ชีวิตที่พอเพียง : ๑๗๔๐. สบายอารมณ์ชมหาดทราย


หาดทรายเป็น “รอยต่อ” ที่หากมองแบบผิวเผิน ก็เห็นเป็นรอยต่อระหว่างพื้นน้ำ กับผืนดิน แต่จริงๆ แล้ว หาดทรายเป็นรอยต่อที่ล้ำลึกกว่านั้นมาก เป็น “รอยต่อ” ที่มีความเป็นพลวัต หรือมีชีวิต มีปัจจัยที่หลายหลาย เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ที่รอยต่อนี้ เป็นพื้นที่แห่งดุลยภาพและอดุลยภาพที่อยู่ด้วยกันในเวลาเดียวกัน


          เป็นการนั่งชมหาดทรายในหนังสือ อี-บุ๊ก  นั่งชมที่สนามหน้าบ้านยามเช้าที่อากาศเย็นสบายอย่างที่สุด 

          ต้นเรื่องมาจาก ผศ. กัลยาณี พรพิเนตพงศ์ แห่งคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ขอไว้เกือบสามเดือนแล้ว ให้เขียนคำนิยมแก่หนังสือในชุดหาดทรายเล่มใหม่ ชื่อ  ข้อเสนอเชิงนโยบาย : แนวทางการฟื้นฟู การใช้ประโยชน์หาดทราย และการอนุรักษ์

          เธอบอกว่าขอภายในเดือนธันวาคม เพราะต้องการให้หนังสือออกหลังฤดูมรสุม  ซึ่งผมเดาว่าคงจะราวๆ เดือนกุมภาพันธ์ หรือมีนาคม ๒๕๕๖  ผมจึงรีรอเรื่อยมา จนถึงวันสุดท้าย ๓๑ ธันวาคม จึงอ่านต้นฉบับซึ่งมีเพียง ๔๒ หน้า  อ่านแล้วเกิดปิติ  ว่าทีมงานทีมนี้ทำงานวิจัยและขับเคลื่อนการอนุรักษ์หาดทรายแบบกัดไม่ปล่อย  ทำงานต่อเนื่องและขยายเครือข่ายออกไป อย่างน่าชื่นชม

          เพื่อประกอบความคิดในการเขียนคำนิยม ผมจึงกลับไปอ่านหนังสือหาดทราย ๒ เล่มที่ผ่านมา ที่ผมก็เขียนคำนิยมให้  คือ หาดทราย : มรดกทางธรรมชาติที่นับวันจะสูญสิ้นกับ หาดทราย ... คุณค่า ... ชีวิตที่ถูกลืม

          เมื่อเปิดหนังสือเล่มแรกแบบผ่านๆ  พบรูปที่หน้า ๑๐ เป็นกลุ่มคนกำลังเล่นที่ชายหาดสมิหลา ฉากหลังเป็นเกาะหนู  พลันความรู้สึกระลึกถึงชีวิตสมัยอยู่ที่หาดใหญ่  และผมชอบพาครอบครัว ซึ่งตอนนั้นลูกยังเล็กๆ อยู่ ไปพักผ่อนที่ชายหาดสงขลาก็พลุ่งขึ้นมา  ให้ความรู้สึกมีความสุขอย่างประหลาด   รวมทั้งได้มรณานุสติด้วย ว่าวันเวลาเหล่านั้นมันผ่านมานานมากแล้ว  นานกว่า ๑ ชั่วอายุคน  เพราะลูกๆ ตอนนี้เขาอายุเท่าหรือมากกว่าอายุของผมสมัยพาลูกไปพักผ่อนที่ชายหาดสงขลา 

          แม้ผมจะได้อ่านหนังสือทั้ง ๒ เล่มนี้อย่างพินิจพิเคราะห์หลายเที่ยว ก่อนจะเขียนคำนิยม  แต่เมื่ออ่านซ้ำในวันนี้ ผมก็พบประเด็นที่ผมไม่เคยตระหนักอีกหลายประเด็น  ทำให้ผมตระหนักในข้อจำกัดของตนเองอย่างชัดเจน ว่าสิ่งต่างๆ ที่ผ่านประสาทสัมผัสต่างๆ ของผมนั้น  ผมรับรู้ได้เพียงส่วนน้อย  แม้ผมจะได้ชื่่อว่าเป็นคนสมองดี เรียนเก่ง  แต่ก็ยังมีข้อจำกัดมาก  สิ่งที่ไม่รู้มีมากกว่าสิ่งที่รู้อย่างเทียบกันไม่ได้  เมื่อสัมผัสสิ่งใด ก็รับรู้สิ่งนั้นได้เพียงบางส่วน ซึ่งเป็นส่วนน้อย

          เมื่ออ่านคำนิยมที่ผมเขียนให้แก่หนังสือทั้ง ๒ เล่ม  ผมรู้สึกว่าผมเขียนได้ดีอย่างไม่น่าเชื่อว่าผมจะเขียนได้  ความรู้สึกนี้เคยเกิดนานกว่า ๓๐ ปีมาแล้ว  เมื่อผมอ่ายรายงานผลการวิจัยที่ผมเขียนลงวารสารเมื่อกว่า ๑๐ ปีก่อนหน้านั้น  ทำให้ผมคิดว่า คนเราเมื่อมีสมาธิ จิตจดจ่อ สามารถผลิตผลงานที่มีคุณภาพสูงอย่างไม่น่าเชื่อได้  นี่คือพลังสร้างสรรค์ของความเป็นมนุษย์  ที่ใครเข้าถึงได้ ชีวิตก็จะมีคุณค่า  และผมเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนเข้าถึงได้ หากหมั่นฝึกฝนเคี่ยวกรำตนเอง

          หาดทรายเป็น “รอยต่อ” ที่หากมองแบบผิวเผิน ก็เห็นเป็นรอยต่อระหว่างพื้นน้ำ กับผืนดิน  แต่จริงๆ แล้ว หาดทรายเป็นรอยต่อที่ล้ำลึกกว่านั้นมาก  เป็น “รอยต่อ” ที่มีความเป็นพลวัต หรือมีชีวิต  มีปัจจัยที่หลายหลาย เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ที่รอยต่อนี้  เป็นพื้นที่แห่งดุลยภาพและอดุลยภาพที่อยู่ด้วยกันในเวลาเดียวกัน

          พื้นที่รอยต่อเป็น “พื้นที่แห่งพลัง”  มีพลังลี้ลับหรือศักยภาพแฝงอยู่  ทั้งที่เป็นพลังสร้างสรรค์ และพลังทำลาย 

          ณ พื้นที่แบบนี้ การกระทำ (หรือไม่กระทำ) เพียงเล็กน้อย อาจก่อผลยิ่งใหญ่ได้  ที่เรียกว่า butterfly effect  ดังนั้นกิจกรรมของมนุษย์บางรูปแบบที่หาดทราย ที่เรามองเป็นเรื่องเล็ก อาจก่อผลใหญ่หลวงต่อการดำรงอยู่หรือการทำลายหาดทรายได้ 

          ข้อความในหนังสือเล่มใหม่ ข้อเสนอเชิงนโยบาย : แนวทางการฟื้นฟู การใช้ประโยชน์หาดทราย และการอนุรักษ์  ที่ผมชอบอย่างยิ่ง คือการชี้ให้เห็นว่า แนวทางที่ผิด หรือมิจฉาทิฐิ คือสู้กับธรรมชาติส่วนสัมมาทิฐิ คืออยู่ร่วมกับธรรมชาติ  เป็นการละจากกระบวนทัศน์เอาชนะธรรมชาติในทุกกรณี  เป็นอยู่ร่วมปรองดองกับธรรมชาติในกรณีที่ซับซ้อนและเป็นพลวัต

          การเอาชนะธรรมชาติเป็นโลกทัศน์ตะวันตก  การอยู่ร่วมกับธรรมชาติเป็นโลกทัศน์ตะวันออก  ต้องรู้จักใช้ให้เหมาะสมกับกาละเทศะ 

          การ “ชมหาดทราย” ในวันนี้ เป็น “หาดทรายในจินตนาการ” เป็นส่วนใหญ่ ร่วมกับหาดทรายในภาพ  แต่ก็ได้สุนทรียรส และปัญญรสไปพร้อมๆ กัน  นำไปสู่จินตนาการว่า หากสภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศดำเนินต่อเนื่องอย่างรวดเร็ว  จนระดับน้ำทะเลสูงขึ้นจากระดับปัจจุบัน ๑ เมตร  สภาพของหาดทรายที่มีอยู่ในปัจจุบันจะเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง  ทำให้คิดต่อไปว่า ระบบนิเวศหาดทรายยังเป็น micro-ecology เมื่อเทียบกับภาวะการเปลี่ยนแปลงบรรยากาศของโลก ที่เป็นระบบ macro-ecology 


วิจารณ์ พานิช

๓๑ ธ.ค. ๕๕



หมายเลขบันทึก: 517984เขียนเมื่อ 31 มกราคม 2013 09:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 มกราคม 2013 09:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

การชมหาดทรายวันนี้..ของท่าน.คง..ทำให้..ผู้อ่านหลายๆๆๆ...ได้พบ..สัจจธรรม...เจ้าค่ะ...ยายธี

สาระจากคำนิยมที่อาจารย์กรุณาเขียนให้กับหนังสือหาดทรายทั้งสามเล่ม  เป็นข้อความที่ทรงคุณค่ามากค่ะ   ข้อความของอาจารย์ช่วยให้เกิดความแจ่มชัดเกี่ยวกับพลวัตและความมีชีวิตของหาดทรายด้วยข้อความสั้นๆได้อย่างน่าอัศจรรย์    ซึ่งเป็นพระคุณอย่างสูงต่อการขับเคลื่อนเพื่อการอนุรักษ์หาดทราย 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท