ระบบเครือข่ายสุขภาพเพื่อการดูแลผู้ป่วยเบาหวานระดับปฐมภูมิ


วันนี้ชลัญ ขอมาแนววิชาการนิด  

จากการประกาศผลการคัดเลือกงาน เข้าร่วมนำเสนอ Poster presentation  ในงาน HA Forum ครั้งที่ 14  ผลงานของชลัญได้รับคัดเลือกไปนำเสนอในครั้งนี้ด้วย  ในเรื่อง ระบบเครือข่ายสุขภาพเพื่อการดูแลผู้ป่วยเบาหวานระดับปฐมภูมิ   เพิ่งประกาศผลหมาดวันนี้เองค่ะ

งานขิ้นนี้เป็นความภาคภูมิใจ กว่างานทุกชิ้นที่ชลัญได้ทำมา  เพราะต้องทำงาน ประสานกับ หลายภาคส่วน ปัญหาและอุปสรรคมีมากพอควร 

 สรุปผลงานโดยย่อ:  ทีมดูแลผู้ป่วยอายุกรรม ร่วมกับแผนกผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลพิมาย ได้พัฒนารูปแบบการรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล  ในเขตอำเภอพิมาย  จังหวัดนครราชสีมา  โดยจัดให้มีบริการการตรวจคัดกรองและเจาะเลือดประจำปีเพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วยเบาหวานที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และนำข้อมูลที่ได้มาทำการวิเคราะห์ปรับเปลี่ยนการรักษาด้วยแพทย์ โดยมีพยาบาลวิชาชีพที่รพ.สต.เป็นผู้ตรวจคัดกรองและรับคำสั่งในการรักษาผู้ป่วย ทั้งนี้ได้มีการติดต่อสื่อสารผ่านทางใบส่งตัว Website หรือ โทรศัพท์ ของโรงพยาบาลพิมาย  ผลลัพธ์ที่ได้ คือ ความพึงพอใจของ รพ.สต. ที่มีต่อระบบ ร้อยละ 82  ผลการรักษาเบาหวานมี HbA1C  = 43.26 %  เฉลี่ยอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม

ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่เป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญของโลกและของประเทศไทย  พบบ่อยในผู้ใหญ่ คือประมาณ 2.5 -6 % ของประชากร ( ประชากร 60 ล้านคน ก็จะมีคนเป็นโรคเบาหวาน 3 ล้านคน ) และมีแนวโน้มที่จะมากขึ้นเรื่อยๆในอนาคต จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นว่าการดูแลรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ให้มีคุณภาพและได้ตามเกณฑ์จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเพิ่มบุคลากรเพื่อช่วยในการดูแลรักษา รวมถึงเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนต่างๆ

  ในปัจจุบันประเทศไทยได้จัดให้มีรพสต. เพื่อให้บริการผู้ป่วยแบบใกล้บ้านใกล้ใจแต่ปัญหาที่พบคือยังขาดแคลนแพทย์ ตามรพสต. ทำให้การรักษาผู้ป่วยเบาหวาน หรือในโรคต่างๆยังทำได้ไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตามการที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลส่วนหนึ่งเริ่มที่จะมีพยาบาลวิชาชีพลงปฏิบัติงานดูแลรักษาผู้ป่วยเบื้องต้น ก็เป็น โอกาสดีที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการที่จะดูแลรักษา ผู้ป่วยเบาหวานและโรคเรื้อรังอื่นๆ ตามมาด้วย

  ระบบการดูแลรักษาผู้ป่วยเรื้อรังของโรงพยาบาลพิมายเดิมนั้นได้มีการดำเนินการส่งต่อผู้ป่วยไปรักษาต่อทุกโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลและเมื่อครบกำหนดตรวจเลือดประจำปี ผู้ป่วยจะต้องกลับเข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาล ส่งผลให้ผู้ป่วยต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ปริมาณผู้ป่วยนอกในวันนั้นมีปริมาณมากขึ้น ระยะการรอคอยของผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้น การให้บริการที่สามารถปฏิบัติได้ที่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลจะช่วยลดและแก้ไขปัญหาดังกล่าว

  แผนกผู้ป่วยนอกและทีมดูแลผู้ป่วยทางอายุรกรรม เล็งเห็นความสำคัญนี้  จึงได้จัดทำโครงการ  ระบบเครือข่ายสุขภาพเพื่อการดูแลผู้ป่วยเบาหวานระดับปฐมภูมิขึ้น เพื่อเพิ่มศักยภาพในการดูแลผู้ป่วย และให้บริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน เทียบเคียง กับโรงพยาบาล  ส่งผลให้ผู้ป่วยเรื้อรังมีคุณภาพชีวิตที่ดีลดภาระค่าใช้จ่ายและใกล้บ้านใกล้ใจต่อไป

กิจกรรมการพัฒนา 

  ระบบการรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวาน ที่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล  ดังนี้

ระบบเดิม


ระบบเดิม พบปัญหาว่า  ผู้ป่วยเบาหวานที่มีอาการปกติ จะต้องใช้เวลาเพื่อรอผลเลือดและการรับบริการนานเป็นวัน ในบางรายที่ไม่สามรถรอได้ก็หายออกจากระบบทำให้ขาดการรักษาต่อเนื่อง  รวมถึงผู้ป่วยนอกอื่นๆที่มารับบริการก็ต้องใช้ระยะเวลารอคอยที่นานขึ้น ภาระการดูแลของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลก็มีปริมาณที่มากขึ้น

ระบบใหม่


ระบบใหม่ นี้ช่วยแก้ปัญหา  ผู้ป่วยที่ไม่สะดวกในการเดินทางเข้ามารับการรักษาที่ โรงพยาบาล  และ ผู้ป่วยที่หนีออกจากระบบ กลับเข้ามารับการรักษาต่อ 

การประเมินผลการเปลี่ยนแปลง

1. แผนภูมิ จำนวนผู้ป่วยและจำนวน ครั้งของการมารับบริการที่โรงพยาบาลพิมาย จำแนก รายปี


จากแผนภูมิจะเห็นได้ว่า ในปีงบประมาณ  2555  นั้นผู้ป่วยเบาหวานมีจำนวนเพิ่มขึ้น แต่ จำนวนครั้งของการมารับบริการที่โรงพยาบาลพิมายลดลง 

2.ผลการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด  ของผู้ป่วยเบาหวานที่รับการรักษาที่ รพ.สต. เทียบกับ โรงพยาบาลพิมาย   

สถานบริการ

จำนวนผู้ป่วยเบาหวาน

จำนวนผู้ป่วยที่มีผล HbA1c ≤  7

ร้อยละ

โรงพยาบาลพิมาย

2545

818

35.28

รพ.สต.พิมาย

416

180

43.26

3. ความพึงพอใจ  ของ เจ้าหน้าที่ รพ.สต. ในการพัฒนาฯ  ร้อยละ  82

บทเรียนที่ได้รับ

  จากการพัฒนา  ทำให้ ได้ต้นแบบในการดูแลรักษาผู้ป่วย ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ในกลุ่มโรคอื่นๆ  เช่น ความดันโลหิตสูง  โรคหลอดเลือดสมองเป็นต้นอีกทั้งการดำเนินงานยังทำให้ได้เครือข่ายการทำงานที่มีการเชื่อมประสาน ระหว่าง สถานบริการระดับทุติยภูมิ และปฐมภูมิอย่าง กลมกลืน สม่ำเสมอ เกิดสัมพันธภาพในการดูแลผู้ป่วยที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น  สำหรับปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของ  การปรับเปลี่ยนกระบวนการระหว่างดำเนินการ การสื่อสารไปถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทำได้ไม่ครอบคลุมส่งผลให้เกิดความสับสน  ในกระบวนการดำเนินงาน  ก็เป็นจะโอกาสที่จะพัฒนาระบบการดูแลต่อไป

การติดต่อกับทีมงาน

นายแพทย์อธิคม  สงวนตระกูล นางชลัญธร  ตรียมณีรัตน์  โรงพยาบาลพิมาย  ต.ในเมือง  อ.พิมาย  จ.นครราชสีมา  โทร.0-4447-1288 , ต่อ 123-125 โทรสาร 0-4447-1511 ต่อ 105 E: mail [email protected]


หมายเลขบันทึก: 518059เขียนเมื่อ 31 มกราคม 2013 19:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 มกราคม 2013 19:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ยินดีด้วยค่ะ..หวังว่าเราจะได้พบกันในเดือนมีค.ที่กทม.อย่างที่ตั้งใจไว้นะคะ

วิชาการจริงๆ  งดแซวบันทึกนี้เด้อ   555

ยอดเยี่ยมจริงๆค่ะ ถือเป็นการปรับระบบที่คำนึงถึงผู้รับบริการจริงๆ 

พี่โอ๋ขอช่วยปรับแก้ข้อความนิดนึงนะคะ "ผลการรักษาเบาหวานมี HbA1C  = 43.26 %  เฉลี่ยอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม" ตรงนี้ด้วยความที่ HbA1c รายงานผลแล็บมีหน่วยเป็นเปอร์เซ็นต์อยู่ด้วย มันทำให้อ่านแล้วอาจทำให้งงได้ น่าจะย้ายที่สักนิดเป็น "ผลการรักษาเบาหวานมีค่า HbA1C เฉลี่ยอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม = 43.26 %"   น่าจะอ่านแล้วชัดเจนกว่าไหมคะ เสนอมาให้พิจารณาค่ะ ^__^

ขอบคุณป้าใหญ่ค่ะที่มาให้กำลังใจ    หาไม่มีอะไรผิดพลาดจะไปกราบป้าใหญ่ งามๆ  ค่ะ

เป๊ะ มั๊ย สหาย    เห็นมั๊ยทำอะไรเป็นเรื่อง เป็นราวก็ เป็นอ่ะ 

ต้องกราบขอบคุณพี่โอ๋   อย่างมากมาย  ชลัญอ่านกับหมอแล้ว ก็ว่า มันทะแม่งๆ  แต่เขียนส่งแบบรีบๆ ค่ะ  สำนักงานคุณภาพเขาไม่ส่งให้  ก็เลยมาส่งเอง วันสุดท้าย  หมดเขตหกทุ่ม  ชลัญส่งตอน 3 ทุ่มกว่า ๆ  ก็เลยได้ประมาณนี้แหล่ะค่ะ  ดีใจมากยังอุตส่าห์เข้ารอบ  ชลัญจะเอาไปปรับปรุงต่อค่ะ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท