ครูในทศวรรษที่ ๒๑


    สมัยเด็ก ผมเรียนโรงเรียนวัด อาคารเรียนเป็นศาลาการเปรียญ ที่ทางปักษ์ใต้เรียก โรงธรรม  คือเป็นโรงเรือนสำหรับแสดงธรรมะ ครูทั้งโรงเรียนมีสามคน นักเรียนมีสี่ห้อง คือประถม ๑-๔  ครูใหญ่ต้องสอนด้วย ดังนั้นครูจึงต้องสอนควบสองชั้น 

    เมือก่อนสื่อการสอนคือหนังสือเล่มเดียว ชื่อ หนังสือรวมวิชา  มีทั้งวิทยาศาสตร์ - สังคม - ภาษาไทย - ศีลธรรม  ทั้งหมดสอนด้วยครูประจำชั้นเพียงคนเดียว สอนได้ทุกวิชา นักเรียนที่จบชั้นประถมสี่สมัยนั้นอ่านออกเขียนได้กันทุกคน

    มาวันนี้ ผมลองนึกวิเคราะห์ดูว่าทำไม ครูเมื่อสี่สิบปีที่แล้ว สอนให้ลูกศิษย์ประสบความสำเร็จได้ดี ทั้งๆ ที่ครูสมัยก่อนไม่มีปริญญาแม้แต่คนเดียว  อย่างแรกที่จำได้ติดตาตรึงใจ คือ ครูเป็นแบบอย่างที่ดีให้ศิษย์ ครูลายมือสวย เขียนกระดานชอล์กสวย วาดรูปสวย อ่านหนังสือชัดถ้อยชัดคำ  สอนให้เราออกเสียง ร เรือ ล ลิง ให้ถูกต้อง  ครูก็ออกเสียงได้ถูกเป็นแบบอย่าง

   อีกอย่าง คือ ครูมีความเสียสละ จำได้ว่าตอนจะจบประถมสี่ จะต้องไปสอบเรียนต่อประถมห้าที่ตัวอำเภอ ด้วยความที่ อยากให้ลูกศิษย์สอบติด เป็นชื่อเสียงของโรงเรียน ครูจึงเปิดสอนพิเศษที่บ้านให้ เริ่มประมาณหกโมงเย็นถึงสองทุ่มทุกวัน ก่อนสอบหนึ่งเดือน ทำให้เด็กๆ เข้าใจเนื้อหาขึ้นเยอะ และก็สอบเรียนต่อได้กันหลายคน  สำหรับครูไม่รับค่าสอนพิเศษเลย

   ถ้าวันนั้น ผมไม่ได้ครูผู้เป็นตัวอย่างที่ดี ไม่ได้ครูผู้เสียสละ ผมคงไม่มีวันนี้

    แต่สำหรับครูในศตวรรษที่ ๒๑ มีเนื้อหามากมายในหลักสูตรที่ครูต้องรู้จริง  การเร่งรัดจากหน่วยเหนือลงไปมากๆ กดดันทุกเรื่อง  ตั้งแต่ระบบการประเมินโรงเรียน นโยบายการใช้เทคโนโลยี  ระบบการเลื่อนขั้นเงินเดือน ไปจนถึงระบบการเลื่อนระดับ/ เลื่อนวิทยฐานะ  เรียกว่ากดดันครูทุกรูปแบบ  จนถึงขั้นลาออกก็มีเยอะ   แม้จะหาคำที่สวยหรูมารองรับการลาออกก่อนกำหนดหรือเออร์ลี่รีไทร์   การกดดันครูหลายด้านดังกล่าว  บังคับให้รู้และทำในสิ่งที่ไม่ถนัดจึงเป็นการบีบครูโดยตรง  ในขณะที่คุณธรรมจริยธรรมของสังคมลดน้อยถอยลง สังคมเน้นและยกย่องคนมีเงิน  การเรียนการสอนกลับเน้นเรื่องเทคโนโลยี ซึ่งไม่ใช่ครูจะถนัดทุกคน  การประเมินจากองค์กรทึี่เกี่ยวข้องบังคับให้โรงเรียนและครูต้องทำ "ผักชีโรยหน้า 5 ปีต่อครั้ง"  อย่างนี้ครูจะทนไหวหรือ

   ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะให้ครูในศตวรรษที่ ๒๑ หันกลับมาเน้นสอนศิษย์และเป็นแบบอย่างที่ดีด้านคุณธรรม จริยธรรม อย่าเน้นแต่เทคโนโลยีและรูปแบบ และแก้ไขระบบการประเมินโรงเรียนที่ทำเพียง "ผักชี"


คำสำคัญ (Tags): #ครู
หมายเลขบันทึก: 517467เขียนเมื่อ 26 มกราคม 2013 00:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มีนาคม 2013 10:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ถ้าอยากให้ครูทุ่มเทกับการทำงาน สละเวลาในการทำงาน ก็ต้องเพิ่มรายได้ให้กับครูเพื่อไม่ให้ครูต้องไปทำอาชีพอื่นเสริม เพื่อไม่ให้ครูมัวแต่สร้างผลงานตัวเอง(ผักชีโรยหน้า) เพื่อที่จะทำวิทยะฐานะต้นเองโดยไม่สนใจเด็กนักเรียน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท