จริยธรรมสำหรับผู้บริหารการศึกษา


จริยธรรมเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับมนุษย์ปกติ จริยธรรมเกิดขึ้นเพื่อการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ ซึ่งมนุษย์ในสังคมต้องการให้ทุกคนในสังคมมีเท่าๆ กันเพื่อสันติสุข (peace) จริยธรรมเป็นด่านแรกในการควบคุมใจและควบคุมตนเอง  ถ้าทุกคนมีจริยธรรมในตนเองแล้ว อาจไม่ต้องมีกฎต่างๆอย่างกฎหมายหรือกฎภายในองค์กร ในปัจจุบันปัญหาทางจริยธรรมของสังคมไทย มีสาเหตุส่วนหนึ่งจากการละเลย (ignore) ซึ่งคนในสังคมมองการทำผิดจริยธรรมเป็นเรื่องปกติ  เป็นเรื่องธรรมดา และไม่เกี่ยวกับตนและคนรอบข้างโดยตรง จากการละเลยและเพิกเฉย จึงขยายตัวเป็นปัญหาสังคมต่างๆ เช่น ปัญหาอาชญากรรม ปัญหายาเสพติด  ปัญหาทุจริต เป็นต้น แนวทางในการแก้ปัญหาจริยธรรมวิธีหนึ่งที่ผู้นำควรที่จะทำ คือ การทำต้นให้เป็นต้นแบบกับคนรอบข้าง สำหรับผู้บริหารการศึกษานั้น จริยธรรมสำคัญยิ่ง เพราะผู้บริหารมีสิทธิในการใช้อำนาจตามตำแหน่งหน้าที่บริหารปัจจัยในการบริหาร คือ คน (man) เงิน (money) ทรัพยากร (matirial) การจัดการ (management) และเวลา (time / minute) ผู้บริหารเปรียบเหมือนคนที่เดินหมาก ควบคุมหมากได้ทุกตัว จะโยกย้ายหมากตัวใดก็ได้ ถ้าผู้บริหารปฏิบัติงานโดยมีจริยธรรม ปฏิบัติงานได้ถูกต้องตามกติกา ไม่โกง ไม่เอาเปรียบผู้อื่น การทำงานก็จะสะอาดบริสุทธิ์ เกิดผลดีกับทุกๆฝ่าย และที่สำคัญอย่างยิ่งสถานศึกษาเป็นสถานที่ผลิตบุคลากรของชาติและผลิตพลโลก

ผู้บริหารการศึกษามีหน้าที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมทั้งต่อส่วนรวม และต่อตัวเอง ด้านส่วนรวม คือการบริหารสถานศึกษาให้เป็นสถาบันแห่งจริยธรรม เป็นความคาดหวังของสังคมที่ต้องการเห็น และ ผู้บริหารต้องบริหารบรรยากาศของสถานศึกษาที่ส่งเสริมจริยธรรม ส่วนความเกี่ยวข้องต่อตัวเอง คือ ผู้บริหารเป็นตัวแทนด้านจริยธรรม  การตัดสินใจต้องเป็นไปตามมาตรฐานของศีลธรรม ก่อนที่ผู้บริหารจะทำหน้าที่ทั้งสองได้ต้องรู้จัก ลักษณะจริยธรรมซึ่งมี 4 แบบ คือ 1. ความรู้เชิงจริยธรรม  2. ทัศนคติเชิงจริยธรรม 3. เหตุผลเชิงจริยธรรม และ 4. พฤติกรรมเชิงจริยธรรม การมีความรู้เพียงอย่างเดียวไม่ได้แสดงว่าผู้นั้นมีจริยธรรม เช่น รู้ว่าพรหมวิหาร 4 ประกอบไปด้วย เมตตา กรุณา มุฑิตา และอุเบกขา แต่ไม่เคยแสดงพฤติกรรมที่ตามหลักของพรหมวิหาร 4 เลย ดังนั้นพฤติกรรมเชิงจริยธรรม เป็นสิ่งที่สังคมให้ความสำคัญมากที่สุด การแสดงพฤติกรรมทางจริยธรรมที่เห็นได้ชัดอย่างหนึ่งตามวัฒนธรรมไทยนั่นคือการไหว้ การไหว้คือการแสดงความเคารพซึ่งกันและกัน เป็นการแสดงซึ่งไมตรีต่อกัน ดังนั้นเราเป็นคนไทยจึงควรไหว้ได้อย่างถูกต้อง สวยงามสมกับการแสดงเอกลักษณ์ของชาติ

นักจิตวิทยาได้ศึกษาพบว่ามนุษย์มีพัฒนาการในการเรียนรู้ในกระทำพฤติกรรมให้สอดคล้องกับความถูกต้องเป็นขั้นๆหรือเรียกว่า พัฒนาทางจริยธรรม เป็นที่แพร่หลาย 3 ทฤษฏี โดย 2 ทฤษฎีแรกเป็นทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาขึ้นอยู่กับความฉลาดในการรับรู้กฏเกณฑ์และลักษณะต่างๆ ทางสังคม ซึ่งเป็นไปตามลำดับขั้นอย่างต่อเนื่องตามลำดับอายุ ทฤษฏีของเพียเจต์ แบ่งระดับทางจริยธรรมออก เป็น 3 ระดับ คือ 1. ระดับต้นชั้นก่อนจริยธรรม ระดับกลางชั้นฝึกปฏิบัติตามคำสั่ง และระดับยึดหลักแห่งตน  ทฤษฏีของโคลเบอร์ก แบ่งระดับพัฒนาการทางจริยธรรมเป็น 6 ขั้นตอน 3 ระดับ คือ ระดับที่ 1 คือระดับก่อนกฎเกณฑ์ ระดับที่ 2 คือระดับตามกฎเกณฑ์ และระดับที่ 3 คือ ระดับเหนือกฎเกณฑ์ และทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคม เชื่อว่าสังคมและสิ่งแวดล้อมมีอิทธิพล(การให้รางวัล การลงโทษ และแบบอย่าง) โดยตรงต่อพัฒนาการทางจริยธรรม ได้แก่ ทฤษฏีของบรอนเฟนเบรนเนอร์ แบ่งจริยธรรมเป็น 5 แบบ คือ แบบปรับตัวเข้าหาตน แบบปรับตัวเข้ามาอำนาจบังคับ แบบปรับเข้าหาเพื่อน แบบปรับเข้าสู่จุดหมายร่วมกัน และแบบปรับเข้าหาเหตุผล (จะเน้นเรื่องการพัฒนาทางสติปัญญา) แนวคิดเกี่ยวกับพัฒนาการทางสติปัญญามีผลโดยตรงกับเหตุผลทางจริยธรรมและการตัดสินใตเชิงจริยธรรม ส่วนทฤษฎีทางสังคมมีผลต่อพฤติกรรมทางจริยธรรม

จริยธรรมเกิดจากที่ใดบ้าง เกิดจากการเลียนแบบ (เอามาปรับกับตนเอง) เกิดจากการสั่งสอน เกิดจากลอกแบบ (เอามาใช้โดยไม่มีการปรับเลย) และเกิดจากการสร้างขึ้นเอง ส่วนอีกแนวคิดหนึ่งจริยธรรมเกิดจาก1. อิทธิพลทางสังคม คือเป็นไปตามกระแสสังคม ไม่ได้เกิดจากการปลูกฝังจากคนรอบข้าง 2. การเรียนรู้ และ 3. ลักษณะทางพันธุกรรม การที่ผู้บริหารจะปฏิบัติหน้าที่ทั้งสองส่วนให้สอดคล้องกับแนวคิดการเกิดจริยธรรมของมนุษย์นั้นตรงกับคำกล่าวที่ว่า “สอนให้จำ ทำให้ดู อยู่ให้เห็น”  สอนให้จำ ให้ความรู้ สอนให้ฝังในใจ ให้ความรู้เชิงจริยธรรม ทำให้ดู ทำตนเป็นแบบอย่างที่ดี คือการแสดงพฤติกรรมทางจริยธรรมให้คนรอบข้างเห็น อยู่ให้เห็น คล้ายกับการทำให้ดูแต่มีความลึกซึ้งกว่า อยู่ คนรอบตัว จะเห็นการที่บริหารมีทัศนคติเชิงจริยธรรมและเหตุผลทางจริยธรรม ดั่งเรื่อง ไม่เป็นไร ใครๆเขาก็ทำกัน เป็นเรื่องที่เด็กชายชัยพบเห็นการทุจริตเล็กๆน้อยๆ ตลอดช่วงชีวิต เมื่อการทุจริตเกิดขึ้น ผู้ใหญ่รอบข้าง จะใช้คำพูดว่า “ไม่เป็นไร ใครๆเขาก็ทำกัน” สุดท้ายนายชัยเมื่อเป็นผู้ใหญ่ก็โกงกิน และโดนจับได้ พ่อแม่นายชัยกล่าวว่า “ทำไมลูกทำแบบนี้ บ้านเราไม่มีใครสอนให้โกงเลยนะ” เห็นได้ว่า การสอนให้จำนั้น มีความสำคัญกว่าการอยู่ให้เห็น และทำให้ดู เห็นได้ว่าจริยธรรมไม่ใช่ชุดที่ผู้บริหารสวมใส่ แต่ควรมาจากใจ หรือจริยธรรมควรอยู่ใน DNA ของผู้บริหารเลยก็ว่าได้

   เมื่อกล่าวว่าจริยธรรมเป็นด่านแรกในการควบคุมใจและควบคุมตนเอง  การควบคุมตนเองได้นั้น เรียกว่า วินัยแห่งตน ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการมีวินัยแห่งตนมี 2 ทฤษฎี ได้แก่ ทฤษฎีการเกิดวินัยแห่งตน และ ทฤษฎีแรงจูงใจทางจริยธรรม

ทฤษฎีการเกิดวินัยแห่งตน เกิดมาตั้งแต่ระยะแรกเกิดจนกระทั่งเติบโต โดยได้รับการตอบสนองขั้นพื้นฐานอย่างเพียงพอ และผู้ที่เป็นคนตอบสนองจะสามารถ อบรมสั่งสอน หรือ มีอิทธิพลเหนือกว่า การมีมีวินัยแห่งตนแสดงได้ถึงการบรรลุนิติภาวะทางจิตของบุคคล และเป็นหัวใจของการแสดงออกของคุณธรรมหลายประการ เช่น ความมีระเบียบ มีน้ำใจ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น เป็นตน อย่างเช่นตัวอย่างประเทศที่พึ่งเกิดภัยธรรมชาติมาไม่นาน แต่ไม่มีความวุ่นวายและกลาหล จนเป็นที่กล่าวขานไปทั่วโลก คือ ประเทศญี่ปุ่นนั้นเอง การเกิดสึนามิครั้งนั้น ชาวโลกได้เห็นความมีสปิริต พลังใจ ความมีวินัย เข้มแข็ง มีคุณธรรมละอายต่อบาป แม้ทุกคนที่ประสบภัยอย่างร้ายแรงเช่นเดียวกันหมด แต่ไม่มีการแย่งอาหาร ไม่ฉกฉวยโอกาสกันเอง การแสดงคุณธรรมของคนญี่ปุ่นที่ไม่แสดงความตกใจที่มากเกินไปหรือความก้าวร้าวกล่าวโทษผู้อื่น เนื่องจากความเข้าใจในธรรมชาติซึ่งไม่สามารถควบคุมได้ตามหลัก 90/10 เหตุการณ์ในชีวิตเราประมาณ 90% เราสามารถควบคุมได้ แต่มีเพียง 10 % เท่านั้นที่เป็นเหตุการณ์บังเอิญ ไม่ว่าจะมาในรูปแบบดีหรือไม่ดี แต่เราเลือกตอบสนองไม่ตรงกับสถานการณ์หรือเพียงใช้อารมณ์ตัดสิน 10 % นั้นจนเสียไป อาจเป็นเหตุทำให้เหตุการณ์ที่เราควบคุมได้เสียหายไปด้วย คนญี่ปุ่นทุกๆ คนทำให้ทั่วโลกได้เห็นความสำเร็จในการปลูกฝังคุณธรรมของคนในชาติได้   

ส่วนทฤษฎีแรงจูงใจทางจริยธรรม ทฤษฎีแรงจูงใจทางจริยธรรม  ซึ่งมนุษย์พัฒนาทางจิตจนมีลักษณะทางจิตที่แตกต่าง ลักษณะที่แตกต่างกันควบคุมโดย ego (จิตใต้สำนึก จิตที่ยึดมั่นถือมั่นในตัวเองสูง)และ super ego (จิตสำนึก  จิตที่มีสามัญสำนึกรู้ผิดชอบชั่วดี เป็นจิตที่เต็มไปด้วยอุดมคติ )บุคคลแต่ละคนจะมีพลังควบคุมของอีโกและซุปเปอร์อีโกในระดับที่ไม่เท่ากัน อันเนื่องมาจากการได้รับความรู้ทางจริยธรรม ทัศนคติทางจริยธรรม และเหตุผลทางจริยธรรม  แบ่งออกเป็น 5 ประเภท ดังนี้  1. พวกปราศจากจริยธรรม 2. พวกเอาแต่ได้ 3. พวกชอบคล้อยตาม 4. พวกตั้งใจจริงแต่ขาดเหตุผล 5.พวกเห็นแก่ผู้อื่นอย่างมีเหตุผล มนุษย์แต่ละคนจะมีพฤติกรรมในหลายประเภทพร้อมกัน แต่ก็สามารถเห็นประเภทที่เด่นชัดได้ การมีวินัยแห่งตนจะมีมากเมื่ออายุมากขึ้น ดังนั้นการเป็นผู้นำที่ดีนั้น ควรจะพัฒนาหรือกระตุ้นผู้ตามให้มีลักษณะที่ 5 (พวกเห็นแก่ผู้อื่นอย่างมีเหตุผล) ของแต่ละคนให้มีลักษณะเด่นชัด ใช้วิธีใช้การสร้างแรงบันดาลใจจากภาพหรือบทเพลงที่ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจ หรือเมื่อให้งานใดไปแล้วต้องชี้ให้เห็นคุณค่าของงานนั้น โดยใช้เหตุผลขั้นสูง ให้เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม 

อีกทฤษฎีหนึ่งเกี่ยวกับแรงจูงใจทางจริยธรรม คือ ทฤษฎีต้นไม้แห่งจริยธรรม เป็นทฤษฏีแรกของนักศึกษาไทยที่สร้างขึ้น มีความหมายถึงลักษณะพื้นฐานและองค์ประกอบของจิตใจ นำไปสู่พฤติกรรมที่พึงปรารถนา เพื่อส่งเสริมให้บุคคลเป็นคนดี และคนเก่ง แบ่งออกเป็น 3  ส่วนดังนี้ ส่วนที่หนึ่ง เป็น ดอกและผลไม้บนต้น  (out put) เป็นพฤติกรรมที่พึงปรารถนา ส่วนที่สอง เป็นส่วนลำต้นของต้นไม้ (Process)มีทัศนคติ ค่านิยมที่ดีและคุณธรรม มีเหตุผลเชิงจริยธรรม  มุ่งอนาคตและควบคุมตนเอง เชื่ออำนาจในตนเองและ แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ และมีผลมาจากส่วนที่สาม เป็นรากของต้นไม้ ได้แก่ สติปัญญา ประสบการณ์ทางสังคม และสุขภาพจิต แนวทางการพัฒนาวินัยแห่งตน 1. การอบรมเลี้ยง อบรมแบบประชาธิปไตยให้รู้จักสิทธิของตนเองและผู้อื่น และเสรีภาพของตนเองและผู้อื่นอีกด้วย 2. ดูต้นแบบ 3. ลงโทษเพื่อควบคุม การลงโทษต้องเป็นการลงโทษที่ถูกต้อง ผู้ลงโทษต้องเป็นที่รักและศรัทธาของผู้ถูกลงโทษ การลงโทษทางจิตให้ผลดีกว่าการลงโทษทางกาย เช่น การลดลอนสิทธิ การตัดรางวัล

  เมื่อผู้บริหารต้องเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ที่เรียกว่า ทางสองแพร่ง ดังนั้นผู้บริหารต้องทราบแนวพิจารณามาตรฐานการตัดสินใจคุณสมบัติทางจริยธรรมของใครคนหนึ่ง มนุษย์มีการใช้เกณฑ์ 3 เกณฑ์คือ เกณฑ์สังคม เกณฑ์ศาสนา และเกณฑ์ปรัชญา ด้านสังคมประกอบด้วย 1. กฏหมาย คือ ข้อห้าม ที่จารึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร 2. จารีต คือพฤติกรรมที่ทำสืบต่อกันมา ไม่มีลายลักษณ์อักษร ด้านศาสนา ศาสนามีข้อห้ามและคำสอน (มีลักษณะถาวรไม่เปลี่ยนไปตามกาลเวลาเหมือนกฎหมาย) และศาสนายังเป็นพื้นฐานของกฎหมายอีกด้วย ด้านแนวปรัชญามี 4 ทัศนะดังนี้ ทัศนะแรก ทัศนะของสัมพัทธนิยม คือ ความดีไม่ใช่สิ่งตายตัว เกิดจากปัจจัยหรือเงื่อนไขหลายอย่าง 1. ความสัมพันธ์ 2. มุมมอง 3. ใช้ความคิดตนเป็นเกณฑ์ 4. อารมณ์ 5. ประสบการณ์ 6. ยุคและสมัย ทัศนะที่สอง ทัศนะของสัมบูรณนิยม คือ ความดีเป็นสิ่งตายตัว เกิดจาก มโนธรรม ที่มาจากกำเนิด แต่มีปัจจัยให้แต่ละคนแตกต่าง 2 อย่าง 1. การพัฒนาไม่เท่ากัน 2. ความพัฒนาความปรารถ อารมณ์ และผลประโยชน์เฉพาะตัว ทัศนะทื่สาม ทัศนะของประโยชน์นิยม คือความดี ความถูกต้องทำให้เกิดความสุขของคนส่วนมาก และ ทัศนะสุดท้าย ทัศนะของค้านท์ คือ การกระทำที่ดีแท้จริง ไม่คำนึงถึงตอบแทนใดๆ อย่างไรก็ดีการจะตัดสินใคร เราต้องหันกลับมาดูตัวเองก่อนเสมอ หรือมั่นทบทวนความดีของตนเองและทบทวนสิ่งที่ต้องแก้ไขในตนเอง ทำให้เราหันมามองตนเองมากขึ้น เพราะคนเรามักสนใจสิ่งรอบตัว เห็นข้อเสียของคนอื่น จับผิดแต่คนอื่น

จากแนวคิดของนักจิตวิทยา Thomas A Harris แบ่งลักษณะของบุคคลออกเป็น 4 ลักษณะ คือ
ลักษณะที่ 1 ตัวเราแน่ คนอื่นก็แน่ (I’m O. K. You’re O.K.) เป็นลักษณะของความมีสุขภาพจิตดี มีความเชื่อมั่นในตนเอง มีความเป็นมิตร มนุษย์สัมพันธ์สูง บุคลิกน่าเชื่อถือ เปิดใจรับฟังผู้อื่น ถ้าเป็นนักบริหารก็จะแก้ไขปัญหาเก่ง เป็นทั้งผู้ที่ให้และผู้รับที่ดี ให้ความใส่ใจทางบวก ลักษณะที่ 2 ตัวเราแน่ คนอื่นแย่ (I’m O.K. You’re not O.K.) การพูดหรือการแสดงออกมาครั้งใด ผู้พูดหรือผู้แสดงออกจะอยู่ในตำแหน่งที่เหนือกว่า ดีกว่า แต่คู่สนทนาขาดทุน ประเมินค่าตนเองสูง ชอบให้ความใส่ใจทางลบ มีความขุ่นเคืองติดอยู่ในใจตลอดเวลา ลักษณะที่ 3 ตัวเราแย่ คนอื่นแน่ (I’m not O.K. You’re O.K.) มีความเชื่อมั่นในตนเองต่ำ ปรับตัวแบบถอยหนี ขาดความมั่นใจ ความคิดริเริ่มน้อย แนวโน้มมีความเครียด ลักษณะที่ 4 ตัวเราก็แย่ คนอื่นก็แย่ (I’m not O.K. You’re not O.K.) มีสภาวะจิตบกพร่องเป็นผู้แพ้ ขาดพลังใจ มีภาวะกดดัน ไม่กล้าแสดงออก  ลักษณะที่มนุษย์พึ่งเป็นคือลักษณะที่ 1 และควรมีลักษณะอื่นให้น้อยเท่าใดยิ่งดี แต่ถึงแม้ว่าเรามีลักษณะที่  2-4 เด่นกว่า ลักษณะที่ 1 เราก็สามารถพัฒนาได้เช่นกัน การพัฒนาตนเองสามารถใช้ปรัชญาจากผ้าขี้ริ้วมาฝึกฝนตนเองได้ เพราะปรัชญาจากผ้าขี้ริ้ว สอนให้คนลักษณะที่ 2 รู้จักถ่อมตน ดั่งคำกล่าวที่ว่า
ผ้าขี้ริ้ว ยอมสกปรกเพื่อให้สิ่งอื่นสะอาด หรือ ผ้าขี้ริ้ว ยอมให้ถูกใช้งานในที่สกปรกที่สุด และสอนให้คน ลักษณะที่ 3 และ 4 รู้จักคุณค่าของตนเองมากขึ้น ดังคำกล่าวว่า  ผ้าขี้ริ้ว พอใจที่ได้อยู่เบื้องหลังความสะอาด หรือ ผ้าขี้ริ้ว ถึงจะเป็นผ้าไม่มีราคาแต่มีคุณค่ายิ่งใหญ่ได้

ลักษณะหรือพฤติกรรมต่างของมนุษย์ 1 คนมีด้วยกัน 4 แบบตามทฤษฎีของ Johari

ที่เรียกว่า  Johari’s Window

1. ส่วนที่เปิดเผย (Open Area) ตัวเองรู้และคนอื่นรู้

2. ส่วนที่มองไม่เห็น (Blind Area) ตัวเองไม่รู้แต่คนอื่นรู้

3. ส่วนที่ซ่อนเร้น (Hidden Area) ตนเองรู้ แต่คนอื่นไม่รู้

4.ส่วนที่ไม่รู้ (Unknown Area) ตัวเองไม่รู้ และคนอื่นก็ไม่รู้

จากหน้าต่าง Johari’s Window ไม่มีใครรู้จักตนเองอย่างถ่องแท้ ดังนั้นผู้บริหารวิเคราะห์ตัวเองรับฟังความคิดเห็น ข้อติชมของผู้อื่น เพื่อการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตนเองให้ดีขึ้น รู้จักตัวเองดีขึ้นและรู้จักผู้อื่นได้ด้วย

  เมื่อปัญหาทางจริยธรรมส่วนใหญ่เกิดจากความละเลย คำว่าละเลย มีความหมายตรงข้ามกับคำว่าใส่ใจ ความใส่ใจ ไม่ใช่เรื่องใหญ่ สามารถทำได้ง่าย แต่ขึ้นอยู่ว่าเราได้มองเห็นหรือไม่ ผู้บริหารจำเป็นต้องใส่ใจ เปิดใจ ทางจริยธรรมให้มาก แต่เรื่องจริยธรรมเป็นเรื่องละเอียดอ่อน (เกิดสติสัมปชัญญะและปัญญา)  ดังนั้นการที่จะมองเห็นเรื่องละเอียด ต้องอาศัยการปฏิบัติธรรมเจริญภาวนา ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี วิธีที่นิยมมากที่สุดคือ วิธีอานาปานสติ (การหายใจเพื่อสติ สมาธิและสุขภาพ) ซึ่งปัจจุบันสามารถอธิบายเชิงวิทยาศาสตร์เพื่อให้เกิดการยอมรับจากสากล นอกจากจะเพิ่มความทัศนคติเชิงจริยธรรม และเหตุผลเชิงจริยธรรมให้ผู้บริหารเองให้มากขึ้นแล้วยังช่วยเรื่องสุขภาพร่างกายได้อากาศเข้าสู่ปอดมากขึ้น เพิ่มปริมาณออกซิเจนในเลือดและยังช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งกล้ามเนื้อและลำไส้ด้วย การฝึกการหายใจอย่างถูกวิธี จะทำให้หัวใจเต้นช้าลง ได้พักใจ สมองแจ่มใจ และยังมีการฝึกสมาธิในรูปแบบอื่นๆ เช่นการเพ่งกสิน การกำหนดแสงสว่าง หรือองค์พระไว้ ณ ศูนย์กลางกาย ฐานที่ 7 เหนือจากสะดือ 2 นิ้วมือ หรือใช้วิธีการแบบฝักหัดสำหรับเจริญสติ 32 วิธี ของท่าน ติช นัท ฮันห์ เนื้อหาว่าด้วยการฝึกฝนจิตใจให้รู้ตื่น รู้เบิกบาน ในทุกอิริยาบถในชีวิตประจำวันของเรา อันเป็นหนทางที่นำไปสู่ความสุขสงบอย่างแท้จริง การที่เราสงบใจได้ตลอดทั้งวันจะทำให้เราได้รักษาอารมณ์ของตนเอง รักษากาย วาจา ใจ ให้ผ่องใส ซึ่งหมายถึงการเป็นคนอารมณ์ดี มี EQ สูง ซึ่งผู้บริหารที่ดีควรมี EQ ที่สูง สมาธิช่วยใน การขัดเกลานิสัยของตนเองเป็นผลให้ผู้บริหารมีพฤติกรรมทางจริยธรรมมากขึ้น


หมายเลขบันทึก: 518136เขียนเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2013 16:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2013 16:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท