บันทึกการเดินทางของดวงดาว (หนึ่งในภาพสะท้อนความเป็นหนุ่มสาวในรั้วมหาวิทยาลัย)


ครับ, ผมไม่เคยกังขากับการพัฒนาเด็กและเยาวชนผ่านการอ่านหนังสือ จิตสำนึกในหลายเรื่องสามารถสร้างผ่านตัวหนังสือได้เหมือนกัน

เรามักพูดติดปากว่าคนไทยอ่านหนังสือกันน้อยมาก  เฉลี่ยแล้ววันละไม่กี่บรรทัดเอง  แต่สำหรับผม  ผมคิดว่าเราน่าจะถามทักกันด้วยคำว่า “วันนี้คุณอ่านหนังสือบ้างแล้วหรือยัง”  เสียมากกว่า

ผมเป็นคนหลงรักกลิ่นหอมของหนังสืออย่างมากมาย  สมัยที่เรียนมหาวิทยาลัยก็ได้หนังสือนี่แหละที่คอยปลุกปลอบให้ชีวิตได้มีชีวิตชีวา

ผมเชื่อว่าหนังสือเปลี่ยนแปลงความคิดและชีวิตของผู้คนได้  การพัฒนานิสิตนักศึกษา หรือแม้แต่นักเรียน  นอกจากการเรียนรู้ในระบบตรงกับครูผู้สอน การอ่านตำราเรียนแล้ว  ผมคิดว่าการอ่านหนังสือนอกเวลาก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งใหญ่  ทั้งการอ่านเอาความและอ่านเพื่อบันเทิงเริงรมย์


(1)


เมื่อสมัยที่ยังเป็นหนุ่มมหาวิทยาลัยในวัยแสวงหาเช่นผมนั้น   หนังสือเรื่อง “บันทึกการเดินทางของดวงดาว”  ที่เขียนโดยประสิทธิ์  รุ่งเรืองรัตนกุล  เป็นหนังสืออีกเล่มที่เปลี่ยนแปลงความคิดและชีวิตผมอย่างมาก  เพราะมีบทกวีหลายบทที่สะท้อนภาพของ “ปัญญาชน” และ “มหาวิทยาลัย”  อันเป็นสถานศึกษาอันทรงเกียรติของสังคมไทยได้อย่างน่าคิด  

สำหรับผมแล้ว,  บทกวีเหล่านี้  เป็นส่วนหนึ่งในการบ่มเพาะให้เกิดเจตคติที่ดีต่อการเรียนและการใช้ชีวิตสืบมาจนบัดนี้  เช่น  บทกวีที่เสียดเย้ยว่าด้วยการแต่งกายของนิสิตนักศึกษาในบทที่มีชื่อว่า “แด่นางแบบที่มหาวิทยาลัย”  ว่า


สวัสดีนิสิตนักศึกษา
แต่งตัวราวนาง (สาว) อัปสร
รูปร่างก็อรชร
เอวอรก็บางดี
ทาคิ้วเสียโค้งดังศรศิลป์
นัยน์ตาสีนิลดูสดสี
ลิ้ปสติคเต็มปากเหมือน “มาลี”
สองแก้มก็มีสีชมพู
กระโปรงเปิดขาอ่อนชัด
เข็มขัดเหมือนรองสะดืออยู่
เสื้อรัดอกตั้งสะพรั่งพรู
พุ่งชูเครื่องหมายสถาบัน
ใส่รองเท้าส้นสูงหกหิ้ว
สูงลิ่วเชียวสาวสวรรค์
แหวนกำไลประดับประดาสารพัน
ช่างสรรหามาประดับตัว
พูดจาพาทีระรี้ระริก
กระเซ้ากระซิกจุ๋มจิ๋มยิ้มหวัว
เยื้องย่างแต่ละคราน่ากลัว
กระโปรงยั่วแกว่งแทบเห็นกางเกงใน
มาเรียนหนังสือหรือสาว !
ค่าแต่งตัวราวราวสักเท่าไหร่ ?
เด็กเด็กชนบทยากไร้
แทบไม่มีอะไรใส่ไปโรงเรียน




นอกจากนี้ยังมีบทกวี “คาสิโนน้อยๆ ที่มหาวิทยาลัย”  ซึ่งวิพากษ์พฤติกรรมของหนุ่มสาวปัญญาชนที่ติดพันมัวเมาการพนันและใช้มหาวิทยาลัยเป็นสถานที่เล่นการพนัน  เพราะถือว่าเป็นพื้นที่พิเศษ  เป็นดินแดนที่อยู่เหนือกฎกติกาของสังคมได้อย่างชวนคิด ว่า


นี่หรือชนชั้นปัญญาชาติ
ไยขาดสติวินิจฉัย
เล่นการพนันในมหาวิทยาลัย
หรือทำอะไรก็ได้ “กูอภิสิทธิ์ชน”
ร่ำเรียนด้วยเงินตราประชาราษฎร์
หยาดเหงื่อเขาหลั่งให้ไร้ผล
หวังเห็นเราสมเป็นคน
หลีกพ้นความชั่วมัวเมา
การศึกษาช่วยอะไรได้บ้าง
งานสร้างสรรค์ยังว่างเปล่า
เสียดายปัญญาตกอยู่ใต้ฝ่าเท้า
จะเอาอะไรไปริเริ่มพัฒนา
นี่หรือมหาวิทยาลัย
แหล่งให้การศึกษา
กลายเป็นคาสิโน..อนิจจา
เพราะวิชาความเชี่ยวชาญการพนัน
ที่นี่อภิสิทธิ์สถานหรือ
แม้มือกฎหมายกลายเป็นหมัน
เล่นที่ไหนตามจับพัลวัน
แต่ปล่อยมันถ้ามหาวิทยาลัย
เราประจานเราด่าอภิสิทธิ์
แต่เราคิดถึงตัวเราไหม
หรืออยากมีข้อบังคับคนทั่วไป
แต่ไม่บังคับสำหรับเรา


(2)

ครับ, บทกวีทั้งสองบท  ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2517  จวบจนบัดนี้ผมเชื่อว่าสถานการณ์บางอย่างอาจยังเหมือน หรือละม้ายคล้ายกันอย่างมาก แต่สำหรับผมแล้ว  การได้อ่านบทกวีเหล่านี้ครั้งแรกร่วมยี่สิบปี  เมื่ออ่านก็สะกิดใจอย่างไม่ลังเล  และยังจดจำจวบจนบัดนี้

อยากรู้เหมือนกันว่าวันนี้นิสิตนักศึกษา หรือแม้แต่นักเรียน ผู้ซึ่งเป็น “เยาวชน”  ของชาติ กำลังอ่านหนังสือนอกเวลาเล่มใด  (เรื่องอะไรบ้าง)  อ่านแล้ว มีการเปลี่ยนความคิดและชีวิตในเชิงสร้างสรรค์เช่นใดบ้างหนอ ?

ครับ, ผมไม่เคยกังขากับการพัฒนาเด็กและเยาวชนผ่านการอ่านหนังสือ 
จิตสำนึกในหลายเรื่องสามารถสร้างผ่านตัวหนังสือได้เหมือนกัน – หรือไม่จริง !


หมายเลขบันทึก: 517843เขียนเมื่อ 30 มกราคม 2013 07:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มกราคม 2013 10:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

(ฝรั่งเล่า)..คน..สมัยนี้..อ่านหนังสือน้อยลง..มั้กๆ..คือไม่มีเวลา...เพราะ..สื่อประเภทต่างๆที่มีอยู่เวลานี้..ยึดพื้นที่และเวลาไปหมด..อีกทั้ง..เด็กฝรั่ง..ชอบนุ่งน้อยห่มน้อย..แม้จะหนาวก็ตาม..เด็กไทย..เลยเริ่มเอาอย่าง..เพราะอยู่ห้องแอร์จนเคยเช่นกัน..สถานศึกษา..ที่มีอยู่ในยุคปัจจุบัน..ผู้ก่อตั้งและรายได้..คือปัจจัยที่..เห็น..ของเหตุ..อิอิ..ยายธี

..... ใช้มหาวิทยาลัยเป็นสถานที่ .... "เล่นการพนัน" ..... ส่วนโรงพยาบาล....บางที่ .... ใช้ส่ง .....ยา (บ้า) .....  P'Ple ต้อง ขอให้ คุณตำตรวจ .... มาวิ่งเวียน .... บ่อยๆนะคะ  .....  ขอบคุณบทความคุณภาพนี้ค่ะ

กาพย์กลอนฉบัง ๑๖

* แว่วแว่ว แผ่วเสียง ถามไถ่........จากกาล นานไกล.......ถามใจ ถามเรา เยาวชน
ท่านถาม ถามไย ให้ฉงน.............ถามแห่ง ถามหน.........เหล่าเรา ดั้นด้น ดาวไหน
เราย่อม อยากฝัน อยากเป็น.........สำเร็จ โดดเด่น............มีงาน บ้านเนา สุขใจ
มิ่งมิตร คู่ชิด สนิทใกล้...................ฝากผี ฝากไข้.............พรไท้ เผื่อเรา นิรันดร์

เลขที่บันทึก: 516901



“หนังสือเปลี่ยนแปลงความคิดและชีวิตของผู้คนได้”


ผมก็เป็นอีกหนึ่งคนที่หลงเชื่อเช่นเดียวกันนั้น

หากแต่เราก็ต้องรู้จักการเรียนรู้นอกตำราด้วยเช่นกัน

เพียงเพราะการเรียนรู้ในห้องเรียนหรือในหนังสือเท่านั้น

คงไม่พอกับการนำไปปรับใช้ในชีวิตได้อย่างสมบูรณ์แบบนัก

การเรียนรู้โลกและชีวิตจำต้องอาศัยองค์ประกอบหลายด้านจึงจะเหมาะสม


...ผมก็เพียงหวังว่าหนังสือจะเป็นเข็มทิศให้กับหลายๆ ชีวิต

ร่วมถึงตัวผมด้วยในการเดินทางที่มีความหมายและไม่โดดเดี่ยวเดียวดาย

ในวันที่ โลกเงียบงัน ใจฉันเศร้า
ในมุมมืด เก่าเก่า เศร้าหม่นหมอง
โลกกว้างใหญ่ ใสกระจ่าง ช่างเรืองรอง
แต่ฉันมอง เห็นปัญหา สารพัน

เขาว่าลอง เปลี่ยนความคิด ชีวิตเปลี่ยน
ฉันวนเวียน คิดเท่าไร ก็ไหวหวั่น
เปลี่ยนความคิด ผิดถูก ที่ผูกพัน
โลกของฉัน ยังยากเย็น อยู่เช่นเดิม

hort39  03 กรกฎาคม 2012


จากประเด็นน่าคิดของ hort39 ครับ

เลขที่บันทึก: 516932 


ฉันเยาว์ฉันเขลาฉันทึ่ง
ฉันจึงมาหาความหมาย
ฉันหวังเก็บอะไรไปมากมาย
สุดท้ายให้กระดาษฉันแผ่นเดียว

"หนังสือ" เปลี่ยนแปลงวิถีความคิดและชีวิตของเราได้จริง ๆ ครับ

ผมก็ยืนยันด้วยคนนะ ;)...

กลอนเจ็ด

....ใช่เพียง เปลี่ยนคิด ชีวิตเปลี่ยน
ใช่เพียร คนเดียว เคี้ยวปัญหา (จาก ขบปัญหา แต่ต้องการ รับสัมผัส)
ลองปรับ เปลี่ยนชีพ รู้พึ่งพา
มิตรดี นั่นหนา อย่าละเลย

....สำเร็จ อย่างน้อย ต้องสองสิ่ง
แท้จริง พลังตน อย่าอยู่เฉย
อีกหนึ่ง แนวร่วม ผู้คุ้นเคย
เอื้อนเอ่ย ขอช่วย ด้วยจริงใจ

เลขที่บันทึก: 517879 

ครับ หนังสือเป็น อย่างน้อย ๑ สิ่งครับ แต่ต้องคำนึง ปัจจัยอื่น ๆ อีกหลายประการ เช่น

หากคนมี หน่วยกรรมพันธ์ผิดปกติ ทำให้อ่านหนังสือไม่ได้

การมีผู้ที่ รักเอาใจใส่เขาอย่างจริงจัง ก็เป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ

สิ่งที่ท่านกล่าวไว้ในบทกวี ขณะนี้กำลังเริ่มแล้วที่โรงเรียนระดับมัธยม  ครูได้แต่อบรมสั่งสอนที่โรงเรียนแต่ผู้ปกครองที่บ้านต้องร่วมมือด้วย และเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เยาวชนตัวน้อยๆ

ร่ายสุภาพ

* ยามใด ให้เหนื่อยล้า.......สุดจักท้า สู้ภัย
มองไป ดูเด็กน้อย.............เต็มร้อย เปี่ยมสีสัน
เธอเฝ้าฝัน บ่ระย่อ.............มิทดท้อ สะดุดล้ม
ลุกใหม่ ไป่ก่นก้ม..............เชิดหน้า ยิ้มใส

เลขที่บันทึก: 515908 


โคลงสามสุภาพ

….เยาวชน คนหนุ่มสาว……….เธอคือดาว เด่นฟ้า
ปลอบจิต ผู้อ่อนล้า………..…..ฮึดสู้ ชีวี

 ….ทุกข์ที่ ท่วมท้นกาย….……เพียงหมาย เธอแก่กล้า
รุกร่วม มิชักช้า…………….…..ฝ่าพ้น พงหนาม

เลขที่บันทึก: 517899 


ยืนยัน...เปลี่ยนได้จริงค่ะ

ยุคสมัยเปลี่ยน  ค่านิยม...ก็เปลี่ยน  มันยากที่อะไร ๆ จะทำให้มันลงตัวไปอย่างเหมาะสม  ก็คงจะต้องขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของแต่ละบุคคลน่ะแหละจ้ะ

สวัสดีครับ คณยายธี

เมื่อวานผมเอาบทกวีสองบทนี้ไปอ่านให้นิสิตฟัง  แล้วชวนคิดชวนวิพากษ์เล็กๆ
สะท้อนให้เห็นว่ายุคสมัยใดมีเรื่องราวใดถุกกล่าวถึงไว้บ้าง  พร้อมๆ กับการยึดโยงมาสู่ปัจจุบันว่ายังคงเหมือนเดิม หรือเปลี่ยนรูปร่างหน้าตาไปอย่างไรบ้าง ---

ขอบพระคุณครับ

สวัสดีครับ พี่Dr. Ple

เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ  ไม่ว่าที่ใด
ก็อยากให้กฎหมาย อยู่เหนือกฎหมู่ เสมอ ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท