คำนิยม หนังสือ “ข้อเสนอเชิงนโยบาย : แนวทางการฟื้นฟู การใช้ประโยชน์หาดทราย และการอนุรักษ์”


          คำนิยม หนังสือ “ข้อเสนอเชิงนโยบาย : แนวทางการฟื้นฟู การใช้ประโยชน์หาดทราย และการอนุรักษ์”

ผศ. กัลยาณี พรพิเนตพงศ์ ขอให้เขียนคำนิยมนี้  จึงนำมา ลปรร. ในวงกว้างด้วย  ดังต่อไปนี้


                                                                          คำนิยม

         หนังสือ ข้อเสนอเชิงนโยบาย : แนวทางการฟื้นฟู การใช้ประโยชน์หาดทราย และการอนุรักษ์

                                                                      วิจารณ์ พานิช

                                                                         ..............


          ผมขอขอบคุณคณะผู้จัดทำหนังสือ ข้อเสนอเชิงนโยบาย : แนวทางการฟื้นฟู การใช้ประโยชน์หาดทราย และการอนุรักษ์  ที่ให้เกียรติผมเขียนคำนิยมหนังสือเล่มนี้  นับเป็นเล่มที่ ๓ ของโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ กรณีใช้ประโยชน์หาดทราย และการอนุรักษ์ที่ผมได้รับเกียรติให้เขียนคำนิยม  เริ่มจากเรื่อง หาดทราย ... มรดกทางธรรมชาติที่นับวันจะสูญสิ้นตามด้วยเรื่อง หาดทราย ... คุณค่า ... ชีวิตที่ถูกลืม  จนถึงเล่มนี้ 

          ผมชื่นชมการทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะของทีมงานในโครงการฯ  ที่ทำงานอย่างต่อเนื่อง  สร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟู การใช้ประโยชน์ และการอนุรักษ์หาดทราย  ของประเทศไทย  ขยายเครือข่ายออกไป  ผมหวังว่าต่อไปจะขยายความร่วมมือเป็นเครือข่ายออกไปนอกภาคใต้  หรือออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

          ผมชื่นชมการทำงานสาธารณะด้วยยุทธศาสตร์สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ที่ ศ. นพ. ประเวศ วะสี เสนอไว้  และเครือข่ายเฝ้าระวังรักษาชายหาดนำมาใช้อย่างจริงจัง  คือใช้ยุทธศาสตร์ทางปัญญา (การสร้างความรู้)  ร่วมกับยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนสังคม  และยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบาย  หนังสือข้อเสนอเชิงนโยบาย : แนวทางการฟื้นฟู การใช้ประโยชน์หาดทราย และการอนุรักษ์ เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของการขับเคลื่อนนโยบาย

          นโยบายที่สำคัญที่สุด เป็นเรื่องใหญ่ในระดับกระบวนทัศน์ (paradigm)  คือต้องไม่ใช้กระบวนทัศน์สู้กับธรรมชาติแต่ใช้แนวทางอยู่ร่วมกับธรรมชาติ  ดังกล่าวถึงในหนังสือฉบับนี้อย่างชัดเจน 

          เมื่อเน้นแนวทางอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ก็ต้องทำความเข้าใจธรรมชาติ  ซึ่งก็คือการทำงานวิจัย เพื่อใช้ยุทธศาสตร์ทางปัญญานั่นเอง   เรื่องนี้หากมองผิวเผิน ใช้สามัญสำนึก จะเป็นความเข้าใจผิด และเกิดการดำเนินการผิดๆ  เช่นการสร้างโครงสร้างแข็งแรงใหญ่โตที่ชายหาดเพื่อกันคลื่น ดักทราย  ทำให้เกิดผลเสียหายร้ายแรงตามมาดังแสดงในหนังสือ ๒ เล่มแรกแล้ว 

          และเมื่อผสานเข้ากับความต้องการให้มีการก่อสร้าง เพื่อจะได้ชักผลประโยชน์เข้าตนและพวกพ้อง (การฉ้อราษฎร์บังหลวง)  การดำเนินการผิดๆ ก็ยิ่งดาษดื่น  มีตัวอย่างเชิงประจักษ์ให้เห็นได้โดยทั่วไป

          หลักการที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง สำหรับใช้เป็นหลักคิด ในการดำเนินนโยบายดูแลหาดทรายชายทะเล คือหาดทรายเป็นระบบที่เสมือนมีชีวิต  มีการแก้ไขเยียวยาตนเองได้ โดยปัจจัยเกี่ยวข้องที่ซับซ้อน มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า  แต่เกิดจากกระบวนการซ้ำแล้วซ้ำเล่าทุกวัน หมุนเวียนตามฤดูกาล  เกี่ยวข้องกับคลื่น ลม เม็ดทราย ฝน น้ำทะเล สิ่งมีชีวิตบนและในพื้นทราย สันดอน เนินทราย และความลาดชันของพื้นที่  และที่สำคัญที่สุด เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของมนุษย์  ดังนั้นในบางกรณี “การไม่ทำอะไร” หรือ “การรอ” อาจเป็นมาตรการที่ดีที่สุด หลังจากหาดทรายถูกคลื่นซัดหายไปในฤดูมรสุมบางปี 

          ในความเห็นของผม ข้อเสนอในหนังสือเล่มเล็กนี้ ที่เป็นรูปธรรมและสำคัญที่สุดคือ การกำหนดแนวถอยร่น ที่ชายหาด (หน้า ๒๘)  หากพื้นที่ใดสามารถทำได้อย่างเป็นระบบ  ออกเป็นกฎหมาย และมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง  น่าจะเป็นพื้นฐานสู่มาตรการอื่นๆ อย่างได้ผล  ผมมีข้อเสนอต่อทีมวิจัยว่า น่าจะหาพื้นที่ตัวอย่างความสำเร็จ (Success Story) ของแต่ละมาตรการที่เสนอ  และนำมาแสดงให้เห็นว่า เกิดผลดีต่อความสมบูรณ์ และความมีประโยชน์ยั่งยืนของหาดทราย  รวมทั้งประโยชน์ต่อมนุษย์ อย่างไร  รวมทั้งจัดทำเป็นงานวิจัยกรณีศึกษา เพื่อให้เข้าใจความซับซ้อนในการดำเนินการ ฟื้นฟู ใช้ประโยชน์ และอนุรักษ์ หาดทราย  ผมเชื่อว่าในผลการวิจัยกรณีศึกษานี้ จะมีความรู้ฝังลึก (Tacit Knowledge) ที่มีอยู่ในผู้เกี่ยวข้องกับผลสำเร็จในกรณีศึกษานั้น  สำหรับนำมาเสนอต่อประชาคมของชุมชนที่อยู่บริเวณชายหาด

          ผมจึงมีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้รับแจ้งจาก ผศ. กัลยาณี พรพิเนตพงศ์ ว่า


          “ดิฉันและเพื่อนๆกำลังทำการศึกษาเรื่อง นโยบายสาธารณะเพื่อการใช้ประโยชน์หาดทรายอย่างยั่งยืน  โดยความสนับสนุนของ

          นสธ. เป็นการวิเคราะห์นโยบาย มุ่งศึกษาเปรียบเทียบทางเลือกเชิงนโยบายในการจัดการปัญหาการกัดเซาะหาดทรายในพื้นที่ศึกษา

          โดยการประเมินประสิทธิภาพ(ต้นทุนและประโยชน์ทางเศรษฐศาสตร์)  ความเป็นธรรม

          ข้อจำกัดทางกฎหมาย  และการยอมรับของประชาชนของแต่ละทางเลือก  ซึ่งคาดว่าจะเสร็จปลายปีหน้า”


           ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในหนังสือเล่มนี้มีความชัดเจนอยู่แล้วในตัว  โดยเสนอทั้งมาตรการหลักและมาตรการเสริม  รวมทั้งเสนอวิธีจำแนกมาตรการตามพื้นที่ และตามความเร่งด่วนของปัญหา 

           จากการไตร่ตรอง ผมคิดว่า นอกจาก ฟื้นฟู  ใช้ประโยชน์  และอนุรักษ์หาดทราย  ยังต้องการ การปกป้องด้วย ในกรณีมีการรุกล้ำหรือดำเนินการต่อหาดทรายอย่างผิดกฎหมายหรือผิดหลักการ  ผมได้แนวคิดนี้จากการเข้าไปศึกษา เว็บไซต์ ของเครือข่ายเฝ้าระวังรักษาชายหาด (Beach Watch Network)  ที่ลงคำตัดสินคดีศาลปกครองสงขลา วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๔ กรณีชาวบ้านสะกอม อ.จะนะ จ.สงขลาฟ้องกรมเจ้าท่าสร้างเขื่อนริมทะเลทำลายหาดทรายและชายฝั่ง  เป็นกรณีตัวอย่าง ที่เมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐทำผิดกฎหมาย ประชาชนมีสิทธิฟ้องศาลได้  ผมเดาว่าคณะผู้จัดทำหนังสือคงต้องการปรองดองกับภาคราชการ จึงไม่หยิบยกกรณีนี้มาเขียนไว้ในหนังสือ  ผมจึงนำมาเสนอไว้ต่อภาคประชาสังคม

          ผมขอแสดงความขอบคุณแทนสังคมไทย ต่อคณะผู้จัดทำหนังสือเล่มนี้ออกเผยแพร่  ที่ได้ทำงานด้านวิชาการ และด้านการสื่อสารสังคมเพื่อการฟื้นฟู  ใช้ประโยชน์  และอนุรักษ์หาดทรายอย่างต่อเนื่อง และมั่นคงในการรักษาประโยชน์สาธารณะ  ขอทุกท่านที่เกี่ยวข้องจงประสบความสุขความเจริญในชีวิตตลอดไป จากการบำเพ็ญกุศลกรรมนี้


วิจารณ์ พานิช

๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๕



หมายเลขบันทึก: 518391เขียนเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2013 10:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2013 10:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

พื้นที่สาธารณะเป็นเรื่องใหญ่ในประเทศไทย หาดทราย สองริมฝั่งแม่นำ้ ทางเท้า ถนน ภูเขา

ล้วนถูกรุกลำ้้  จับจอง เพื่อประโยชน์ของตนเอง  ทั้งๆ ที่เหล่านี้เป็นพื้นที่สาธารณะเป็นของส่วนรวม

ไม่มีรัฐบาล หรือ นักการเมืองใด พูดถึง เพราะว่าเขาเหล่านี้ส่วนหนึ่งเป็นผู้กระทำ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท