อำนาจและหน้าที่ของพนักงานอัยการ


อำนาจและหน้าที่ของพนักงานอัยการ

    อำนาจและหน้าที่ของพนักงานอัยการนั้น มีบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. ๒๕๕๓ มาตรา ๑๔

มาตรา ๑๔ พนักงานอัยการมีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้

  (๑) อำนาจและหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ

  (๒) ในคดีอาญา มีอำนาจและหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและตามกฎหมายอื่นซึ่งบัญญัติว่าเป็นอำนาจและหน้าที่ของสำนักงานอัยการสูงสุดหรือพนักงานอัยการ

  (๓) ในคดีแพ่ง หรือคดีปกครอง มีอำนาจและหน้าที่ดำเนินคดีแทนรัฐบาล หน่วยงานของรัฐที่เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ราชการส่วนกลาง หรือราชการส่วนภูมิภาคในศาล หรือในกระบวนการทางอนุญาโตตุลาการทั้งปวง กับมีอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมายอื่นซึ่งบัญญัติว่าเป็นอำนาจและหน้าที่ของสำนักงานอัยการสูงสุดหรือพนักงานอัยการ

  (๔) ในคดีแพ่ง คดีปกครอง หรือคดีอาญา ซึ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐถูกฟ้องในเรื่องการที่ได้กระทำไปตามหน้าที่ก็ดี หรือในคดีแพ่งหรือคดีอาญาที่ราษฎรผู้หนึ่งผู้ใดถูกฟ้องในเรื่องการที่ได้กระทำตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งได้สั่งการโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือเข้าร่วมหรือช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งกระทำการในหน้าที่ราชการก็ดี เมื่อเห็นสมควรพนักงานอัยการจะรับแก้ต่างให้ก็ได้

  (๕) ในคดีแพ่ง คดีปกครอง หรือกรณีมีข้อพิพาทที่ต้องดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการที่หน่วยงานของรัฐซึ่งมิได้กล่าวในข้อ (๓) หรือนิติบุคคลซึ่งมิใช่หน่วยงานของรัฐ แต่ได้มีพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งขึ้นเป็นคู่กรณีและมิใช่กรณีที่เป็นข้อพิพาทกับรัฐบาลหรือระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยกันเอง เมื่อเห็นสมควรพนักงานอัยการจะรับว่าต่างหรือแก้ต่างให้ก็ได้

  (๖) ในคดีที่ราษฎรฟ้องเองไม่ได้โดยกฎหมายห้าม เมื่อเห็นสมควรพนักงานอัยการมีอำนาจเป็นโจทก์ได้

  (๗) ดำเนินการตามที่เห็นสมควรเกี่ยวกับการบังคับคดีอาญาเฉพาะในส่วนของการยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับตามคำพิพากษา ในการนี้มิให้เรียกค่าฤชาธรรมเนียมจากพนักงานอัยการ

  (๘) ในกรณีที่มีการผิดสัญญาประกันจำเลย หรือประกันรับสิ่งของไปดูแลรักษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มีอำนาจและหน้าที่ดำเนินคดีในการบังคับให้เป็นไปตามสัญญานั้น ในการนี้มิให้เรียกค่าฤชาธรรมเนียมจากพนักงานอัยการ

  (๙) อำนาจและหน้าที่อื่นตามที่คณะกรรมการอัยการประกาศกำหนดหรือเห็นชอบเพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย หรือมติคณะรัฐมนตรี

  (๑๐) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของพนักงานอัยการ

  (๑๑) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของสำนักงานอัยการสูงสุดตามที่ได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุด

ในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการตามมาตรา ๑๔ (๓) (๔) และ (๕) พนักงานอัยการจะออกคำสั่งเรียกบุคคลใด ๆ ที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำก็ได้ แต่จะเรียกคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งมาให้ถ้อยคำโดยคู่ความฝ่ายนั้นไม่ยินยอมไม่ได้

พนักงานอัยการตำแหน่งใดมีอำนาจดำเนินการตามวรรคหนึ่งได้เพียงใดให้เป็นไปตามระเบียบที่สำนักงานอัยการสูงสุดกำหนดโดยความเห็นชอบของ ก.อ.


ข้อสังเกต

(๑) ตามมาตรา ๑๔ (๓) ไม่ระบุถึง "ราชการส่วนท้องถิ่น"

เปรียบเทียบ

พระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ. ๒๔๙๘ มาตรา ๑๑ (ยกเลิก)

มาตรา ๑๑ พนักงานอัยการมีอำนาจและหน้าที่ ดังนี้

  (๑) ในคดีอาญา มีอำนาจและหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและตามกฎหมายอื่น ซึ่งบัญญัติว่าเป็นอำนาจและหน้าที่ของกรมอัยการหรือพนักงานอัยการ

  (๒) ในคดีแพ่ง มีอำนาจและหน้าที่ดำเนินคดีแทนรัฐบาลในศาลทั้งปวงกับมีอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมายอื่น ซึ่งบัญญัติว่าเป็นอำนาจและหน้าที่ของกรมอัยการหรือพนักงานอัยการ

  (๓) ในคดีแพ่งหรืออาญาซึ่งเจ้าพนักงานถูกฟ้องในเรื่องการที่ได้กระทำไปตามหน้าที่ก็ดี หรือในคดีแพ่งหรืออาญาที่ราษฎรผู้หนึ่งผู้ใดถูกฟ้องในเรื่องการที่ได้กระทำตามคำสั่งของเจ้าพนักงานซึ่งได้สั่งการโดยชอบด้วยกฎหมายหรือเข้าร่วมกับเจ้าพนักงานกระทำการในหน้าที่ราชการก็ดีเมื่อเห็นสมควรพนักงานอัยการจะรับแก้ต่างก็ได้

  (๔) ในคดีแพ่งที่เทศบาลหรือสุขาภิบาลเป็นโจทก์หรือเป็นจำเลยซึ่งมิใช่เป็นคดีที่พิพาทกับรัฐบาล เมื่อพนักงานอัยการเห็นสมควรจะรับว่าต่างหรือแก้ต่างก็ได้

  (๕) ในคดีแพ่งที่นิติบุคคลซึ่งได้มีพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งขึ้นเป็นโจทก์หรือเป็นจำเลย และมิใช่เป็นคดีที่พิพาทกับรัฐบาลเมื่อพนักงานอัยการเห็นสมควรจะรับว่าต่างหรือแก้ต่างก็ได้

  (๖) ในคดีที่ราษฎรผู้หนึ่งผู้ใดฟ้องเองไม่ได้โดยกฎหมายห้าม เมื่อเห็นสมควรพนักงานอัยการมีอำนาจเป็นโจทก์ได้

  (๗) ในคดีที่ศาลชั้นต้นลงโทษบุคคลใดโดยลำพัง ถ้าศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ปล่อยผู้นั้น เมื่อพนักงานอัยการเห็นสมควรจะฎีกาก็ได้

  (๘) ในกรณีที่มีการผิดสัญญาประกันจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มีอำนาจและหน้าที่ดำเนินคดีในการบังคับให้เป็นไปตามสัญญานั้น และในการนี้มิให้เรียกค่าฤชาธรรมเนียมจากพนักงานอัยการ

(๒) หนังสือที่ อส ๐๐๑๗/๑๔๔๓๑ ลงวันที่ ๑๒ ก.ย. ๒๕๔๖

สนง.อัยการสูงสุดหรือพนักงานอัยการมีอำนาจหน้าที่ดำเนินคดีอาญาให้และอำนาจในการดำเนินคดีอาญา มิได้จำกัดเฉพาะให้พนักงานอัยการทำหน้าที่เป็นโจทก์แทนรัฐเท่านั้น แต่หมายความรวมถึงการเป็นทนายแผ่นดินแก้ต่างให้หน่วยงานของรัฐที่ถูกเอกชนฟ้องคดีอาญาด้วย ดังนั้น พนักงานอัยการจังหวัดระนองจึงมีอำนาจตาม พรบ.อัยการ พ.ศ. ๒๔๙๘ มาตรา ๖, ๑๑(๑) ประกอบพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวงกรม พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๔๖(๙) ในการรับแก้ต่างคดีอาญาให้องค์กรบริหารส่วนจังหวัดระนองได้

อ้างอิง

พระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. ๒๕๕๓

ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ. ๒๔๙๘

เล่ม ๑๒๗ ตอนที่ ๗๕ ก ราชกิจจานุเบกษา ๗ ธันวาคม ๒๕๕๓

http://www.ago.go.th/new_law/doc_ago1.pdf

พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. ๒๕๕๓

เล่ม ๑๒๗ ตอนที่ ๗๕ ก ราชกิจจานุเบกษา ๗ ธันวาคม ๒๕๕๓

หน้า ๑ - หน้า ๓๗

http://www.ago.go.th/new_law/doc_ago3.pdf

ปลายมีนา  บัววัฒน์ (ทนายความ), "อำนาจและหน้าที่ของพนักงานอัยการ."

www.fpmconsultant.com

e-mail : [email protected]

http://www.fpmconsultant.com/htm/advocate_dtl.php?id=1948

หมายเลขบันทึก: 518279เขียนเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2013 01:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2014 18:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ขอบคุณ ที่ให้ความรู้ ถ้าเกิดความสงสัยจะได้กลับมาอ่านอีก

ก็เพราะว่า ราชการส่วนท้องถิ่น ไม่ว่า อบจ. อบต.กทม. หรือเทศบาล  แม้จะเป็นหน่วยงานของรัฐ  แต่ผู้บริหารก็มาจากการเลือกตั้งที่มีอิสระในระดับหนึ่ง ซึ่่งอาจจะมีี้ข้อพิพาททางแพ่งหรือทางปกครองกับรัฐบาลหรือกระ่ทรวง ทบวงกรม  องค์กรปกครองท้องถิ่นด้วยกันเองได้   เขาจึงแยกไปไว้ในมาตรา 14 (5)  ซึ่งเป็นอีกหลักการหนึ่งหาก คือ หากมีคดีกับรัฐบาลหรือหน่วยงานรัฐด้วยกัน อัยการจะไม่รับว่า่่ต่างหรือแก้ต่างคดีให้  แต่หากมีข้อพิพาทกับเอกชน อัยการจะใช้พิจารณาอีกชั้นหนึ่งว่าเป็นผลประโยชน์ของรัฐที่สมควรจะคุ้มครองรับว่าต่าง/แก้ต่างให้หรือไม่  

ขอบคุณครับ  มีข้อสังเกตต่อจากคุณทนายแผ่นดิน

มาตรา ๑๔(๕) ใช้คำว่า "หน่วยงานของรัฐ" หรือ "นิติบุคคลซึ่งมิใช่หน่วยงานของรัฐ"

แต่ในทางคดีปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพรบ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ นิยามคำว่าหน่วยงานทางปกครอง” และ เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ไว้

ฉะนั้น  หากคดีที่ "ท้องถิ่น" เป็นคู่กรณี จึงมี ๒ ลักษณะคือ ในฐานะ (๑) “หน่วยงานทางปกครอง” (ราชการส่วนท้องถิ่น) และ ในฐานะ (๒) “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” (นายก อปท., ปลัด อปท., หัวหน้าส่วนราชการฯ , พนักงานส่วนท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ของ อปท.ได้แก่ ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง คณะบุคคลหรือผู้ที่ปฏิบัติงานใน อปท. ฯลฯ)

ประเด็นปัญหาอยู่ที่ ในกรณีคดีปกครอง ซึ่งท้องถิ่นเป็นคู่กรณีในฐานะ "เจ้าหน้าที่ของรัฐ" มิใช่ในกฐานะ "หน่วยงานทางปกครอง" อัยการไม่สามารถใช้อำนาจตามมาตรา ๑๔(๕) ได้ แต่ใช้ มาตรา ๑๔(๔)

ประเด็นปัญหามีต่อไปว่า ในกรณีคดีปกครอง ตามมาตรา ๑๔(๔) ต้องกระทำ "ในเรื่องการที่ได้กระทำไปตามหน้าที่" แต่ข้อเท็จจริงเป็นเรื่องที่วินิจฉัยยากว่า การกระทำตามหน้าที่นั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยเฉพาะในเรื่อง "การใช้ดุลพินิจ" เพราะหากเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมายไม่ว่ากรณีใด ๆ  แต่พนักงานอัยการรับว่าต่างให้ทุกกรณี  ก็จะทำให้ขัดกับหลักกฎหมาย "เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม" 


กล่าวคือ  เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงแล้วปรากฏว่า มีปัญหาเรื่อง "การใช้อำนาจดุลพินิจ" (discretion) หรือ มีปัญหาเรื่อง "ความเป็นธรรม" หรือ "หลักนิติธรรม" (The Rule of Law) อันเกิดจากการกระทำทางปกครอง แม้ได้กระทำการเพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่ไปกระทบกับสิทธิของ "เอกชน" เกินสมควร (เอกชน หมายรวมถึง บุคคลทั่ว ๆ ไป รวมถึงพนักงานส่วนท้องถิ่นด้วย ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งทางปกครองของหัวหน้าหน่วยบริหาร อปท.)  จึงมีปัญหาคำว่า "เกินสมควร" มีความหมายเพียงใด แค่ไหน ...


คำว่า "พนักงานส่วนท้องถิ่น" มีคำเรียกตามกฎหมายแตกต่างกันหลายคำ 

อบต. เรียก "พนักงานส่วนตำบล

เทศบาล เรียก "พนักงานเทศบาล"

เมืองพัทยา เรียก "พนักงานเมืองพัทยา"

อบจ. เรียก "ข้าราชการส่วนจังหวัด"

กทม. เรียก "ข้าราชการกรุงเทพมหานคร"


ซึ่ง ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๒๘๘ เรียกใหม่ว่า "ข้าราชการส่วนท้องถิ่น" แต่กฎหมายลูกทุกฉบับยังมิได้อนุวัติแก้ไขให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ


 

ซึ่ง ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๒๘๘ ใช้คำเรียก "พนักงานส่วนท้องถิ่น" คำใหม่ว่า "ข้าราชการส่วนท้องถิ่น" แต่กฎหมายลูกทุกฉบับยังมิได้อนุวัติแก้ไขให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท