การวิจัยเป็นพิธีกรรม


ข้อเขียนของ ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช (2555) ที่สะท้อนมุมมองของรัฐบาลและหน่วยงานต่าง ๆ ที่มองการวิจัยเป็นพิธีกรรมมากกว่าเป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศ  หลายภาคส่วนมองงานวิจัยเป็นเรื่องของการฝึกหัดคนให้มีการคิดอย่างเป็นระบบ ซึ่งก็ถูก   หลายมุมมองที่เห็นงานวิจัยเป็นอะไรที่อลังการงานสร้างต้องใช้ความมานะพยายามอย่างแสนสาหัส  หล่ายคนที่จบบัณฑิตศึกษามาอย่างเจ็บปวดเต็มไปด้วยเลือดที่ขบอยู่ในปากและน้ำตาที่ตกอยู่ข้างใน  การวิจัยกลายเป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ของคนที่มีศักดิ์และสิทธิ์แห่งปริญญาตามกฎหมาย  ผู้บริหารประเทศหลายคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอะไรคือวิจัย    อดีตนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่งที่ล่วงลับไปแล้วยังกล่าวถึงการของบวิจัยของมหาวิทยาลัยว่าขอมาบ้าบออะไรตั้งมากมาย  และเป็นสิ่งแรกในการพิจารณางบประมาณแผ่นดินที่ต้องตัดงบประมาณเพื่อนำงบประมาณไปปลูกหญ้าในสวน หญ้าที่ขึ้นไม่นานแล้วก็ตาย แล้วก็ของบประมาณปลูกใหม่ไม่มีที่สิ้นสุด    ขณะที่ผลของงานวิจัยจะนำไปสู่การต่อยอดการผลิตสินค้าที่นำรายได้เข้าสู่ประเทศอย่างไม่มีที่สิ้้นสุด 

นักศึกษาปริญญาเอกคนหนึ่งถามด้วยความสงสัยมาตลอดเวลาหลายปีก่อนมาเรียนว่าทำวิจัยไปเพื่ออะไร   เธอไม่เคยเห็นผลงานวิจัยที่นำไปใช้ประโยชน์ใด ๆ นอกจากเป็นอ้างอิงอยู่บนชั้นหนังสือในห้องสมุด   ที่ห้องสมุดก็แสนจะสุดหวงแหนผลงานวิจัยเล่มหนาและให้ยืมในเวลาอันสั้นเหลือเกิน   งานวิจัยของหน่วยงานเธอจำนวนมากผู้บริหารก็ไม่ยอมรับและไม่นำไปใช้เป็นข้อมูลใด ๆ   การวิจัยจึงเป็นเรื่องของคนบ้าเรียนบ้าอ่านที่เขียนอะไรไม่รู้หลายร้อยหน้ากระดาษโดยไม่มีใครสนใจจะเปิดอ่านแม้แต่หน้าเดียวเมื่อเห็นเล่มขนาดมหึมา   และเธอต้องมาทำวิจัยไปทำไมในเมื่อวิจัยไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรกับประเทศนี้เท่าไหร่นัก   เมื่อเธอจบไปเธอก็ไม่ได้ทำวิจัยหรือคิดจะทำวิจัยอะไรต่อไปอีก   และหลายคนที่เธอเห็นจบปริญญาเอกไปก็ไม่มีใครคิดจะวิจัยและพัฒนาอะไรต่อไป นอกจากใช้คำนำหน้าเป็นเกียรติว่าจบปริญญาเอก  ซึ่งเหตุผลของเธอฟังได้ มีความคิดดีและถูกทุกข้อ

การเสียเงินให้กับพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่เห็นผลอะไรเลยตามความคิดของรัฐบาลหรือหน่ว่ยงานรัฐต่าง ๆ   ย่อมเป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์ไม่เกิดมรรคผลใด ๆ อันเป็นคะแนนเสียงที่จับต้องได้    งานวิจัยกินไม่ได้ การวิจัยก็เป็นเรื่องของคนไม่กี่คน งบประมาณก็ให้อย่างสมเหตุสมผลนั่นคือ ตามสัดส่วนของการบริหารที่ต้องมีเรื่องนี้ไว้บ้าง   เพื่อให้ดูดีและครบถ้วนกระบวนการ   ไม่ได้ตั้งใจใด ๆ ที่จะให้งานวิจัยนำไปสู่ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หรือส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรมของประเทศ   มุมมองงานวิจัยรัฐบาลทุกยุคสมัยและหน่วยงานต่าง ๆ จึงไม่แตกต่างกัน   หน่วยงานที่ทำวิจัยก็อยู่บนความแร้นแค้นแสนสาหัส   การของบประมาณวิจัยเป็นเรื่องของการแถมเอาไว้ในงบประมาณหลัก ๆ   เป็นของแถมหรือของหวานหรือผลไม้หลังอาหารจานหลัก  ตบให้ครบถ้วนเหมือนไม่ให้ขาดอะไรในโต๊ะอาหารเท่านั้น  การมองงานวิจัยเป็นพิธีกรรมจึงเหมือนกับการมองชาวบ้านที่เห็นหมูหกขาเห็นหมาสองหัวเห็นกล้วยแตกเครือประหลาดแล้วจุดธูปเทียนทำพิธี  นักวิจัยในสายตาผู้บริหารประเทศจึงเหมือนพวกขอเงินไปซื้อธูปเทียนเพื่อจุดขอหวยจากสิ่งที่มองไม่เห็น  กลายเป็นเรื่องไร้สาระไปในที่สุด

แล้วจะอธิบายความสำคัญของการวิจัยไปเพื่ออะไร  ในเมื่อทุกคนที่เป็นใหญ่ก็ไปศึกษาดูงานต่างประเทศ เรียนจบจากต่างประเทศ ได้เห็นความสำเร็จของเกาหลีที่ใช้งานวิจัยผลิกโฉมการผลิตของประเทศ  ได้เห็นความยิ่งใหญ่ของญี่ปุ่นที่ทำวิจัยตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ  สินค้ามาตรฐานโลกของไต้หวันที่มาใช้ฐานการผลิตในประเทศไทยและในประเทศจีนล้วนวิจ้ยและพัฒนาอย่างหนักในไต้หวัน  การรุดหน้าอย่างรวดเร็วด้วยการวิจัยนับหมื่น ๆ เรื่องต่อปีของจีนส่งผลต่อการผลิตสินค้าจำนวนมหาศาลสู่ตลาดโลก ความยิ่งยงของสหรัฐอเมริกาที่วิจัยและพัฒนาสิ่งต่าง ๆ มาตลอดหลายสิบปีมีผู้สำเร็จปริญญาเอกในประเทศนับล้าน ๆ คน   ทุกประเทศที่เจริญทั้งหลายใช้วิจัยเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาประเทศ   ความถดถอยของยุโรปอย่างกรีกที่มีงานวิจัยพอ ๆ กับประเทศไทยในช่วงนับสิบปี อิตาลีที่งานวิจัยถดถอยเพราะถูกลดความสำคัญ สเปนที่กำลังลำบากในการสร้างนวัตกรรมเพราะขาดการสนับสนุนการวิจัย  ต่างกับอังกฤษและเยอรมันที่วิจัยและพัฒนาเพื่อความยั่งยืนของเศรษฐกิจประเทศมาตลอดหลายสิบปี ทุกประเทศที่ถดถอยทางเศรษฐกิจเกิดจากการขาดวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีทั้งสิ้น

ประเทศไทยอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาการวิจัย   เพราะเราเป็นประเทศผู้ผลิตสินค้าที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ที่ไม่มีเทคโนโลยีเป็นของตนเอง  การผลิตทั้งหมดในประเทศไทยนำเทคโนโลยีที่วิจัยและพัฒนาแล้วมาจากประเทศที่เข้ามาลงทุน  เราไม่มีรถยนต์ยี่ห้อไทย ๆ เราไม่มีเครื่องใช้ไฟฟ้าแบรนดังระดับโลกที่ใช้ชื่อไทย  เราไม่มีสินค้าอุตสาหกรรมหนักชื่อไทย   เรามีแต่เครื่องดื่มบำรุงกำลังที่มีชื่อเสียงระดับโลก เรามีรายการอาหารติดระดับโลก เรามีการท่องเที่ยวที่นำรายได้เข้าสู่ประเทศโดยอาศัยธรรมชาติ อัธยาศัยใจคอของผู้คนในบ้านเมืองเรา  ที่ไม่ต้องมาทำวิจัยให้วุ่นวาย  ไม่ต้องใช้งบประมาณเพื่อวิจัยโดยไม่เห็นผลใด ๆ ในระยะสั้น  เราคงไม่ต้องพึ่งพาการวิจัย  ทุกอย่างที่เราซื้อทุกวันนี้เราผลิตแต่ไม่ใช่คนคิด  เรากินของถูกแต่เราซื้อของแพง  เรากินข้าวแกงที่ผลิตในประเทศด้วยฝีมือคนไทยทุกอย่าง เราซื้อสินค้าที่ผลิตในประเทศด้วยฝีมือคนไทยแต่คิดโดยชาวต่างประเทศ  เราต้องการวิจัยแล้วเอาความคิดของคนไทยมาผลิตสินค้าให้คนในประทศได้ซื้อถูกและขายต่างประเทศในราคาแพงหรือไม่  ถ้างานวิจัยเป็นพิธีกรรมคงได้แต่นั่งภาวนาให้สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นตามใจปรารถนา  แต่ถ้ามองว่าการวิจัยเป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศสู่การแข่งขันและความเจริญก้าวหน้า งานวิจัยอาจเป็นคำตอบ

 

 

 

.......................................................................................................................................................

คมชัดลึกออนไลน์วันที่ 24-01-2556

อย่า!มองงานวิจัยเป็นพิธีกรรม

นักวิจัย มธ. ฝากรัฐอย่ามองงานวิจัยเป็นเพียงพิธีกรรม พร้อมแนะผู้บริหารเปิดหลักสูตรพิเศษให้น้อย เหตุกระทบนักวิจัย อาจารย์รุ่นใหม่เอาแต่สอนหวังรายได้ไม่สนวิจัย

               วันที่ 19 ธ.ค. 2555 ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริหารวิชาการและวิจัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) เปิดเผยว่า ตอนนี้ประเทศไทยมีความจำเป็นอย่างมากที่ต้องพัฒนานักวิจัย และงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพราจะซื้อเทคโนโลยีเข้ามาเหมือนในอดีตไม่ได้แล้ว เนื่องจากวัถตุดิบต่างๆ เช่น น้ำมัน แก๊สธรรมชาติ ระบบต่างๆ ที่เคยซื้อมาล้วนต้องจ่ายในราคาที่แพงขึ้น ซึ่งหากประเทศไทยไม่ปรับตัว ไม่สร้างนักวิจัยเข้ามาช่วยศึกษาค้นคว้าเทคโนโลยีใหม่ ยังคงเน้นการซื้อมากกว่าที่จะสร้างเทคโนโลยีขึ้นมาเอง ประเทศไทยก็ไม่สามารถไปสู่ประเทศอื่นได้ ดังนั้น รัฐและหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องอย่ามองเรื่องงานวิจัยและพัฒนานักวิจัยเป็นเพียงพิธีกรรม แต่ต้องมีหลักการ มีกฎระเบียบที่ชัดเจนไม่ใช่รัฐบาลเปลี่ยนก็เปลี่ยนไปด้วย เพราะในภาคการศึกษา ยังมีบุคลากร นักวิจัยที่มีคุณภาพอีกมากที่ไม่ได้ไปพร้อมรัฐบาล ขณะที่กลุ่มของภาคเอกชนควรเสียสละเข้ามีส่วนสนับสนุนงบประมาณในการผลิตนักวิจัยมากกว่าที่เป็นอยู่ ไม่ใช่จะมารับเทคโนโลยีอย่างเดียว

               'นักวิจัย และงานวิจัยของไทยที่ไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควรนั้น ส่วนหนึ่งเพราะระบบการจัดสรรทุนไม่มีประสิทธิ์ภาพ ระบบผู้ประเมิน กรรมการที่ให้ทุนงานวิจัยไม่มีประสบการณ์เรื่องงานวิจัยแต่มาตัดสินทุน หรือรางวัลให้นักวิจัย ทำให้คนเก่ง นักวิจัยดีๆ หลุดไป แถมนักวิจัยเก่งๆต้องดิ้นรนไปประกวด เพื่อเอารางวัลมาต่อทุนในการทำงานวิจัย ทั้งที่นักวิจัยกว่าจะคิดค้นงานวิจัยขึ้นมาได้นั้น บางคนคิดหัวแทบแตก แต่พอคิดออกมาแล้ว กลับไม่ได้รับการต่อยอด ส่วนจะให้ทำงานวิจัยเชิงธุรกิจการค้า นักวิจัยก็ไม่สามารถทำได้ เพราะสอน ทำงานวิจัย แล้วยังต้องมาขายงานวิจัยของตนเองอีก จึงอยากให้รัฐบาลปฎิรูประบบการจัดการเกี่ยวกับงานวิจัยอย่างสมบูรณ์แบบ' ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ กล่าว

               อย่างไรก็ตาม นักวิจัยตอนนี้กับนักวิจัยอดีตแตกต่างกัน นักวิจัยในอดีตไม่ค่อยมีเวทีให้ได้แสดงผลงาน แต่นักวิจัยในปัจจุบันไม่ใช่ นอกจากมีเวทีให้แสดงผลงานมากมายแล้ว ภาคเอกชน รัฐ ยังเข้ามาสนับสนุนแม้จะไม่มากเมื่อเทียบเท่าประเทศอื่น จึงอยากให้นักวิจัยรุ่นใหม่ โดยเฉพาะในส่วนมหาวิทยาลัยขอให้ปลีกเวลา แทนที่จะสอนหนังสืออย่างเดียว มาทำงานวิจัยด้วย เพราะตอนนี้นักวิจัยรุ่นใหม่ชอบสอนอย่างเดียว เนื่องจากไปสอนหลักสูตรพิเศษต้องการรายได้เยอะ และฝากผู้บริหารมหาวิทยาลัย อย่าเน้นเปิดหลักสูตรใหม่มากเกินไปควรแบ่งเวลาให้อาจารย์ทั้งรุ่นใหม่ รุ่นเก่าทำงานวิจัยบ้างเพื่อเสริมสร้างภูมิปัญญาองค์ความรู้ใหม่ เพิ่มพูนความรู้ให้ตนเอง และนำมาใช้ในการสอนลูกศิษย์ให้เก่งๆได้
.....................................................................
(หมายเหตุ : ภาพจาก http://www.csip.org )

 

หมายเลขบันทึก: 517317เขียนเมื่อ 24 มกราคม 2013 09:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 มกราคม 2013 08:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท