือที่มีขายตามท้องตลาด สามารถช่วยทำให้เกิดการคืนกลับแร่ธาตุของผิวเคลือบฟันที่มีรอยผุระยะแรกเริ่มรอบๆแบร็กเก็ตจัดฟันให้มีความแข็งแรงขึ้นมาใหม่  ดังนั้นการแนะนำให้ผู้ป่วยที่กำลังรักษาทางทันตกรรมจัดฟันใช้สารฟลูออไรด์เฉพาะที่เพิ่มเติมจึงเป็นสิ่งจำเป็น  โดยอาจจะใช้ในลักษณะที่เป็นเจล หรือ น้ำยาบ้วนปากที่ผสมฟลูออไรด์ก็ได้


คำสำคัญ (Tags): #ฟลูออไรด์
หมายเลขบันทึก: 519035เขียนเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2013 11:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2013 11:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท