ภิกษุณี


                                                            ภิกษุณี gotoknow

                                               นายอานนท์ ภาคมาลี (หมอแดง)

ภิกษุณีเป็นคำใช้เรียกนักบวชหญิง ในพระพุทธศาสนา คู่กับ ภิกษุ ที่หมายถึงนักบวชชายในพระพุทธศาสนา คำว่า ภิกษุณี เป็นศัพท์ที่มีเฉพาะในพระพุทธศาสนา โดยเป็นศัพท์บัญญัติที่ใช้เรียกนักบวชหญิงในพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะ ไม่ใช้เรียกนักบวชในศาสนาอื่น

ภิกษุณี หรือ ภิกษุณีสงฆ์ จัดตั้งขึ้นโดยพระบรมพุทธานุญาต ภิกษุณีรูปแรกในพระพุทธศาสนาคือพระนางมหาปชาบดีโคตมีเถรี โดยวิธีรับคุรุธรรม 8 ประการ ในคัมภีร์เถรวาทระบุว่าต่อมาในภายหลังพระพุทธเจ้าได้ทรงอนุญาตวิธีการอุปสมบทภิกษุณีให้มีรายละเอียดเพิ่มมากขึ้น จนศีลของพระภิกษุณีมีมากกว่าพระภิกษุ โดยพระภิกษุณีมีศีล 311 ข้อ ในขณะที่พระภิกษุมีศีลเพียง 227 ข้อเท่านั้น เนื่องจากในสมัยพุทธกาลไม่เคยมีศาสนาใดอนุญาตให้ผู้หญิงเข้ามาเป็นนักบวชมาก่อน และการตั้งภิกษุณีสงฆ์ควบคู่กับภิกษุสงฆ์อาจเกิดข้อครหาที่จะเป็นอันตรายร้ายแรงต่อการประพฤติพรหมจรรย์และพระพุทธศาสนาได้ หากได้บุคคลที่ไม่มีความมั่นคงในพระพุทธศาสนาเข้ามาเป็นนักบวช

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ไม่ปรากฏว่ามีการตั้งวงศ์ภิกษุณีเถรวาทขึ้นในประเทศไทย อย่างไรก็ตามในประเทศพุทธเถรวาทที่เคยมี หรือไม่เคยมีวงศ์ภิกษุณีสงฆ์ในปัจจุบัน ต่างก็นับถือกันโดยพฤตินัยว่าการที่อุบาสิกาที่มีศรัทธาโกนศีรษะนุ่งขาวห่มขาว ถือปฏิบัติศีล 8 (อุโบสถศีล) ซึ่งเรียกโดยทั่วไปว่า แม่ชี เป็นการผ่อนผันผู้หญิงที่ศรัทธาจะออกบวชเป็นภิกษุณีเถรวาท แต่ไม่สามารถอุปสมบทเป็นภิกษุณีเถรวาทได้โดยส่วนใหญ่แม่ชีเหล่านี้จะอยู่ในสำนักวัดซึ่งแยกเป็นเอกเทศจากกุฏิสงฆ์

ภิกษุณีสายเถรวาทซึ่งสืบวงศ์มาแต่สมัยพุทธกาลด้วยการบวชถูกต้องตามพระวินัยปิฎกเถรวาท ที่ต้องบวชในสงฆ์สองฝ่ายคือทั้งภิกษุสงฆ์ และภิกษุณีสงฆ์ ได้ขาดสูญวงศ์ (ไม่มีผู้สืบต่อ) มานานแล้ว คงเหลือแต่ภิกษุณีฝ่ายมหายาน (อาจริยวาท) ที่ยังสืบทอดการบวชภิกษุณีแบบมหายาน (บวชในสงฆ์ฝ่ายเดียว) มาจนปัจจุบัน ซึ่งจะพบได้ในจีน, เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น และศรีลังกา

ปัจจุบันมีการพยายามรื้อฟื้นการบวชภิกษุณีในฝ่ายเถรวาท โดยทำการบวชมาจากภิกษุณีมหายาน และกล่าวว่าภิกษุณีฝ่ายมหายานนั้น สืบวงศ์ภิกษุณีสงฆ์มาแต่ฝ่ายเถรวาทเช่นกันแต่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าฝ่ายมหายานมีการบวชภิกษุณีสืบวงศ์มาโดยมิได้กระทำถูกตามพระวินัยปิฎกเถรวาท และมีศีลที่แตกต่างกันอย่างมากด้วย ทำให้มีการไม่ยอมรับภิกษุณี (เถรวาท) ใหม่ ที่บวชมาแต่มหายานว่า มิได้เป็นภิกษุณีที่ถูกต้องตามพระวินัยปิฎกเถรวาท และมีการยกประเด็นนี้ขึ้นเป็นข้ออ้างว่าพระพุทธศาสนาจำกัดสิทธิสตรีด้วย ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะพระพุทธเจ้าได้อนุญาตให้มีภิกษุณีที่นับเป็นการเปิดโอกาสให้มีนักบวชหญิงเป็นศาสนาแรกในโลก เพียงแต่การสืบทอดวงศ์ภิกษุณีได้สูญไปนานแล้ว จึงทำให้ในปัจจุบันไม่สามารถบวชสตรีเป็นภิกษุณีตามพระวินัยเถรวาทได้

ประวัติการเกิดภิกษุณีสงฆ์ประวัติการเกิดภิกษุณีสงฆ์ประวัติการเกิดภิกษุณีสงฆ์ในสมัยพุทธกาลนั้น แรกเริ่มเดิมที สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาตให้มีภิกษุณีได้ เนื่องจากเห็นว่าจะทำให้อายุของพระพุทธศาสนาไม่ยั่งยืนต่อมา พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี ผู้เป็นพระน้านางและพระมาตุจฉา หรือพระมารดาเลี้ยงของเจ้าชายสิทธัตถะ ท่านได้มีศรัทธาอยากออกบวชจึงทูลอ้อนวอนขอบวชต่อพระพุทธเจ้าถึงสามครั้งสามครา แต่ก็ไม่เป็นผล จนกระทั่งพระอานนท์ได้ทูลขอให้ พระพุทธเจ้าจึงทรงอนุญาต โดยมีเงื่อนไขว่า พระนางปชาบดีโคตมีจะต้องรับเอาครุธรรมแปดประการ (แปลว่าข้อปฏิบัติที่หนักและทำได้ยาก) ไปปฏิบัติ

 การบวชเป็นสิกขมานา ก่อนที่ผู้หญิงจะบวชเป็นภิกษุณีได้นั้น ต้องบวชเป็น สิกขมานา เสียก่อน สิกขมานาเป็นสามเณรีที่ต้องถือศีล 6 ข้ออย่างเคร่งครัดเป็นเวลา 2 ปี หากศีลขาดแม้แต่ข้อเดียวจะต้องเริ่มนับเวลาใหม่การบวชเป็นสิกขมานา จะบวชได้ต้องอายุครบ 18 ปี เพราะว่าคนที่จะบวชเป็นภิกษุณีได้นั้นต้องอายุครบ 20 แต่สำหรับหญิงที่แต่งงานแล้ว พระพุทธองค์อนุญาตให้บวชเป็นสิกขมานาได้ตั้งแต่อายุ 12 เพราะว่าคนที่แต่งงานจะได้เรียนรู้ความยากลำบากของชีวิต รู้จักสุข ทุกข์ เมื่อรู้จักทุกข์ก็จะรู้จักสมุทัย นิโรธ มรรค ได้ จนนำไปสู่การบรรลุสิกขมานาศิล

การสูญวงศ์ของภิกษุณีฝ่ายเถรวาท

ปัจจุบันผู้หญิงผู้ศรัทธาออกบวชในฝ่ายเถรวาทนิยมโกนหัวนุ่งขาวห่มขาวถือศีลอุโบสถบวชเป็น แม่ชี แทน ก่อนที่ภิกษุณีสงฆ์จะหมดไปจากอินเดียนั้น พระเจ้าอโศกมหาราชทรงส่งพระธรรมทูตออกไป 9 สาย 1 ในนั้นคือ พระมหินทรเถระ ผู้เป็นพระราชโอรสของพระองค์เอง ในสายพระมหินทรเถระนี้ไปศรีลังกา การเผยแพร่ศาสนาพุทธประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง พระนางอนุลา น้องสะใภ้ของกษัตริย์ศรีลังกา ทรงอยากผนวช จึงนิมนต์ พระนางสังฆมิตตาเถรี พระธิดาของพระเจ้าอโศก มาเป็นปวัตตินีให้ ปวัตตินีคือพระอุปัชฌาย์ที่เป็นผู้หญิง)

จากศรีลังกา ภิกษุณีสงฆ์ได้ไปสืบสายไว้ในจีน ไต้หวัน และอื่น ๆ อีกมาก จนกระทั่งพุทธศาสนาที่อินเดียและศรีลังกาเสื่อมลงลงไปในช่วงหลัง ทำให้ภิกษุณีฝ่ายเถรวาทซึ่งมีศีลและข้อปฏิบัติที่ยุ่งยากไม่สามารถรักษาวงศ์ของภิกษุณีเถรวาทไว้ได้ จึงทำให้ไม่มีผู้สืบทอดการบวชเป็นภิกษุณีสายเถรวาทในปัจจุบัน

การพยายามรื้อฟื้นภิกษุณีสายเถรวาทในปัจจุบัน

ในปัจจุบัน มีความเชื่อว่ายังมีภิกษุณีสายเถรวาทเหลืออยู่ และอ้างหลักฐานยืนยันว่าภิกษุณีทางสายมหายาน วัชรยานนั้นสืบสายไปจากภิกษุณีสายเถรวาท โดยถือกันว่าหากภิกษุณีสายเถรวาทสืบสายไปเป็นมหายานได้ (ภิกษุณีจากลังกาไปบวชให้คนจีน) ภิกษุณีมหายานก็สืบสายมาเป็นเถรวาทได้เช่นกัน ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้บวชเป็นภิกษุณี (เถรวาท) หลายรูป โดยบวชมาจากคณะภิกษุณีสงฆ์ในประเทศศรีลังกา เช่น ภิกษุณีธัมมนันทา  มีสำนักภิกษุณีเป็นเอกเทศคือ วัตรทรงธรรมกัลยาณี

ในกรณีนี้เคยมีประเด็นถกเถียงอยู่ช่วงหนึ่งว่าปัจจุบันนี้สามารถบวชภิกษุณีได้หรือไม่ มีข้อสรุปจากทางพระสงฆ์ฝ่ายเถรวาทว่าพระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้มีการบวชเป็นภิกษุณีได้ก็ต่อเมื่อบวชต่อสงฆ์ทั้ง 2 ฝ่าย คือต้องบวชทั้งฝ่ายพระภิกษุสงฆ์ และฝ่ายภิกษุณีสงฆ์เป็นการลงญัตติจตุตถกรรมวาจาทั้งสองฝ่าย จึงจะสามารถเป็นภิกษุณีได้ ดังนั้นในเมื่อภิกษุณีสงฆ์เถรวาทได้เสื่อมสิ้นลงไม่มีผู้สืบต่อ จึงทำให้ในปัจจุบันไม่สามารถทำการบวชผู้หญิงเป็นภิกษุณีฝ่ายเถรวาทได้ การที่มีข้ออ้างว่าสายมหายานสืบสายวงศ์ภิกษุณีสงฆ์ไปก็ไม่สามารถอ้างได้ เพราะการสืบสายทางมหายานมีข้อวินัยและการทำสังฆกรรมบวชภิกษุณีที่ไม่ถูกต้องกับพระไตรปิฎกฝ่ายเถรวาท ปัจจุบันศรีลังกาพยายามฟื้นฟูภิกษุณีสงฆ์ จนมีหลายร้อยรูป ที่เมืองไทยเองก็มีคนบวชเป็นภิกษุณีหลายรูปแล้วเช่นกัน แต่คณะสงฆ์ไทยไม่ยอมรับเป็นภิกษุณีสงฆ์เพราะสาเหตุดังกล่าวมาแล้วข้างต้น
ภิกษุณีธัมมนันทา เจ้าอาวาสวัตรทรงธรรมกัลยาณี จ.นครปฐม เล่าถึงการอุปสมบทภิกษุณีสายเถรวาทว่า หลังจากปี พ.ศ.2541 ที่มีการอุปสมบทภิกษุณีสายเถรวาทที่ประเทศศรีลังกาเป็นการอุปสมบทที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด คือ เมื่อปี พ.ศ.2544 ดร.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ ได้รับการบรรพชาเป็นสามเณรีในประเทศศรีลังกา  ต่อมาในปี พ.ศ.2546 ดร.ฉัตรสุมาลย์ได้อุปสมบทเป็นภิกษุณีในประเทศศรีลังกา การอุปสมบทครั้งนี้เป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกของการอุปสมบทภิกษุณีชาวไทยในฝ่ายเถรวาท ซึ่งยังไม่เป็นที่ยอมรับจากมหาเถรสมาคมของประเทศไทย เพราะได้รับการสืบสานการอุปสมบทภิกษุณีมาจากมหายาน และต่อมามีผู้หญิงไทยหลายคนเดินทางไปประเทศศรีลังกาเพื่อเข้าการอุปสมบทและเพื่อสืบสานพระธรรมวินัยของภิกษุณี
ภิกษุณีธัมมนันทายังบอกอีกว่า ปัจจุบันมีภิกษุณีเถรวาทสายศรีลังกาในประเทศไทยแล้วไม่ต่ำกว่า 20 รูป และสามเณรีเถรวาทสายศรีลังกาไม่ต่ำกว่า 30 รูปที่บวชจากศรีลังกาและได้กลับมาปฏิบัติธรรมอยู่ที่ประเทศไทย อีกทั้งเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2555 ที่ผ่านมาที่ประเทศเวียดนาม ได้มีการบวชภิกษุณีสายเถรวาทนานาชาติเป็นครั้งแรกที่สมบูรณ์พร้อมโดยทำตามทุกขั้นตอนตามขนบธรรมเนียมประเพณี จากนาคินีได้บรรพชาเป็นสามเณรีและบวชเป็นภิกษุณีในที่สุด จึงเกิดคำถามว่าผ่านมาแล้ว 10 กว่าปี ประเทศไทยในฐานะที่นับถือพุทธสายเถรวาทเช่นกัน กลับไม่มีความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ และมองว่าถึงเวลาแล้วที่ผู้หญิงจะมีสิทธิใฝ่รู้พระธรรมได้เท่าเทียมกับผู้ชาย ในขณะที่ รศ.มาลี พฤกษ์พงศาวลี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ และโครงการสตรีและเยาวชนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่า การที่ผู้หญิงอยากบวชเป็นภิกษุณีนั้น เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ และการดำรงอยู่ในรูปของนักบวชนั้นเป็นการเอื้อต่อการปฏิบัติธรรมให้สามารถทำได้อย่างเข้มข้น เพียงแต่ที่ประเทศไทยยังทำไม่ได้เพราะมีความขัดแย้งด้านกฎหมายทางโลกอยู่
ไม่ว่ากฎหมายฉบับอื่นๆ จะระบุไว้อย่างไร แต่รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2550 มีความชัดเจนในเรื่องการยอมรับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียม โดยมีมาตราพิเศษให้หญิงมีสิทธิเท่าเทียมกับชายหลายประการด้วยกัน จุดนี้จึงอยากให้รัฐเข้ามาดูแลให้ข้อกำหนดที่เขียนเป็นกฎขึ้นมาเพื่อให้เกิดเป็นผลอย่างแท้จริง ด้วยการออกเป็นกฎหมายบัญญัติ มีการรับรองโดยรัฐ และจัดสรรทรัพยากรที่จำเป็นเหมือนกับฝ่ายภิกษุ ไม่เช่นนั้นสังคมไทยคงเป็นสังคมที่แปลก เพราะมอบโอกาสให้แค่ผู้ชายแต่ผู้หญิงกลับถูกกีดกันรศ.มาลีบอกส่วนทางด้านพระภิกษุสงฆ์ พระดุษฎี เมธังกุโร เจ้าอาวาสวัดทุ่งไผ่ จ.ชุมพร บอกถึงหนทางที่ประเทศไทยจะมีภิกษุณีว่า จะต้องตั้งให้เป็นคณะสงฆ์อื่นตามมาตรา 5 ของ พ.ร.บ.สงฆ์ หรืออาจจะยกเลิก พ.ร.บ.สงฆ์ ฉบับปัจจุบัน แล้วจึงตั้ง พ.ร.บ.ขึ้นมาใหม่ โดยแบ่งเป็น พ.ร.บ.ฝ่ายสงฆ์ชายและสงฆ์หญิง ที่พร้อมด้วยบทบัญญัติและเงินสวัสดิการอย่างเท่าเทียมจากรัฐ
อาตมาไม่แน่ใจว่าที่หลายฝ่ายมีอคติกับการนำภิกษุณีกลับมาสู่ประเทศไทยนั้น เป็นเพราะผลประโยชน์และความอยากมีอำนาจ รวมถึงเม็ดเงินที่สำนักพุทธศาสนาแห่งชาติได้รับจากรัฐที่เพิ่มจาก 2,000 ล้านบาทต่อปี เป็น 4,000 ล้านบาทต่อปี หรือไม่ ตรงนี้อยากให้สำนักพุทธศาสนาแห่งชาติได้ชี้แจงและเปิดใจมากขึ้นพระดุษฎีเมธังกุโรบอก
ในขณะที่ ดร.สุธาดา เมฆรุ่งเรืองกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้หญิงพลิกโฉมแห่งประเทศไทย บอกว่า การไม่ยอมรับภิกษุณีสายเถรวาทในประเทศไทย ไม่ได้เกิดมาจากพระสังฆราชไม่เห็นด้วย เพราะไม่มีข้อความพระบัญชาใดระบุว่าพระชั้นผู้ใหญ่คัดค้านในเรื่องนี้ แต่เป็นเพราะอคติที่อยู่ในใจ และไม่จำเป็นต้องแก้กฎหมายฉบับใด เนื่องจากรัฐธรรมนูญเปิดโอกาสไว้ให้แล้ว ส่วนตัวคิดว่าแก้ความคิดที่กรมศาสนาก็น่าจะจบได้ ซึ่งทางกรมศาสนาก็ควรจะชี้แจงให้ได้ด้วย มีอะไรปกปิดซ่อนเร้นหรือไม่ จนทำให้ภิกษุณีถูกเอาเปรียบอยู่อย่างนี้

หัวใจของเรื่องนี้ก็คือ ในพระพุทธศาสนาสายเถรวาทที่ปฏิบัติกันอยู่ในประเทศไทยนั้น ที่พูดแบบนี้ก็เพราะว่า การบวชพระภิกษุณีเริ่มเป็นที่ยอมรับในศรีลังกา ซึ่งก็เป็นเถรวาทเหมือนกัน ยังไม่ยอมรับการบวชพระภิกษุณี เหตุผลที่ให้กันก็ซ้ำๆเดิมๆ คือ สายการบวชพระภิกษุณีได้ขาดลงไปแล้ว  ทีนี้การอ้างเช่นนี้เป็นการอ้างข้อเท็จจริง และเป็นที่น่าสังเกตว่า ฝ่ายที่อ้างว่าไม่ควรมีการบวชพระภิกษุณีนั้นมักจะอ้างข้อเท็จจริงนี้ แทนที่จะอ้างหลักการว่าไม่ควรมีการบวชดังกล่าว ทั้งนี้ก็อาจจะเป็นเพราะว่า พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตการบวชพระภิกษุณีไว้โดยตรงในพระไตรปิฎก ดังนั้นการบวชพระภิกษุณีจึงมีความชอบธรรม เหตุผลเดียวที่เหลืออยู่ที่จะห้ามไม่ให้ทำเช่นนั้นได้ ก็คืออ้าง ข้อเท็จจริง เกี่ยวกับสายการบวช

สำหรบท่านที่อาจจะยังไม่ได้ศึกษาเรื่องนี้มาก่อน การบวชพระนั้นจะต้องมีพระผู้ใหญ่เรียกว่า อุปัชฌาย์ เป็นผู้บวชให้ และอุปัชฌาย์ท่านนั้นก็จะต้องบวชจากอุปัชฌาย์ของท่านเองมาก่อน เป็นเช่นนี้เรื่อยไปจนถึงพระพุทธเจ้า แต่ประเด็นที่ฝ่ายไม่สนับสนุนให้ผู้หญิงบวชก็คือว่า เราหาพระภิกษุณีมาเป็นอุปัชฌาย์บวชให้ไม่ได้ เมื่อไม่ได้ก็ทำตามพระวินัยไม่ได้ แต่ปัญหาก็คือว่า เราหาพระภิกษุณีมาเป็นพระอุปัชฌาย์ไม่ได้จริงๆหรือ ข้อเท็จจริง”ของฝ่ายต่อต้านที่สำคัญก็คือว่า ในปัจจุบันไม่มีพระภิกษุณีเหลืออยู่อีกแล้ว

การอ้างของฝ่ายไม่สนับสนุนภิกษุณีนี้เป็นการมองข้อเท็จจริงไม่รอบด้าน เพราะความจริงที่ปรากฏอยู่ก็คือว่า ปัจจุบันมีพระภิกษุณีจำพรรษาอยู่ตามวัดต่างๆในโลกนี้มากมายหลายรูป ดังนั้นที่บอกว่าปัจจุบันไม่มีพระภิกษุณีอีกแล้วจึงไม่เป็นความจริง ปัจจุบันมีการประชุมใหญ่ระดับโลกที่พระภิกษุณีจากทั่วโลกมาประชุมกัน ได้แก่การประชุมของ International Association of Buddhist Women ซึ่งได้จัดการประชุมใหญ่ไปที่ประเทศเวียตนาม เมื่อไม่นานมานี้ เมื่อมีหลักฐานชัดเจนเช่นนี้แล้วว่ามีพระภิกษุณีอยู่เป็นจำนวนมากในโลกในปัจจุบัน ข้ออ้างที่บอกว่าพระภิกษุณีหมดไปแล้วจึงไม่ตรงกับความจริง

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายต่อต้านก็อ้างอีกว่า แม้ว่าจะมีพระภิกษุณีอยู่เป็นจำนวนมากก็ตาม แต่ท่านเหล่านั้นก็มิใช่พระภิกษุณีตามสายการปฏิบัติของประเทศไทย กล่าวคือไม่ได้บวชในประเทศไทย แต่นี่เป็นการอ้างเหตุผลแบบงูกินหาง กล่าวคือเราหาพระภิกษุณีไม่ได้ เพราะไม่มีในประเทศไทย แต่พอมองออกไปนอกประเทศไทยที่มีพระภิกษุณีอยู่เป็นจำนวนมาก กลับไม่ยอมรับเพราะไม่ได้บวชในประเทศไทย การคิดเช่นนี้วางอยู่บนข้อฐานที่ว่า เฉพาะผู้ที่บวชในประเทศไทยเท่านั้น ที่มีความชอบธรรมในการเป็นพระอุปัชฌาย์บวชคนอื่นต่อไปได้ ซึ่งความข้อนี้พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงรับรอง และก็มิได้มีบัญญัติไว้ในพระไตรปิฎกแต่ประการใด แม้กระทั่งชื่อประเทศไทย ก็ยังไม่มีในพระไตรปิฎก

ฝ่ายต่อต้านอาจจะอ้างว่า พระภิกษุณี ที่มีอยู่ในโลกนั้น ไม่มีความชอบธรรมที่จะเป็นพระภิกษุณี เพราะสายการปฏิบัติได้สูญไปก่อนหน้าแล้ว แต่ปัญหาของการอ้างแบบนี้ นอกจากว่าจะเป็นดูหมิ่นดูแคลนพระสงฆ์ ซึ่งเป็นบาปแล้ว ยังเป็นการหลงผิดอย่างมาก เพราะเราจะรู้ได้อย่างไรว่า พระภิกษุณีที่มีอยู่ในประเทศต่างๆนั้น ท่านมิได้บวชจากอุปัชฌาย์ของท่าน และรู้อีกได้อย่างไรว่า อุปัชฌาย์ของท่านมิได้บวชจากอุปัชฌาย์ก่อนหน้าขึ้นไปเรื่อยๆ เราต้องไม่ลืมว่าในพระไตรปิฎกเองมีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่า พระพุทธเจ้าทรงบวชให้แก่พระน้านางของพระองค์เป็นท่านแรก และต่อจากนั้นก็ทรงบวชพระภิกษุณีมาตลอดพระชนมายุของพระองค์ มีหลักฐานว่าสายของพระภิกษุณีได้แพร่กระจายจากอินเดียไปยังจีนเมื่อหลายร้อยปีหลังพระพุทธเจ้าเสด็จดังขันธ์ปรินิพพาน และก็ได้ลงหลักปักฐานสืบทอดการบวชมาตลอด ดังนั้นเราจะอ้างได้อย่างไรว่าสายของพระภิกษุณีขาดไปแล้ว บทความหนึ่งที่กล่าวถึงหลักฐานดังกล่าว แม้จะไม่ใช่หลักฐานชั้นต้นแต่ก็มีเหตุผลน่ารับฟัง

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายต่อต้านก็อาจจะจำนนต่อหลักฐานนี้ แต่ยังอ้างต่อไปอีกว่าพระภิกษุณีจากประเทศจีนนั้นเป็นสายมหายาน ไม่สามารถบวชให้แก่กุลธิดาในประเทศไทยที่เป็นสายเถรวาทได้ แต่ประเด็นตรงนี้มิได้อยู่ที่มหายานหรือเถรวาท ประเด็นอยู่ที่ว่าพระภิกษุณีในประเทศจีนนั้น สืบสายการบวชมาจากพระพุทธเจ้าหรือเปล่า ถ้าไม่มีหลักฐานอะไรที่แสดงว่าสายดังกล่าวได้ขาดลงไปจริงๆในช่วงใดช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์ เราก็ต้องยอมรับว่าพระภิกษุณีในประเทศจีนสืบสายมาจากพระพุทธเจ้าโดยตรง การเป็นมหายานหรือเถรวาทเป็นเพียงเรื่องของพระสูตรที่ใช้ศึกษา หรือวิธีการปฏิบัติบางประการ แต่ในทางพระวินัยแล้วไม่มีหลักฐานอะไรที่จะแสดงได้เลยว่า ไม่มีพระภิกษุณีที่สืบสายโดยตรงมาจากพระพุทธเจ้า

เราต้องไม่ลืมว่า จุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนาได้แก่การละเว้นจากบาป ทำการอันเป็นกุศล และทำจิตใจให้บริสุทธิ์ขาวรอบ จุดมุ่งหมายนี้จะเพิ่มขึ้นหรือลดลงหากมีพระภิกษุณีมาเป็นกำลังอีกแรงหนึ่ง? ไม่ว่าจะมองอย่างไรก็มองไม่เห็นว่าจะทำให้ลดลงไปได้อย่างไร สิ่งที่ชาวพุทธไทยควรทำก็คือ สลัดความเคยชินเก่าๆทิ้งไป อันที่จริงเรื่องนี้ก็ทำไม่ยาก เพราะถึงแม้มหาเถรสมาคมจะยังไม่ยอมรับ แต่ก็เกิดสำนักพระภิกษุณีมากขึ้นเรื่อยๆในสังคมไทย ดังนั้นเรื่องพระภิกษุณีก็อาจจะไม่ต่างจากเรื่องอื่นๆในสังคมไทย คือมีการห้ามไม่ให้ทำในระยะแรก แต่พอคนทำมากๆเข้าเพราะการห้ามนั้นไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชน ก็ต้องมีการยอมรับอย่างเป็นทางการเองในภายหลัง แต่เราคงไม่อยากให้รอจนการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเองจากการสุกงอม เพราะเรามองเห็นว่าการยอมรับให้มีพระภิกษุณีอย่างเป็นทางการในสังคมไทย มีแต่จะทำให้สังคมวัฒนธรรมไทย และที่สำคัญคือจิตวิญญาณกับการปฏิบัติธรรมของคนไทยเองเข้มแข็งมากขึ้น

13.738967 100.533439


หมายเลขบันทึก: 517551เขียนเมื่อ 27 มกราคม 2013 09:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 มกราคม 2013 09:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท