รู้จักฉันรู้จักเธอ : อีกนิยามความสุขของคนหน้างาน (ทันตาภิบาล)


ก่อนปิดเวทีนั้น ผมได้สะท้อนองค์รวมว่าด้วย “ความสุข” ผ่านภาพวาดของผู้เข้าร่วมกระบวนการว่ามีลักษณะร่วมที่สำคัญอยู่ประการหนึ่ง นั่นก็คือ “ความสุขที่เกิดจากการช่วยเหลือผู้คน” ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงหมุดหมายอันเป็นนิยามที่ทรงคุณค่าของการ “ใช้ชีวิต” อย่างน่ายกย่อง

หลักพักงานนอกมาระยะหนึ่ง  พอภารกิจเกี่ยวกับ 1 หลักสูตร 1 ชุมชนผ่อนเบาลง  ผมก็ตอบรับการเป็นหนึ่งในทีมวิทยากรกระบวนการเนื่องในโครงการขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาพช่องปากภายใต้กองทุนทันตกรรมในระบบหลักประกันสุขภาพ  ของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ณ  โรงแรมบ้านอัมพวา รีสอร์ท แอน สปา จ.สมุทรสงคราม

การตอบรับเป็นวิทยากรกระบวนการในครั้งนี้  จะว่าไปแล้วก็เสมือนการเดินทางไปลับคมทักษะการถอดบทเรียนและเคาะสนิมทางปัญญาของตนเอง  หลังจากว่างเว้นกระบวนการกับองค์กรภายนอกมาระยะหนึ่ง 




เวทีดังกล่าว  ผมได้รับมอบหมายให้เปิดเวทีด้วยกระบวนการ “รู้จักฉันรู้จักเธอ”  อย่างที่ผมถนัด  โดยมีระยะเวลาให้บริหารจัดการประมาณ 30-45 นาที

ผมยังคงเลือกใช้สื่อในชุดเดิมๆ เป็นเครื่องมือหลักในการนำเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ที่ประกอบด้วยบทกวีซึ่งสะท้อนการจัดการความรักและความรู้ในองค์กรที่ชื่อ “รู้จักฉันรู้จักเธอ”  และคลิปหนังสั้นที่สะท้อนเรื่องราวการค้นหาความสุขด้วยการกลับบ้านในชื่อ “วันเรียกขวัญ” ของนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ภารกิจของผมเริ่มขึ้นได้ไม่ยากเย็นนัก  เพราะน้องๆ ในทีมได้ละลายพฤติกรรมและสร้างสรรค์บรรยากาศของการรู้จักกันไปพอสมควรแล้ว  การขยับเข้าไปจัดกระบวนการรู้จักฉันรู้จักเธอ  จึงดูเหมือนไม่ต้องกระตุ้นความตื่นตัวให้มากแรง

ด้วยเหตุนี้  ผมจึงเริ่มต้นด้วยการบอกเล่าเรื่องราวความสุขของผมให้ผู้เข้าร่วมกระบวนการได้รับรู้และรับฟังอย่างง่ายๆ  โดยเน้นไปยังเรื่องราวการเดินทางอันปลีกวิเวกของผมที่เพิ่งผ่านพ้นมาเมื่อไม่นาน   เพื่อสื่อสารให้รู้ว่าเราล้วนมีวิธีการ หรือพื้นที่ความสุขของตนเองเสมอ  ขึ้นอยู่กับว่า  เราจะหยิบจับมาเป็นส่วนหนึ่งของพลัง  เพื่อขับเคลื่อนชีวิตในวันนี้ให้มีคุณภาพได้อย่างไร

ครับ, การขับเคลื่อนชีวิตที่ว่านี้  หมายถึงการขับเคลื่อนวันนี้  เพื่อให้วันนี้  เป็นรากฐานอันหนักแน่นของอนาคตที่เราวาดหวังป่ายปีนนั่นเอง





จากประสบการณ์จัดเวทีร่วมกับบุคลากรในสายสาธารณสุข  ผมประจักษ์ว่าส่วนใหญ่มีทักษะในการวาดภาพอยู่แล้ว  จึงกำหนดเวลาการวาดภาพไม่เกิน 10 นาที  จากนั้นก็ให้จับกลุ่มตามความสมัครใจ  เพื่อบอกเล่าเรื่องราวในภาพสู่กันฟัง  

 




ครับ,  กระบวนการทั้งหมดเป็นไปอย่างกระชับ  ถึงแม้แต่ละคนจะไม่สามารถบอกเล่าเรื่องราวสู่กันฟังได้ครบทุกคน  แต่ผมก็ใช้วิธีให้ทีมงานนำภาพทั้งหมดมาแปะติดไว้  เพื่อให้ภาพแต่ละภาพได้ทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวของมันเอง  และก็เป็นที่น่ายินดี  เพราะในห้วงการพักรับประทานอาหารว่าง  มีผู้คนเข้ามาเยี่ยมชมภาพวาด  พร้อมๆ กับการแลกเปลี่ยนกันและกันอย่างเปี่ยมสุข –

นี่คือกระบวนการง่ายๆ ของการสร้างพื้นที่ให้แต่ละคน “เปิดเปลือย”  ตัวเองสู่ผู้อื่นและเปิดรับผู้อื่นกลับเข้าสู่ตัวเอง  ลดทอนช่องว่างระหว่างกัน  แบ่งปันความสุขควบคู่ไปกับสร้างเสริมความคุ้นเคยเพื่อให้ง่ายต่อการเรียนรู้ หรือเปิดใจเรียนรู้ร่วมกันในเวทีที่กำลังขับเคลื่อนขึ้น






ก่อนปิดเวทีนั้น  ผมได้สะท้อนองค์รวมว่าด้วย “ความสุข”  ผ่านภาพวาดของผู้เข้าร่วมกระบวนการว่ามีลักษณะร่วมที่สำคัญอยู่ประการหนึ่ง  นั่นก็คือ “ความสุขที่เกิดจากการช่วยเหลือผู้คน”  ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงหมุดหมายอันเป็นนิยามที่ทรงคุณค่าของการ “ใช้ชีวิต”  อย่างน่ายกย่อง

แต่กระนั้นก็เป็นที่น่าสังเกตว่ายังไม่พบภาพวาดที่สะท้อนเรื่องราวเกี่ยวกับวิชาชีพ หรือการงานของเหล่าบรรดาคุณหมอเลยก็ว่าได้ (หรืออาจจะมีแต่ผมอาจไม่รู้ ทั้งสำรวจไม่เจอและตีความไม่ออก)

หากแต่ส่วนใหญ่ภาพวาดที่วาดออกมานั้นล้วนสะท้อนถึงเรื่องราว “ความสุข”ที่ละม้ายคล้ายเคียงกัน  เช่น  

ภาพที่สื่อถึงความอบอุ่นในครอบครัวในแบบฉบับพ่อแม่ลูก ปู่ย่าตายาย  การได้ทำหน้าที่ในครอบครัวของตนเอง  การเห็นอนาคตที่ดีของลูก  การได้สวดมนต์ไหว้พระ  การปลูกต้นไม้  การเป็นที่พึ่งของผู้อื่น  ความสุขที่เห็นชุมชนเข้มแข็ง  รักและสามัคคี ยึดมั่นในหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  รวมถึงภาพวาดที่เกี่ยวกับชีวิตในวัยเยาว์ที่ผูกโยงกับโรงเรียน ท้องทุ่ง  ภาพที่เกี่ยวโยงกับความงดงามของธรรมชาติ  ภาพที่เกี่ยวกับเสรีภาพ (นก)  หรือแม้แต่การไม่วาดภาพแต่เขียนเป็นเรื่องราวเพื่อให้รับรู้ว่า “การยังมีลมหายใจอยู่คือความสุขและความโชคดีอย่างมหาศาลของชีวิต”




ครับ, ในห้วงพักรับประทานอาหารกลางวัน   ผมและบุคลากรที่เข้าร่วมกระบวนการ  มีโอกาสโสเหล่กันเกี่ยวกับเรื่องราวในภาพเหล่านี้   เราต่างเห็นพ้องร่วมกันว่า "ความสุข"  ที่ว่านี้  ส่วนใหญ่มักเป็นความสุขใน "วัยเยาว์"  ของชีวิตแทบทั้งสิ้น  หากเป็นความสุขในวัยอันใกล้เคียงกับสถานะปัจจุบัน  ก็เป็นความสุขในบริบทของ "ครอบครัว" เสียทั้งหมด

กรณีดังกล่าวนี้  ผมแชร์ข้อมูลกลับไปยังบรรดาคุณหมอว่า  "...ในแต่ละเวทีก็สะท้อนเรื่องราวอันเป็นความสุขเช่นนี้เหมือนกัน  เรายิ่งโตยิ่งดูเหมือนโหยหาอดีต  เพื่อเป็นพลังหนุนเสริมให้มีแรงใจในการสู้ชีวิต  รวมถึงการหวนคิดคำนึงถึงสายใยรักในครอบครัว  (บ้าน)  ที่เป็นโรงเพาะชำระชีวิตหลังใหญ่ของเราเอง..."

ครับ,  เพราะเราทุกคนล้วนมีบ้าน-ห่างบ้าน และปรารถนากลับบ้านด้วยกันทั้งนั้น






นี่คือความสุขที่ถูกค้นพบในเวทีการเรียนรู้ครั้งนี้  เสมือนการชักชวนให้แต่ละคนได้ “ทบทวนชีวิต-ถอดบทเรียนชีวิต"  ของตนเองอีกครั้ง 

ผมมีดีใจที่เกือบทั้งหมดยืนยันว่าว่างเว้นการวาดภาพมาอย่างยาวนานร่วมหลายเดือน  ขณะที่หลายท่านว่างเว้นมาเป็นปีแล้วก็มี-

ถึงแม้คำตอบของความสุขในเวทีนี้จะไม่แตกต่างกับหลายๆ เวทีที่ผ่านมา   แต่ต้องยอมรับโดยดุษฎีว่า "...ความสุขที่สะท้อนและแบ่งปันกันนั้น  คือพลังอันยิ่งใหญ่ที่สื่อให้เห็นคุณค่าและความหมายของการ "มีชีวิต"  ในแบบของการ “ใช้ชีวิต”..."



ปล.ขอบคุณความสุขอันงดงามเหล่านี้ นะครับ
เพราะความสุขของทุกท่านก็ได้เสริมพลังให้กับผมอย่างมากมายก่ายกองเหมือนกัน


หมายเลขบันทึก: 517314เขียนเมื่อ 24 มกราคม 2013 08:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มกราคม 2013 11:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

รู้จักฉันรู้จักเธอ :

เป็นกิจกรรมที่สร้างความสุขอย่างง่ายที่ใครหลายๆคนได้ค้นพบ

การได้สนทนาพูดคุยแลกเปลี่ยนและทำความรู้จักซึ่งกันและกัน

การได้ส่งรอยยิ้มผ่านไปให้แก่กัน ยิ้มเข้าไว้ เพราะยิ้มเป็นโรคติดต่อ

ไม่เชื่อก็ต้องลองยิ้มดูครับ แล้วเราจะพบว่า “เราเองก็มีชีวิตที่ดีทีเดียว”

เพราะ  ชีวิต  คือ ชีวิต  

"บ้าน"  คือ ความสุข ความอบอุ่น  ที่มีให้กันและกัน ค่ะ

อ่านแล้วซึมซับความสุขดีๆที่ตกผลึกจากข้างในใจอย่างชัดเจนค่ะ..

มาทิ้งรอยไว้ก่อน จะมาอีกทีค่ะ  โทรศัพท์สายมันพันกันตลอดเช้าเลยค่ะ

เรายังคงรู้ัจักกันเสมอครับ ;)...

สวัสดีครับ  อภิวิชญ์ทีปกร

ดีใจที่ได้เห็นท่านมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในบันทึกนี้  และแลกเปลี่ยนได้มุมอย่างลึกซึ้งเลยทีเดียว
กิจกรรมรู้จักฉันรู้จักเธอ  ไม่เพียงทำให้เราและเรารู้จักกันมากขึ้น  อันหมายถึงผ่อนถอดถอนความเป็นคนแปลกหน้าออกจากกัน  ยังเป็นเสมือนสะพานเชื่อมสู่การเปิดใจที่จะรู้จักกัน

ยิ่งนำมาใช้ในกระบวนการเรียนรู้ที่เป็นเวทีถอดบทเรียน  ยิ่งก่อเกิดประโยชน์อย่างมหาศาล  เพราะทำให้แต่ละคนเขินอายกันน้อยลง  สะกิดให้เกิดความประทับใจกันลึกๆ  ทิ้งเป็นเชื้อไฟให้สานต่อมิตรภาพ  และเมื่อเข้าสู่กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ก็ทำให้เวทีความแปลกหน้าผ่อนคลายลงไปโดยปริยายด้วยเหมือนกัน

ขอบคุณครับ

ครับ คุณชาดา ~natadee

บ้าน คือจุดเริ่มต้นของชีวิต
และที่สุดแล้ว
บ้านก็เป็นปลายทางของชีวิต 

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ พี่ใหญ่นงนาท สนธิสุวรรณ

อย่างน้อยกิจกรรมนี้ก็ทำให้ผู้คนมีเวทีในการบอกเล่าเรื่องราวอันดีงามของตนเอง  บางทีเรื่องราวที่ว่านี้ อาจกลายเป็นแรงบันดาลใจของใครอีกหลายคนด้วยก็เป็นได้  เป็นการแบ่งปันผ่านศิลปะหลากแขนง  ทั้งทัศนศิลป์,วาทศิลป์  และนั่นยังรวมถึงศิลปะการฟังไปในตัวด้วยเช่นกัน

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ พี่ Bright Lily

ยังรออยู่นะครับ 55

สวัสดีครับ อ.วัส Wasawat Deemarn

สำหรับ อ.วัส นะครับ
ไม่ใช่แค่ เรารู้จักกันเสมอ
แต่ เราคิดถึงกันเสมอ ต่างหาก ...

ขอบคุณที่รู้จักกันค่ะ

หมอต๋อยครับ

ผมว่าสมัครโกทูโน และเขียนบันทึกวิถีงานนอกกรอบของคุณหมอดีกว่าครับ
จะได้เป็นอานิสงส์ของสังคม ครับ

นะครับ

น่าสนุกนะคะ

เห็นภาพแล้วคนคุ้นหน้าหลายคน

พี่จันทนา  ดร.วิรัตน์  พี่จิน  น้องซิม....

สวัสดีครับพี่หมอ ทพญ.ธิรัมภา

ผมอ่านเรื่องราวในโซนบอนแก่น  เห็นร่องรอยที่พี่หมอเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนด้วยเหมือนกันนะครับ

มีความสุข..ใคร ๆ ก็อยากแบ่งปัน  สังเกตุเห็นจากการสนทนากับเพื่อนรุ่นน้อง.......   เรามักจะผลัดเปลี่ยนกันเล่าความสุขให้กันฟังในแต่ละวัน    ขอให้ทุกท่านมีความสุขทุกวันค่ะ


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท