ชาครธมโม
นาย สมชาย ชาครธมโม ชินวานิชย์เจริญ

ปั่นจักรยานสานพลังฟังปราชญ์ชาวบ้านสื่อสารสุขภาพท้องถิ่น ปีที่ 3


ปั่นจักรยานสานพลังฟังปราชญ์ชาวบ้านสื่อสารสุขภาพท้องถิ่น ปีที่ 3

                              เครือข่ายหมอพื้นบ้านจังหวัดอุดรธานี จะได้ดำเนินการปั่นจักรยานสานพลังฟังปราชญ์ชาวบ้านสื่อสารสุขภาพ ครั้งที่ 3  ระหว่างวันที่ 16 17 มกราคม 2556  (ทั้งนี้เป็นการสืบเนื่องจากการดำเนินการครั้งที่ 1  17 20 ตุลาคม 2553 อุดร-สุรินทร์  และครั้งที่ 2 17 ถึง 19 ตุลาคม 2554  อุดร สกล พระธาตุพนม)  โดยในครั้งนี้มีหมอพื้นบ้านและผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรม 30 คน กำหนดเส้นทาง 2 วัน  (อุดร-บ้านผือ-กุดจับ-อุดร)  วันที่ 16 มกราคม 2556 จากหน้า อบจ.ไปตามทางหลวงอุดรหนองคาย ถึงแยกบ้านผือ ผ่าน รพสต.บ้านเทื่อม  รพสต.คำบง  ตรงสู่อำเภอบ้านผือ  พักค้าง 1 คืน ที่ศูนย์เรียนรู้ชุมชนทับตะวัน บ้านดงหวาย อำเภอบ้านผือ  และในวันที่ 17 มกราคม 2556 ออกจากอำเภอบ้านผือ ผ่าน รพสต.โนนทอง รพสต.นาเตย  อำเภอบ้านผือ รพสต.สร้างก่อ อำเภอกุดจับ เมื่อถึงอำเภอกุดจับ ตรงเข้าสู่จังหวัดอุดรธานี  ซึ่งหมอพื้นบ้านและผู้ร่วมกิจกรรมจะได้รวมกันที่วัดวิเวกบูรพาชัย ในวันที่ 15 มกราคม 2556 เวลา 16.00 น.เพื่อเตรียมความพร้อมและได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชมรมแพทย์แผนไทย รวมทั้งได้พักพิงอาศัยหลับนอน 1 คืน รุ่งเช้า 16 มกราคม 2556 เวลาดี 5 เราตั้งขบวนจักรยานออกจากวัดวิเวกบูรพาชัย ผ่านหน้าโรงเรียนเซนต์แมรี่ ตลาดหนองบัว ห้าแยกน้ำพุ มาตั้งขบวนที่หน้า อบจ.อุดรธานีพอได้เวลา 7 โมงเช้าเราก็เริ่มการเดินทางโดยมีรถประชาสัมพันธ์ที่ได้รับเอื้อเฟื้อจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานีเป็นรถนำ เรามาถึงจุดพักแรกที่ทางแยกเข้าสู่เส้นทางไปอำเภอบ้านผือ พ่อออน พ่อสถิตย์ พ่อทองสุข คือคณะประชาสัมพันธ์ที่ได้ล่วงหน้ามาต้มยาสาธิต คณะที่ปั่นจักรยานมาก็กำลังเริ่มเรียนรู้ก็แวะพัก จากนั้นเดินทางต่อถึงรพสต.บ้านเทื่อม ซึ่งมาถึงก่อนเวลากำหนด 2 ชั่วโมง เราก็เลยมีเวลามากพอที่จะแลกเปลี่ยนกับเครือข่าย อสม.ที่ทาง รพ.สต.ได้ชักชวนให้มาร่วมกิจกรรม  หลังจากพักทานอาหารเที่ยงแล้วเราออกเดินทางต่อไปยัง รพ.สต.คำบง  ที่นี่ ศรช.ทับตะวัน (ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน) ก็ได้ชักชวน ชมรมจักรยานอำเภอบ้านผือ  มารอที่นี่ ซึ่งก็ได้รับไมตรีจิตเป็นอย่างดีมาก   หลายท่านได้ทักทาย โดยเฉพาะไถ่ถามกันเรื่องอายุของคนปั่น และยิ่งเมื่อเห็นลักษณะของจักรยานที่เรานำมาปั่นแล้วก็เป็นที่หลากใจเป็นอย่างยิ่ง   เมื่อเราเริมเดินทางต่อโดยมีชมรมจักยานอำเภอบ้านผือเพื่อเข้าสู่ตัวอำเภอบ้านผือนั้นเหลือระยะทางอีก 14 กม. ก็เป็นเวลาบ่ายสามโมง  คณะเราก็จัดขบวนจักรยานตามกันไปประชาสัมพันธ์ในตลาด บ้านตึกรอบ ๆ เขตเทศบาลของอำเภอ ก็ได้รับน้ำใจจากชาวบ้านร้านตลาด เป็นน้ำดื่มบ้าง เป็นรอยยิ้มบ้าง  แล้วเราเข้าที่พักที่ ศรช.ทับตะวัน  บ.ดงหวาย  ที่นี่มีนักศึกษาซึ่งก็เป็นผู้มีประสบการณ์ชีวิตมาระดับหนึ่งแล้ว และเมื่อได้ฟังการแลกเปลี่ยนกันแล้วก็พบว่าเป็นผู้รู้ ผู้ใคร่รู้ ผู้ใฝ่รู้จริง ๆ โดยมีเรื่องราวที่แลกเปลี่ยนกันในเรื่องของการทำน้ำย่านางหรือการแปรรูปต่าง ๆ การผลิตข้าวอินทรีย์  เราสนุกสนานกับเสียงเพลงจากนักศึกษาที่มีอาชีพนักดนตรีด้วย   เราได้พบปะกับคุณแม่ประเสริฐ  ประธานกรรมการศูนย์ ซึ่งเป็นกรรมการหมู่บ้านด้วย คุณแม่ออกเสียง ร เรือชัดเจน จนผมอดถาม อาจารย์สัญญา ผู้อำนวยการศูนย์ไม่ได้ว่าท่านมีที่มาอย่างไร จึงได้รู้ว่าคุณแม่เป็นอดีตข้าราชการครูนั่นเอง  คืนนี้หลายคนมีความสุขมากมาย โดยเฉพาะพ่อวิลัย หนันทะ ที่บรรเลงซอมาตั้งแต่เช้า ในทุก รพ.สต. ที่พวกเราแวะพัก แวะสาธิตภูมิปัญญาไปด้วย  รวมทั้งคืนนี้พ่อวิลัยก็เป็นคนท้าย ๆ ที่อำลาจากเวที  อำลาห้องประชุม มานั่งล้อมวงรอบกองไฟ ซึ่งเราก็ได้เตรียมข้าวจี่แบบไม่มีไข่เอาไว้แก้หิวตอนดึก ๆ หลาย ๆ คนก็ได้เพื่อนใหม่ ได้เครือข่ายใหม่ ได้ความรู้ใหม่ ยิ่งได้เรียนรู้ความเป็นมาของ ศรช.แล้วเรายิ่งประทับใจ โดยเฉพาะผมเองก็ได้ตอกย้ำความรู้สึกดี ความรู้สึกประทับใจในภารกิจที่เรากำลังพากันทำอยู่ในโครงการนี้คือการได้เพิ่มพูน ได้ปรับเปลี่ยนทัศนะมุมมองการใช้ชีวิตที่ไม่ได้เกิดมาเพื่อหาเงินแล้วก็ตายไปพร้อมกับความกังวล  มีพ่อท่านหนึ่งจากทุ่งฝน บอกกับผมว่าไม่คิดว่าจะปั่นมาได้ไกลมากขนาดนี้ ตามปกติก็ปั่นจักรยานในหมู่บ้านเท่านั้นเอง ไม่ได้ปั่นเป็นระยะทางและระยะเวลาที่มากขนาดนี้  ประทับใจมาก  รุ่งเช้าวันที่สองของการเดินทาง วันที่ 17 มกราคม 2556  เวลาเดิมคือ 6 โมงเช้า เราตั้งขบวนจักรยานออกจาก ศรช.ทับตะวัน  บ.ดงหวาย   ไปตามทางหมายเลข  73088 มีการข้ามถนนบายพาสเพื่อไปยัง รพ.สต.โนนทอง  วันนี้พระอาทิตย์ก็ทำงานตามปกติของท่าน  และดูเหมือนจะจัดมาให้เครือข่ายปั่นจักรยานวันนี้เป็นพิเศษ  ท้องฟ้าโปร่งกว่าเมื่อวานนี้มาก แดดจัดว่างั้นเถอะ  เรามาถึงรพ.สต.โนนทอง  ผอ.ประชิต ได้ประสานงานให้ชุมชนและยังได้ขึ้นรถประชาสัมพันธ์ร่วมกันกับคณะปั่นจักรยานประชาสัมพันธ์ไปรอบๆ ละแวกใกล้เคียงรพ.สต.  คนที่สนใจทะยอยกันมา แต่ด้วยข้อจำกัดด้านเวลา พวกเราก้ต้องเดินทางต่อไปยัง รพ.สต.นาเตย  ระยะทางช่วงนี้เนินมาก แดดมาก แต่อย่างที่กล่าวถึงหัวจิตหัวใจของคณะเราไม่ย่นย่อท้อ ไม่กลัวแดด  ช่วงนี้ หมอพัชรีก็ลงไปปั่นกับคณะด้วย ถึงแม้จะเป็นผู้หญิงตัวเล็ก ๆ ก็ใจเอาจริง ๆ  เราฝ่าฟันแดดอันแรงกล้าไปจนถึง รพ.สต.นาเตย  ซึ่งคระสาธิตได้เดินทางมาถึงก่อนหน้านี้ และได้พบกับคณะ อสม.  ชาวบ้าน ชุมชน ผู้สนใจเรื่องของยาสมุนไพร และเช่นเคยครับ พ่อวิลัย ขาดไม่ได้ที่จะโซโล่ซอให้กับพี่น้องที่มาได้ฟังกัน ยาสมุนไพรที่เตรียมมา ณ จุดนี้มีผู้สนใจมากมายจนเริ่มร่อยหรอ  แต่เราก็ยังมีอีกจุดหนึ่งที่จะได้ไปแวะพักที่ รพ.สต.สร้างก่อ อำเภอกุดจับ เส้นทางช่วงนี้มีช่วงที่เป็นดินทรายหนา ก็กินแรงมากพอสมควร และฝุ่นตลบมากเวลาที่มีรถสวนทางมา  สองข้างทางก็เป็นป่ายางพารา เมื่อเรามาถึงก็ได้รับการต้อนรับจากคณะเจ้าหน้าที่  รวมทั้งท่านสาธารณสุขอำเภอกุดจับ ท่านเรวัติ ศิรินิกร ก็ได้มารอรับเราด้วย   ตอนแรกคาดว่าเราจะมาช้าไปประมาณ 30 นาที แต่เมื่อมาถึงก็ช้าไปเพียง 10 นาที ก็มีการสาธิตยาสมุนไพร  และพักทานอาหารเที่ยงที่ทาง รพ.สต.เตรียมไว้ให้ พอเราออกเดินทางต่อเพื่อเข้าอำเภอกุดจับ ความฮึกเหิมก็ประทุออกมายิ่งในช่วงท้าย ๆ ของเส้นทาง ของกิจกรรม พ่อ ๆ ที่ปั่นจักรยานยิ่งมีพลัง ผลัดกันนำขบวน แต่ที่สำคัญคือเรารักษาความเร็ว รักษาระยะช่องไฟของขบวน ต่อเนื่องกันไปเป็นสาย  จนถึงอำเภอกุดจับ เราพักขากันพักหนึ่ง ก็ออกเดินทางต่อ  คณะที่จะมารับกลับภูมิลำเนาของพ่อหมอแต่ละท่านก็ได้โทรมาไต่ถามว่ามาถึงไหนกันแล้ว  เรามาถึที่หมายปลายทาง เราได้เรียนรู้ว่าทางช่วงนี้การปั่นต้องชิดขอบทางให้มาก ๆ เนื่องจากรถรามากมาย ทางก็ไม่กว้างมาก  แต่เราก็ระมัดระวัง และมาถึงจึดหมายปลายทางพร้อมกับการประชาสัมพันธ์ให้ผู้คนสองข้างทางได้ส่งรอยยิ้มให้กำลังใจแก่พวกเรา และเราก็แยกย้ายกันที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานีในเวลาห้าโมงเย็น เป็นอันว่ากิจกรรมการปั่นจักรยานทางไกลของคนธรรมดา โดยใช้จักรยานธรรมดา ความเร็วธรรมดา ก็ไม่เป็นเรื่องธรรมดา

ผมได้เคยอ่านบทความของผู้รู้ท่านหนึ่งที่กล่าวว่า จุดหมายปลายทางคือเป้าหมาย แต่การได้ดื่มด่ำตามรายทางมีความหมายกว่า  ซึ่งเครือข่ายหมอพื้นบ้านจังหวัดอุดรธานี ซึ่งมีแกนนำจาก 4 5 อำเภอได้มารวมตัวกันจัดกิจกรรมการปั่นจักรยานทางไกล ด้วยหัวจิตหัวใจของเพื่อนพ้องน้องพี่เครือข่ายหมอพื้นบ้านที่อายุอานามก็ไม่ใช่น้อย ๆ  แม้ไม่ใช่นักกีฬา แต่ก็เป็นการปั่นจักรยานพื้นบ้าน จักรยานธรรมดา ๆ ด้วยความเร็วธรรมดา ๆ เพื่อไปยังจุดหมายปลายทางในแบบฉบับที่ไม่เร่งรีบ   ผู้คนที่มาร่วมทางก็ทำให้เรามีกำลังใจเพิ่มพูนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นที่วัดวิเวกบูรพาชัย ที่พักในคืนก่อนเริ่มต้น เรามีเพื่อนใหม่คือ ชมรมแพทย์แผนไทย สำนักวัดวิเวกบูรพาชัย  หรือที่บ้านผือ เราก็ได้เพื่อนอย่าง ศูนย์เรียนรู้ทับตะวัน ที่เป็นสาขาของสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน หรือมหาวิทยาลัยชีวิต  รวมทั้ง  ชมรมจักรยานอำเภอบ้านผือ   และที่สำคัญ ณ จุดพักแต่ละแห่งก็คือพี่น้องชาวสาธารณสุข ชาว รพ.สต.ไม่ว่าจะเป็น ผอ.ธาริณี รพสต.บ้านเทื่อม  ผอ.อังคณา  รพ.สต.คำบง  ผอ.ประชิต รพสต.โนนทอง รพสต.นาเตย  อำเภอบ้านผือ  ผอ.สมถวิล  รพสต.สร้างก่อ อำเภอกุดจับ เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับ ห่านป่าบินข้ามทวีปได้ก็ด้วยความสมัครสมานสามัคคี ประคับประคองกัน  ปั่นไม่ทันกัน คนที่เร็วก็รอ  คนที่ช้าก็เร่ง เพื่อความปลอดภัยในการเดินทางเป็นหมู่คณะย่อมดีกว่าไปเดี่ยว ๆ เป็นไหน ๆ  และก่อนจบเรื่องสิ่งที่เห็นอีกเรื่องหนึ่งคือการพึ่งพากันเอง ในเรื่องของรถราหรือการประสานงานขอความช่วยเหลือจากท้องถิ่น อบต.เช่นอบต.บ้านม่วง อบต.อ้อมกอ ทุ่งฝน

หมายเลขบันทึก: 517107เขียนเมื่อ 22 มกราคม 2013 14:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มกราคม 2013 14:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

 ..... ดีจังเลย .... จักรยานสานฝัน ....

                  

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท