สร้างทฤษฎีเชิงประจักษ์ : ๑


ทฤษฎีเชิงประจักษ์เป็นคำอธิบายเหตุการณ์เชิงประจักษ์  จึงต้องเริ่มต้นจากเหตุการณ์เชิงประจักษ์  ในที่นี้ผมจะแสดงวิธีสร้างทฤษฎีชื่อ  ทฤษฎีคะแนน(Theory of Test Score)  ทฤษฎีนี้ได้มีผู้สร้างไว้นานแล้ว   ผู้สร้างๆอย่างไร ผมไม่รู้  แต่ผมสันนิษฐานว่า  กระบวนการสร้างน่าจะเป็นดังนี้

ขั้นที่ ๑  ขั้นสังเกตข้อเท็จจริงจากเหตุการณ์ในธรรมชาติ

        (๑) นำข้อสอบไปทดสอบ    (๒) ผู้สอบตอบแบบทดสอบ   (๓) นำคำตอบมาตรวจให้คะแนน   (๔) รวมคะแนนทั้งฉบับ   (๕) ได้คะแนนรวมทั้งฉบับ  สมมุติว่า  ๘๐ คะแนน  (๖) ๘๐ คะแนนนี้กระตุ้นให้เกิดข้อสงสัยว่า  " ๘๐ คะแนนนี้เป็นผลจากความสามารถที่แท้จริงของผู้ตอบหรือไม่ ? "

ขั้นที่ ๒  สร้างคำอธิบายคะแนน : สร้างทฤษฎี

         " ผู้ตอบจะต้องตอบด้วยความสามารถที่แท้จริงส่วนหนึ่ง  หรือทั้งหมด  ถ้าส่วนหนึ่งเป็นความสามารถแท้จริง(True ability / True score) แล้ว  อีกส่วนหนึ่งจะต้องเป็นความคลาดเคลื่อน(Error score)   คะแนนความคลาดเคลื่อนอาจจะเกิดจาก  ความเมื่อยล้าของผู้ตอบ  เสียงรบกวนต่างๆ  อุณหภูมิในห้องสอบ ฯลฯ  ความคลาดเคลื่อนเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างสุ่มๆ  ดังนั้น  ถ้าสอบกับคนจำนวนมาก  หรือสอบกับคนๆเดียวมากครั้ง  ผลรวมของความคลาดเคลื่อนจะเป็นศูนย์  คงเหลือแต่คะแนนที่ได้เฉลี่ย (Mean)   และคะแนนแท้เฉลี่ย  ซึ่งเท่ากัน   เมื่อนำคะแนนที่ได้เฉลี่ยไปเปรียบเทียบกับคะแนนที่ได้ของแต่ละคน  ก็จะได้คำตอบว่า  คะแนนที่ได้หรือคะแนนดิบ(Raw score) ของแต่ละคนในกลุ่มนั้น ใกล้เคียง  หรือห่างใกล จากคะแนนแท้มากหรือน้อยปานใด "

         ถ้าให้คะแนนที่ได้  หรือคะแนนดิบ  แทนด้วย  Xt  (t = total ), ให้คะแนนแท้แทนด้วย  Xtr  (tr = true),  และให้คะแนนความคลาดเคลื่อนแทนด้วย  Xe  (e = error)  แล้วจะได้ความสัมพันธ์ดังนี้

                 Xt    =    Xtr  +   Xe                   ............................... (1)

ถ้าเราสอบกับคนเป็นจำนวนมาก  เช่น  N  คน  แล้วนำคะแนน N คะแนน  มารวมกัน  แล้วหารด้วย  N  ก็จะได้คะแนนเฉลี่ย (Mean : M) ของสมการ (1) ดังนี้

                  Mt    =    Mtr   +   Me                ................................ (2)

แต่  Me = 0  เพราะว่า  ผลรวมของ  Xe = 0  เนื่องจาก e  เกิดอย่างสุ่มๆ  ดังนั้น  จาก (2) จะได้

                  Mt    =    Mtr                              .................................(3)

เราไม่รู้  Mtr  แต่เรารู้ Mt  เราจึงใช้ค่าของ  Mt แทน  Mtr ได้   ดังนั้น  ถ้าเราอยากรู้ว่า  คะแนน  ๘๐  มีคะแนนแท้อยู่เท่าไร  เราก็นำคะแนน ๘๐ มาเปรียบเทียบกับ  Mt  ก็จะได้คำตอบ

        ทฤษฎีคะแนนนี้  ได้มีผู้สร้างเอาไว้แล้ว  ผมนำมาดัดแปลงตัดตอน เพื่อเป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นกระบวนการสร้างทฤษฎี  ในรูปของทฤษฎีเชิงประจักษ์  ประจักษ์ เพราะว่า  เริ่มต้นจากการสังเกตข้อเท็จจริง  สัญลักษณ์แต่ละตัวโยงกับข้อเท็จจริงในธรรมชาติ   เช่น  Xt  โยงกับคะแนนดิบที่เราประจักษ์ได้  Xtr โยงกับคะแนนแท้ที่เป็น "ภาวสันนิษฐาน" (Construct)  ซึ่งในขณะนี้มันเป็น "ภาวสันนิษฐานเชิงสมมุติฐาน"  และถือว่าเป็น "คำเชิงทฤษฎี" และเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้คำอธิบายทั้งหมดนี้มีฐานะเป็น ทฤษฎี  เราสามรถพบทฤษฎีคะแนนที่มีผู้สร้างไว้แล้วนี้ได้ในหนังสือประเภท Psychological Test, Psychometric Method, Statistics in Psychology and Education , เป็นต้น.

หมายเลขบันทึก: 51801เขียนเมื่อ 25 กันยายน 2006 18:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มีนาคม 2012 01:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

โยม อาจารย์

รู้เรื่องเกือบแจ่มแจ้ง

เจริญพร

ผมต้องขออภัยพระคุณเจ้าเป็นอย่างมากครับที่เพิ่งจะเข้ามาเห็น    และขอขอบคุณครับ ที่เข้ามาอ่าน
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท