ค่ายนักศึกษา : ครั้งแรกของค่ายนักศึกษา ความใหม่ที่พกใจเป็นพลังงาน สานฝันให้เป็นจริง (ตอนที่ ๑)


ผมจึงแซวเล่นๆ ว่า “พิธีใช้ภาษาเขมร ฉะนั้นเราต้องสื่อสารขอพรเป็นภาษาเขมรด้วยนะ”

             วันนี้ (๑๙ มกราคม ๒๕๕๖) ผมได้รับมอบหมายให้นำทัพนักศึกษาเดินทางเพื่อไปประกอบกิจกรรมที่เรียกว่าค่าย ซึ่งชื่อว่าค่ายอะไรนั้นผมไม่ได้ใส่ใจที่จะจดจำมัน เนื่องจากมันมีความยาวพอสมควร แต่พอสรุปใจความได้ว่าเป็นการสานสัมพันธ์ภายในสาขาวิชา ภายใต้อากาศที่หนาวเย็นและลมแล้งแห่งฤดูหนาว สู่ดินแดนที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ไทยอีสาน ไทยส่วย ไทยเขมร แถบชายแดนไทย-เขมร(กัมพูชา เรียกตามที่รัฐมนตรีบางท่านบอก)

              สถานที่เราเดินทางไปนั้นเป็นสถานที่ห่างไกลความเจริญอยู่พอสมควร ถนนทางเข้าระยะทางประมาณ ๓ กิโลเมตรถูกลาดด้วยยางสีแดง มีหลุมขนาดใหญ่ที่รถใช้ความเร็วได้ไม่เกิน ๒๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง สู่โรงเรียนบ้านถนนน้อย ท่ามกลางป่า ความแห้งแล้ง และชนบทที่มีความยากจนเป็นที่ตั้งของชุมชน ตำบลหินลาด อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์

               ก่อนที่จะเข้าสู่ในรายละเอียดของกิจกรรม ผมอยากจะเล่าความเป็นมาสักเล็กน้อยเกี่ยวกับที่ไปที่มาหรือจุดเริ่มต้นของค่าย

                ค่ายนี้เกิดขึ้นจากความพยายามของรุ่นพี่ชั้นปีสุดท้ายที่มองเห็นความแตกแยกหรือความขัดแย้งกันภายในสาขาวิชา ก่อนที่เขาจะจบออกไปเขาอยากที่จะต่อรอยร้าวให้หมดไปจึงได้เข้ามาปรึกษา สาขาจึงได้ให้ความเห็นชอบในหลักการว่าหากเป็นความต้องการก็พร้อมที่จะสนับสนุนในเรื่องของกิจกรรม และได้มอบหมายให้เขาได้ไปออกแบบกิจกรรมและลงรายละเอียดของกิจกรรมทั้งหมด

                ค่ายนี้จึงเป็นค่ายที่มีความมุ่งหมายที่ชัดเจนในเรื่องการสานสัมพันธ์ภายในสาขาที่เรียกว่ากิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ เมื่อเราลงพื้นที่กลับพบว่าพื้นที่เราขอใช้มีความต้องการที่จะให้นักเรียนของโรงเรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมครั้งนี้ด้วย เราตอบตกลงและยินดีที่จะให้ความร่วมมืออย่างไม่ขัดแย้งใดๆ ต่อข้อเสนอของโรงเรียนเนื่องจากเราก็พร้อมที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาโรงเรียน แม้จะเพียงแค่น้อยนิดก็ตาม

                แต่สิ่งที่ท้าทายและเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับนักศึกษาคือประสบการณ์ที่ไม่เคยมีเกี่ยวกับกิจกรรมค่ายใดๆ เลย และที่สำคัญโจทย์ที่ใหญ่มากสำหรับเด็กคือ หลังจากที่กลับจากการดูพื้นที่โจทย์ของเขาคือการมีส่วนร่วมของนักเรียนเพิ่มขึ้นมา และสองให้เขาต้องมีกิจกรรมที่ชุมชนมีส่วนร่วม ครับ...นักศึกษาหรือจะกล้าปฏิเสธข้อกำหนดอันถือเป็นอาญาสิทธิ์ได้ เขาได้กลับไปปรับเปลี่ยนกิจกรรมได้อย่างเหมาะสมและตรงตามโจทย์ที่ตั้งไว้ให้เขาท้าทาย

                 นักศึกษาได้ทุ่มแรงกายใจอย่างเต็มที่ในการเตรียมงาน เราเห็นแล้วก็อดที่จะชื่นชมไม่ได้ แม้ความไม่มีประสบการณ์จะเป็นอุปสรรคที่คอยสร้างปัญหาให้เขาอยู่อย่างไม่ขาดสาย แต่เขาก็พยายามที่จะขอคำปรึกษาเป็นระยะ และสามารถเตรียมทุกอย่างได้ทันท่วงที

                  วันนี้หลังจากที่เราลงรถ ณ สนามกีฬาของโรงเรียน สิ่งแรกที่เรากระทำคือการเดินทางเข้าสักการะศาลเจ้าที่ศักดิ์สิทธิ์ประจำโรงเรียนที่ชาวบ้านให้คำแนะนำว่าควรมีพิธีสักการะก่อน เพราะมีเสียงลำลือจากชาวบ้านด้วยเหตุการณ์ต่างๆ นานาที่เกิดขึ้นจากปาฏิหาริย์ เช่น ชายหญิงแต่งชุดไทยเดินตามสถานที่ต่างๆ ในบริเวณโรงเรียน เครื่องเสียงใช้การไม่ได้โดยไม่ทราบสาเหตุ ไฟไม่ติด ฯ ซึ่งทุกอย่างถูกจัดเตรียมไว้โดยชาวบ้าน และเป็นผู้นำในการดำเนินพิธี แต่ใครเล่า(ในทีมชาวค่าย)ที่สนใจหรือใส่ใจที่จะเรียนรู้ เอาองค์ความรู้จากพิธีกรรมดังกล่าว เช่น ผู้ประจำอยู่ศาลนี้มีชื่อเสียงเรียงนามอย่างไร มีอะไรบ้างเป็นเครื่องสังเวย ขั้นตอนในการประกอบพิธีมีอะไรบ้าง ใช้บทสวดอย่างใด ซึ่งผู้นำในครั้งนี้เป็นคนที่ใช้ภาษาไทยเขมรล้วนๆ

                  เท่าที่สังเกตเห็นแต่การก้มหน้าก้มตาประนมมือถือธูปตั้งใจอธิษฐานขอพระ ผมจึงแซวเล่นๆ ว่า “พิธีใช้ภาษาเขมร ฉะนั้นเราต้องสื่อสารขอพรเป็นภาษาเขมรด้วยนะ” แต่วันนั้นก็ไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น ทุกอย่างคงดำเนินไปอย่างปกติ...... 


หมายเลขบันทึก: 517050เขียนเมื่อ 21 มกราคม 2013 21:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มกราคม 2013 21:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

การดึงเอาชุมชนและนักเรียน  ซึ่งหมายถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามาเกี่ยวข้อง  คือกระบวนการสร้างการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง  ซึ่งในบันทึกเหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นแจ่มชัดว่า  คิดและทำในทิศทางที่ถูกต้องแล้วนะครับ

เช่นเดียวกับการกราบสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์  ก็สะท้อนให้เห็นถึงการเรียนรู้เชิงคติชน วัฒนธรรมของชุมชนนั้นๆ 

เยี่ยมครับ  ทำได้อย่างเยี่ยมยุทธแล้ว --

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท