อธิบายการเรียนรู้แบบเปลี่ยนแปลงจากภายใน


ผมลงมติกับตัวเองว่า ที่เรียกว่า transformative learning คือการเรียนรู้แบบลงมือทำ (learning by doing) หรือ action learning นั่นเอง

อธิบายการเรียนรู้แบบเปลี่ยนแปลงจากภายใน

  ที่จริงวงการศึกษารู้จักการเรียนรู้โดยการเปลี่ยนแปลงจากภายใน (transformative learning) มานานแล้ว  ดังกรณี ปิระมิดแห่งการเรียนรู้ข้างล่าง

                        



  จะเห็นว่า ระบบการศึกษาที่ยึดถือการเรียนรู้แบบถ่ายทอดความรู้ (informative learning) จะจัดการเรียนรู้ด้วยวิธีการส่วนยอดของปิระมิด หรือส่วนสีชมพู 

  ส่วนระบบการศึกษาที่เชื่อในการเรียนรู้แบบเปลี่ยนแปลงจากภายใน  จะจัดการเรียนรู้ด้วยวิธีการที่ฐานปิระมิด หรือส่วนสีเหลือง

  ผลการวิจัยเมื่อ 40-50 ปีมาแล้วบอกชัดเจน ว่าการเรียนรู้ด้วยวิธีการส่วนฐานของปิระมิด ให้ผลการเรียนรู้ดีกว่ามาก  แต่ก็แปลก ที่วงการศึกษาไทยไม่ตระหนัก  และไม่รู้จัก transformative education/learning

  ผมเคยเข้าใจผิด ว่า transformative learning เป็นเรื่องของการภาวนา เพื่อขัดเกลาจิตใจ แล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านในแบบถอนรากถอนโคน  บัดนี้ หลังจากอ่านหนังสือ The Heart of Higher Education : A Call to Renewal  อย่างไตร่ตรองใคร่ครวญ ผมลงมติกับตัวเองว่า  ที่เรียกว่า transformative learning คือการเรียนรู้แบบลงมือทำ (learning by doing) หรือ action learning นั่นเอง 

  ผมตีความว่า transformative learning เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นช้าๆ ทีละเล็กละน้อย ภายในตน ของผู้เรียน  ผ่านการปฏิบัติ (ทำ และ คิด)  จะเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงปัญญา (intellectual), อารมณ์ (emotion), สังคม (social), และจิตวิญญาณ (spiritual)

  ครูที่ทำหน้าที่ "ครูฝึก" เก่ง จะช่วยชี้ ชวน ช่วย เชียร์ ชม ให้การเรียนรู้มีชีวิตชีวา มีพลัง และตรงทาง  คือไปในทางสัมมาทิฐิ ไม่หลงไปทางมิจฉาทิฐิ  ครูจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง  แต่ไม่ใช่ทำหน้าที่ ครูสอน ที่เน้นถ่ายทอดวิชา  แต่ทำหน้าที่ ครูฝึก ที่เน้นหน้าที่ ๕ช  ซึ่งตีความได้ว่า ทำหน้าที่ “คุณอำนวย” (facilitator) ต่อการเรียนรู้ ของศิษย์

  กล่าวให้เข้าใจง่าย ทำงาย การเรียนที่เน้น PBL ตามด้วย AAR/Reflection คือการเรียนรู้แบบ เน้นการเปลี่ยนแปลง งอกงาม จากภายใน (transformative learning)

  การเรียนรู้แบบเปลี่ยนแปลงจากภายในต้องมีส่วน เรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ (contemplative learning) อยู่ด้วย  ส่วนนี้คือ AAR หรือ reflection นั่นเอง  ครูฝึก transformative learning จึงต้องมีทักษะการเป็น คุณอำนวย ของกระบวนการ AAR

  ผมตีความว่า ครูก็ต้องเรียนรู้ฝึกฝนตนเอง เพื่อให้เกิด transformative learning ภายในตนเช่นกัน  และทำได้ไม่ยากโดย PLC (Professional Learning Community)  คือเรียนรู้จากการปฏิบัติหน้าที่ครู  และผลัดกันทำหน้าที่ “คุณอำนวย”  ต่อการเรียนรู้แบบแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของเพื่อนครูด้วยกันเอง

  ครูที่มีความสามารถ จะช่วยทำให้ การเรียนรู้แบบเปลี่ยนแปลงจากภายใน ขับเคลื่อนจากความหมายทั่วๆ ไป  ไปสู่ความหมายพิเศษ  คือเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านใน ที่เกิดการละลดตัวตน ความเห็นแก่ตัว ไปสู่โพธิสัตว์ในความหมายทางพุทธ

  ยิ่งฝึกปฏิบัติจิตตภาวนา สู่จิตตปัญญา ร่วมไปด้วย การเปลี่ยนแปลงสู่โพธิก็จะยิ่งสะดวกเด่นชัดขึ้น  

วิจารณ์ พานิช

๒๖ ม.ค. ๕๖

     


หมายเลขบันทึก: 517525เขียนเมื่อ 26 มกราคม 2013 20:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มกราคม 2013 07:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท